เคสกรณีการรักษากล้ามเนื้อและเส้นประสาทถูกทำลายจากงูสวัด

Last updated: 22 ม.ค. 2568  |  7 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เคสกรณีการรักษากล้ามเนื้อและเส้นประสาทถูกทำลายจากงูสวัด

เคสกรณีการรักษากล้ามเนื้อและเส้นประสาทถูกทำลายระยะฟื้นฟูหลังจากเป็นโรคงูสวัด Post Zoster Neuralgia ในแผนกทุยหนา

        หลังจากหายจากโรคงูสวัดซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ไวรัส (Varicella-zoster virus) แล้วบางรายอาจประสบกับอาการปวดรุนแรงที่เรียกว่า "อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด"(Post Zoster Neuralgia) โดยมักจะเริ่มแสดงอาการภายใน 1-6 เดือนหลังหายจากอาการป่วยงูสวัด เป็นอาการปวดเรื้อรังที่เกิดจากเส้นประสาทได้รับความเสียหายระหว่างการติดเชื้อไวรัส จนมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

         งูสวัดมีอาการที่สำคัญคือ มีกลุ่มตุ่มน้ำร่วมกับอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงซีกเดียวจากแนวแกนกลางลำตัว หลังเกิดอาการงูสวัดผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามผิวหนังมีอาการแสบร้อนปวดแปล๊บๆ คล้ายถูกไฟช็อต หรืออาการปวดกล้ามเนื้อ ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นด้วยสัมผัสต่างๆ ร่วมกับอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทรับความรู้สึก เมื่อหายจากอาการงูสวัดแล้วจึงทิ้งอาการปวดต่อเนื่องได้อีก ซึ่งอาการปวดหรือกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆสูญเสียการควบคุมที่เกิดจากงูสวัดนี้ต่างหากที่เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยกังวลใจ เพราะหลังจากอาการก็จะรุนแรงส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทในบริเวณนั้นๆหรือข้างเคียงได้รับความเสียหายมีผลต่อการเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจำวัน อาจมีผลนานเป็นสัปดาห์ เดือน ปี หรือนานกว่านั้นจึงควรให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาให้ทันท่วงที

งูสวัดในมุมมองของการแพทย์แผนจีน

        หลังจากเป็นงูสวัดนั้นร่างกายอ่อนแอมีสภาวะที่ไม่ปกติ เช่น อารมณ์ขุ่นมัว เกิดภาวะเครียดสะสม นานวันอารมณ์โมโหโกรธที่เป็นบ่อยและมากเกินไป  ส่งผลให้ชี่ตับอุดกั้น จากชี่ที่อุดกั้นอยู่นานวันจะค่อยๆเกิดความร้อนสะสมเป็นพิษร้อนขึ้น เมื่อได้รับความชื้นมากระทบ ความชื้น (湿邪 ซือเสีย มีคุณสมบัติหนักไหลไม่สะดวก) หากความร้อนอุดกั้นมากจึงจะทำให้เกิดอาการอักเสบที่กล้ามเนื้อเส้นเอ็น ตำแหน่งมักจะเกิดอาการที่ลำตัว ซี่โครง หรือใต้หน้าอกกระบังลมแขนหรือขา(ตามแนวเส้นลมปราณตับ ถุงน้ำดี ม้าม)  และผู้สูงอายุส่วนใหญ่พื้นฐานร่างกายจะเลือดลมน้อย มีไฟตับกำเริบ(ตับเก็บกักเลือด เลือดเป็นอิน เมื่ออินน้อยหยางจึงมากเกิดเป็นความร้อน) ความร้อนชื้นเป็นพิษทำให้เกิดอาการปวดมาก เนื่องจากเลือดลมเดินติดขัด เมื่อทางเดินของเส้นลมปราณยังไม่สะดวกจึงมีอาการปวดแบบเรื้อรัง เคลื่อนที่ลำบาก


- ตัวอย่างกรณีการรักษา -

ผู้ป่วยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทถูกทำลายระยะฟื้นฟู หลังจากเป็นโรคงูสวัด มารักษาที่คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวสาขานครราชสีมา


