“เต๋าอิ่น”เพื่อการฟื้นฟูร่างกายโดยแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1896 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“เต๋าอิ่น”เพื่อการฟื้นฟูร่างกายโดยแพทย์แผนจีน

“เต๋าอิ่น” คือ ศาสตร์การฟื้นฟูร่างกายแขนงหนึ่งของจีนสมัยโบราณ สามารถนำมาปรับใช้ทางการแพทย์แผนจีนยุคปัจจุบัน เต๋าอิ่นสามารถช่วยฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวต่างๆ อัมพฤกษ์อัมพาต กล้ามเนื้อตึงเกร็งหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง พาร์กินสัน หรือโรคทางระบบประสาทอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแพทย์จีนจะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและประเมินร่างกายผู้ป่วยก่อน เพื่อความเหมาะสมในการรักษาและฟื้นฟู

เต๋าอิ่นได้มีการรวบรวมและบันทึกในคัมภีร์《施氏十二字养生功》shī shì shí èr yǎng shēng gōng ได้กล่าวถึงท่าน 施杞教授 (ศาสตราจารย์ชรือฉี่) แพทย์แผนจีนชื่อดังเมืองเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน ที่มีการใช้เต๋าอิ่นมาเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ทางคลินิกและการวิจัยที่หลากหลายของท่าน ชี้นำให้มีการผสมผสานระหว่างการเคลื่อนไหวของร่างกายและควบคุมลมหายใจเป็นหนึ่งเดียวกัน

ฝึกเต๋าทุกวันดีอย่างไร?

- ช่วยปรับสมดุลการไหลเวียนของชี่และระบบหลอดเลือด

- ช่วยเสริมความแข็งแรงของเส้นเอ็นและกระดูก

- ฟื้นฟูการทำงานกล้ามเนื้อ และมีส่วนช่วยลดภาวะข้อกระดูกยึดติด

- ประคับประคองเจิ้งชี่ เป็นชี่ที่ช่วยป้องกัน ฟื้นฟูร่างกาย ช่วยควบคุมการหายใจให้สม่ำเสมอ ปรับประสานอวัยวะภายในแบบองค์รวม

ยกตัวอย่างท่าออกกำลังกายอย่างง่ายดังนี้

起势 ท่าเตรียม

เริ่มต้นด้วยการยืนอย่างธรรมชาติ แยกเท้าทั้งสองให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวไหล่ นำมือทั้งสองวางซ้อนกันบริเวณหน้าท้อง มือซ้ายอยู่ด้านบน ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ และหายใจเข้า-ออกอย่างช้าๆ 6 ครั้ง

1. 脸 ท่าล้างหน้า

นำมือทั้งสองแนบชิดใบหน้า โดยแขนก็แนบติดกับอกส่วนบน จากนั้นใช้แรงเล็กน้อยถูจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบนถึงบริเวณหางคิ้ว นิ้วโป้งชิดใบหูด้านหลัง ถูขึ้นลงไปมา 6-12 ครั้ง เสร็จแล้ว ใช้นิ้วกลางกดคลึงบรืเวณร่องจมูกทั้งสองข้างเล็กน้อย และนิ้วโป้งทั้งสองกดคลึงหลังใบหูเล็กน้อยเช่นกัน คลึงไปมา 6-12 ครั้งเช่นกัน

2. 头 ท่าเสยผม

งอแขนข้อศอกเล็กน้อยเพื่อมือจับบริเวณหน้าผาก จากนั้นค่อยๆใช้นิ้วมือเสยเป็นเส้นตรงจากตีนผมด้านหน้าไปถึงตีนผมด้านหลัง ทำต่อเนื่อง 6-12 ครั้ง

3. 揉耳 ท่าคลึงใบหู

ยกแขนทั้งสองขึ้น ใช้มือนิ้วโป้ง นิ้วชี้จับบริเวณใบหู จากนั้นกดคลึงร่วมกับการดึงใบหูขึ้นด้านบนและลงสู่ด้านล่างอย่างช้าๆ 6-12 ครั้ง

4. 搓颈 ท่าถูคอ

นำหลังมือขวาวางบริเวณเอวส่วนล่าง ใช้มือซ้ายวางบริเวณต้นคอ โดยใกล้กระดูกต้นคอที่นูนที่สุดหรือใกล้ จุดต้าจุย  (大椎穴,DU14 ) จากนั้นให้ถูไปมา 6-12 ครั้ง สลับข้างทำซ้ำ 6-12 ครั้งเช่นกัน

5. 松颈 ท่าผ่อนคลายคอ

ยืนแยกเท้าทั้งสองให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวไหล่ มือทั้งสองจับระดับเอวโดยให้นิ้วโป้งวางระนาบมาด้านหน้า ส่วนนิ้วที่เหลือให้อยู่ด้านหลัง จากนั้น

