ประวัติคลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว หรือ "คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว" เดิมใช้ชื่อว่า “คลินิกหัวเฉียวไทย-จีน แพทย์แผนไทย”
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 โดยความตั้งใจที่ดีของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนจีนมาใช้เพื่อการรักษา ป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วย อันนำไปสู่ความร่วมมือในระดับประเทศกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มาร่วมกันพัฒนาระบบการให้บริการรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่ได้มาตรฐานในระดับสากลให้แก่คลินิก และเป็นการแพทย์ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่รู้จัก และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนชาวไทย
ในช่วงปี พ.ศ. 2538 – 2542
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่ง คือ บทบาทด้านการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพ จึงได้เริ่มกิจกรรมรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในกรุงเทพฯ และเล็งเห็นว่าการแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์ที่มีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีประวัติความเป็นมายาวนานหลายพันปี และได้เข้ามาร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยในการดูแลสุขภาพของคนไทย เพื่อสนองนโยบายในการพัฒนาระบบบริการให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนด้วยการแพทย์ทางเลือกของกระทรวงสาธารณสุข
ดังนั้น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจึงได้จัดตั้ง “สถานพยาบาลหัวเฉียวแผนโบราณ” ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า “คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว”
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 โดยมีนายสุษิร สุรัตนกวีกุล เป็นผู้อำนวยการคนแรก ในขณะนั้นมีแพทย์จีนประจำ 7 คน และเจ้าหน้าที่ 5 คน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 สถานพยาบาลหัวเฉียวฯ ได้เปิดให้บริการรักษาด้วยการฝังเข็ม ซึ่งเป็นการรักษารูปแบบใหม่ในขณะนั้น ทำให้ผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง สถานพยาบาลหัวเฉียวฯ จึงได้เพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรักษาผู้ป่วย มีห้องฝังเข็มขนาด 30 เตียง และห้องทุยหนา 2 ห้อง และได้เริ่มมีห้องยาจีน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2539 โดยมีชนิดของสมุนไพรที่ใช้บ่อยประมาณ 200 ชนิด มีห่อยาประมาณ 80 – 90 ห่อต่อวัน และค่อยๆ เพิ่มเป็น 200 ห่อต่อวัน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2540 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยและจีน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ ได้จัดให้มีการอบรมหลักสูตร “การฝังเข็ม รมยา 3 เดือน” ให้กับแพทย์แผนปัจจุบันเป็นรุ่นแรก ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 24 กรกฎาคม 2541 โดยมี รศ.พจ.เฉิงจื่อเฉิง (程子成) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็มจากโรงพยาบาลหลงหัว มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นแพทย์จีนประจำ ณ สถานพยาบาลหัวเฉียวฯ ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรและจัดทำหลักสูตร นับเป็นอาจารย์แพทย์จีนท่านแรกที่ได้วางรากฐานการฝังเข็มให้กับแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศไทย สถานพยาบาลหัวเฉียวฯ ในขณะนั้น ให้ความร่วมมือแก่กระทรวงสาธารณสุขในทุกกิจกรรมที่เป็นการสนับสนุนและพัฒนาศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย อาทิ การจัดการอบรม การประชุมวิชาการ และการจัดนิทรรศการด้านการแพทย์แผนจีน
คณะแพทย์จีนและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการในระยะแรก การเปิดให้บริการฝังเข็มในปี พ.ศ. 2539
ห้องยาจีนที่เปิดให้บริการในระยะแรก ร่วมงานนิทรรศการการแพทย์แผนจีนปี พ.ศ. 2539
ในช่วงปี พ.ศ. 2543 – 2548
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเห็นความสำคัญของการแพทย์แผนจีนว่าเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพแบบผสมผสานวิธีหนึ่งของชุมชนในยุคปัจจุบันและเห็นว่าสถานพยาบาลหัวเฉียวแผนโบราณมีความคับแคบ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ไทย-จีนขึ้น เนื่องในวาระที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งครบรอบ 90 ปี และวาระครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เป็นอาคาร 8 ชั้น ทรงสถาปัตยกรรมแบบจีนประยุกต์ในบริเวณถนนกรุงเกษม มีพื้นที่ใช้สอย 4,900 ตารางเมตร เพื่อให้การรักษาผู้ป่วย การวิจัย และเป็นฐานการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนจีน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จมาทรงเปิดอาคารศูนย์การแพทย์ไทย-จีน วันที่ 7 มกราคม 2548