ข้อมูลทั่วไป

ชื่อ-นามสกุล  : นางมะXX 

เพศ : หญิง     อายุ : 58 ปี

เลขประจำตัวผู้ป่วย : 0287XX

วันที่รับการรักษา  : 3 กันยายน 2567


อาการสำคัญ

ปวดชาแขนด้านในซ้ายและนิ้วมือซ้ายปวดรุนแรง แขนอ่อนแรง นิ้วมือบวมแต่ไม่แดง ขยับกำหรือแบนิ้วมือไม่ได้ ขยับยกยืดเหยียดนิ้วมืออาการปวดมากขึ้น จนกล้ามเนื้อบริเวณแขนด้านในสั่นควบคุมไม่ได้ 3 เดือน อาการรุนแรงขึ้น 1-2 สัปดาห์


ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน

- ผู้ป่วยมีอาการปวดชาแขนด้านในซ้ายและข้อนิ้วมือซ้ายปวดบวมรุนแรง กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง ขยับกำหรือแบนิ้วมือไม่ได้  

- ผู้ป่วยเคยได้เข้ารับการตรวจรักษาเป็นโรคงูสวัด ผื่นหาย ไข้หาย จากนั้นผู้ป่วยเริ่มมีอาการแขนอ่อนแรง ขยับหรือกำแบมือลำบาก

- ต่อมาไม่นานผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดร้าวแขนด้านใน ขยับหรือกำมือไม่ได้นานเป็นเวลา2-3เดือนจึงไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา

- จากการตรวจแพทย์แนะนำให้รักษาโดยการให้รับประทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการ (รายละเอียดยาไม่ชัดเจน) พร้อมทำกายภาพบำบัดตามสิทธิการรักษา แต่ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง


ประวัติปัจจุบัน

- ปวดชาแขน ข้อมือ และข้อนิ้วมือ

- ยกแขนลำบาก กำแบมือไม่ได้

- รับประทานอาหารได้ปกติ นอนหลับไม่ได้เพราะปวดอย่างต่อเนื่องแม้จะทานยาแก้ปวดแล้วก็ตาม


ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต

งูสวัด,ลมชัก


การตรวจร่างกาย

- มีจุดกดเจ็บที่บริเวณแขนซ้าย มือและข้อนิ้วมือซ้าย

- การเคลื่อนไหวของมือและแขนทำได้จำกัด กำแบหรือหมุนข้อมือไม่ได้

- Ulnar wrist pain ด้านซ้าย : ตำแหน่งที่ควรคลำได้คือ EDM, ECU, Distal radioulnar joint ( DRUJ ),ขอบ Distal ulnar, Ulnar Styloid, Fovea sign ( ตรวจด้าน Dorso-ulnar side ) และ FCU tendon ,Pisiform bone, Hook hamate , Guyon’s canal, Ulnar artery, Ulnar nerve ( ตรวจด้าน Volar-ulnar) test  ให้ผลบวก

- Rotation deformity จะประเมินด้วยการให้กำมือแล้วจะชี้ไปที่ scaphoid tubercle เล็บจะ

parallel กัน และ ไม่มี scissoring 

 - Finkelstein’s test ด้านซ้าย ให้ผลลบ

- Scaphoid’s shift test ( Watson shift test ) ด้านซ้าย ให้ผลลบ

- Ulnar impingement test ด้านซ้าย ให้ผลบวก

- สังเกตดูการขยับของนิ้วมือ มือและข้อมือ โดยสามารถประเมินลักษณะการขยับของมือ

เพื่อใช้ในการทำงานต่างๆ ตามลักษณะของ Basic Grip type ทั้ง 7 ชนิดว่าไม่สามารถทำได้

- ลิ้นแดงฝ้าเหลืองบาง ชีพจรตึงเร็ว


การวินิจฉัย ปวดปลายประสาทหลังจากงูสวัด (蛇串疮后遗症) 

วิเคราะห์(เปี้ยนเจิ้ง)ว่าผู้ป่วยอยู่กลุ่มอาการตับและถุงน้ำดีร้อนชื้น (肝胆湿热证)