- ก้มคอ หายใจเข้า กลับสู่ท่าเดิม หายใจออก

- เงยหน้า หายใจเข้า กลับสู่ท่าเดิม หายใจออก

- หมุนคอไปด้านซ้าย หายใจเข้า กลับสู่ท่าเดิม หายใจออก

- หมุนคอไปด้านขวา หายใจเข้า กลับสู่ท่าเดิม หายใจออก

- มองเฉียงลงด้านซ้าย หายใจเข้า กลับสู่ท่าเดิม หายใจออก

- มองเฉียงลงด้านขวา หายใจเข้า กลับสู่ท่าเดิม หายใจออก

หมายเหตุ : แต่ละท่าทำซ้ำกัน 3-6 ครั้ง โดยมีการควบคุมลมหายใจร่วมด้วย

6. 摩三焦 ท่าม๋อซานเจียว

ซานเจียว การแพทย์แผนจีน คือ ช่องว่างของร่างกาย ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนบน ส่วนกลาง ส่วนล่าง

มือทั้งสองจับประสานกัน โดยผู้ชายนำมือซ้ายอยู่ด้านบน ผู้หญิงมือขวาอยู่ด้านบน

- ส่วนบน (บริเวณหน้าอก) คลึงลูบระดับผิวเบาๆ ตามเข็มนาฬิกา 6-12 ครั้ง

- ส่วนกลาง (บริเวณท้อง) คลึงลูบระดับผิวเบาๆ ทวนเข็มนาฬิกา 6-12 ครั้ง

- ส่วนล่าง (บริเวณท้องน้อย) คลึงลูบระดับผิวเบาๆ ตามเข็มนาฬิกา 6-12 ครั้ง

7. 按腰 ท่ากดบริเวณเอว

นำมือทั้งสองแนบชิดบริเวณเอวด้านหลัง ใช้แรงกดลูบเบาๆจากกลางหลังลงสู่หลังล่างถึงบริเวณสะโพก ทำต่อเนื่อง 6-12 ครั้ง

8. 转腰 ท่าหมุนเอว

ยืนแยกเท้าทั้งสองให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวไหล่ มือทั้งสองจับระดับเอวโดยให้นิ้วโป้งวางระนาบมาด้านหน้า ส่วนนิ้วที่เหลือให้อยู่ด้านหลัง จากนั้นค่อยๆหมุนเอวเริ่มจากตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกาอย่างนุ่มนวล ในระยะความกว้างที่เหมาะสม ทำซ้ำ 6-12 ครั้ง

9. 拍臂 ท่าตบแขน

แขนซ้ายด้านในหงายและยื่นออกด้านหน้า ใช้มือขวาเคาะหรือตีเบาๆตั้งแต่ต้นแขนถึงข้อมือ โดยผ่านหัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือด้านใน  ทำต่อเนื่อง 3-6 ครั้ง จากนั้นพลิกแขนซ้าย ใช้มือขวาเคาะหรือตีเบาๆตั้งแต่บริเวณหลังมือซ้าย ข้อมือ ข้อศอก และหัวไหล่ด้านนอก ทำต่อเนื่อง 3-6 ครั้ง หลังจากนั้นสลับเปลี่ยนไปทำฝั่งตรงข้าม

10. 抬腿 ท่ายกขา

ยกขาซ้ายเปรียบเสมือนกำลังก้าวขาไปด้านหน้าจากนั้นค่อยๆลดขาลง และแขนขยับไปมาอย่างธรรมชาติ สลับซ้าย-ขวา ทำต่อเนื่อง 6-12 ครั้ง

11. 磨膝 ท่าม๋อเข่า

ยืนขาทั้งสองชิดติดกัน งอบริเวณเอวและงอเข่าเล็กน้อย มือทั้งสองวางบริเวณหัวเข่า จากนั้นค่อยๆหมุนเข่าตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกาอย่างนุ่มนวลธรรมชาติ อย่างละ 6-12 ครั้ง

12. 吐故纳新 ท่าหายใจเข้าออก

ยืนแยกเท้าทั้งสองให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวไหล่ แขนทั้งสองยื่นออกมาระดับอกฝ่ามือหันลงล่างอย่างเป็นธรรมชาติ จากนั้นหายใจเข้า ค่อยๆยกแขนขึ้นสูงกว่าไหล่ได้เล็กน้อย แขนทั้งสองค่อยๆดึงกลับเข้าหาอก จากนั้นใช้มือดันไปด้านหน้าและค่อยๆหายใจออก ทำซ้ำต่อเนื่อง 3-6 ครั้ง

บางท่าสามารถทำได้ทั้งการยืนและนั่ง ปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ทีมแพทย์จีนคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว แผนกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท ชั้น 8

------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน พัลลภ อ่อนแก้ว (จาง เหวิน จิ้ง)
张文静 中医师
TCM. Dr. Phanlob Onkaew

เอกสารอ้างอิง

1.     上海中医药大学附属龙华医院 https://new.qq.com/rain/a/20200311a0jswp00?pc

สืบค้นเมื่อ 29/1/2566

2.王显阳,韩秀伟,程少丹,等膝关节炎外治的研究进展风湿病与关节炎.2017,6 (11) :72-77

3.第九届华侨崇圣大学与上海中医药大学合作举办中医老年病临床讲座

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้