โรคตาในผู้สูงอายุกับการแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1314 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคตาในผู้สูงอายุกับการแพทย์แผนจีน

โรคตาในผู้สูงอายุ จะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้นและการเสื่อมถอยของร่างกาย โรคของตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน โรคของจอประสาทตา เป็นต้น โดยโรคของจอประสาทตา เป็นโรคที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ จอตาเสื่อมจากเบาหวาน จอตา เส้นเลือดจอประสาทตาอุดตัน จอประสาทตาเสื่อมจากสายตาสั้น เป็นต้น

โรคตาในผู้สูงอายุ มีการบันทึกในคัมภีร์โบราณของจีนว่า “อายุมากทำให้ชี่และเลือดพร่อง ผู้สูงอายุมักจะพร่องทั้งชี่และเลือด สารจิงไม่สามารถขึ้นไปเลี้ยงตาได้ ทำให้เกิดต้อต่าง ๆ ขึ้น” ซึ่งสาเหตุของโรคแบบพร่องมักมาจาก อวัยวะกลวงและอวัยวะตันพร่อง ชี่และเลือดไม่พอ อาจพบเสียชี่จากภายในและภายนอกอุดกลั้น ชี่เลือด และสารน้ำจิงคั่งค้างร่วมด้วย เนื่องจากในผู้สูงอายุพลังหยางที่สะอาด (ชิงหยาง 清阳) อ่อนแรง ทำให้เสียชี่หรือพิษจากภายนอกเข้ากระทำทวารส่วนบนได้ง่าย โดยหากถูกพิษเบาจะเกิดโรคบริเวณตาส่วนภายนอก หากถูกพิษแรงจะเกิดโรคต้อกระจก เมื่อถูกพิษจากภายในและนอกอุดกลั้นเป็นเวลานานจะทำลายชิงหยางของทวารศีรษะและตา นอกจากนี้การเป็นโรคตาเรื้อรังเป็นเวลานานทำให้ พิษร้อน เสมหะ เลือดคั่งที่เส้นลมปราณตับและปอดค่อย ๆ ปิดกลั้นดวงตา เมื่อเส้นลมปราณอุดกลั้น ชี่และเลือดไม่สามารถไหลขึ้นลงไปเลี้ยงตาได้ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคทางดวงตาในผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุอวัยวะกลวงและตันพร่อง โดยเฉพาะตับ ม้าม ไตอ่อนแอเป็นหลัก หากมีพิษจากภายนอกและภายใน ควบรวมกันกระทำกับตา เมื่อนานเข้าทำให้ทวารตา และเส้นลมปราณถูกอุดกลั้น ทำให้ชี่และเลือดไม่สมดุล ไม่สามารถหล่อเลี้ยงตาได้ โดยเกิดจากสาเหตุหลายประการดังนี้

  1. การเสียสมดุลของอินหยาง

    ในทฤษฎีอินหยางของการแพทย์แผนจีน ได้เชื่อมโยงอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ไว้อย่างแนบแน่น สามารถนำอินหยางมาเชื่อมโยงกับองค์รวมของร่างกาย อวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมถึงดวงตา อินหยางมีความสำคัญต่อการมองเห็นที่ชัดเจน โดยดวงตาจะสามารถแบ่งอินหยางได้เป็น ม่านตา ตาดำ เป็นอิน ตาขาว เส้นเลือด เป็นหยาง อินหยางทำงานร่วมกันทำให้การมองเห็นชัดเจน เมื่ออายุเกินสี่สิบปี พลังอินจะค่อย ๆ เสื่อมถอย ในสภาวะปกติอินและเลือดจะหล่อเลี้ยงดวงตาทำให้มองเห็น น้ำของไตช่วยทำให้ภาพชัด โดยน้ำในไตเป็นสารสำคัญในการสร้างชี่และเลือด ขึ้นไปหล่อเลี้ยงส่วนบนและดวงตาทำให้มองเห็นได้ ในผู้สูงอายุการที่อินลดลงทำให้ชี่และเลือดหล่อเลี้ยงดวงตาได้ไม่เพียงพอทำให้การการมองเห็นบกพร่อง อินหยางมีคุณสมบัติตรงข้ามกันและทำงานร่วมกัน เมื่ออินหยางขาดการสมดุลกันเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชราลง การทำงานของอวัยวะไม่ปกติ พื้นฐานของร่างกายเปลี่ยนเแปลงไป การปรับสมดุลอินหยางจึงสามารถยับยั้งการกำเริบของโรค เป็นการช่วยป้องกันและการรักษาโรคตาในผู้สูงอายุได้

  2. เจิ้งชี่พร่อง (ภูมิต้านทานเป็นส่วนหนึ่งของเจิ้งชี่) และเสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) เข้ากระทำ

