ทำความเข้าใจกับ ชี่ (ลมปราณ) สสารเล็กที่สุดในร่างกายของเรา

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  51934 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำความเข้าใจกับ ชี่ (ลมปราณ) สสารเล็กที่สุดในร่างกายของเรา

แพทย์แผนจีน ชวนคุณมาทำความรู้จักกับพลังงานที่เล็กที่สุดในร่างกายของเรา  โดยคำที่มักจะได้ยินบ่อยๆก็คือ คำว่า "ชี่" (气) หรือ "ลมปราณ"

"ชี่" Qi เป็นสสารที่เล็กที่สุดในร่างกาย มีการเคลื่อนไหวขึ้นบนลงล่างตลอดเวลา ขับดันและควบคุมการทำงานของร่างกาย เมื่อการเคลื่อนไหวของชี่สิ้นสุด ชีวิตก็สิ้นสุดด้วย

การสร้างชี่ในร่างกายของมนุษย์ ... ชี่ถูกสร้างมาจากอะไร ?
ที่มาของชี่ก่อนกำเนิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ร่างกายสร้างชี่โดยอาศัยจิงก่อนกำเนิดกลายเป็นชี่ก่อนกำเนิด ซึ่งเป็นพื้นฐานของชี่ เรียก เจินชี่ (真气) หรือ เหวียนชี่ (原气) หรือ เหวียนชี่ (元气)

ชี่หลังกำเนิด หลังคลอดร่างกายได้รับชี่เพิ่มเติมจากม้ามและกระเพาะอาหารโดยการดูดซึมจากสารอาหารเปลี่ยนเป็นชี่ และจากปอดที่สูดอากาศที่บริสุทธิ์เข้าสู่ร่างกายเปลี่ยนเป็นชี่

ชี่ในร่างกายจะแบ่งเป็น ชี่อิน และ ชี่หยาง โดยในชี่อินนั้นมีความหนาวเย็น จุดเด่นคือทำให้สงบ ลด หรือทำให้เจือจาง ส่วนชี่หยางนั้นมีความอุ่นร้อน จุดเด่นคือกระตุ้น ผลักดัน ทั้งชี่อินและหยางในร่างกายจะทำงานสมดุล สนับสนุนหรือควบคุมการทำงานซึ่งกันและกัน เพื่อการดำรงชีวิตอย่างสมดุล


Cr.Pic : yogisurprise.com

หน้าที่ของชี่

1. กระตุ้นและควบคุมการทำงานในร่างกาย
ชี่หยางกระตุ้น ขับดัน และส่งเสริม ดังนี้
(1)  ให้ร่างกายเจริญเติบโตและระบบอวัยวะสืบพันธุ์สมบูรณ์
(2)  กระตุ้นและขับดันการทำงานของระบบอวัยวะภายในและลมปราณ
(3)  กระตุ้นและขับดันการสร้างและการลำเลียงจิง เลือด และของเหลวในร่างกาย

ชี่อิน ช่วยในด้านการชะลอ และควบคุมการทำงาน ดังนี้
(1)  ควบคุมและลดการเจริญเติมโตของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ไม่ให้มีการเจริญเติบโตหรือการทำงานมากเกินไป
(2)  ควบคุมและช่วยลดการทำงานของระบบอวัยวะภายในไม่ให้ทำงานมากเกินไป
(3)  ควบคุมและลดการสร้างและการลำเลียงของจิง เลือด และของเหลวในร่างกายไม่ให้มากเกินไป

การทำงานทุกๆด้านของร่างกายต้องอาศัยชี่ ทั้งชี่หยางและชี่อินควรอยู่ในระดับที่พอเหมาะสมดุลกัน เพื่อไม่ให้มีการทำงานที่มากหรือน้อยเกินไป

2. ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย
ชี่หยางให้ความร้อนและความอบอุ่นแก่ร่างกาย อวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ และสลายความเย็น

ชี่อินให้ความเย็นแก่ร่างกาย อวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ และลดความร้อนในร่างกาย

ความร้อนและความเย็นในร่างกายต้องอาศัยชี่ ชี่หยางและอินอยู่ในระดับสมดุล ต่างควบคุมกันและกัน ทำให้สภาพร่างกายอยู่ในระดับความร้อนและความเย็นที่พอเหมาะ ให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติสุข

3. ปกป้องรักษาร่างกาย

ชี่ปกป้องรักษาร่างกายโดยป้องกันการรุกรานจากสาเหตุและโรคจากภายนอกร่างกายและต่อสู้ขับไล่สาเหตุของโรค ถ้าชี่ในร่างกายลดลงจะทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง ทำให้ป่วยง่าย

4. เหนี่ยวรั้งและควบคุมการทำงานของร่างกาย
ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมให้เลือดไหลเวียนอยู่ในหลอดเลือด ถ้าชี่พร่องจะมีอาการเลือดออกง่าย

ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำในกระเพาะอาหารและลำไส้ ในกรณีชี่พร่องอาจเกิดปัญหาเหงื่อออกมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาเจียนเป็นน้ำใส ท้องร่วงหรือกลั้นอุจจาระไม่ได้ 

ชี่ควบคุมการหลั่งอสุจิ หากชี่พร่องอาจเกิดปัญหาการหลั่งเร็ว ฝันเปียก หลั่งอสุจิโดยไม่รู้ตัว 

ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมต่ำแหน่งอวัยวะภายในไม่ให้หย่อน ถ้าชี่พร่องอาจเกิดปัญหารูทวารหย่อน ไตหย่อน กระเพาะอาหารหย่อน 

5. ประสานการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
อวัยวะภายในร่างกายแต่ละอวัยวะมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน การจะทำงานประสานกัน

ระหว่างอวัยวะ และการรับรู้ข่าวสารระหว่างอวัยวะต้องอาศัยชี่ที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลง และเข้าออกตลอดเวลาเป็นตัวนำสาร

6. ควมคุมการสร้างและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุพื้นฐานในร่างกาย
ชี่ควบคุมการย่อยอาหาร ดูดซึมเพื่อนำสารอาหารไปสร้างเป็นวัตถุพื้นฐานของร่างกาย ได้แก่ จิง ชี่ เลือด และของเหลวในร่างกาย เพื่อหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย หากเกิดความผิดปกติจะทำให้กระบวนการสร้างและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุพื้นฐานในร่างกายหยุดชะงัก

การเคลื่อนไหวของชี่
การเคลื่อนไหลของชี่ เรียก ชี่จี (气机)


Cr.Pic : projectavalon.net

ชี่ในร่างกายมีการไหลเวียนตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานเป็นปกติ การไหลเวียนของชี่มี 4 ทิศทาง ได้แก่ จากล่างขึ้นบน จากบนลงล่าง จากในออกนอก และจากนอกเข้าใน

ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของชี่ มีดังนี้
1)  ชี่ไหลเวียนผิดปกติ เรียก ชี่จีสือเถียว (气机失调)
2)  ชี่ติดขัดเฉพาะที่ เรียก  ชี่จื้อ (气滞)
3)  ชี่สวนทางลอยขึ้น หรือ ชี่ย้อนกลับ เรียก ชี่นี่ (气逆)
4)  ชี่จมลงข้างล่าง เรียก  ชี่เซี่ยน (气陷)
5)  ชี่เคลื่อนออกนอกเกินไป เรียก  ชี่ทัว  (气脱)
6)  ชี่เคลื่อนเข้านมากเกินไป เรียก  ชี่ปี้  (气闭)

ชนิดของชี่
เหวียนชี่ (元气, 原气) หรือเจินชี่ (真气)
เหวียนชี่เป็นชี่พื้นฐานและสำคัญที่สุดของร่างกาย เป็นพลังแรกเริ่มของร่างกายและชีวิต

การสร้าง
เหวียนชี่สร้างจากจิงก่อนกำเนิดเป็นสำคัญ แต่หลังคลอดต้องอาศัยจิงหลังกำเนิดที่เกิดจากการย่อยและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหารเติมเต็มเหวียนชี่ ดังนั้นความสมบูรณ์ของเหวียนชี่นอกจากอาศัยจิงก่อนกำเนิดแล้วยังต้องอาศัยความสมบูรณ์ของม้าม กระเพาะอาหาร และโภชนาการด้วย

การไหลเวียน
การไหลเวียนของเหวียนชี่เมื่อสร้างจากจิงก่อนกำเนิดเริ่มที่จุดมิ่งเหมิน (命门) ผ่านซานเจียวไปยังทุกส่วนของร่างกาย

