กรณีศึกษา การรักษาข้อไหล่ติดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

Last updated: 22 ม.ค. 2568  |  6 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรณีศึกษา การรักษาข้อไหล่ติดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

กรณีศึกษา การรักษาข้อไหล่ติดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) เป็นอีกหนึ่งอาการป่วยที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน       แม้ไม่ใช่โรคร้ายที่รุนแรงแต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของการหยิบจับวัตถุที่ต้องยกไหล่           การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ หรือการใส่เสื้อผ้า โรคข้อไหล่ติดสามารถรักษาให้หายได้หากปฏิบัติถูกวิธี หรือได้รับการรักษาที่เหมาะสม 

อาการของข้อไหล่ติด คือผู้ป่วยไม่สามารถยกแขนได้สุด หากยกแขนจนถึงระดับหนึ่งจะรู้สึกปวด     โดยอาการข้อไหล่ติดสามารถเกิดได้ทุกทิศทางในการเคลื่อนไหว ข้างหน้า ด้านข้าง หรือข้างหลัง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

สาเหตุข้อไหล่ติดเกิดจากเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่อักเสบ บวม และหนาตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่มักมาจากการยกของหนักมากเกินไป ความเสื่อม อายุ หรือแม้แต่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรก็ตาม ก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบของข่อหัวไหล่ไปจนถึงไหล่ติดที่เกิดจากระยะฟื้นฟูหลังจากกระดูกไหล่หัก ข้อไหล่หลุด เอ็นหรือกล้ามเนื้อข้อไหล่เสื่อม เอ็นหัวไหล่ขาด นั่นก็เพราะข้อหัวไหล่เป็นข้อที่ยึดติดง่ายและเป็นข้อที่หลุดง่ายมากที่สุดข้อหนึ่งในร่างกายนั่นเอง  

ภาวะอาการไหล่ติด (Frozen shoulder) โดยแบ่งระดับ อาการเป็น 3 ระยะ

1) เจ็บหรือปวดขณะเคลื่อนไหวหัวไหล่ โดยจะมีอาการปวดมากแม้ยกไหล่เพียงนิดเดียว และปวดมากขึ้นเมื่อพยายามยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ แต่ยังไม่รู้สึกถึงภาวะข้อไหล่ติด มักจะปวดมากโดยเฉพาะกลางคืน เวลาล้มตัวลงนอน และเคลื่อนไหว ในระยะนี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 2-9 เดือน

2) อาการปวดค่อย ๆ ลดลง ข้อไหล่เริ่มติดแข็ง เคลื่อนไหวหัวไหล่ลำบาก โดยจะมีพิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลง มักจะมีอาการปวดตึงไหล่เมื่อขยับไหล่ใกล้สุด รู้สึกตึงรั้งกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวไหล่จนถึงต้นคอ    ทำให้มีปัญหาเรื่องการใช้งาน เช่น การรับประทานอาหาร อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้า โดยผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ในระยะนี้นานแตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 1 ปีครึ่ง

3) ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันระยะเวลา1-3 ปี

หลักการรักษาข้อไหล่ติดตามหลักการแพทย์แผนจีน

ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายว่ารอยโรคเกิดขึ้นที่เส้นทางเดินชี่และเส้นเอ็น มักเกิดในช่วงอายุห้าสิบปี เจิ้งชี่ไม่พอ จิงเว่ยพร่อง ไหล่มีการกระทบลมเย็น หรือมักนอนตะแคง เมื่อทางไหลเวียนของชี่ถูกกดทับเป็นระยะเวลานานทำให้เลือดลมติดขัดก่อให้เกิดอาการปวดหรือชา การปวดไหล่นานเลือดลมไหลติดขัดหรือไม่คล่อง เกิดการคั่งทำให้เกิดการบวมติดจนไหล่เคลื่อนไหวลดลงในที่สุด การักษาใช้หลักการคลายระบายและทะลวงชี่ ให้เกิดการขับเคลื่อนเอ็นและจิงลั่วให้ไหลเวียนคล่อง เมื่อเลือดและชี่ไหลเวียนดีจะช่วยทำให้ลดระดับความเจ็บปวดของผู้ป่วยได้ดี และสามารถขยับข้อไหล่ได้มากขึ้น โดยใช้การนวดทุยหนาการฝังเข็ม และรมยาเป็นหลักในการรักษา

เคสตัวอย่างในการรักษาทางคลินิก

ผู้ป่วยหญิง อายุ 54 ปี มีอาการปวดและขยับไหล่ขวาลำบากมา 3 เดือน อาการปวดหนักเวลากลางคืน ขณะเคลื่อนไหวหยิบจับสิ่งของอาการปวดมากกว่าเดิม ช่วงอากาศเย็นไหล่ขวาเคลื่อนไหวติดขัด ยกแขนได้ไม่เกิน 90 องศาจากข้างลำตัว ไม่สามารถไพล่หลังได้จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จากการสอบถามไม่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุรุนแรง ผล X-ray ไม่พบความผิดปกติ รับประทานยาแล้วอาการไม่ทุเลา ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาด้วยการทุยหนาและฝังเข็ม โดยเลือกจุด JianYu (LI 15), JianLiao (TE 14), ZhongFu (LU 1), JianZhen (SI 9), NaoShu (SI 10),  ZhongPing (EX-LE 17), YangLinQuan (SP 6) ปักเข็มร่วมกับการทุยหนากดจุด หลังรักษา 4-5 ครั้ง อาการปวดทุเลาและสามารถเคลื่อนไหวไหล่ขวาได้คล่องขึ้น

-----------------------------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน ศศิพัชญ์ อิทธิชัยโฆษิตกุล (หมอจีน สุ่ย จิง ซิน)
许精鑫  中医师
TCM.Dr.Sasiphat Aitthichaikhositkun 
แผนกกระดูกและทุยหนา 骨伤推拿科 (Orthopedic and Tuina TCM Department)
คลินิกคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวแพทย์สาขานครราชสีมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้