ชื่อโรคทางแผนปัจจุบัน ปวดปลายประสาทหลังจากงูสวัด (带状疱疹后神经痛后遗症)


การรักษา

1. ฝังเข็ม กระตุ้นไฟฟ้า  โดยเลือกจุดฝังเข็มบริเวณแขนนิ้วมือ และจุดกดเจ็บ

2. ทุยหนากดจุด  ครอบแก้ว  อบสมุนไพรจีน     


ผลการรักษา  (progression note) 

ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 – วันที่ 25 กันยายน 2567  

การประเมินการรักษาครั้งที่ 1  

(วันที่ 6 กันยายน 2567 )  

อาการปวดชาแขนด้านในซ้ายและนิ้วมือซ้ายปวดรุนแรงลดลงเล็กน้อย แขนอ่อนแรง ขยับกำหรือแบนิ้วมือได้เล็กน้อย ขยับยกยืดเหยียดนิ้วมืออาการปวดมากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณแขนด้านในสั่นควบคุมได้มากขึ้นเล็กน้อย

การประเมินการรักษาครั้งที่ 2 

(วันที่ 10 กันยายน 2567) 

ปวดชาแขนด้านในซ้ายและนิ้วมือซ้ายปวดลดน้อยลง แขนอ่อนแรง ขยับกำหรือแบนิ้วมือได้มากขึ้น  ขยับยกยืดเหยียดนิ้วมือไม่ปวดมาก กล้ามเนื้อบริเวณแขนด้านในสั่นควบคุมได้

การประเมินการรักษาครั้งที่ 3 

(วันที่ 18 กันยายน 2567) 

ไม่มีอาการปวดชาแขนด้านในซ้ายและนิ้วมือซ้าย ไม่มีแขนอ่อนแรงแล้วขยับแขนได้สะดวกมากขึ้น ขยับกำหรือแบนิ้วมือได้มากจนกำมือได้สนิท ขยับยกยืดเหยียดนิ้วมืออาการปวดเล็กน้อย ไม่มีอาการกล้ามเนื้อบริเวณแขนด้านในสั่นควบคุมไม่ได้

การประเมินการรักษาครั้งที่ 4 

(วันที่ 25 กันยายน 2567) 

ไม่มีอาการปวดชาแขนด้านในซ้ายและนิ้วมือซ้ายปวดรุนแรง แขนมีกำลังมาขึ้นเกิบปกติ ขยับกำหรือแบนิ้วมือได้สะดวก ขยับยกยืดเหยียดนิ้วมือไม่มีอาการปวด แขนและนิ้วมือใช้งานยกหยิบจับของได้เป็นปกติ


วิเคราะห์และสรุป

         การรักษาโรคปวดปลายประสาทหลังจากงูสวัดโดยการทุยหนาฝังเข็มให้ผลลัพธ์ที่ดี สามารถบรรเทาอาการปวดได้ โดยการทุยหนาฝังเข็มลงไปตามจุดฝังเข็มเพื่อทะลวงเส้นลมปราณที่อุดกั้น ปรับการไหลเวียนของชี่และเลือดให้คล่องขึ้น เมื่อชี่และเลือดเคลื่อนที่ได้ดีก็ทำให้อาการเจ็บปวดบรรเทาลงนั่นเอง ตามกลไกที่ว่า “เมื่อไหลเวียนดีก็จะไม่ปวด เมื่อไม่ไหลเวียนก็จะปวด” (通则不痛,不通则痛)ช่วยฟื้นฟูอาการชาหรือแขนและนิ้วมืออ่อนแรง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัดหรืออาการยังไม่รุนแรงยังสามารถรักษาแบบประคับประคองได้ ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับบุคคล ปัจจัยกระตุ้น และการดูแลตัวเองของคนไข้ด้วย


 ------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน ศศิพัชญ์ อิทธิชัยโฆษิตกุล (หมอจีน สุ่ย จิง ซิน)
许精鑫  中医师
TCM.Dr.Sasiphat Aitthichaikhositkun 
แผนกกระดูกและทุยหนา 骨伤推拿科 (Orthopedic and Tuina TCM Department)
คลินิกคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวแพทย์สาขานครราชสีมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้