นึกคำพูดไม่ออก อาการข้างเคียงจากSTROKE : ความบกพร่องในการนึกคำพูด (Anomic Aphasia)

Last updated: 7 ม.ค. 2568  |  105 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นึกคำพูดไม่ออก อาการข้างเคียงจากSTROKE : ความบกพร่องในการนึกคำพูด (Anomic Aphasia)

ปัญหาการสื่อสารหลังจากเกิดโรคอัมพาตอัมพฤกษ์ (เส้นเลือดในสมองตีบหรือเส้นเลือดในสมองแตก) ทำให้เกิดปัญหาของการสื่อสาร โรคอัมพาตอัมพฤกษ์เป็นโรคทางสมองซึ่งพยาธิสภาพมีความหลากหลายขึ้นกับรอยโรคที่เกิดของสมองส่วนไหน เมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบหรือแตกทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นตาย จากการขาดเลือดทำให้เกิดอาการแสดงได้หลากหลาย บทความนี้จะกล่าวเฉพาะความเสียหายในส่วนของการสื่อสาร และก็เป็นหนึ่งในอาการสำคัญของโรคทางสมองที่พบได้บ่อย โดยจะแบ่งเป็นภาวะบกพร่องด้านการนึกคำพูด (Anomic Aphasia) ภาวะบกพร่องด้านการพูด (Motor Aphasia) ภาวะบกพร่องด้านความเข้าใจ Wernicke’s Aphasia

Anomic Aphasia เป็นความบกพร่องทางภาษาที่เกี่ยวข้องกับการนึกชื่อเมื่อพูดหรือเขียน สาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ หรือก้อนเนื้อที่สมอง Anomic Aphasia มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อเช่น Anomia , Amnesic , Aphasia และ Anomic Dysphasia อาการแสดงคือผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนคำพูดติดอยู่ที่ปาก นึกคำไม่ออก แต่ยังสามารถพูดคุยสื่อสารได้ปกติ  โดยมากผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาในการลืมคำนาม หรือคำกริยาเมื่อพูดหรือเขียน มักจะใช้คำเรียกอื่นๆเช่น “มัน/ไอ้นั้น/ไอ้นี่”มาแทน หรืออาจใช้วิธีบรรยายถึงสรรพคุณหรือวิธีใช้ของสิ่งของนั้นๆได้ แต่ไม่สามารถระบุชื่อได้

ในมุมมองการแพทย์แผนจีน โรคทางหลอดเลือดสมองหรือStroke มีสาเหตุหลักเกิดจาก ลม ไฟ เสมหะ เลือดคั่ง และภาวะพร่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นกลุ่มอาการได้ในหลายกรณีเช่น
- อินตับและไตพร่อง น้ำไม่หล่อเลี้ยงไม้ เกิดลมตับกระพือ
- อารมณ์โกรธทำให้หยางตับแกร่งแปรสภาพเกิดลมตีขึ้นบน ขณะเดียวกันจะไปชักนำให้ไฟของหัวใจลุกโชน เกิดลมและไฟกระพือร่วมกัน ทำให้ชี่และเลือดพุ่งขึ้นส่วนบนศีรษะ
การกินอาหารไม่เหมาะสม กินอาหารรสหวาน อาหารมัน มากเกิน ทำให้เกิดเสมหะสะสมภายใน
การไหลเวียนของชี่เสียสมดุล ทำให้ชี่ติดขัด หรือชี่พร่องไม่มีแรงผลักดัน นานวันเข้าเกิดเป็นเลือดคั่ง

กลไกเหล่านี้ทำให้ ลม ไฟ เสมหะ หรือเลือดคั่ง ไปรบกวนบดบังสมอง ทำให้ทวารสมอง (脑窍)ปิด เสินของสมองถูกบดบัง จนไม่สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองให้เป็นปกติได้ เกิดเป็นจ้งเฟิง (中风)การที่ทวารสมองปิดหรือถูกบดบัง ทำให้ส่งผลต่อการนึกคิด รวมถึงการนึกคำพูดด้วย เกิดอาการหลงเหลือจากป่วยจ้งเฟิง ด้านการสื่อสาร บกพร่องในการนึกคำพูด

การดูแลผู้ป่วยจะฝึกให้ผู้ป่วยนึกคำให้ออก ควรจะเริ่มจากสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยพยายามฝึกซ้ำๆให้ผู้ป่วยสามารถจำได้ และให้ทวนบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเรียกสรรพนาม ไอ้นั้น ไอ้นี่ มัน เพื่อให้ผู้ป่วยพยายามนึกเอง  

ตัวอย่างกรณีการรักษา ปัญหาการนึกคำพูดจากโรคหลอดเลือดสมอง ที่เข้ารับการรักษาและได้ผลดี
ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN400718 ชื่อ : อัครชัย เพศ : ชาย อายุ : 61 ปี
อุณหภูมิ : 36.7℃   ชีพจร : 76 ครั้ง/นาที   ความดันโลหิต : 101/68 mmHg   น้ำหนัก : 75.3 กก
เข้ารับการรักษาเมื่อ 18 มีนาคม 2567

