ตับ (肝 กาน) ทะเลของเลือดในร่างกายมนุษย์

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  21108 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตับ (肝 กาน) ทะเลของเลือดในร่างกายมนุษย์

ตับ เป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่ง มีสีม่วงแดง แบ่งเป็น 2 กลีบใหญ่ ข้างซ้ายและข้างขวา ตำแหน่งอยู่ช่องท้องตอนบน บริเวณใต้ชายโครงขวา หน้าต่อไตข้างขวา ตับมีโครงข่ายเชื่อมโยงกับถุงน้ำดี เอ็น เล็บ ตา เป็นต้น ตับจัดเป็นธาตุไม้ เป็นหยาง สัมพันธ์กับฤดูใบไม้ผลิ และทิศตะวันออก ตับคู่กับการเกิด การลอยสูงขึ้น

หน้าที่ทางสรีรวิทยา
ตับมีหน้าที่ดูแลการไหลเวียนของชี่ไม่ให้ติดขัด ซึ่งมี 6 ลักษณะ ดังนี้
1. ปรับพลวัตหรือกลไกของชี่
พลวัตของชี่ (气机 ชี่จี) หมายถึง ทิศทางการไหลเวียนของชี่ในทางขึ้น-ลง เข้า-ออก ถ้าพลวัตของชี่ไม่ติดขัด เลือดลมจะไหลเวียนปกติ อวัยวะภายในและระบบเส้นลมปราณจะอยู่ในภาวะสมดุล ในทางตรงกันข้ามถ้าพลวัตของชี่ไหลเวียนผิดปกติ จะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดและจินเยี่ย

การไหลเวียนของน้ำดี ทิศทางการไหลเวียนของชี่ม้ามและกระเพาะอาหาร และกระทบต่ออารมณ์ เป็นต้น

2. ควบคุมอารมณ์และจิตใจ
อารมณ์มีความสัมพันธ์กับการไหลเวียนของชี่ตับอย่างมาก ถ้าชี่ของตับไหลเวียนสะดวก เลือดลมจะไหลเวียนดี ร่างกายจะสมดุล อารมณ์ก็จะดี ถ้าชี่ของตับติดขัดไม่ไหลเวียน อารมณ์จะเก็บกด ใบหน้าเศร้าหมอง ถ้าชี่ของตับไหลเวียนรุนแรงเกินไป อารมณ์จะหงุดหงิด โกรธ โมโหง่าย

3. ควบคุมการไหลเวียนของน้ำดี
น้ำดีสร้างที่ตับแล้วเก็บสะสมในถุงน้ำดี และหลั่งออกมาในลำไส้เล็กช่วยการย่อยอาหาร ถ้าชี่ของตับไหลเวียนเป็นปกติ การสร้างและการหลั่งน้ำดีช่วยย่อยอาหารก็เป็นปกติ ถ้าชี่ของตับติดขัดไม่ไหลเวียน มีผลให้การไหลของน้ำดีติดขัด  จะเกิดอาการปวดแน่นชายโครง อาหารไม่ย่อย อาเจียนรสขมออกมา หรือมีอาการดีซ่าน

4. ช่วยให้ชี่ของม้ามลอยขึ้น และชี่ของกระเพาะอาหารไหลลง
ในระบบทางเดินอาหาร ม้ามควบคุมการย่อยและดูดซึมอาหาร ชี่ของม้ามช่วยส่งสารอาหารขึ้นไปที่ปอด กระเพาะอาหารมีหน้าที่รับอาหารเพื่อย่อย หลังจากนั้นชี่ของกระเพาะอาหารจะช่วยผลักดันอาหารลงสู่สำไส้ ตับมีหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของชี่ม้ามและกระเพาะอาหารให้มีทิศทางถูกต้อง เพื่อให้ระบบย่อยและดูดซึมอาหารทำงานอย่างสมบูรณ์ ถ้าตับทำงานผิดปกติ นอกจากจะมีอาการของชี่ของตับติดขัดแล้ว ยังมีอาการตับกดขี่ม้ามและกระเพาะอาหาร ตับกับม้ามไม่ปรองดองกัน ชี่ของม้ามไม่ลอยขึ้น มีอาการท้องอืด ท้องเดิน ตับกับกระเพาะอาหารไม่สมดุล ทำให้ชี่ของกระเพาะอาหารไม่ไหลลง มีอาการแน่นท้อง เรอ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น

