Last updated: 25 ต.ค. 2567 | 649 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังป่วยเป็น Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าเส้นเลือดสมองตีบ แตก ตัน อาการหลงเหลือที่พบเจอบ่อยในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต นั่นคือ “อาการเกร็ง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด โดยอาการเกร็ง เป็นอาการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้ เช่น กล้ามเนื้อไหล่หมุนบิดเข้าด้านใน ร่วมกับการเกร็งงอข้อศอกและข้อมือ เมื่อออกแรงเพื่อเคลื่อนไหวอาการเกร็งก็จะเพิ่มมากขึ้น หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดเจ็บและข้อติดร่วมด้วย ส่งผลต่อการใช้งานหรือการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง” Spasticity
ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง Spasticity เกิดขึ้นเมื่อสมองหรือไขสันหลังได้รับการบาดเจ็บ เป็นความผิดปกติของระบบประสาทสั่งการเคลื่อนไหว Motor system เมื่อได้รับคำสั่งให้มีการเคลื่อนไหวยืดกล้ามเนื้อ ทำให้แรงตึงตัวของกล้ามเนื้อ Muscle Tone เพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับความเร็วเวลาที่เคลื่อนไหว ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของ Tendon Jerk ซึ่งเป็นผลจากประสาทที่ไวกว่าปกติในการตอบรับของ Phasic Stretch Reflex ที่ตอบสนองด้วยการเคาะ ขยับ จนเกิดการสั่นกระตุกซ้ำๆจากการดึงยืดเป็นเวลานาน อาการเกร็งสามารถเกิดได้ทั้งแขนขา ตามตำแหน่งสมองของระบบประสั่งการที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งระดับความรุนแรงเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาการดำเนินโรค
ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งมีการประเมินคะแนนอย่างไร?
การประเมินภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในทางคลินิกนิยมใช้ Modified Ashworth Scale (MAS)
0 = ความตึงตัวของกล้ามเนื้อปกติ
1 = ความตึงตัวของกล้ามเนื้อสูงขึ้น เฉพาะการเคลื่อนไหวแรกหรือสุดท้าย
1+ = ความตึงตัวของกล้ามเนื้อสูงขึ้นในการเคลื่อนไหวแรก และยังมีความตังตัวของกล้ามเนื้ออยู่เล็กน้อย แต่ไม่ถึงครึ่งของการเคลื่อนไหว
2 = ความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มตลอดการเคลื่อนไหว แต่ยังเคลื่อนไหวได้จนสุดการเคลื่อนไหว
3 = ความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำการเคลื่อนไหวได้ยาก แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวได้จนสุดการเคลื่อนไหว
4 = แข็งเกร็งในท่างอหรือเหยียด
การรักษาโดยใช้ยาแผนปัจจุบันสามารถช่วยลดภาวะเกร็งได้ แต่ซึ่งยากลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทโดยตรง มีผลข้างเคียงต่อร่างกายหลักๆ เช่น อาการง่วงมึนงง ภาวะอ่อนแรง หรือยาลดเกร็งบางชนิดหากทานเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะตับได้ เป็นต้น
อาการเกร็งในทางการแพทย์แผนจีน 痉挛Jing Luan มองถึงการทำงานของกล้ามเนื้อเส้นเอ็น ในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง《黄帝内经·灵枢》经筋 (Jing jin) ได้กล่าวถึง “จิงจิน” เส้นลมปราณเอ็น 12 เส้นที่ช่วยรักษาฟื้นฟูโรคของกล้ามเนื้อเส้นเอ็นได้อย่างดี เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง กล้ามเนื้อฝ่อลีบขาดการบำรุง และกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
