สูตรอาหารป้องกันและปรับสมดุลสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง (ตอนที่ 1)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1186 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สูตรอาหารป้องกันและปรับสมดุลสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง (ตอนที่ 1)

ภาวะความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง การมีไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการทางสมองช้ำใหม่ได้อีก ซ้ำเติมอาการเดิมของผู้ที่ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้วให้หนักรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

การควบคุมภาวะความดันโลหิต ไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจึงถือเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

นอกเหนือจากการใช้ยา และการปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้สมดุลสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติแล้ว การเลือกรับประทานอาหารที่ถูกส่วนและเหมาะสมมีส่วนสำคัญยิ่ง ในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยอย่างยั่งยืนและปลอดภัย

การใช้อาหารเป็นยา
การใช้อาหารเป็นยาในทางการแพทย์แผนจีนนั้น มีประวัติสืบเนื่องมายาวนาน นับตั้งแต่ยุคราชวงศ์ถัง ปีกงหยวนที่ 621-713 หนึ่งใน “สี่ปรมาจารย์แพทย์จีนเลื่องชื่อแห่งยุคราชวงศ์ถัง (唐代四大名医)” นามว่า “เหมิ้งเซิน (孟诜)” ได้ริเริ่มการบำบัดด้วยอาหาร และได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาว่าเป็น “บิดาแห่งโภชนาบำบัด (世界食疗学的鼻祖)”

เมิ่งเซิน ถือเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของปรมาจารย์แพทย์จีน “ซุนซือเหมี่ยว (孙思邈)” ทั้งยังมีชื่อร่วมกันกับซุนซือเหมี่ยวผู้เป็นอาจารย์ของตนในการครองตำแหน่ง “สี่ปรมาจารย์แพทย์จีนเลื่องชื่อแห่งยุคราชวงศ์ถัง” อีกด้วย

เมิ่งเซิน ได้ประพันธ์ตำราโภชนาบำบัด “สือเหลียวเปิ่นเฉ่า《食疗本草》” นับเป็นตำราโภชนาบำบัดเล่มแรกของโลก

ตลอดชีวิตของเมิ่งเซินนั้นใส่ใจให้ความสำคัญกับข้อควรระวังข้อห้ามในการใช้อาหารและยาทุกชนิด เน้นผลการรักษาบนความปลอดภัย การใช้อาหารบำบัด จึงมีความโดดเด่นที่มีความปลอดภัยสูง ไม่มีอันตรายจากผลข้างเคียง ที่ถึงแม้จะวินิจฉัยโรคไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดผลอันตรายต่อร่างกายมากนัก ใช้ได้ทั้งรักษาโรคและบำรุงสุขภาพร่างกาย เหมาะกับการรักษาโรคเรื้อรังในระยะยาว

สูตรอาหารแนะนำเพื่อป้องกันและปรับสมดุลสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงสรรพคุณทางการแพทย์จีน ข้อบ่งใช้ ข้อควรระวังของอาหารที่เป็นส่วนประกอบ ดังนี้

1. คึ่นช่ายฝรั่งผัดเห็ดหูหนูดำ 芹菜炒木耳

สรรพคุณ

  • เพิ่มการไหลเวียนเลือด
  • บำรุงเลือด
  • เพิ่มความชุ่มชื้นในลำไส้
  • ทำให้ขับถ่ายคล่อง
  • ดับพิษร้อน
  • ลดความความดันโลหิต


เหมาะสำหรับ

ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากสมองขาดเลือด (หลอดเลือดสมองตีบ, ตัน) ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง

ส่วนประกอบ

  • เห็ดหูหนูดำแห้ง 10 กรัม
  • คึ่นช่ายฝรั่ง 250 กรัม
  • ขิงสดหั่น 2 แว่น
  • น้ำมันพืช 5 ml


วิธีทำ

  1. นำคึ่นช่ายฝรั่งที่เอาใบออกและมาล้างทำความสะอาด หั่นพอดีคำ
  2. นำเห็ดหูดำแห้งมาล้าง แช่น้ำร้อนให้บานออก
  3. ตั้งกระทะด้วยไฟแรง ใส่น้ำมันพืช รอจนกระทะร้อนน้ำมันเดือดพอได้ที่ แล้วจึงใส่ขิงสดลงไปเจียวจนมีกลิ่นหอม
  4. นำเห็ดหูหนูลงไปผัดคลุกเคล้าให้เข้ากับเครื่อง
  5. พอเห็ดหูหนูเริ่มสุกจึงนำคึ่นช่ายฝรั่งลงไปผัดตาม
  6. เติมเกลือปรุงรสตามชอบ ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงตักขึ้น ใส่จานพร้อมเสิร์ฟ