    ในโรคตาในผู้สูงอายุเจิ้งชี่พร่องและเสียชี่แกร่งสามารถมีอย่างเดียวหรือพบทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ นอกจากการเปี้ยนเจิ้งแล้วยังจำเป็นต้องประเมิณเจิ้งชี่ในร่างกายว่าพร่อง หรือมีเสียชี่แกร่งหรือไม่ วิเคราะห์การดำเนินของโรคว่าอะไรเป็นหลักหรืออะไรเป็นรอง แล้วจึงเริ่มใช้วิธีการรักษา ประคองเจิ้งชี่และขจัดเสียชี่ บำรุงพร่องระบายแกร่ง เมื่อผ่านวัยกลางคนแล้วมีโรคตา ควรบำรุงเป็นหลักไม่ควรใช้วิธีระบาย ในการรักษาควรตรวจให้ดีและใช้เลือกใช้สมุนไพรจีนหรือจุดฝังเข็มในการบำรุงและระบาย

  3. อวัยวะกลวง ตัน ชี่ และ เลือดเสียสมดุล

    ทฤษฎีอวัยวะกลวงและตันเป็นทฤษฎีหลักของการแพทย์แผนจีน ชี่และเลือดเป็นสารสำคัญในการช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต ปรับสมดุลของการทำงานอวัยวะตันและกลวงและการมองเห็นของตา การที่ตาสามารถมองเห็น แยกแยะสีต่าง ๆ มองได้คมชัดนั้นมีส่วนสำคัญมาจากการหล่อเลี้ยงของชี่ และเลือดซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงลูกตา เดินทางผ่านเส้นลมปราณต่าง ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงลูกตา อวัยวะต่าง ๆ เชื่อมกับตาโดยผ่านทางการเชื่อมโยงของเส้นลมปราณ ชี่และเลือดเกิดขึ้นได้จากอวัยวะตันและกลวง เป็นรากฐานของสารหล่อเลี้ยงตา ในผู้สูงอายุเมื่ออวัยวะตันและกลวงพร่องทำให้เกิดโรคตาในผู้สูงอายุ ในโรคตาของผู้สูงอายุมักจะมาจากสามอวัยวะคือ ตับ ม้าม ไต ในการบำรุงอวัยวะตันและกลวงต้องประเมินสรีระวิทยาและพยาธิสภาพของอวัยวะต่างก่อนรักษา ส่วนการปรับสมดุลชี่และเลือดต้องวิเคราะห์ลำดับความสำคัญและการพร่องแกร่งของชี่และเลือดแล้วจึงวางแผนการรักษา

  4. การไหลเวียนของเส้นลมปราณติดขัด

    พื้นฐานของการมองเห็นชัดเจนคือการที่เส้นลมปราณย่อยบริเวณตาไหลเวียนสะดวกไม่ติดขัด เนื่องจากในผู้สูงอายุเริ่มมีการพร่องของร่างกายทำให้เส้นลมปราณย่อยติดขัด ดวงตาถูกปิดกลั้น ทำให้ทวารตาไหลเวียนไม่สะดวก นำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่ตามมา และทำให้การมองเห็นไม่ชัด ในดวงตาก็มีเส้นลมปราณย่อยแผ่ไปทั่วเหมือนอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เส้นลมปราณคอยช่วยปรับสมดุล และช่วยการไหลเวียน การหล่อเลี้ยงของชี่และเลือดภายในตา ดังนั้นการรักษาต้อต้องทะลวงทวารเป็นหลัก ทวารโล่งชี่และเลือดจึงไหลได้สะดวก จากนั้นการใช้ยาบำรุงจึงจะเข้าไปได้ โดยเลือกยาที่มีฤทธิ์ในการทะลวงทวาร โดยใช้วิธีอบไอน้ำ รับประทานและใช้ภายนอก ดังนั้นโรคตาในผู้สูงอายุจึงมีพยาธิสภาพคือเส้นลมปราณย่อยติดขัด ทวารตาปิดกลั้นทำให้ชี่เลือดไม่สมดุล ทวารตาไม่มีสารหล่อเลี้ยงเป็นพื้นฐานการเกิดโรค การรักษาจึงต้อทะลวงลมปราณและทวารตาเพื่อทำให้ตาสว่าง

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเกิดโรคตาในผู้สูงอายุค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นในการรักษาจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เกิดก่อนที่จะเริ่มวางแผนการรักษา

------------------------

บทความโดย
ดร.พจ. พีระพงศ์  เลิศนิมิตพันธ์ (หมอจีน เฉิน เจียง เฉิง)  
陈江成  中医师
TCM. Dr. Peeraphong Lertnimitphun (Chen Jiang Cheng)
คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้