ภาวะหัวใจล้มเหลวกับการรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน Heart Failure

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  9528 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะหัวใจล้มเหลวกับการรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน Heart Failure

ในปัจจุบันมีผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เพิ่มสูงมากขึ้นในทุกๆปี และยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรทั่วโลก  ซึ่งภาวะนี้มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ง่าย  หากผู้ป่วยได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม จะทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวและคุณภาพชีวิตดีขึ้น

สาเหตุการเกิดโรค
ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือการทำงานของหัวใจ เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว  ลิ้นหัวใจผิดปกติ  กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวทำให้หัวใจบีบตัวลดลง รวมไปถึงความผิดปกติของเยื่อหุ้มหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคอื่นๆเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อบางชนิด และยังอาจเกิดจากผลข้างเคียงของการรับประทานยาต่างๆเป็นระยะเวลานาน

สาเหตุเหล่านี้ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจนมีอาการแสดงต่างๆเกิดขึ้น


อาการของโรค
อาการเหนื่อยหอบขณะที่ออกแรง นอนราบไม่ได้ หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนราบ ไอ หรือ ต้องตื่นขึ้นกลางดึกเนื่องจากหายใจไม่สะดวก เท้าบวม ขาบวม กดเป็นรอยบุ๋ม หรืออาจมาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอกเป็นๆหายๆ หายใจถี่เร็ว อาจพบอาการแน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้เบื่ออาหารร่วมด้วย เป็นต้น

ชนิดของโรค
แบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามระยะเวลาที่มีอาการ
1. ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอาการจะค่อย ๆ แย่ลงเรื่อย ๆ


2. ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาการเป็นๆหายๆ


ในทางการแพทย์แผนจีน ภาวะหัวใจล้มเหลวจัดอยู่ในขอบเขตของโรคใจสั่น(心悸) โรคบวม(水肿) โรคหอบ( 喘证) โรคเสมหะและน้ำคั่งค้าง( 痰饮)  โรคทรวงปี้( 胸痹)เป็นต้น  โดยมีการเรียกชื่อโรคตามอาการแสดงหลักเป็นสำคัญ

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
ในทางแพทย์แผนจีน มองว่าเกิดจากภาวะร่างกายที่ไม่แข็งแรงแต่กำเนิด เจ็บป่วยนานเรื้อรัง นอนดึก ความเครียด พักผ่อนน้อย เลือกรับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ ร่างกายทรุดโทรม หรือมีการติดเชื้อ สาเหตุเหล่านี้ทำให้ชี่เลือดอินหยางในร่างกายขาดสมดุล หัวใจทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ หลอดเลือดเกิดการอุดตัน เกิดความชื้นเลือดคั่งอุดกั้นภายใน จนส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสดงต่างๆ

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
1.1 ภาวะ / กลุ่มอาการเลือดคั่งจากชี่พร่อง
气虚血瘀证 Qìxū xuè yū zhèng 
Pattern / syndrome of qi deficiency with blood stasis
อาการหายใจสั้น หอบเหนื่อย รู้สึกเหนื่อยขณะที่ออกแรงทำงานหรือเวลาพูด เหงื่อออกง่าย สีหน้าไม่สดใส ลิ้นสีม่วงคล้ำ อาจมีจ้ำเลือด จุดเลือดบนลิ้นหรือเส้นเลือดใต้ลิ้นโป่งพอง ฝ้าขาว ชีพจรจมเล็ก ไม่มีแรง

วิธีการรักษา : บำรุงหัวใจและปอด เพิ่มการไหลเวียน ขจัดเลือดคั่ง
ตำรับยาที่เหมาะสม : เป่าหยวนทัง และ เซวี่ยฝู่จู๋อฺวีทัง (保元汤合血府逐瘀汤)