5. ช่วยการไหลเวียนของเลือดและของเหลวในร่างกาย
ชี่ของตับช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและของเหลวในร่างกายสะดวก ถ้าชี่ของตับติดขัด การไหลเวียนของเลือดก็จะติดขัด ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่ง ในสตรีจะเกิดอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนไม่มา หรือเกิดเนื้องอกได้ ถ้าการไหลเวียนของของเหลวในร่างกายติดขัด จะเกิดอาการเสมหะติดคอ โรคต่อมไทรอยด์ หรือมีน้ำในท้องตกค้าง ท้องมาน เป็นต้น

6. ช่วยการขับของประจำเดือนและการหลั่งอสุจิ
ชี่ของตับช่วยให้การมาของประจำเดือนตรงตามกำหนดในสตรีและการหลั่งอสุจิในบุรุษ รอบเดือนจะติดขัด ปวดรอบเดือนจนถึงรอบเดือนไม่มา ในผู้ชายความต้องการทางเพศลดลง หลั่งลำบาก ถ้าชี่ของตับแกร่ง รอบเดือนจะมาก่อนปกติหรือมีปริมาณมาก ในผู้ชายจะมีอารมณ์ทางเพศมากกว่าปกติและมีน้ำกามเคลื่อน เป็นต้น

ความผิดปกติของการไหลเวียนของชี่
ความผิดปกติของการไหลเวียนของชี่มี 2 แบบ คือ
ชี่ของตับติดขัด
- ชี่ของตับติดขัดเกิดเลือดคั่ง เมื่อชี่ของตับติดขัด ทำให้เลือดถูกผลักดันไปไม่ถึง เกิดอาการเจ็บอก แน่นอกแบบเสียดแทง เกิดเป็นเนื้องอกได้ ริมฝีปากเขียวม่วง ลิ้นมีสีม่วง จุดเลือดคั่ง ถ้ากระทบถึงชงม่าย (冲脉) และเญิ่นม่าย (任脉) เลือดจะคั่งในมดลูก รอบเดือนผิดปกติ ปวดรอบเดือน รอบเดือนไม่มา เป็นต้น

- ชี่ของตับติดขัดเกิดเสมหะ การไหลของของเหลวในร่างกายต้องอาศัยชี่ของตับ ถ้าชี่ของตับผิดปกติเกิดการตกค้างของของเหลวเป็นเวลานาน จับเป็นเสมหะอุดตันที่คอ บริเวณคอเป็นลูกบ๊วยติดคอหรือเป็นก้อนที่คอ คอหอยพอก เป็นต้น

- ชี่ของตับข่มกระเพาะอาหารและม้าม เกิดอาการปวดแน่นกระเพาะอาหาร เรอเปรี้ยว  คลื่นไส้  อาเจียน เป็นต้น

- ชี่ของตับติดขัดกลายเป็นไฟ

ชี่ของตับไหลเวียนแกร่งมากเกินไป
ชี่ของตับมีทิศทางไหลเวียนขึ้นบน ถ้าผิดปกติไม่ขึ้นบนหรือไม่ลงล่างเกิดภาวะ เรียกว่า ไฟตับ หรือหยางของตับขึ้นบน มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้าแดง ตาแดง แน่นหน้าอก หงุดหงิด โมโหง่าย

ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้น หยางของตับจะขึ้นบนกลายเป็นไฟ เรียกว่า “ไฟตับ” เช่น ไฟตับกระทบกระเพาะอาหาร จะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด  ไฟตับกระทบปอด จะมีอาการไอเป็นเลือด เป็นต้น ถ้าเป็นระดับมากขึ้น ไฟที่ขึ้นบนจะกลายเป็นลมวิ่งขึ้นปอด กระหม่อม และไปทั่วร่างกาย แขนขา ทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ และอัมพฤกษ์ได้ ไฟตับ เรียกว่า เกิดลมตับกระทบภายใน ถ้าเป็นระยะเวลานาน ก็จะเผาผลาญอินของตับทำให้เกิดภาวะอินพร่องไฟแกร่ง

อาการของไฟตับขึ้นบนและหยางตับขึ้นบนแยกกันได้ คือ ไฟตับขึ้นบน เกิดอาการชี่ของตับติดขัดเป็นเวลานานกลายเป็นไฟตับ หรือโกรธจัดเกิดไฟตับขึ้นบน หรือเกิดจากไฟหัวใจมีมากเกินไป หรือเกิดจากตับร้อนชื้นอยู่นานจนไฟลอยขึ้นบน ดังนั้น ไฟตับขึ้นบนจึงเป็นโรคแกร่งล้วน ส่วนหยางตับขึ้นบนเป็นภาวะที่เกิดจากอินของตับและไตไม่เพียงพอที่จะมากำกับหยางของตับ (อินของไตและตับเชื่อมโยงกัน)

ดังนั้น หยางของตับจะลอยขึ้นบน ซึ่งบางคนอาจจะใช้คำว่า “ล่างพร่องบนแกร่ง” หมายถึง “ข้างล่างอินพร่อง ข้างบนหยางแกร่ง” หรือใช้คำว่า “พื้นฐานพร่องเปลือกนอกแกร่ง” อาการของข้างบนแกร่ง ได้แก่ ปวดศีรษะ หน้าแดง ตาแดง หงุดหงิด โกรธง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ เป็นต้น ส่วนอาการของข้างล่างพร่อง ได้แก่ ปวดเอว เข่าอ่อน ขา 2 ข้างไม่มีแรง ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก


สำหรับลมตับสั่นในนั้น ศัพท์แพทย์จีนใช้คำย่อว่า ลมตับ (肝风 กานเฟิง) หรือ ลมใน (内风 เน่ย์เฟิง) เกิดจาก “ภาวะหยางในร่างกายเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหว” แพทย์ที่มีชื่อเสียงในราชวงศ์ชิง ชื่อ เยียะเทียนซื่อ (叶天士) ได้กล่าวไว้ในตำรา หลินเจิ้งจื่อหนันอีอั้น 《临证指南医案》คัมภีร์ซู่เวิ่น จื้อเจินเอี้ยวต้าลุ่น《素问 。至真要大论》กล่าวว่า “ลมทั้งหลายทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะเป็นเพราะตับ” ในทางคลินิกจะพบว่ามีอาการเวียนศีรษะ แขนขาชักกระตุก หรือเกร็ง หรือหมดสติ ตาลอย อัมพฤกษ์ครึ่งซีก มือเท้าสั่น หรือชา เป็นต้น

ลมตับ
ลมตับสามารถแบ่งได้เป็น 4 แบบ คือ
1. หยางของตับเปลี่ยนเป็นลม  สาเหตุเกิดจากอารมณ์ หรือเหนื่อยล้ามากเกินไปจนเกิดอินพร่อง ทำให้หยางลอยขึ้นบน นานเข้าหยางเปลี่ยนไปเป็นลม มีอาการเอ็น เนื้อ กระดูกสั่น ชาตามแขนขา วิงเวียนศีรษะ เดินคล้ายจะล้ม หัวหนัก หากอาการมากขึ้นจะเป็นลม ปากเบี้ยว อัมพฤกษ์ครึ่งซีก เป็นต้น

2. ร้อนสุดเกิดลม สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคร้อนจัด เสียชี่แกร่งเผามาถึงเส้นลมปราณตับเกิดลมตับขึ้น มีอาการคอแข็ง ชักกระตุก ตาเหลือก ไข้สูง เพ้อ เป็นต้น

