4 ระยะในการป้องกันและรักษา Stroke

Last updated: 21 ม.ค. 2568  |  15 จำนวนผู้เข้าชม  | 

4 ระยะในการป้องกันและรักษา Stroke

Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพออย่างเฉียบพลัน เนื่องมาจากหลอดเลือดตีบ อุดตันหรือแตก ทำให้เซลล์สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงหรือที่เรียกว่า “เซลล์สมองตาย” ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ เป็นโรคที่มีอัตราการเกิดโรคสูง อัตราการเสียชีวิตสูง อัตราการก่อให้เกิดความพิการสูง อัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนสูง และอัตราการเกิดโรคซ้ำสูง

ลักษณะอาการ คือ ผู้ป่วยมีความผิดปกติบริเวณสมองส่วนที่ได้รับผลกระทบ และเป็นอาการที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยความปกตินั้นอาจเป็นอาการชั่วคราวหรือต่อเนื่องยาวนานก็ได้ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ซึ่งจะมีลักษณะอาการที่สำคัญ ดังนี้

1. อาการเกิดขึ้นทันทีทันใด
2. เกิดความผิดปกติของการทำงานของสมอง
3. ความผิดปกตินั้น อยู่นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือ ทำให้เสียชีวิต
4. ความผิดปกตินั้นอาจเป็นชั่วคราว หรือถาวรก็ได้

อาการโดยส่วนใหญ่ คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีก มีอาการชา เวียนศีรษะ สับสน มีปัญหาด้านการทรงตัว ด้านการมองเห็น ด้านการสื่อสาร หมดสติทันที ฯลฯ และความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น มักจะขึ้นอยู่กับบริเวณสมองส่วนที่ได้รับผลกระทบ และขนาดของพื้นที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมอง

ศาสตร์การแพทย์แผนจีน เรียกโรคหลอดเลือดสมอง ว่า “จ้งเฟิง : 中风”  โดยเรียกตามลักษณะของโรคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ทันที และมีการแปรเปลี่ยนหลากหลายและว่องไวเช่นเดียวกับ ลักษณะของ “ลม” หรือ “ เฟิง : 风”

โดยแนวคิดในการป้องกัน ดูแล รักษาโรคในศาสตร์การแพทย์แผนจีน คือ “รักษาโรคตั้งแต่ยังไม่ป่วย” ซึ่งในโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งระยะการป้องกันและรักษาออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

1. ระยะป้องกันโรค : ป้องกันไม่ให้ป่วย
คือ การลดปัจจัยเสี่ยง และป้องกันกลไกในการเกิดโรคในกรณีของปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถแก้ไขได้ ดังนี้

1.1 กรณีที่ความดันโลหิตสูง มีโรคเบาหวาน มีไขมันในเลือดสูง จะต้องหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดเป็นระยะตามที่แพทย์แนะนำ

1.2 กรณีของโรคหัวใจ (โดยเฉพาะลิ้นหัวใจผิดปกติและหัวใจเต้นผิด จังหวะ) หรือมีประวัติมีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว(TIA) หรือ เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกมาก่อน จะต้องหมั่นตรวจร่างกายว่ามีความผิดปกติของหัวใจหรือไม่ หากมีความผิดปกติต้องควบคุมและติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

1.3 ลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การเลิกสูบบุหรี่ การเลิกดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาคุมกำเนิดให้ถูกวิธี การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดให้ถูกต้องตามที่แพทย์สั่ง หมั่นออกกำลังกาย และหาวิธีลดความเครียด เป็นต้น

2. ระยะแรกเริ่มป่วย : รีบรักษาแต่เนิ่นๆ “รู้เร็ว รักษาทัน !!”

คือ การรีบเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วย เนื่องจากการฝังเข็มหากได้รับการรักษาภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดโรค การรักษาจะเกิดประสิทธิภาพสูงมาก และมีอาการข้างเคียงน้อย ดังนั้นจึงเพิ่มโอกาสในการหายป่วยจนใกล้เคียงกับปกติ หรือหายจนเป็นปกติได้มากขึ้น โดยแบ่งตามกรณีการเกิดโรค ดังนี้

1.1 กรณีที่สมองขาดเลือด จะต้องฝังเข็มโดยเร็ว เนื่องจาก “เร็วที่สุด คือ ดีที่สุด” หมายถึง การฝังเข็มจะให้ผลดีที่สุดหากทำทันที หรือภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเกิดโรค และระยะเวลารองลงมาคือ ภายใน 14 วัน (ระยะเฉียบพลันของโรคในทางการแพทย์แผนจีน) หากเลยระยะเวลาข้างต้นแล้ว การรักษาก็จะยังคงมีผลที่น่าพอใจอยู่ แต่จะขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยในแต่ละรายด้วย

1.2 กรณีหลอดเลือดสมองแตก จะต้องรอจนกว่าการไหลเวียนของเลือด และก้อนเลือดที่คั่งในสมองอยู่ในสภาวะที่เสถียรแล้ว ซึ่งอาจใช้เวลาหลังเกิดโรค 7 - 14 วัน โดยประมาณ จึงจะเริ่มทำการฝังเข็มได้ ซึ่งการฝังเข็มจะช่วยให้สามารถดูดซับเลือดคั่งและสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

3. ในระยะป้องกันพัฒนาการโรค : ป้องกันไม่ให้ป่วยมากขึ้น

คือ เมื่อป่วยแล้ว สามารถป้องกันไม่ให้โรคพัฒนาเป็นหนักขึ้น ด้วยการใช้วิธีฝังเข็ม รมยา นวดกระตุ้นบริเวณเส้นลมปราณที่อาจทำให้เกิดปัญหา  ร่วมกับการใช้ยาสมุนไพรจีน เพื่อเสริมการรักษา

4. ในระยะพักฟื้น หรือ ระยะฟื้นตัวหลังการเจ็บป่วย : ป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

คือ เมื่อเคยเป็นแล้ว สามารถเกิดอาการกลับมาเป็นซ้ำได้อีก และจะทำให้อาการของโรคเป็นหนักขึ้น  ดังนั้น ควรต้องลดหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ ได้แก่ การควบคุมความดันให้เป็นปกติ สำหรับผู้ที่มีความดันสูงจะต้องทานยาควบคุมตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด การควบคุมไขมันในเลือดและระดับน้ำตาลในเลือด โดยผู้ที่มีอาการไขมันในเลือดสูงจะต้องควบคุมอาการและทานยาควบคุมตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเช่นกัน นอกจากนั้นจะต้องงดและเลิกสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หาวิธีลดความเครียด เป็นต้น

------------------------

บทความโดย


แพทย์จีนริฟฮาน ยูโซะ (หมอจีน หลัว หรู ซาน)
罗如珊  中医师
TCM. Dr. Rifhan Yusoh (Luo Ru Shan)  
แผนกฝังเข็ม 针灸科 (Acupuncture Department)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้