Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 6361 จำนวนผู้เข้าชม |
ใครบ้างล่ะที่มักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่มักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำอาจพบได้ในผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็งต่างๆ ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ฉายแสง หรือผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป
นอกจากนี้อาจพบได้ในคนทั่วไปที่ขาดการพักผ่อนที่ดี ทำงานหักโหมมากเกินไป และภูมิคุ้มกันโรคของเราอาจจะถดถอยลงได้ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ยิ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 แบบนี้ย่อมมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงถ้าหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงได้ การฉีดวัคซีนโควิด เพื่อว่าเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วจะไม่ทำให้เกิดอาการหนัก และลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ นอกจากจะฉีดวัคซีนแล้วเราควรทำอย่างไรได้อีก
ก่อนอื่นมาดูอาการอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าภูมิคุ้มกันของเรากำลังต่ำลง เราสามารถสังเกตุง่าย ๆ เช่น
- รู้สึกไม่สบายเป็นหวัดได้ง่าย (เนื่องจากง่ายต่อการการติดเชื้อไวรัสหรือโรคระบาดติดเชื้อต่าง ๆ )
- รู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
- รู้สึกง่วง อยากนอนอยู่ตลอดเวลา
- การทำงานของกระเพาะอาหารลำไส้ไม่ค่อยดี
- ฝันบ่อย ฝันเยอะ หรือชอบฝันร้ายเป็นประจำ
- สภาพร่างกายและจิตใจห่อเหี่ยว ไม่แจ่มใส
- มีแผลติดเชื้อได้ง่ายบ่อยๆ เป็นต้น
ภูมิคุ้มกัน หมายถึง สภาพที่ร่างกายมีแรงต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้นหมายถึงเจิ้งชี่ (正气) แต่เจิ้งชี่ไม่ใช่เพียงแค่ภูมิคุ้มกันเท่านั้น เจิ้งชี่นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของภูมิคุ้มกันในการต้านทานโรคต่างๆของร่างกายแล้ว ยังเป็นพื้นฐานการทำงานของร่างกาย และการทำงานอวัยวะต่างๆ เส้นลมปราณ ชี่และเลือดให้เกิดประสิทธิภาพสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นปกติ และยังรวมถึงความสามารถในการฟื้นฟูร่างกายอีกด้วย
เรามักจะได้ยินกันบ่อยคำว่า “เจิ้งชี่ฉุนจ้าย (正气存在) เสียปู้เข่อกาน (邪不可干)” ซึ่งกล่าวเอาไว้ใน "คัมภีร์เน่ยจิง" หมายถึงว่าการที่คนเราเจิ้งชี่แข็งแรง ปัจจัยก่อโรคใดๆ ก็ไม่สามารถเข้ามาทำร้ายอะไรเราได้ หรือในทางกลับกัน ถ้าหากเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเกิดเจิ้งชี่อ่อนแอ หรือค่อนข้างอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันที่เสมือนเป็นกองกำลังที่ปกป้องอยู่ด่านหน้าก็อ่อนแอตามไปด้วย ทำให้ปัจจัยก่อโรคที่เปรียบเสมือนข้าศึกก็เข้าโจมตีรุกรานเราได้ง่ายนั่นเอง
นอกจากปัจจัยก่อโรคจากภายนอกทั้งหกแล้ว (ลิ่วอิ๋น/六淫 : ลม ความเย็น ความร้อนอบอ้าว ความชื้น ความแห้ง และไฟ) แพทย์แผนจีนยังให้ความสำคัญกับปัจจัยก่อโรคจากภายในด้วยเช่นกัน เช่น เสมหะสกปรก เลือดคั่ง การแปรเปลี่ยนของปัจจัยก่อโรคทั้งห้าที่อยู่ภายใน (เน่ยเซิงอู่เสีย/内生五邪 : ก่อให้เกิดลม ความเย็น ความชื้น ความแห้ง และไฟ) อารมณ์แปรปรวนที่ก่อให้เกิดโรค การรับประทานอาหารอย่างไม่เหมาะสม ล้วนเป็นผลทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆผิดปกติ ชี่และเลือดไม่สมดุล จนเป็นผลให้เกิดโรคต่างๆได้