วิธีรับประทาน
ใช้ทานเป็นกับข้าว ครั้งละ 1 ชาม รับประทาน 3-4 ครั้ง/สัปดาห์

เห็ดหูหนูดำ 黑木耳


ฤทธิ์ กลางไม่ร้อนไม่เย็น
รส หวาน
เข้าสู่เส้นลมปราณ กระเพาะอาหาร และ ลำไส้ใหญ่

สรรพคุณ

  • เพิ่มความชุ่มชื้นในปอด ลดไอ
  • เพิ่มความชุ่มชื้นในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายคล่องสะดวก บำรุงสมอง
  • เพิ่มการไหลเวียนโลหิต
  • ห้ามเลือด
  • ต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ลดความดัน โลหิต
  • ต้านมะเร็ง

นอกจากนี้ยังมีมีผลวิจัยพบว่าเห็ดหูหนูดำสามารถต้านการแข็งตัวของเลือด ต้านการเกิดลิ่มเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความหนืดของเลือด ทำให้หลอดเลือดอ่อนนุ่ม ทำให้เลือดไหลเวียนคล่องสะดวก ลดการเกิดโรคหลอดสมองและหลอดเลือดหัวใจ

กลุ่มคนที่ห้ามรับประทานเห็ดหูหนูดำ

  1. ผู้เป็นโรคที่มีอาการเลือดออกผิดปกติ ผู้มีเกล็ดเลือดต่ำห้ามรับประทาน
  2. ผู้ที่มีอาการท้องร่วงท้องเสีย ไม่ควรรับประทาน หรือควรรับประทานแต่น้อย
  3. สตรีมีครรภ์ควรรับประทานแต่น้อย
  4. ผู้ป่วยโรคโพรพีเรีย (Porphyria) ไม่ควรทานเห็ดหูหนูดำแบบสด เพราะในเห็ดหูหนูดำแบบสดมีสาร พอร์ไฟริน (Porphyrin) เป็นองค์ประกอบ จึงควรเลือกใช้เห็ดหูหนูดำแห้งที่นำมาแช่ล้างน้ำจนสะอาดอย่างน้อย 3 รอบแทน

(โรคโพรพีเรีย (Porphyria) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนสารพอร์ไฟริน (Porphyrin) ไปเป็นสารชื่อว่าฮีม (Heme) ในเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้สาร Porphyrin สะสมอยู่ตามระบบต่าง ๆ ในร่างกาย จนมากเกินเกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น กระตุ้นให้เกิดผิวหนังอักเสบเมื่อโดนแสงแดด เป็นต้น)

กลุ่มคนที่เหมาะกับการรับประทานเห็ดหูหนูดำ

  1. คนปกติทั่วไปสามารถรับประทานได้
  2. เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่ว ผู้ขาดธาตุเหล็ก
คึ่นช่ายฝรั่ง 西芹

ฤทธิ์ เย็น
รส
หวาน ขม
เข้าสู่เส้นลมปราณ ปอด กระเพาะอาหาร ตับ

สรรพคุณ

  • กระตุ้นความอยากอาหาร
  • ลดความร้อนในลำไส้
  • ลดความดันโลหิตสูง
  • กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
  • บำรุงสมอง
  • ลดความร้อนในตับ
  • ขับลมระบายความชื้น
  • ดับพิษร้อน


กลุ่มคนที่ห้ามรับประทานคึ่นช่ายฝรั่ง

  1. ผู้เป็นโรคความดันโลหิตต่ำห้ามรับประทาน
  2. ผู้ป่วยกลุ่มอาการม้ามกระเพาะอาหารอ่อนแอแบบเย็นพร่องห้ามรับประทาน
  3. ผู้ที่มีอาการ ถ่ายเหลว กลั้นอุจจาระไม่ได้ห้ามรับประทาน

กลุ่มคนที่เหมาะกับการรับประทานคึ่นช่ายฝรั่ง

  1. คนปกติทั่วไป
  2. เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ปวดเวียนศีรษะ หน้าแดง ตาแดง
  3. ปัสสาวะแสบขัดมีเลือดปน
  4. ผู้ป่วยที่มีฝีหนอง
2. น้ำคื่นฉ่ายฝรั่ง 芹菜汁

สรรพคุณ

  • ลดพิษร้อนในตับ
  • ขับปัสสาวะ ลดบวม
  • ลดความดันโลหิต


เหมาะสำหรับ
ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีความดันโลหิตสูงด้วย แต่มีข้อควรระวังคือ คื่นฉ่ายฝรั่งมีฤทธิ์เย็น ลักษณะลื่น ในผู้ป่วยกลุ่มอาการม้ามกระเพาะอาหารเย็นพร่อง ผู้ถ่ายเหลวกลั้นอุจจาระลำบากไม่ควรดื่ม หรือควรระมัดระวังในการดื่ม

ส่วนประกอบ
คื่นฉ่ายฝรั่งปริมาณพอเหมาะ

วิธีทำ
นำคื่นฉ่ายฝรั่งที่ล้างทำความสะอาดและตัดรากทิ้งแล้วมาบดคั้นเอาแต่น้ำ

วิธีรับประทาน
รับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 ช้อนโต๊ะ รับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5-7 วัน ถือเป็น 1 คอร์สการรักษา

3. ยำมะเขือยาวนึ่งสไตล์จีน 蒸茄子

สรรพคุณ

  • เพิ่มความชุ่มชื้น
  • แก้กระหายน้ำ
  • ขับปัสสาวะ ลดบวม


เหมาะสำหรับ

ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากสมองขาดเลือด (หลอดเลือดสมองตีบ, ตัน) ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีภาวะอ้วน

ส่วนประกอบ

  • มะเขือยาวม่วง 2-3 ลูก
  • กระเทียมสับละเอียด 1 ช้อนชา
  • น้ำมันงา 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

  1. นำมะเขือยาวม่วงอ่อน ๆ 2-3 ลูก มาล้างทำความสะอาด
  2. หั่นมะเขือยาวเป็นเส้นตามแนวยาวขนาดพอเหมาะ
  3. นำมะเขือยาวที่หั่นแล้วมาวางเรียงในหม้อนึ่ง
  4. ใส่กระเทียมสับละเอียดวางลงไป
  5. ตั้งหม้อนึ่งไฟแรง 15 นาที นึ่งจนมะเขือยาวสุกเข้าเนื้อจนได้ที่ จึงนำขึ้นจากหม้อ

เวลารับประทาน ใส่น้ำมันงา ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อยตามชอบ คลุกเคล้าให้เข้ากันก่อนรับประทาน

วิธีรับประทาน
ใช้ทานเป็นกับข้าว ครั้งละ 1 ชาม

มะเขือยาวม่วง 茄子

ฤทธิ์ เย็นจัด
รส หวาน
เข้าเส้นลมปราณ ม้าม กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่

สรรพคุณ

  • สลายเลือดคั่ง แก้ปวด
  • สมานแผล
  • ห้ามเลือด
  • ขับปัสสาวะ
  • แก้พิษร้อน
  • สามารถใช้รักษา อาการไอหอบ ริดสีดวงทวาร ตกขาวปริมาณมากเกินปกติ อาการมดลูกหย่อน ฯลฯ

กลุ่มคนที่ไม่หมาะกับการรับประทานมะเขือยาวม่วง

  1. มะเขือยาวม่วงมีฤทธิ์เย็นจัด ผู้ป่วยกลุ่มอาการม้ามกระเพาะอาหารอ่อนแอแบบเย็นพร่อง ผู้มีร่างกายอ่อนแอ ถ่ายเหลว ผู้มีอาการหอบหืด ไม่ควรรับประทานมากเกิน
  2. ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ไม่ควรรับประทานมะเขือยาวม่วง 

กลุ่มคนที่เหมาะกับการรับประทานมะเขือยาวม่วง

  1. คนปกติทั่วไป
  2. ผู้ที่มีผดร้อน, มีฝีขึ้นง่าย
4. ข้าวมันหวาน 红薯饭

สรรพคุณ

  • บำรุงพลังลมปราณ (ชี่)
  • บำรุงร่างกาย
  • เสริมพลังม้ามกระเพาะอาหาร

เหมาะสำหรับ
ใช้เป็นอาหารหลัก (แทนข้าวล้วน แทนขนมปัง หรืออาหารหลักอื่น) สำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง ผู้มีความดันโลหิตสูง ผู้มีไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกร่วมด้วย

ส่วนประกอบ

  • ข้าวสาร 100 กรัม
  • มันหวาน 1 หัว
  • ฟักทอง 200 กรัม

วิธีทำ

  1. นำมันหวานและฟักทองมาปอกล้างให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
  2. นำไปหุงร่วมกับข้าวสารในหม้อหุงข้าว โดยใส่มันหวานและฟักทองในสัดส่วนและปริมาณตามชอบ
  3. เมื่อข้าวหุงสุกแล้ว ปิดหม้อทิ้งไว้สุกครู่เพื่อให้ข้าวนุ่มหอมกรุ่นมากยิ่งขึ้น