เส้นลมปราณเอ็น 12 เส้น 十二经筋 (Shi er jing jin) ยังเป็นช่องทางให้เลือดและชี่ไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ มีหน้าที่สำคัญ คือ ช่วยควบคุมการทำงานของกระดูก ข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ
การไหลเวียนของเส้นลมปราณเอ็น ส่วนใหญ่จะมีซ้อนทับกับเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น โดยทุกเส้นมีจุดเริ่มต้นจากปลายมือหรือปลายเท้า ไหลเวียนเข้าสู่ลำตัวและศีรษะ แต่ไม่เข้าเชื่อมโยงกับอวัยวะภายใน
ภาพตัวอย่างเส้นลมปราณเอ็น十二经筋的分布
อีกทั้งทฤษฎีแพทย์แผนจีนยังมีกล่าวถึง 《素问·宝命全形论》“人生有形,不离阴阳” Ren Sheng You Xing, Bu Li Yin Yang หมายความว่า มนุษย์หนึ่งคนมีองค์ประกอบต่างๆที่ทำงานร่วมกันของร่างกาย รวมถึงช่องทางเดินเส้นลมปราณที่ผ่านแขนขา ลำตัว และอื่นๆ ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่สอดคล้องเหมือนกับอินหยาง ซึ่งเส้นลมปราณเอ็น 12 เส้นก็มีสังกัดอินหยางเช่นกัน ดังนั้น เมื่ออาการเกร็งของแขนขาในผู้ป่วยจ้งเฟิงที่เกิดขึ้น ช่องทางเดินเส้นลมปราณเอ็นอาจมีการเสียสมดุล หรือเรียกว่า “อินแกร่งหยางอ่อนแอ” 阴强阳弱 Yin qiang yang ruo ส่งผลให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นแขนขาเริ่มแข็งเกร็ง พลังชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวกติดขัด ข้อติดยืดหดลำบาก เจ็บปวดตามส่วนต่างๆ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในที่สุด เช่น แขนบิดเข้าหาลำตัว เกร็งขาเหยียดปลายเท้า ข้อเท้าบิดงอเข้าด้านใน เป็นต้น
แพทย์แผนจีนประเมินผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างไร?
- การตรวจวินิจฉัยตามหลักแพทย์แผนจีน ได้แก่ การมอง望诊 การดม-ฟัง闻诊 การถาม问诊 การจับชีพจรและการคลำ切诊
- การตรวจร่างกาย Physical Examinations / 触诊和量诊
- การตรวจร่างกายโครงสร้างกระดูกเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ
- ประเมินความแข็งแรงความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ความถี่ของการหดเกร็งกล้ามเนื้อ และพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ
- ประเมินความสามารถของผู้ป่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวของแขนขา การเดิน เป็นต้น
แพทย์แผนจีนมีวิธีการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างไร?
1. การฝังเข็ม : เพื่อปลุกสมองเปิดทวาร ให้พลังชี่และเลือดเกิดการหมุนเวียน ขจัดเลือดคั่งของเสียที่บดบังการทำงานของสมอง อีกทั้งส่งเสริมทักษะความจำ สติปัญญาให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น
2. เต๋าอิ่น : ช่วยลดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ฝึกเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อชักนำพลังชี่และเลือดไปตามเส้นลมปราณเอ็นแขนขา และส่วนที่เกี่ยวข้อง
3. หัตถการอื่นๆ เช่น การครอบแก้ว การพอกยาจีน แช่มือแช่เท้า เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวดเจ็บของกล้ามเนื้อเส้นเอ็น อีกทั้งให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายหลังทำการรักษา
ตัวอย่างกรณีการรักษาฟื้นฟูภาวะเกร็งกล้ามเนื้อจากโรคหลอดเลือดสมอง
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN 396XXX
ชื่อ : คุณ สุXXXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 20 ธันวาคม พ.ศ. 2566