วันที่ 1 กรกฏาคม 2543 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี ฯพณฯ จางเหวินคัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐประชาชนจีน ฯพณฯ ฟู่ เซียจาง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ และ ดร.สมาน โอภาสวงศ์ เป็นประธานร่วม พิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์การแพทย์ไทย-จีน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีบทบาทเป็นแกนประสานความสัมพันธ์ไทย-จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน
พิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์การแพทย์ไทย - จีน วันที่ 1 กรกฎาคม 2543
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2548 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จมาทรงเปิดอาคารศูนย์การแพทย์ไทย- จีน อย่างเป็นทางการนับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมิตรภาพและวัฒนธรรมที่มีการแลกเปลี่ยนกันทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
อาคารแพทย์จีนหลังใหม่เป็นอาคารเอนกประสงค์ มีห้องตรวจวินิจฉัยโรคและห้องรักษาโรค ห้องยา ห้องฝึกอบรม ห้องประชุม เป็นต้น มีการจัดการใช้ระบบสารสนเทศ ตั้งแต่การบันทึกประวัติผู้ป่วยจนถึงการสั่งยา และชำระเงิน โดยให้บริการการรักษา ได้แก่ แผนกฝังเข็ม แผนกอายุรกรรมทั่วไป แผนกนรีเวช-บุรุษเวช แผนกผิวหนังและความงาม แผนกกระดูกและทุยหนา แผนกหย่างเซิง และงานบริการด้านเภสัชกรรมสมุนไพรจีน
ห้องหัตถการฝังเข็ม ห้องหัตถการทุยหนาและอบสมุนไพร บริเวณชั้น 1 ทางเข้าด้านหน้าห้องจ่ายเงินและรอรับยา
ห้องประชุมคณะกรรมการบริหาร ชั้น 6 ห้องประชุม ชั้น 8 ห้องจัดยาฝ่ายเภสัชกรรม
ในช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2559
คลินิกหัวเฉียวไทย-จีน แพทย์แผนไทย ภายใต้การนำของผู้อำนวยการ นายสุษิร สุรัตนกวีกุล ได้เปิดให้บริการรักษาประชาชนโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่แบ่งชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา ได้ดำเนินการพัฒนางานของคลินิกอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบของสถานพยาบาลที่ให้บริการการแพทย์แผนจีนครบวงจร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 นายอัมพร เอี่ยมสุรีย์ ได้เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการคลินิกสืบต่อจากนายสุษิร สุรัตนกวีกุล โดยเริ่มแต่งตั้งพนักงานบัญชี 1 คน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 เป็นผู้รับผิดชอบบันทึกรายการรับและจ่าย จัดซื้อ ตรวจรับยา ตรวจสอบค่าล่วงเวลา ส่งให้พนักงานโรงพยาบาลหัวเฉียวเป็นผู้บันทึกบัญชีและทำเช็คจ่ายเจ้าหนี้
ในปี พ.ศ. 2551 คลินิกหัวเฉียวไทย-จีน แพทย์แผนไทย รับโอนการบันทึกบัญชีจากโรงพยาบาลหัวเฉียวมาทำเองทั้งระบบ โดยเริ่มใช้โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป “GL” มาบันทึกบัญชีและจัดทำงบการเงิน และได้มีการพัฒนาห้องยาจีนอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้การใช้ยาสมุนไพรจีนมีการเติบโตอย่างชัดเจน ทำให้ต้องปรับโครงสร้างการบริหารให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในขณะนั้น โดยตั้งเป็นฝ่ายเภสัชกรรม มีการแบ่งหน้าที่บุคลากรในฝ่ายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 4 แผนก ได้แก่ แผนกจัดยา แผนกต้มยา แผนกคลังยา และแผนกคิดราคายา
ต่อมา นายอร่าม เอี่ยมสุรีย์ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเป็นผู้อำนวยการคลินิกหัวเฉียวไทย-จีน แพทย์แผนไทย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่คลินิกฯ มีการดำเนินงานที่ค่อนข้างมั่นคง มีจำนวนผู้ป่วยที่สนใจใช้การแพทย์แผนจีนเป็นทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 - 2559 นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับคลินิกหัวเฉียวไทย-จีน แพทย์แผนไทย ท่านมีวิสัยทัศน์ยาวไกล ได้กำหนดทิศทางและใช้การบริหารจัดการระบบคุณภาพเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการพัฒนาระบบงานต่างๆ ของคลินิกให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ในด้านการบัญชีและการเงินได้เริ่มมีผู้จัดการฝ่ายการบัญชีและการเงิน ในปี พ.ศ. 2552 มีการเปลี่ยนโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปจาก “GL” เป็น “Express” และเริ่มใช้โปรแกรม “HC Hospital” ในการบริหารคลังยา ได้แก่ การบันทึกค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ในด้านการแพทย์