แล้วเราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรได้บ้าง ? เพื่อให้ภูมิคุ้มกันของเรามีแรงต้านทานโรคต่าง ๆ ได้
ในคัมภีร์เน่ยจิงนอกจากจะวางรากฐานทฤษฎีการแพทย์แผนจีนแล้ว ยังให้ความสำคัญอย่างมากในการดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน จะบำรุงเจิ้งชี่ให้แข็งแรงต้องดูแล 3 อย่าง คือ สารจิง (精) ชี่ (气) และเสิน (神) ซึ่งสารจิงหมายถึงสารจำเป็น ที่อยู่ภายในร่างกายได้แก่ เลือด น้ำ ของเหลวต่าง ๆ ชี่หมายถึงพลังการขับเคลื่อนให้การทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกายเพื่อให้ชีวิติดำรงอยู่ ส่วนเสินหมายถึงการรับรู้ การนึกคิด จิตใจ อารมณ์
ถ้าหากทั้ง 3 อย่างนี้ไม่สมบูรณ์ก็จะทำให้เราอ่อนแอและสามารถเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งพลังนี้มีทั้งที่ได้รับจาก 先天 (เซียนเทียน) ทุนตั้งแต่กำเนิดจากพ่อแม่ และ 后天 (โฮ่วเทียน) ทุนที่ได้มาในภายหลัง ดังนั้นการที่จะปกป้องและบำรุงเจิ้งชี่ให้แข็งแรงนั้น จึงจะต้องยึดหลัก “ปกป้องเซียนเทียน และ บำรุงโฮ่วเทียน”
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อปกป้องเซียนเทียน(先天) เสริมภูมิคุ้มกัน
พลังของไตเป็นพื้นฐานสำคัญของเซียนเทียน หรือทุนที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เซียนเทียนมีเท่าไหร่ดูได้จาก ”พลังของไต” โดยปกติคนเราพลังไตจะค่อยถดถอยลงเมื่ออายุมากขึ้น การที่จะรักษาและประครองพลังของไตให้ไม่ถดถอยลงก่อนเวลาอันควรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน เราอาจสังเกตุง่ายๆคือถ้าหากใบหน้าดูมีอายุกว่าวัยอันควร แสดงว่าเรายังดูแลตัวเองไม่ดีพอ ใช้งานร่างกายหักโหมจนเกินไปนั่นเอง
ดังนั้น เราจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีและเหมาะสม สำหรับผู้ป่วยควรจะออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอตามกำลังที่สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เช่น การแกว่งแขวน การรำไทเก๊ก ชี่กง เป็นต้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา ไม่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ และผ่อนคลายจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็สามารถปกป้องเซียนเทียนไว้ได้
แต่เนื่องจากเซียนเทียนยังต้องอาศัยโฮ่วเทียนมาหล่อเลี้ยงบำรุงด้วย ซึ่งได้จากอาหารการรับประทานอาหาร ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารเป็นเวลาให้ครบ 3 มื้อ อาหารสุก และสดใหม่ ดื่มน้ำอย่างพอเหมาะด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการปกป้องและเสริมภูมิต้านทานของเราให้แข็งแรง
รับประทานอาหารที่ดีและเหมาะสม
เพื่อบำรุงโฮ่วเทียน (后天) เสริมภูมิคุ้มกัน
“พลังของม้าม” เป็นพื้นฐานสำคัญของโฮ่วทียน หรือทุนที่ได้มาในภายหลัง ม้ามมีหน้าที่ควบคุมการย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ แล้วส่งไปหล่อเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยสร้างชี่และเลือด นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ควบคุมการกำจัดแยกของเสียส่งออกไปทางลำไส้ด้วย ดังนั้นถ้าหากม้ามทำงานได้ปกติ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย การไหลเวียดของเลือดและชี่ เส้นลมปราณก็จะทำงานได้อย่างปกติ ไม่ค่อยเจ็บป่วยและอายุยืน
จากสถานการณ์โควิด-19 ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า “ม้าม” ยังเป็นหัวใจสำคัญของการติดเชื้อและการพัฒนาไปของโรคอีกด้วย ถ้าม้ามไม่แข็งแรง จะทำให้เกิดความชื้นสกปรกอุดกั้นภายใน แล้วไปสะสมไว้ที่ปอดได้