เพศ : หญิง อายุ : 68 ปี
อุณหภูมิ 36.6 องศาเซลเซียส ชีพจร : 80 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 101/62 mmHg น้ำหนัก : 56 กิโลกรัม
อาการสำคัญ : แขนขาซ้ายอ่อนแรง 1 เดือน 12 วัน
อาการปัจจุบัน : วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีอาการอ่อนแรงซีกซ้ายเฉียบพลัน แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มุมปากซ้ายเบี้ยว พูดไม่ชัด ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาล ทำการตรวจ CT Scan ผลพบเส้นเลือดสมองแตก หลังจากนั้นทำการพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลช่วงเวลาหนึ่ง อาการดีขึ้นเริ่มช่วยเหลือตนเองได้ แขนขามีแรงมากขึ้น จึงกลับมาฝึกกายภาพเองเพิ่มเติมที่บ้าน แต่มือและข้อมือยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากมีอาการเกร็งปวดข้อมือและนิ้วมือ จึงมาพบแพทย์ฝังเข็มและแพทย์เต๋าอิ่นเพื่อฟื้นฟูอาการ
อาการขณะพบแพทย์ : แขนขาอ่อนแรงซีกซ้าย สามารถเดินได้เองต้องใช้ไม้เท้า แขนซ้ายเคลื่อนไหวช้า มือและข้อมือเคลื่อนไหวลำบาก มีอาการเกร็งปวดบวมร่วมด้วย นิ้วมือขยับได้ แต่ทำงานละเอียดยาก การพูดสื่อสารติดขัด นึกคำช้า พูดวนบ้าง ความจำระยะสั้นถดถอย ทานอาหารได้ปกติ นอนหลับไม่ค่อยดี รู้สึกตัวตื่นกลางดึกบ่อย ขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะปกติ
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต : ความดันสูง Hypertension, ไขมันในเลือดสูง Dyslipidemia
การตรวจร่างกายทางแพทย์แผนจีน : รู้สึกตัวดี สามารถสื่อสารเล่าอาการตนเองได้เล็กน้อย พูดวน ลิ้นแดงซีด ฝ้าลิ้นค่อนข้างหนาสีขาว ชีพจรตึงลื่น
Physical Examinations
Vascular Dementia
Motor : Normal muscle tone
RT LT
Upper Proximal / Distal V IV+/IV/IV
Lower Proximal / Distal V IV+
DTR : LT Knee jerk 3+ ,Babinski : (+)
Hand grip LT = IV+
การวินิจฉัยโรค :
แพทย์แผนจีน : จ้งเฟิง (wind of stroke) ระยะฟื้นฟู
กลุ่มอาการ : ชี่พร่องร่วมกับมีเลือดคั่ง
แพทย์แผนปัจจุบัน : 1.Stroke (Hemorrhagic Stroke) 2. Vascular Dementia
แผนการรักษา :
1. รักษาด้วยการฝังเข็ม : เพื่อปลุกสมองเปิดทวาร บำรุงพลังชี่และเลือด ทะลวงเส้นลมปราณเพิ่มการไหลเวียนขจัดเลือดคั่งที่ขัดขวางการทำงานสมอง ส่งเสริมทักษะความจำสติปัญญา
2. ฟื้นฟูด้วยเต๋าอิ่น : เพื่อลดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ฝึกการเคลื่อนไหวของแขนมือฟื้นฟูหน้าที่การทำงาน เพื่อชักนำพลังชี่และเลือดไปตามแขนขา และส่วนที่เกี่ยวข้อง
3. หัตถการอื่นๆ เช่น การพอกยาจีน แช่มือแช่เท้า เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการปวดนิ้วมือและข้อมือ
รักษาครั้งที่ 1 วันที่ 20/12/2566
เข้ามารักษาด้วยอาการแขนซ้ายอ่อนแรง มือขาเกร็ง มือขยับได้ แต่ทำงานละเอียดลำบาก มีอาการปวดตามข้อมือร่วมด้วย เดินได้โดยใช้ไม้เท้า มุมปากซ้ายตกเบี้ยว รู้สึกหนักเวลาพูดสื่อสาร นึกคำช้า พูดวน ความจำระยะสั้นถดถอย ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นได้ มีความเครียดกังวล นอนหลับไม่ค่อยดี รู้สึกตัวง่าย
รักษาครั้งที่ 2 วันที่ 23/12/2566
แพทย์ฝังเข็มมีการส่งต่อฟื้นฟูด้วยเต๋าอิ่น อาการโดยรวมเริ่มดีขึ้น แขนซ้ายเคลื่อนไหวช้า มือซ้ายออกแรงลำบากมีความเกร็ง นิ้วมือแข็งเมื่อขยับปวด และอาการเกร็งชัดเจน เดินไม่คล่องเชื่องช้า ความจำระยะสั้นถดถอย