อาการสำคัญ : อัมพาตซีกขวา 2 เดือนกว่า ร่วมกับปัญหาการสื่อสาร ไม่สามารถนึกคำพูดออกได้
อาการเจ็บป่วยปัจจุบัน : ผู้ป่วยอัมพาตซีกขวา แขนขาขวาเคลื่อนไหวลำบาก มีการใช้กล้ามเนื้อผิดส่วนในการขยับแขนซ้ายทำให้ปวดหัวไหล่ องศาการเคลื่อนไหวหัวไหล่ลดลง และมีปัญหาในการพูดสื่อสาร ไม่สามารถนึกคำพูดที่จะสื่อสารออกมาได้ โดยเฉพาะคำนาม แต่สามารถอธิบายวิธีใช้หรือลักษณะสิ่งของนั้นได้ นอนหลับยาก ความอยากอาหารปกติ การขับถ่ายปกติ
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต : หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไขมันในหลอดเลือด และความดันโลหิตสูง

การตรวจร่างกาย
- กำลังแขนขาขวาลดลงเล็กน้อย(IV) แรงกำมือ(IV)
- บอกชื่อวันในสัปดาห์ไม่ได้ การนับเลขสามารถนับได้ถ้ามีการนับเริ่มให้
- บอกชื่อสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ แต่สามารถให้คำตอบว่าใช้งานอย่างไรได้
- บอกชื่อสีได้บางสี ถ้าให้คำตอบแล้วให้พูดทวนได้ แต่ถามซ้ำไม่ได้

การรักษา
รับการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม ร่วมกับการฝึกการนึกคำ โดยใช้คำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและชื่อสี โดยให้ผู้ป่วยกลับไปฝึกเพิ่มเติม 

หลังการรักษาครั้งที่ 1 ผู้ป่วยสามารถพูดตาม ให้คำตอบกับสิ่งของที่ถามได้แต่ยังไม่คล่อง
หลังการรักษาครั้งที่ 2 ผู้ป่วยจดจำชื่อสีได้มากขึ้น การบอกชื่อสิ่งของต้องมีการทวนหลายรอบจึงจะสามารถจำได้
หลังการรักษาครั้งที่ 3 (1 เมษายน) สามารถบอกชื่อวันในสัปดาห์ได้ การออกเสียงยังผิดวรรณยุกต์ ทวนหลายครั้งจึงสามารถตอบได้ถูกต้อง
หลังการรักษาครั้งที่ 4 (8 เมษายน) ผู้ป่วยสามารถบอกและเรียงลำดับวันในสัปดาห์ได้ การออกเสียงวรรณยุกต์ผิดแต่สามารถแก้ให้ถูกต้องได้
หลังการรักษาครั้งที่ 5 (10 เมษายน) ทบทวนการบอกชื่อเดือนได้ สามารถเรียงลำดับเดือนได้ ต้องขึ้นต้นให้ในสองสามชื่อเดือนแรก
หลังการรักษาครั้งที่ 6 (17 เมษายน) ชื่อเดือน ชื่อวันในสัปดาห์สามารถบอกได้ การออกเสียงวรรณยุกต์ยังมีบางคำที่ผิด เมื่อทวนแล้วสามารถบอกได้ถูกต้องบางครั้ง
หลังการรักษาครั้งที่ 7 สามารถให้คำตอบได้เร็วขึ้น ชื่อ และคำนามสามารถตอบได้มากขึ้น มีบางครั้งที่จะออกเสียงวรรณยุกต์ผิด
หลังการรักษาครั้งที่ 8 สามารถเรียกชื่อสิ่งของในชีวิตประจำวันได้ โดยไม่ต้องทวน 

ผลการรักษาของผู้ป่วยปัญหาการสื่อสารด้านการนึกคำพูดนั้น ขึ้นกับ ตำแหน่งรอยโรคและระยะเวลาที่ป่วย โดยผู้ป่วยที่สามารถพูดทวนได้ สื่อสารได้เข้าใจ ใช้วิธีการฝึกที่เหมาะสมและมีความสม่ำเสมอในการฝึกพูดนึกชื่อสิ่งของ มีแนวโน้มตอบสนองต่อการรักษาได้ผลประสิทธิภาพดีขึ้น

______________________________________________

พจ. ธิติ นิลรุ่งรัตนา
พจ.1355
แผนกคลินิกฟื้นฟูอัมพาตอัมพฤกษ์และโรคทางระบบประสาท
______________________________________________


ที่มา
แนวทางการจัดบริการฝังเข็มโรคหลอดเลือดสมองระยะฟื้นฟู กรมการแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

https://www.uschinapress.com/static/content/SX/2023-03-06/1082458296071630848.html

https://www.healthline.com/health/anomic-aphasia#summary

Aphasia-Definition จาก National Aphasia Assosiation

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้