วิธีรับประทาน
ใช้รับประทานเป็นอาหารหลัก (แทนข้าวล้วน แทนขนมปัง หรืออาหารหลักอื่น) มื้อละ 1 ชาม

ข้าว 大米

ฤทธิ์ กลาง ไม่ร้อนไม่เย็น
รส หวาน
เข้าเส้นลมปราณ ม้าม กระเพาะอาหาร ปอด

สรรพคุณ

  • บำรุงพลังลมปราณจงเจียว (ชี่ม้ามกระเพาะอาหาร)
  • บำรุงอิน ทำให้ปอดชุ่มชื้น
  • ปรับสมดุลม้ามและกระเพาะอาหาร
  • แก้กระหาย
  • แก้ถ่ายเหลว
  • ลดกระสับกระส่าย ลดหงุดหงิด
  • ปรับสมดุลอารมณ์
  • ปรับสมดุลอวัยวะภายในทั้ง 5 (หัวใจ ตับ ปอด ม้าม ไต)
  • ทำให้หลอดเลือดไหลเวียนคล่องสะดวก
  • บำรุงหูและตาให้ได้ยิน มองเห็นได้ชัดเจน

กลุ่มคนที่ไม่หมาะกับการรับประทานข้าว
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรรับประทานแต่น้อย

กลุ่มคนที่เหมาะกับการรับประทาน
คนปกติทั่วไป

มันหวาน 红薯

ฤทธิ์ กลาง ค่อนข้างไปทางเย็นเล็กน้อย
รส หวาน
เข้าเส้นลมปราณ ม้าม กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่

สรรพคุณ

  • บำรุงพลังลมปราณจงเจียว (ชี่ม้ามกระเพาะอาหาร)
  • เพิ่มสารน้ำ ทำให้กระเพาะลำไส้โล่งสบาย
  • แก้ท้องผูก ทำให้ถ่ายคล่อง

กลุ่มคนที่ไม่หมาะกับการรับประทานมันหวาน

  1. ผู้ที่มีกลุ่มอาการความชื้นอุดกั้นม้ามและกระเพาะอาหารควรระมัดระวังในการรับประทาน
  2. ผู้มีอาการอาหารไม่ย่อยท้องอืดแน่นลมปราณติดขัดควรระมัดระวังในการรับประทาน

กลุ่มคนที่เหมาะกับการรับประทานมันหวาน

  1. คนปกติทั่วไป
  2. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ฟักทอง 南瓜

ฤทธิ์ อุ่น
รส หวาน
เข้าเส้นลมปราณ ม้าม กระเพาะอาหาร

สรรพคุณ

  • บำรุงพลังลมปราณจงเจียว (ชี่ม้ามกระเพาะอาหาร)
  • ดับพิษร้อน
  • ลดอักเสบ บรรเทาปวด
  • ฆ่าพยาธิ
  • ช่วยย่อย
  • ปกป้องเยื่อบุกระเพาะอาหาร
  • ลดไขมันในเลือด
  • ลดน้ำตาลในเลือด
  • สามารถใช้รักษา อาการอ่อนเพลียจากพลังลมปราณพร่อง ปวดเส้นประสาท Intercostal nerve มาเลเรีย โรคบิด แก้พิษจากฝิ่น ฆ่าพยาธิ รักษาโรคหอบหืด ฝีในปอด โรคเบาหวาน

กลุ่มคนที่ห้ามรับประทานฟักทอง

  1. ฟักทองมีฤทธิ์อุ่น ผู้ป่วยกลุ่มอาการมีความร้อนในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยกลุ่มอาการมีลมปราณติดขัดทำให้ท้องอืดแน่นกระเพาะอาหาร และผู้ป่วยกลุ่มอาการร้อนชื้นร่วมกับชี่ติดขัด ควรรับประทานแต่น้อย
  2. ผู้ป่วยดีซ่าน ผู้ป่วยกลุ่มอาการความชื้นอุดกั้นร่วมกับชี่ติดขัด ห้ามรับประทาน

กลุ่มคนที่เหมาะกับการรับประทานฟักทอง

  1. คนปกติทั่วไป
  2. เหมาะสำหรับผู้มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้สูงวัย

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ปณิตา กาสมสัน (หมอจีน หลู เหมียว ซิน)
卢苗心 中医师
TCM. Dr. Panita Kasomson (Lu Miao Xin)
คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท

อ้างอิง

  1. 黄燕 陈达灿 杨志敏 等. 中风中西医结合慢性病防治指导与自我管理丛书[M]北京:人民卫生出版社 2013.11
  2. 孟诜 张鼎. 中华养生经典.食疗本草[M]:中华书局2011.11.1
  3. 食材大全. 苹果绿养生网https://www.pingguolv.com/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้