3. อินพร่องลมไหว สาเหตุเกิดจากหลังป่วยเป็นโรคร้อนแล้วมีการใช้อินไป หรือเกิดจากป่วยเรื้อรัง  อินถูกใช้ไปทำให้อินไม่พอเพียงไปหล่อเลี้ยงเอ็น เกิดอาการสั่นหรือเกร็ง

4. เลือดพร่องเกิดลม สาเหตุเกิดจากเสียเลือดมากเกินไปหรือเกิดจากสร้างเลือดไม่เพียงพอ หรือป่วยเรื้อรัง เลือดได้รับการบำรุงไม่เพียงพอ ทำให้เอ็นไม่มีเลือดมาหล่อเลี้ยง มีอาการไอ สั่นกระตุกหรือเกร็ง เอ็นยึดติดขัด เล็บกุด ผิวหนังแห้งคัน เป็นต้น

ตับกักเก็บเลือด
มีการบันทึกครั้งแรกในคัมภีร์ซู่เวิ่น เถียวจิงลุ่น《素问。调经论》และ คัมภีร์หลิงซู เปิ่นเสิน《灵枢。本神》ว่า “ตับมีหน้าที่กักเก็บเลือด” การที่ตับเก็บกักเลือดมีผลทำให้ไม่เสียเลือดไป เลือดเป็นส่วนของอินซึ่งอินของตับจะกดหยางของตับไม่ให้ลอยขึ้นบน ถ้าเลือดของตับมีปริมาณเพียงพอชี่ของตับก็จะเพียงพอ ทำให้หน้าที่ของชี่ของตับสมบูรณ์ตามด้วย

หน้าที่กักเก็บเลือดเป็นการควบคุมปริมาณของเลือด ในคัมภีร์ซู่เวิ่น อู่จั้งเซิงเฉิง《素问 。五脏生成》กล่าวว่า “เมื่อคนนอนหลับเลือดจะกลับไปสู่ตับ”  แพทย์จีนหวางปิงจู้ (王兵注) กล่าวว่า “ตับกักเก็บเลือดไว้ หัวใจเป็นผู้สูบฉีดเลือดให้ไหลเวียน เมื่อคนตื่นขยับตัวเลือดจะวิ่งสู่เส้นลมปราณ เมื่อคนอยู่นิ่งเลือดจะกลับมาสู่ตับ ตับเป็นทะเลแห่งเลือด” เมื่อทำงานมีอารมณ์หรืออากาศร้อน เลือดจะไหลเวียนออกจากตับไปสู่อวัยวะอื่น เมื่อนอนอารมณ์เย็นอากาศเย็น เลือดจะไหลกลับสู่ตับ คือ ไปตามหยางชี่ของตับที่กระจายออก

ในกรณีเลือดของตับไม่เพียงพอ สาเหตุจากการเสียเลือดมากเกินไป หรือม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง ไม่สามารถสร้างเลือดพอเพียง ป่วยเรื้อรังใช้อินไปมาก เลือดจากตับถูกส่งไปยังตา เอ็น เล็บ มดลูกไม่เพียงพอ ทำให้ตาลาย ตาแห้ง มองกลางคืนไม่เห็น เอ็นติดขัด ตะคริว แขนขาชา เล็บไม่สมบูรณ์ รอบเดือนน้อยหรือไม่มา  ถ้าหน้าที่เก็บเลือดไม่ดี  จะมีอาการเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล รอบเดือนมามาก สาเหตุเกิดจากอารมณ์โกรธจัดกระทบตับ หรืออารมณ์เก็บกดนานชี่ของตับกลายเป็นไฟ หรือเกิดจากมีเสียชี่ข้างใน