ดังนั้น วิธีการไหนที่จะทำให้ม้ามทำงานได้ปกติก็คือการเอาใจใส่ในการรับประทานอาหารให้เหมาะสมนั่นเอง โดยการหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดจนเกินไป อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากเกินไป อาหารประเภทของทอดของมัน ไม่ควรรับประทานแต่ผักและผลไม้แทนข้าว และควรรับประทานอาหารให้เป็นเวลา และครบทุกมื้อ
เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ดีและเหมาะสม จะเป็นการทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ในทางแพทย์แผนจีนมองว่า ถ้าหากรับประทานอาหารรสจัดเกินไป หรือทานอาหารทอดๆ มันๆ หวานๆ มากเกิน จะส่งผลต่ออวัยวะม้ามได้ ซึ่งอวัยวะม้ามและกระเพาะอาหาร นอกจากจะทำหน้าที่ย่อยอาหารแล้ว ยังมีหน้าที่ในการช่วยสร้างชี่และเลือดให้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งของเจิ้งชี่ ที่ได้มาจากต้นทุนในภายหลังในการเสริมบำรุงร่างกายด้วย และควรรับประทานอาหารให้เป็นเวลา และครบทุกมื้อด้วยเช่นกัน
ในผู้ป่วยจำเป็นต้องประคองน้ำหนักไม่ให้ลดมากเกินไป จนทำให้กล้ามเนื้อลีบไม่มีกำลัง ส่วนอีกด้านหนึ่งยังเป็นการปกป้องม้ามและกระเพาะอาหารให้มีพลังและทำงานได้อย่างเป็นปกติด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และพบว่ามักจะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงไม่สมบูรณ์ได้บ่อยเนื่องจากการรักษา หรืออาจเป็นจากตัวโรคเอง ในคนที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ เลือดจาง แนะนำให้รับประทานอาหารประเภทเนื้อปลา ไก่ดำ ซี่โครงหมู ไข่ นม เห็ดต่างๆ ถั่วลิสง(ติดเปลือก) วอลนัท เมนุซุปไก่ดำตุ๋น (ใส่ฮ่วยซัว +เก๋ากี้+ปักคี้+ขิง+พุทราจีน + เห็ดออรินจิ) เป็นต้น
เมนูเสริมภูมิคุ้มกันซุปซี่โครงหมู
(ใส่ฮ่วยซัว+เก๋ากี้+ขิง+แครอท+เห็ดหูหนูขาว) ช่วยเสริมบำรุงม้ามและปอด ไล่ความชื้น และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
Credit Pic : seasonandserveblog.com
Yvonne Wan
nofrillsrecipes.com
ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง สังเกตุได้ง่ายๆ
- รู้สึกไม่สบายเป็นหวัดได้ง่าย (เนื่องจากง่ายต่อการการติดเชื้อไวรัสหรือโรคระบาดติดเชื้อต่าง ๆ )
- รู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
- รู้สึกง่วงอยากนอนอยู่ตลอดเวลา
- การทำงานของกระเพาะอาหารลำไส้ไม่ค่อยดี
- ฝันบ่อย ฝันเยอะ หรือชอบฝันร้ายเป็นประจำ
- สภาพร่างกายและจิตใจห่อเหี่ยว ไม่แจ่มใส
- มีแผลติดเชื้อได้ง่ายบ่อย ๆ เป็นต้น
“ เจิ้งชี่ฉุนจ้าย(正气存在) เสียปู้เข่อกาน (邪不可干) ”
หมายถึง การที่คนเราเจิ้งชี่แข็งแรง ปัจจัยก่อโรคใดๆก็ไม่สามารถเข้ามาทำร้ายอะไรเราได้
แล้วจะต้องทำอย่างไร ?
“ ปกป้องเซียนเทียน (先天) และ บำรุงโฮ่วเทียน (后天) “
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อปกป้องเซียนเทียนเสริมภูมิคุ้มกัน
โดยการรับประทานอาหาร / การนอนหลับพักผ่อน / การออกกำลังกาย / รู้จักผ่อนคลายจิตใจอารมณ์ รับประทานอาหารที่ดีและเหมาะสม เพื่อบำรุงโฮ่วเทียนเสริมภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงรับประทานอาหารหลากลายครบหมู่และเป็นเวลา / แต่พอดีพอเหมาะ / หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของทอด ของมัน ของเย็น
บทความโดย
แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.45
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567