ปรับสมดุลชีวิตเมื่อเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1758 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปรับสมดุลชีวิตเมื่อเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์

ในการแพทย์แผนจีนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะสามารถจัดอยู่ในกลุ่มโรค “尪痹 Wang bi”หรือ “顽痹 Wan bi” “历节风 Li Jie Feng” ซึ่งจัดเป็นโรคปวดข้อที่รักษาได้ยาก โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน ที่มีการดําเนินของโรคค่อนข้างยาวนาน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และยังไม่มีการรักษาให้หายขาดได้ โดยการใช้ยาแผนปัจจุบันมักใช้กลุ่มยาประเภทยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) สเตียรอยด์ และสารชีวภาพ เพื่อลดอาการเจ็บปวดของข้อที่อักเสบ และควบคุมการดำเนินของโรค ซึ่งต้องระวังผลข้างเคียงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ยากลุ่มชีวภาพมีราคาค่อนข้างสูง

การควบคุมการดำเนินขอโรคเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยกระตุ้นให้กำเริบ โดยปัจจัยที่พบได้บ่อยคือ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ เหนื่อยล้าเกินไป ซึ่งการรักษาแบบผสมผสาน โดยยาแพทย์แผนปัจจุบัน และได้รับการฝังเข็มหรือการทานสมุนไพรในทางการแพทย์แผนจีน จะทำให้อาการของโรคสงบ และลดโอกาสการกำเริบหรือเกิดซ้ำของโรคได้ โดยในการรักษาต้องใช้เวลา ส่วนมากจะเป็นการรักษาระยะ ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น การลดความเครียด ฝึกปล่อยวาง ออกกำลังกาย ปรับอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย โดยให้เกิดการผ่อนคลาย ช่วยให้นอนหลับ และอาการท้องผูก ในรายที่มีปัญหาความเครียดซึ่งมักมีทั้งปัญหาการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพและเกิดอาการท้องผูกร่วมด้วย

ในการแพทย์แผนจีนมองว่าโรคข้ออักเสบต่าง เป็นโรคที่จัดอยู่ใน กลุ่ม 痹症 หรือ “ปี้เจิ้ง” ซึ่งรวมไปถึงโรคปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่าง ๆ โดยแต่ละชนิดจะมีพยาธิสภาพ อาการ และการดำเนินของโรคที่ต่างกัน

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค

  1. พื้นฐานร่างกายของผู้ป่วยอ่อนแอ ภูมิก่อนกำเนิดพร่อง เจิ้งชี่พร่อง ทำให้เกิดความพร่องของตับและไต สารจิงและเลือดไม่พอ โดยปกติเอ็นและกระดูกจะได้รับการหล่อเลี้ยง จากเลือดและหยางชี่ของตับและไต เมื่อการทำงานของตับบกพร่องส่งผลจะส่งผลให้การหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นไม่เพียงพอ และการที่สารจิงในไตพร่องจะส่งผลต่อกระดูกต่าง ๆ
  2. เสียชี่จากภายนอกที่มากระทำ เช่น ลม ความเย็น ความชื้น อุดกั้นเส้นลมปราณ ทำให้การไหลเวียนของชี่และเลือดติดขัด เกิดภาวะเลือดคั่ง มีความร้อนและเสมหะสะสมเป็นต้น โดยลมจะทำให้เกิดอาการปวดข้อต่างๆสลับกันไปเรื่อย ๆ ความเย็นทำให้เกิดการอุดกันของชี่และเลือด ทำให้เกิดอาการปวดและมีการหดเกร็งของข้อต่อและเอ็น ทำให้การเคลื่อนไหวไม่สะดวก ความชื้นมีลักษณะเด่นคือจะทำให้การขยับข้อต่าง ๆ มีการอาการหนัก หนืด บวม ตึง ซึ่งถ้าเสียชี่เหล่านี้รุกรานเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดความร้อนและอุดกั้นการไหลเวียนของชี่และเลือดโดยเฉพาะในเส้นลมปราณและเส้นเลือดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อต่อ หากไม่ได้รับการรักษาจะกระจายไปทั่วร่างกาย หากพื้นฐานของร่างกายอินพร่อง หรือเลือดพร่อง จะเกิดความร้อนภายใน ซึ่งจะส่งผลทำให้สารน้ำที่หล่อเลี่ยงในร่างกายแห้งจนเกิดเป็นเสมหะ ความร้อนและเสมหะจะทำให้อุดกันเส้นลมปราณและเลือดที่หล่อเลี้ยงข้อต่อจึงเกิดอาการ บวม ตึง อักเสบ และผิดรูป
  3. อารมณ์ทั้งเจ็ดก่อโรค อารมณ์ต่าง ๆ เช่น โกรธ คิดมาก กังวล เมื่อมีมากเกินไปจะทำให้การ ไหลเวียนของชี่ติดขัด ในสภาวะปกติชี่จะคอยให้ความอบอุ่นแก่อวัยวะต่าง ๆ และเลือดจะส่งอาหารและหล่อเลี้ยงร่างกาย เมื่อชี่ติดขัดจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่ง และเกิดอาการปวดอย่างรุนแรง
  4. การทำงานและการพักผ่อนที่ไม่สมดุล การตรากตรำมากเกินไปทำให้หยางชี่พร่อง ส่งผลให้ภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่อง เมื่อเสียชี่ต่าง ๆ เช่น ลม ความเย็น และ ความชื้นเข้ากระทำ จึงก่อโรคได้ง่าย หากมีกิจกรรมทางเพศที่มากเกินควรมีผลให้สารจิงลดลง มีผลต่อภูมิต้านทานของร่างกาย ขณะเดียวกันการพักผ่อนมากเกินไปจะมีผลให้การสร้างชี่ของม้ามและกระเพาะลดลงทำให้การลำเลียงอาหารและการดูดซึมอาหารบกพร่อง ทำให้การสร้างชี่และเลือดลดลง การออกกำลังกายที่น้อยเกินไปจะมีผลให้การไหลเวียนของชี่และเลือดลดลง ในระยะยาวจะส่งผลต่อเส้นเอ็นและกระดูกทั่วร่างกาย การอุดกั้นของชี่ เลือดและสารจิง ทำให้เกิดเสมหะคั่งค้างโดยเฉพาะในข้อต่อ การปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะสมจะส่งผลดีต่อสุขภาวะองค์รวม ทำให้โรคสงบ และลดโอกาสการกำเริบของโรค

การรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน

เนื่องจากการเกิดโรคนี้ค่อนข้างซับซ้อน การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้สมุนไพรจีนร่วมกับการฝังเข็ม รมยา ครอบแก้ว อบสมุนไพร โดยจะต้องคำนึงถึงระยะของโรค วิเคราะห์สาเหตุของโรคร่วมกับความสมดุลของอวัยวะภายในและร่างกายจึงสามารถวางแนวทางการรักษาได้

------------------------

บทความโดย
ดร.พจ. พีระพงศ์  เลิศนิมิตพันธ์ (หมอจีน เฉิน เจียง เฉิง)  
陈江成  中医师
TCM. Dr. Peeraphong Lertnimitphun (Chen Jiang Cheng)
คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้