Last updated: 22 พ.ย. 2567 | 21 จำนวนผู้เข้าชม |
ก่อนอื่นต้องอธิบายถึงกลุ่มโรคกระดูกต้นคอเสื่อมคือกลุ่มอาการอาการปวดคอหรือปวดต้นคอจากโรคกระดูกคอเสื่อม หลายคนอาจเข้าใจว่าเกิดจากความเสื่อมตามวัยและเกิดในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วในปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อมในช่วงอายุที่น้อยลงมากขึ้น โดยเฉพาะวัยทำงานซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้งานคอผิดลักษณะเป็นเวลานาน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ การเล่นสมาร์ทโฟน การก้มคอ แหงนคอ หรือสะบัดคอแรง ๆ บ่อย ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้น โดยเริ่มแรกกระดูกคอเสื่อมอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ หากมีอาการปวดที่รุนแรง ปวดคอร้าวลงแขน ลงบ่า สะบัก มักจะมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย ถือว่าเป็นอาการปวดคอที่อันตราย ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว กระดูกต้นคอของมนุษย์ประกอบไปด้วยกระดูกคอ หมอนรองกระดูก และข้อต่อของกระดูกคอ โดยปกติข้อต่อกระดูกจะมีความยืดหยุ่นและให้ความคล่องตัว อาการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจะเกิดขึ้นแบบช้าๆ กินเวลาหลายปี ระหว่างนั้นจะมีอาการปวดคอ และจะเริ่มมีกระดูกงอก มีการหนาตัวของเส้นเอ็นซึ่งจะทำให้ช่องกระดูกสันหลังแคบลง และอาจไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวลงแขน มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือลงมาบริเวณสะบัก และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง โดยภาวะกระดูกคอเสื่อมจะแสดงอาการมากน้อยแตกต่างไปในแต่ละบุคคล โดยมีปัจจัยต่าง ๆ เช่นความเสื่อมตามการใช้งาน พฤติกรรมในการใช้ชีวิต อายุวัย หรือรวมไปจนถึงเคยประสบอุบัติเหตุบริเวณคอ ทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง เช่น การได้รับการกระแทก หรือหกล้ม สามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่กระดูกคอจะเสื่อมได้มากกว่าคนทั่วไปได้เช่นกัน
ดังนั้นจากอาการกระดูกต้นคอเสื่อมในเบื่องต้นมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก จึงเหมาะสมกับการนวดทุยหนา เนื่องจากการนวดทุยหนาเป็นหัตการที่ทำโดยแพทย์ที่ทำการรักษาโดยใช้มือ หรือส่วนของร่างกาย กด คลึง ถู บีบ ดัด หรือกลิ้ง ฯ ลงบนจุดเส้นลมปรานของร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เลือดและชี่ไหลเวียนสะดวก บรรเทาอาการปวด ทะลวงเส้นลมปราณ การนวดทุยหนาอาศัยทฤษฎีนี้เป็นหลักการรักษา โดยใช้มือกดคลึงบริเวณที่ปวดจนมีความร้อนเกิดขึ้น เมื่อความร้อนมาแทนที่ความเย็น เลือดและชี่ก็ไหลเวียนดีขึ้น อาการปวดจึงดีขึ้นตามลำดับ อีกทั้งยังบำรุงและจัดเส้นเอ็นให้เข้าที่ หล่อลื่นข้อต่อ การนวดทุยหนาเป็นการนวดไปตามเส้นลมปราณ ทำให้เลือดและชี่เดินได้สะดวกขึ้น อาการปวดบวมจึงทุเลาลงได้ หลักการคล้ายกับการทะลวงเส้นลมปราณ นอกจากนั้นการนวดทุยหนายังช่วยปรับสมดุลและเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งเป็นการกดไปตามเส้นลมปราณและจุดฝังเข็ม ซึ่งแต่ละจุดสัมพันธ์อวัยวะภายใน ส่งผลให้อวัยวะภายในทำงานได้ดีขึ้นและภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นตามมา
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ศศิพัชญ์ อิทธิชัยโฆษิตกุล (หมอจีน สุ่ย จิง ซิน)
许精鑫 中医师
TCM.Dr.Sasiphat Aitthichaikhositkun
แพทย์จีนแผนกกระดูกและทุยหนา คลินิกคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวแพทย์สาขานครราชสีมา