ชี่ของตับ
ชี่ของตับก็เช่นเดียวกับชี่ที่อื่น ๆ คือ ทำให้เกิดการผลักดันเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐาน สำหรับชี่ของตับจะมีลักษณะของการไหลเวียนไปตามส่วนต่าง ๆ ให้สะดวกไม่ติดขัด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในแง่ชี่ของตับพร่อง  ในคัมภีร์ซู่เวิ่น ซ่างกู่เทียนเจินลุ่น《素问 。上古天真论》กล่าวว่า “ผู้ชายอายุ 56 ชี่ของตับถดถอย เอ็นไม่สามารถทำงาน”  คัมภีร์หลิงซู เทียนเหนียน《灵枢。天年》กล่าวว่า “อายุ 50 ชี่ของตับเริ่มถดถอย กลีบตับเริ่มบาง น้ำดีเริ่มหาย ตาเริ่มมองไม่ชัด”  ปัจจุบันชี่ของตับพร่องจะมีอาการของชี่พร่องทั่วไป บวกกับอาการที่เส้นลมปราณตับผ่าน เช่น แน่นหน้าอก ชอบถอนใจ ท้องน้อยตึงพอง อารมณ์ไม่ดี เป็นต้น

อิน (Yin) ของตับ
อินของตับมีหน้าที่ให้ความชุ่มชื้น ช่วยให้มีทิศทางลง ทำให้สงบลง เก็บกัก มีความเกี่ยวพันกับอินของไต เวลาขาดมักจะไปคู่กันเป็นอินของไตและตับพร่อง เกิดอาการปวดเอว เข่าอ่อน มีเสียงในหู ตาลาย ขา 2 ข้างไม่มีแรง เป็นต้น ถ้าอินพร่องแล้วมีหยางแกร่ง ก็จะมีอาการปวดหัว หงุดหงิด โกรธง่าย เป็นต้น

หยาง (Yang) ของตับ 
หยางของตับแกร่ง ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ส่วนหยางของตับพร่องมีน้อยมาก แพทย์จีนบางท่านอธิบายว่า เป็นอาการของชี่ตับพร่อง ร่วมกับอาการปลายมือเท้าเย็น อัณฑะ อวัยวะเพศเย็น ท้องอืด แขนขาบวม ชีพจรเล็ก ไม่มีแรง ซึ่งเป็นลักษณะของหยางพร่อง

ความสัมพันธ์ของตับกับอารมณ์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะรับรู้
ตับสัมพันธ์กับอารมณ์โกรธ
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนถือว่า อารมณ์โกรธมีความสัมพันธ์กับตับ อารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มีความรุนแรง ถ้าเป็นบ่อย ๆ จะมีผลต่อการทำงานของตับ ทำให้การควบคุมการไหลเวียนของลมปราณตับไม่ปกติ อารมณ์โกรธเฉียบพลันจะบั่นทอนชี่ของตับ ลมปราณ และเลือด ให้ไหลเวียนแผ่ซ่านลอยขึ้นมากเกินไป  ทำให้มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน ถ้าเป็นมากอาจเป็นลมหมดสติได้

ตับกับน้ำตา
น้ำตาเป็นสิ่งที่ขับออกมาทางตา ซึ่งเป็นกิจกรรมในการหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นเพื่อปกป้องตา ความผิดปกติของตับส่งผลกระทบต่อการหลั่งน้ำตา เช่น   
-  เลือดในตับพร่อง ทำให้การหลั่งน้ำตาน้อยลง ตาแห้ง
-  ความร้อนชื้นในเส้นลมปราณเท้าจฺเหวียอินตับ ทำให้ตาแดง น้ำตาไหล ขี้ตามาก
-  อารมณ์เศร้าโศกเสียใจมากไป ทำให้การหลั่งน้ำตามากขึ้น

ตับสัมพันธ์กับเอ็น และ ตาเป็นหน้าต่างของตับ
สภาวะของตับสะท้อนให้เห็นที่เล็บ หากผิดปกติ แขนขาชา ชักเกร็ง หลังแอ่น กัดฟันแน่น  เล็บไม่เงางาม


เอกสารอ้างอิง
ทฤษฎีอวัยวะภายใน "ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น"
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-974-16-0792-1



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้