หลักการเลือกใช้ตำรับยา การรักษาจะใช้ยาที่มีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจและปอด ร่วมกับเพิ่มการไหลเวียนเพื่อขจัดเลือดคั่ง จึงเลือกใช้ตำรับ เป่าหยวนทัง(保元汤)ที่ประกอบด้วยยาซึ่งมีสรรพคุณในการบำรุงหยวนชี่ดีมากอย่าง เหรินเซิน(人参)คู่กับหวงฉี(黄芪)สามารถช่วยบำรุงชี่ของปอด ลดอาการหอบเหนื่อย เสริมพลัง และยังช่วยลดอาการบวม ร่วมกับตำรับเซวี่ยฝู่จู๋อฺวีทัง (血府逐瘀汤) ที่มีสรรพคุณโดดเด่นในการเพิ่มการไหลเวียน ขจัดเลือดคั่งที่บริเวณทรวงอก

1.2 ภาวะ / กลุ่มอาการชี่และอินพร่องมีเลือดคั่ง
气阴两虚血瘀证 Qì yīn liǎng xū xuè yū zhèng 

Pattern / syndrome of blood stasis due to deficiency of qi and yin
มีอาการหายใจสั้น หอบเหนื่อย เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้งกระหายน้ำ ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน สีหน้าไม่สดใส ลิ้นม่วงหรือแดงคล้ำ อาจมีจ้ำเลือด จุดเลือดบนลิ้นหรือ เส้นเลือดใต้ลิ้นโป่งพอง ตัวลิ้นผอมเล็ก ฝ้าน้อย ชีพจรเล็กเร็ว ไม่มีแรง หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ

วิธีการรักษา : บำรุงชี่ หล่อเลี้ยงอิน เพิ่มการไหลเวียน ขจัดเลือดคั่ง
ตำรับยาที่เหมาะสม : เซิงม่ายส่าน และ เซวี่ยฝู่จู๋อฺวีทัง (生脉散合血府逐瘀汤)

ในกลุ่มอาการนี้ ยังคงเลือกใช้ตำรับยาที่มีเหรินเซิน(人参)เป็นยาหลักเพื่อช่วยในการบำรุงชี่ของหัวใจและปอด แต่ตำรับเซิงม่ายส่าน ใช้เหรินเซิน(人参)คู่กับ ม่ายตง(麦冬) และ อู่เว่ยจื่อ(五味子)ที่ช่วยหล่อเลี้ยงอินกักเก็บสารน้ำไว้ลดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้งกระหายน้ำ ร่วมกับตำรับเซวี่ยฝู่จู๋อวีทัง (血府逐瘀汤) ที่มีสรรพคุณโดดเด่นในการเพิ่มการไหลเวียน ขจัดเลือดคั่งที่บริเวณทรวงอก

1.3 ภาวะ / กลุ่มอาการหยางชี่พร่องมีเลือดคั่ง
阳气亏虚血瘀证Yáng qì kuī xū xuè yū zhèng

Pattern / syndrome of yang deficiency with blood stasis
มีอาการหายใจสั้น หอบเหนื่อย เหนื่อยง่าย ขี้หนาว อาจพบอาการรู้สึกเย็นบริเวณท้อง เอว แขนขา หน้าตาดำคล้า ลิ้นและริมฝีปากสีม่วงคล้ำ อาจมีจ้ำเลือด จุดเลือดบนลิ้นหรือ เส้นเลือดใต้ลิ้นโป่งพอง ตัวลิ้นอ้วนใหญ่ ชีพจรจมเล็กเต้นช้า ในทางคลินิกอาจพบอาการไอ มีเสมหะ แน่นท้อง หน้าบวมตัวบวม ปัสสาวะผิดปกติ ลิ้นบวมชุ่มชื้น ฝ้าหนา ชีพจรลื่น