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2559 คลินิกได้จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์อย่างมีทิศทางและต่อเนื่องเพื่อการพึ่งตนเองด้านบริการการแพทย์แผนจีนขององค์กรในอนาคต โดยคลินิกฯ ได้จัดส่งแพทย์จีนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานที่คลินิกฯ ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งไปรับการฝึกอบรมระยะสั้นในหลักสูตรเฉพาะทางตามความต้องการของคลินิกฯ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทดแทนแพทย์จีนผู้เชี่ยวชาญอาวุโสที่เชิญมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน และทยอยกลับภูมิลำเนาตามวาระ
ในด้านการพยาบาล ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการและควบคุมกำกับดูแลงานด้านการรักษาพยาบาลและด้านบริการอย่างมีประสิทธิภาพ มีทีมในการดูแลให้การบริการพยาบาลเบื้องต้นและช่วยเหลือผู้ป่วยที่มารับบริการในคลินิกให้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาการและสิทธิของวิชาชีพ มีการจัดการงานเวชระเบียนให้ครบถ้วนถูกต้องตามระบบและติดตามผู้ป่วยตามระบบนัดหมาย รวมทั้งดูแลเวชภัณฑ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และเอกสารต่างๆ ให้มีความเพียงพอและพร้อมใช้งาน
ในปัจจุบัน ทางคลินิกฯ ได้มีการปรับปรุงบริเวณชั้น 1 ให้มีความทันสมัย พร้อมให้บริการ อาทิ บริเวณจุดเวชระเบียน จุดประชาสัมพันธ์ จุดชำระเงิน และจุดบริการจ่ายยา เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการ
ในด้านเภสัชกรรม มีการพัฒนางานด้านเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่อง ได้มีการพัฒนาการให้บริการต้มยาให้คนไข้ รวมถึงบริการส่งยาให้ถึงบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับรูปแบบยานั้นมีความหลากหลายและมีจำนวนชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ยาแคปซูล ยาลูกกลอน ยาพอก ยาครีม ยาแขวนตะกอน รวมถึงการแปรรูปสมุนไพรจีนโดยวิธีเผาจื้อ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา ได้มีการนำยารูปแบบใหม่เข้ามาใช้ในคลินิก คือ “ยาผงเคอรี่” เป็นยาเตรียมที่ได้จากสารสกัดยาจีน กับสารปรุงแต่งยาที่เหมาะสมซึ่งพกพาง่ายและใช้สะดวก สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบของสังคมเมืองในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ได้มีการจัดตั้งคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาโคราชขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาโคราชที่มีสาขาในส่วนภูมิภาค โดยได้เปิดให้บริการคลินิกอายุรกรรม คลินิกอายุรกรรมภายนอก คลินิกทุยหนา และคลินิกฝังเข็ม เพื่อให้ประชาชนในส่วนภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์แผนจีนได้มากขึ้น
ดร.สมาน โอภาสวงศ์ ประธาน Prof. Gao Xiumei รองอธิการบดี
กรรมการวางศิลาฤกษ์ สาขาโคราช มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 และคณะเดินทางมาประชุมความร่วมมือทางวิชาการ
งานครบรอบ 1 ปี พิธีอัญเชิญองค์ไต่ฮงกงมาประดิษฐาน ณ สาขาโคราช เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 คลินิกหัวเฉียวการแพทย์แผนจีน ได้จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปีของการเปิดให้บริการทางการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย โดยใช้ชื่องานว่า “2 ทศวรรษแห่งความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศด้านการแพทย์แผนจีน” และประเทศไทยได้เข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)” ในปี พ.ศ. 2558 คลินิกฯ จึงได้เตรียมความพร้อมสู่องค์กรที่เป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์แผนจีนให้สอดคล้องกับพันธกิจขององค์กร มีการปรับโครงสร้างและพัฒนาระบบการบริหารงาน เดินหน้าทั้ง 6 ยุทธศาสตร์หลัก คือ
1. ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
2. ยุทธศาสตร์พัฒนามาตรฐานการบริการการแพทย์แผนจีน
3. ยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นเลิศด้านบริการ
4. ยุทธศาสตร์พัฒนาความเข้มแข็งของศูนย์ฝึกอบรม
5. ยุทธศาสตร์พัฒนาองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
6. ยุทธศาสตร์เสริมสร้างบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคม
เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคุณภาพ และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคโลกไร้พรมแดน
ในปีพ.ศ. 2558 ทางคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน ได้ริเริ่มแผนการนำเข้ายาสมุนไพรจีนที่สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพยาจากหนังสือเภสัชตำรับยาของสาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับล่าสุด นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างมาตรฐานการซื้อยาแบบใหม่ให้กับตลาดยาสมุนไพรจีนในประเทศไทยโดยการนำเข้ายาจากประเทศผู้ผลิตโดยตรง นอกจากทางคลินิกฯ จะได้รับยาสมุนไพรจีนที่มีคุณภาพสูงแล้ว ยังได้รับยาที่มีประสิทธิผลในการรักษาโรคมากขึ้นอีกด้วย
ช่วงเดือนธันวาคม 2558 คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อตั้งอาคารคลังยาสมุนไพรจีน จำนวนพื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 66.7 ตารางวา โดยมีการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการเก็บรักษายาสมุนไพรนจีน เพื่อเป็นการรับรองความปลอดภัยและคุณภาพของตัวยาที่ทางคลินิกฯ ได้นำไปใช้ในการรักษา
อาคารแปรรูปสมุนไพรจีนได้ก่อตั้งแล้วเสร็จเมื่อปี 2560 เพื่อใช้ในการเผาจื้อสมุนไพรจีน ซึ่งการเผาจื้อเป็นเทคนิคการเตรียมยาที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่ตกทอดกันมาหลายพันปี เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพยาให้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านกระบวนการแปรรูปสมุนไพรจีนให้กับผู้ที่สนใจในศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ภาพคลังยาสมุนไพรจีนก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2559 พิธีวางศิลาฤกษ์อาคารคลังยาสมุนไพรจีน เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2558
กว่า 8 ปี ที่แพทย์จีนได้ร่วมกันผลักดันกฎกระทรวงเกี่ยวกับสถานพยาบาลและคลินิกการแพทย์แผนจีน จนกระทั่ง 24 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีได้ลงนามให้ออกกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 จำนวน 4 ฉบับดังนี้ (1) กฎกระทรวงกำหนด ชื่อสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการ และสิทธิของผู้ป่วย พ.ศ. 2558 (2) กฎกระทรวงกำหนดชนิดและจำนวนเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ หรือยานพาหนะที่จำเป็นประจำสถานพยาบาล พ.ศ. 2558 (3) กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพและจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล พ.ศ. 2558 (4) กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของสถานพยาบาลและลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล พ.ศ. 2558 หลังจากที่คณะอนุกรรมการมาตรฐานกรรมการวิชาชีพและทีมงานจากสมาคมฯ ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดคลินิกการแพทย์แผนจีนเพื่อทำประชาพิจารณ์ จนในที่สุดประกาศใช้สำหรับคลินิกการแพทย์แผนจีนทั่วประเทศ และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 คลินิกหัวเฉียวไทย-จีน แพทย์แผนไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว” อย่างเป็นทางการตามระเบียบใหม่ของสำนักพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และใช้ชื่อย่อว่า “คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว”
ดังนั้นในปี 2559 จึงถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของคลินิกฯ ในเดือนพฤษภาคม 2559 นับเป็นครั้งแรกที่คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวได้เข้าร่วมงานประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมมือกันเพื่อกระตุ้นวงการแพทย์ของชาวจีนโพ้นทะเลในแถบถูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ชื่อเสียงของคลินิกฯ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทำให้ผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมทั้งผู้นำประเทศต่างๆ และสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และในเดือนมิถุนายน 2559 คลินิกฯ ได้เริ่มมีการนำโปรแกรมนับสต็อกขึ้นมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในด้านสต๊อกยา และคลังอุปกรณ์ มีการพัฒนาปรับปรุงระบบคลังยา และระบบการจัดซื้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้งานของแพทย์และเภสัชกร ซึ่งระบบคลังยาและระบบจัดซื้อสามารถใช้งานได้ทั้งสำนักงานใหญ่กรุงเทพ สาขาโคราช และคลังยาศรีสมาน มีการปรับปรุงสถานที่ภายในคลินิกฯ ปรับปรุงการบันทึกประวัติผู้ป่วยใหม่เพื่อให้เป็นไปตามที่กฏกระทรวงกำหนด นอกจากนี้ยังได้ทีมแพทย์จีนรุ่นใหม่ที่ทยอยจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกกลับมา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญเข้ามาช่วยกันผลักดันและพัฒนาคลินิกฯ ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของนายอร่าม เอี่ยมสุรีย์ ผู้อำนวยการคลินิกฯ และคณะผู้บริหาร ที่ต้องการให้ประชาชนในส่วนภูมิภาคมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์แผนจีนได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสให้แพทย์จีนในประเทศไทยที่สำเร็จการศึกษาใหม่อีกด้วย ท่านจึงได้จัดตั้งคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สาขาศรีราชา ขึ้นในภาคตะวันออก นับเป็นคลินิกฯ สาขาที่ 2 โดยได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562
ภาพคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สาขาศรีราชา
ภาพคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สาขาศรีราชา
ภาพพิธีเปิด “คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สาขาศรีราชา” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562
จากปี พ.ศ. 2552 - 2562 นับเป็น 11 ปีที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ภายใต้ผู้อำนวยการคลินิกฯ นายอร่าม เอี่ยมสุรีย์ และทีมคณะผู้บริหาร และยังคงพัฒนาปรับปรุงระบบบริหาร การบริการรักษา และด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2561 คลินิกฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการแพทย์แผนจีนแห่งชาติ (国家中医药管理局 National Administration of Traditional Chinese Medicine of the People’s Republic of China) ให้เป็น “ศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย (China-Thailand Traditional Chinese Medicine Center)” โดยได้รับเกียรติจาก นายหลี่ ชุนหลิน อุปทูตและกงสุลใหญ่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายเซียวเจิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลงหัว มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และนายอร่าม เอี่ยมสุรีย์ ผู้อำนวยการคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว มาร่วมพิธีเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของการจัดตั้งศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาการแพทย์แผนจีนของทั้งสองประเทศ และเป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road)” ในด้านการแพทย์แผนจีน ซึ่งมีประโยชน์ต่อการค้นหารูปแบบใหม่ในด้านความร่วมมือของโรงพยาบาลหลงหัว ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนที่ดีเลิศของสาธารณรัฐประชาชนจีน และคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ซึ่งเป็นผู้นำด้านการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ผลการศึกษาวิเคราะห์ทางด้านการรักษา และรูปแบบการบริหาร จะช่วยยกระดับชื่อเสียงของการแพทย์แผนจีน ทำให้การพัฒนาศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีเวทีที่กว้างขึ้น ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการใช้บริการและการวิจัยด้านการแพทย์แผนจีนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังดำเนินต่อเนื่องในปี 2562
ภาพพิธีเปิดป้าย “ศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย 2018” เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561
ในวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2563 คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้รับเกียรติจาก คณะผู้บริหารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวสาธารณสุข นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ สถานพยาบาลการแพทย์แผนจีนต้นแบบในประเทศไทย เนื่องด้วยคลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ถือเป็นคลินิกฯ ต้นแบบในการพัฒนางานบริการทางการแพทย์แผนจีนการบูรณาการในการรักษา การส่งเสริม ฟื้นฟู ด้วยศาสตร์การแพทย์ผสมผสาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับประชาชน รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาดูงานแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์จีน ด้านสมุนไพรจีนและการแปรรูป ให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ภายในประเทศและต่างประเทศ โดย นายอร่าม เอี่ยมสุรีย์ ผู้อำนวยการคลินิกฯ เป็นตัวแทนรับมอบใบประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้