การทำงาน
(1)  กระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย เหวียนชี่กระตุ้นให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตตั้งแต่เกิด เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก็กระตุ้นระบบการสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์ เหวียนชี่จะลดลงเมื่อถึงวัยสูงอายุเป็นผลให้ร่างกายเริ่มเกิดการเสื่อมและอ่อนแอลง

(2) ควบคุมการทำงานของระบบในร่างกายอยู่ในสมดุล เช่น ควบคุมร่างกายไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป



จงชี่ (宗气)  
การสร้าง
จงชี่เกิดจาก 2 แหล่ง ได้แก่ 
(1)  สร้างจากม้ามและกระเพาะอาหาร จากการย่อยและดูดซึมสารอาหาร  
(2)  ได้จากปอดสูดอากาศที่บริสุทธิ์ จากทั้งสองแหล่งรวมเป็นจงชี่

การไหลเวียนของจงชี่
จงชี่เริ่มจากจุดถันจง (膻中) ตรงกลางอก ส่งไปปอดแล้วขึ้นไปลำคอกระตุ้นการหายใจ อีกส่วนไปยังหัวใจและซานเจียวเพื่อส่งไปทั่วร่างกาย โดยไปทางหัวใจจะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทางซานเจียวจะลงล่างไปยังตันเถียน (丹田) คือ จุดชี่ไห่ (气海:CV6) เสริมเหวียนชี่และจากชี่ไห่ส่งลงขาทางเส้นเท้าเส้าหยางหมิง

การทำงานของจงชี่
(1) กระตุ้นระบบการหายใจ รวมทั้งการออกเสียง ถ้าจงชี่สมบูรณ์ทำให้การหายใจเต็มอิ่ม ออกเสียงมีพลังก้องกังวาน หากจงชี่อ่อนแอ ทำให้การหายใจแผ่วเบา ออกเสียงออกเบาไร้พลัง

(2) กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ในโบราณกาลมีการประเมินความสมบูรณ์ของจงชี่โดยดูจากจังหวะการเต้นที่บริเวนซฺวีหลี่ (虚里) ซึ่งอยู่ใต้หัวนมซ้าย

(3) เสริมเหวียนชี่ เนื่องจากเหวียนชี่เกิดจากจิงก่อนกำเนิดเป็นสำคัญซึ่งมีจำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการเสริมจากจงชี่

อิ๋งชี่ (营气)
อิ๋งชี่เป็นชี่ที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งจนไม่สามารถแยกจากกันได้ มักเรียกว่า อิ๋งเซฺวี่ย (营血) อิ๋งชี่เป็นอิน ขณะที่เว่ย์ชี่เป็นหยาง

การสร้างและการไหลเวียน
อิ๋งชี่สร้างจากจิงหลังกำเนิดซึ่งจากการย่อยและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหาร เมื่อได้อิ๋งชี่แล้วส่งไปยังเส้นเลือดหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย       

การทำงานของอิ๋งชี่
(1)  อิ๋งชี่อยู่ในเส้นเลือดสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเลือดได้
(2)  อิ๋งชี่ไหลเวียนไปพร้อมเลือด หล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย

เว่ย์ชี่ (卫气)
การสร้างและการไหลเวียน
เว่ย์ชี่สร้างจากจิงหลังกำเนิดซึ่งจากการย่อยและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหาร ที่ออกมาอยู่นอกเส้นลมปราณจะกลายเป็นเว่ย์ชี่

การทำงานของเว่ย์ชี่
(1)  เว่ย์ชี่ป้องกันการรุกรานของสาเหตุภายนอกที่มากระทบร่างกาย ช่วยขับไล่สาเหตุของโรค ถ้าเว่ย์ชี่พร่องจะทำให้เจ็บป่วยจากสาเหตุภายนอกได้ง่าย
(2)  เว่ย์ชี่สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ไม่ให้ถูกกระทบจากความหนาวเย็น
(3)  เว่ย์ชี่ช่วยควบคุมการเปิดปิดรูเหงื่อ เพื่อรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย และรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม

อ้างอิงข้อมูล
Basic Traditional Chinese Medicine
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-974-16-0792-1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้