วิธีการรักษา : อบอุ่นหยาง บำรุงชี่ เพิ่มการไหลเวียน ขจัดเลือดคั่ง
ตำรับยาที่เหมาะสม : เจินอู่ทัง และ เซวี่ยฝู่จู๋อวีทัง (真武汤合血府逐瘀汤)
เมื่อหยางชี่พร่องจะทำให้ความชื้นสะสมได้ง่ายเกิดเป็นความชื้นสะสมภายในเกิดอาการบวมในส่วนต่างๆของร่างกายได้ จึงเลือกใช้ตำรับยาเจินอู่ทัง(真武汤)ที่มีฟู่จื่อ (附子)ฤทธิ์ร้อนอบอุ่นหยางขับไล่ความชื้น ใช้ร่วมกับฝูหลิง (茯苓)ไป๋จู๋ (白术)บำรุงม้ามขับไล่ความชื้น และใช้ร่วมกับตำรับเซวี่ยฝู่จู๋อวีทัง (血府逐瘀汤)ที่มีสรรพคุณโดดเด่นในการเพิ่มการไหลเวียนอีกเหมือนกัน

2. ภาวะหัวใจล้มเหลวอาการกำเริบเฉียบพลัน
2.1 ภาวะ / กลุ่มอาการบวมน้ำจากหยางพร่อง
阳虚水泛证Yáng xū shuǐ fàn zhèng

Pattern / syndrome of yang deficiency with water flood

อาการหายใจเหนื่อยหอบ ใจสั่น มีเสมหะน้ำลายมากตลอดเวลาหรือมีเสมหะเป็นฟอง ริมฝีปากสีเขียวม่วง เหงื่อออก มือเท้าเย็น หงุดหงิด แขนขาบวม  ลิ้นสีซีดคล้ำ ฝ้าขาวลื่น ชีพจรเล็ก

วิธีการรักษา : อบอุ่นหยาง ขับน้ำ แก้อาการหอบ
ตำรับยาที่เหมาะสม : เจินอู่ทัง และ ถิงลี่ต้าจ่าวเซี่ยเฟ่ยทัง (真武汤合葶苈大枣泻肺汤)

เมื่อมีอาการบวมน้ำจากหยางพร่องจึงต้องบำรุงหยางด้วยตำรับยาเจินอู่ทัง(真武汤)ร่วมกับขับน้ำลดอาการบวมแก้อาการหอบด้วย ถิงลี่จื่อ(葶苈子)หากมีอาการบวมมากสามารถเพิ่มยาที่มีสรรพคุณช่วยในการขับน้ำได้ดีอีกเช่น เชอเฉียนจื่อ(车前子)จูหลิง(猪苓)เจ๋อเซี่ย(泽泻)เป็นต้น

2.2 ภาวะ / กลุ่มอาการหยางพร่องจนหลุดออกภายนอก
Yang collapse pattern / syndrome
阳虚喘脱证 Yáng xū chuǎn tuō zhèng

อาการหายใจเหนื่อยหอบ หงุดหงิด เหงื่ออกเป็นเม็ด มือเท้าเย็น ปัสสาวะน้อย  ลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาว ชีพจรเบามากหาไม่พบ

วิธีการรักษา : ดึงหยางกลับคืน
ตำรับยาที่เหมาะสม : เซินฟู่หลงหมู่ทัง (参附龙牡汤)

กลุ่มอาการนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มอาการที่มีความรุนแรงมาก หยางพร่องมากจนหลุดลอยออกสู่ภายนอก ต้องใช้เหรินเซิน(人参)ปริมาณมากเพื่อบำรุงหยวนชี่ คู่กับฟู่จื่อ (附子)ฤทธิ์ร้อนอบอุ่นหยวนหยาง เพื่อดึงหยางกลับคืน

2.3 ภาวะ / กลุ่มอาการเสลดอุดกั้นปอด
Pattern / syndrome of phlegm turbidity obstructing the lung
痰浊壅肺证 Tán zhuó yōng fèi zhèng

ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบ มีเสมหะมาก ใจสั่น เมื่อออกแรงทำงานอาการเป็นหนักขึ้น หรืออาจเป็นไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะน้อย มีอาการบวม หรือมีเส้นเลือดบริเวณคอโป่งพอง ลิ้นสีคล้ำหรือแดงคล้ำ ฝ้าขาวเหนียว หรือเหลืองเหนียว ชีพจรเล็กเร็วหรือเล็กลื่น