รักษาครั้งที่ 3 วันที่ 25/12/2566
อาการเกร็งของนิ้วมือและข้อมือดีขึ้นชัดเจน แต่ยังมีอาการปวดข้ออยู่
รักษาครั้งที่ 4-6 วันที่ 4/1/2567
การเคลื่อนไหวของแขนดีขึ้นชัดเจนตามลำดับ อาการเกร็งหายไป อาการปวดลดลง นิ้วมือมีแรงสามารถเหยียด เคลื่อนไหวได้ดั่งใจ ความจำระยะสั้นถดถอยดีขึ้น สื่อสารได้คล่อง สามารถเล่าเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันได้โดยไม่ติดขัด
รักษาครั้งที่ 7-9 วันที่ 16/1/2567
พิสัยการเคลื่อนไหวของแขนข้อมือนิ้วมือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นิ้วชี้และนิ้วกลางซ้ายเมื่อขยับออกแรงมีอาการปวด
รักษาครั้งที่ 10-16 วันที่ 12/2/2567
อาการปวดลดลงอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวของแขนและการทำงานของมือดีขึ้นตามลำดับ หากไม่ใช้งานเยอะเกินไป อาการปวดจะไม่กำเริบ การสื่อสารความจำดีขึ้นแทบปกติ นอนหลับดีไม่มีรู้สึกตัวตื่นกลางดึก การเดินเคลื่อนไหวได้ถูกต้อง ดีขึ้นชัดเจน
รักษาครั้งที่ 17 วันที่ 19/2/2567
ยังมีอาการปวดเล็กน้อยเมื่อผู้ป่วยฝึกเคลื่อนไหวเยอะ อาการเกร็งของข้อมือและนิ้วมือไม่มีหลงเหลือ อาการโดยรวมดีขึ้นกว่า 80-90% ผู้ป่วยรู้สึกพึงพอใจในผลการรักษา สามารถกลับใช้ชีวิตประจำวันได้ พึ่งพาญาติน้อยลง ญาติผู้ดูแลสามารถกลับไปทำงานได้ จึงได้ขอยุติการรักษาไปตามที่กล่าว
สรุปผลการรักษา
ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มร่วมกับเต๋าอิ่น เป็นจำนวน 17 ครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่าอาการของผู้ป่วยดีขึ้นชัดเจนตั้งแต่รักษาครั้งที่ 4-6 อาการเกร็งของข้อมือและนิ้วมือหายไป มือซ้ายสามารถใช้งานได้ดีและทำงานละเอียดได้จนใกล้เคียงปกติ ความจำระยะสั้นและการสื่อสารดีขึ้น ใช้ชีวิตง่ายขึ้น พึ่งพาคนรอบข้างน้อยลง การเดินดีขึ้นตามลำดับใช้ไม้เท้าน้อยลง จึงอยากรักษาต่อเนื่องอีกระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับญาติผู้ป่วยและตัวผู้ป่วยเอง ได้กลับไปใช้ชีวิตทำในสิ่งตนเองอยากทำตามปกติในทุกๆวันดังเดิม
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนอาวุโส ปณิตา กาสมสัน (หมอจีน หลู เหมียว ซิน)
卢苗心 中医师
TCM. Dr. Panita Kasomson (Lu Miao Xin)
แพทย์จีน พัลลภ อ่อนแก้ว (จาง เหวิน จิ้ง)
张文静 中医师
TCM. Dr. Phanlob Onkaew
แผนกคลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท 中医脑病针灸康复门诊 (Stroke and Neurological Rehabilitation Clinic)
อ้างอิง
1. หนังสือฝังเข็ม-รมยา เล่ม 1 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (P20-27)
2. “推拿学” 十二五普通高等教育本科国家级规划教材 (P31-32,53-56)
3. “中医基础理论” 十一五普通高等教育本科国家级规划教材 (P41-42)
4. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity) - สถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ https://youtu.be/i3vF79TW_0k?si=Wx1ODEme2vUyI2VM ,สืบค้นเมื่อ วันที่ 19 มิถุนายน 2567
5. Areerat Anannontsak, Spasticity : Physiology of normal muscle and pathophysiology of spasticity. J Thai Rehabil. 1999;8(3): 230-240
6. https://mp.weixin.qq.com/s/2wJDSt7l65qE-i69-AJCFg ,สืบค้นเมื่อ วันที่ 19 มิถุนายน 2567
7. https://zhuanlan.zhihu.com/p/476413682?utm_id=0 ,สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2567
12 ก.ย. 2567