วิธีการรักษา : เสริมสร้างปอด ขับเสมหะขับน้ำ แก้อาการหอบ
ตำรับยาที่เหมาะสม : ซานจื่อหย่างชินทัง และเจินอู่ทัง(三子养亲汤合真武汤)ซานจื่อหย่างชินทังเป็นยาตำรับเล็กที่มีสรรพคุณในการเสริมสร้างปอด ขับเสมหะ แก้อาการไอ รักษาหืดหอบได้อย่างเห็นผล ใช้ร่วมกับเจินอู่ทัง(真武汤)ที่ช่วยอุ่นบำรุงหยาง และขับน้ำ ลดอาการบวมเพื่อเพิ่มผลการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ถ้าหากมีอาการหนาวมากเสมหะสีใส ปริมาณมากสามารถเพิ่มตัวยา ปั้นเซี่ย(半夏)เซิงเจียง(生姜)แก้ไอขับเสมหะ หากเสมหะมีสีเหลืองอาจใช้กวาโหลว(瓜蒌)อวี๋ซิงเฉ่า(鱼腥草)ขับเสมหะลดพิษร้อน

หลักการและแนวทางการรักษาโดยวิธีแพทย์แผนจีน
ภาวะหัวใจล้มเหลวระยะเรื้อรัง จะมีการใช้วิธีการบำรุงร่วมกับการเพิ่มการไหลเวียนและสลายเลือดคั่งเสมอ

ภาวะหัวใจล้มเหลวอาการกำเริบเฉียบพลัน มุ่งเน้นการขับเสมหะไล่น้ำออก ในส่วนของหยางพร่องจนหลุดออกภายนอกมุ่งเน้นการใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงเพื่อการออกฤทธิ์ที่รวดเร็ว

ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเน้นการใช้โสมคนหรือเหรินเซิน(人参)ซึ่งมีฤทธิ์ในการบำรุงชี่ปอดและหัวใจที่ดีและออกฤทธิ์รวดเร็วกว่าโสมธรรมดามาก

หลักการรักษามีหลากหลาย แต่หัวใจสำคัญ คือ การบำรุงในส่วนที่ขาด และขับออกในสิ่งที่เกิน พร้อมทั้งเพิ่มการไหลเวียนและสลายเลือดคั่ง

เนื่องจากโรคนี้อาการป่วยมักจะมีความซับซ้อนมากอาจมีอาการแสดงของหลายกลุ่มอาการร่วมกัน จึงต้องอาศัยแพทย์แผนจีนในการแยกแยะและวิเคราะห์ให้ชัดเจนเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา

ตัวอย่างกรณีการรักษา ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
ที่มารับการรักษากับแพทย์จีนอายุรกรรม คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน

ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN 284XXX
ชื่อ  : คุณ สุว XXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 30  มกราคม  2564
เพศ : หญิง  อายุ : 74ปี

อุณหภูมิ 36.6 องศาเซลเซียส        
ชีพจร 86 ครั้ง/นาที 

น้ำหนัก 54.49 กิโลกรัม                                  
ความดันโลหิต76/46 มิลลิเมตรปรอท


ประวัติการเจ็บป่วย (History taking) : เมื่อปี พ.ศ.2562 เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ได้รับการผ่าตัดสวนหัวใจ 1ครั้ง จำนวน 3 เส้น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะน้ำท่วมปอด

อาการสำคัญ (Chief complaint)         
ขาบวม เป็นๆหายๆ 2 ปี ขาบวมมาก 1 สัปดาห์

ประวัติปัจจุบัน (Present illness)
เมื่อ 2 ปีก่อน ได้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ได้รับการผ่าตัดสวนหัวใจ 1ครั้ง จำนวน 3 เส้น หลังการผ่าตัดมีภาวะหัวใจวาย มีอาการหอบเหนื่อย ขาบวมและภาวะน้ำท่วมปอด 1สัปดาห์มานี้อาการบวมเป็นหนัก บวมถึงหน้าแข้ง ปากแห้ง หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ปวดเมื่อยเอว ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะได้น้อยแม้รับประทานยาขับปัสสาวะ ความอยากอาหารปกติ ขับถ่ายปกติ

สรุปอาการ
- ขาบวม
- หอบเหนื่อย
- นอนราบไม่ได้
- ปวดเมื่อยเอว
- ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะไม่ออก

ประวัติอดีต (Past history)
- ปฏิเสธประวัติแพ้ยา
- ปฏิเสธประวัติแพ้อาหาร
- รับประทานยาแผนปัจจุบันอยู่

การตรวจร่างกาย (Physical Examination)
ผู้ป่วยมีสติครบถ้วน เดินเข้าห้องตรวจได้ สีหน้าซีดขาว หายใจหอบเหนื่อย เสียงพูดสั่นเบา สองขาบวมระดับสาม กดได้บุ๋มลึก สังเกตได้ชัด มองไม่เห็นกระดูกข้อเท้า ลิ้นสีม่วง ฝ้าน้อย เส้นเลือดใต้ลิ้นโป่งพอง ชีพจรเบาไม่มีแรง

ผลตรวจ วันที่ 9 มิถุนายน 2563
EKG: 
- Lateral Infarction

- LA Enlargement
- Ventricular Premature Contraction

ผลการ X-ray : หัวใจโต มีภาวะน้ำท่วมปอด
Echo หัวใจ
-Hypokinesia

-Poor LV Systolic
-Ischemic DCM with Pulmonary HT

การตรวจเลือด :
Hct :  28%
ALT (SGPT) :  22 U/L
Cr:  1.1 mg/dL
Hb:  8.7g/dL
Na:  132 mEq/L
Total Protein:  5.93gm/dL
WBC:  5,130 cell/ml
K:  3.44 mEq / L
Albumin:  3.04 gm/dL
AST (SGOT):  35 U/L
BUN:  27 mg/dL
 
ผลการวินิจฉัยโรค (Diagnosis)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
- อาการบวม (Edema)

วิธีการรักษา (Treatment)
- รับประทานยาสมุนไพรจีน โดยแพทย์จีนเลือกใช้ตำรับยาสมุนไพรจีนที่มีคุณสมบัติอบอุ่นหยาง ขับน้ำ ลดบวม และเพิ่มการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง

ผลการรักษา (Progression note)
ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน ตั้งแต่วันที่ 30  มกราคม 2564 - วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564

หลังจากผ่านไป 8 วัน แพทย์จีนได้นัดเพื่อติดตามดูผลการรักษา พบว่าอาการขาบวมลดลงอย่างชัดเจน น้ำหนักลดลง 5.19กิโลกรัม ปัสสาวะคล่องปริมาณปกติ เริ่มนอนราบได้ แต่ยังมีอาการขาบวม หอบเหนื่อย ปวดเมื่อยเอว

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564
ขาบวมลดลง น้ำหนักลดลง 3.1กิโลกรัม ปัสสาวะคล่องปริมาณปกติ นอนราบได้ดีขึ้น อาการหอบเหนื่อยไม่ชัดเจน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564
น้ำหนักลดลง 0.2กิโลกรัม เหลืออาการบวมบริเวณหลังเท้าเล็กน้อย

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564
อาการขาบวมหายเป็นปกติ ปัสสาวะปกติ นอนราบได้ อาการหอบเหนื่อยไม่ชัดเจน แพทย์จีนได้จัดตำรับยาเพื่อรับประทานยาจีนต่ออีก 2 เดือน พร้อมทั้งแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ปัจจุบันเพื่อส่งเสริมการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวสงบให้ได้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามสมควรกับพื้นฐานสุขภาพ

 
แพทย์จีนผู้ทำการรักษาและบันทึกผลการรักษา
แพทย์จีน ชลิดา สิทธิชัยวิจิตร  (เฉิน เป่า เจิน)
คลินิกอายุรกรรม   

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้