การรักษาและปฏิบัติตัวให้ต่อมลูกหมากแข็งแรงด้วยการแพทย์แผนจีน

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  91 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การรักษาและปฏิบัติตัวให้ต่อมลูกหมากแข็งแรงด้วยการแพทย์แผนจีน

ต่อมลูกหมากคือหนึ่งในอวัยวะพิเศษที่มีในเพศชาย ตำแหน่งอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ พาดตัวไปรอบปลายท่อปัสสาวะส่วนต้น และอยู่หน้าลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หน้าที่หลักของต่อมลูกหมากคือคัดหลั่งน้ำต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำอสุจิ และยังหลั่งฮอร์โมนProstaglandin ซึ่งมีหน้าที่ในการระงับการ อักเสบ การทำงานของลำไส้ กระตุ้นการหดขยายของกล้ามเนื้อเรียบในอวัยวะต่างๆ

ต่อมลูกหมากที่ปกติมีลักษณะคล้ายเม็ดเกาลัด โดยมีขนาดความกว้างตามแนวสามมิติอยู่ที่ 2.5X3.0X3.5 ซม. หรือ2.0X3.0X4.0ซม. หนักประมาณ 16กรัม ปริมาตรประมาณ 16 มล. ซึ่งขนาดของต่อมลูกหมากจะมีการแปรเปลี่ยนไปตามช่วงอายุและระดับฮอร์โมนในเพศชาย

ต่อมลูกหมากก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สามารถพบความผิดปกติได้บ่อยในเพศชาย ความผิดปกติที่พบบ่อยคือต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากโต และมะเร็งต่อมลูกหมาก อาการผิดปกติสามารถแบ่งตามช่วงวัย คือต่อมลูกหมากในวัยรุ่น-วัยหนุ่ม วัยกลางคนและวัยชรา ซึ่งโรคของต่อมลูกหมากนี้เป็นกลุ่มโรคที่มักเกิดขึ้นในเพศชายหลังวัยเจริญพันธุ์

1. ต่อมลูกหมากอักเสบ คือการพบการอักเสบในต่อมลูกหมากทั้งจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ที่พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น-วัยหนุ่ม 

ระยะโรคแบ่งออกเป็นแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง อาการของต่อมลูกหมากอักเสบที่พบบ่อยคือ ปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะ เฉียบพลันปัสสาวะแสบร้อนเจ็บ ปัสสาวะไม่สุดหรืออาการความผิดปกติรอบๆอวัยวะเพศ ท้องน้อย หลังเอวส่วนล่าง ก้นกบ หรือต้นขาด้านในเป็นต้น ถ้าผู้ป่วยต่อมลูกหมากอักเสบไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะส่งผลให้การอักเสบเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื้อรัง รักษาให้หายขาดได้ยาก ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ และสภาพจิตใจได้

ต่อมลูกหมากอักเสบจัดอยู่ในกลุ่มโรคหลินเจิ้ง (淋证) และจิงจั๋ว (精浊) ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

2. ต่อมลูกหมากโต คือการพบต่อมลูกหมากที่เจริญเติบโตขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้เนื้อของต่อมลูกหมากเกิดการกดทับ ปิดกั้นท่อปัสสาวะส่วนต้น หรือมีโตเบียดการรุกล้ำเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากในเพศชายวัยกลางคนขึ้นไป อาการที่พบบ่อยคือปัสสาวะได้ไม่สะดวก ปัสสาวะไม่ออก ยืนรอปัสสาวะนาน ปัสสาวะขาดช่วง ปัสสาวะได้ไม่สุด แต่อาการที่มักเกิดขึ้นแรก ๆ นั้นคือ อาการปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน

ต่อมลูกหมากโตจัดอยู่ในกลุ่มโรคหลงปี้ (癃闭) ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

3. มะเร็งต่อมลูกหมาก คือความผิดปกติของเซลล์ในต่อมลูกหมากที่มีการเจริญเติบโตมากเกินไป จนทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเป็นอย่างมาก และสามารถกระจายไปไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ในช่วงแรกของโรคมักไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่เมื่อโรคดำเนินเข้าสู่ในระยะที่รุนแรงมากขึ้นเริ่มพบ ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะไม่ออก ปวดกระดูก น้ำหนักลด หรืออาการความผิดปกติรุนแรงอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้

มะเร็งต่อมลูกหมากโตจัดอยู่ในกลุ่มโรคเจิงเจี่ย (癥瘕) หลินเจิ้ง (淋证) หลงปี้ (癃闭) และเนี้ยวเสวี่ย (尿血) ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

แพทย์แผนจีนจัดให้กลุ่มโรคต่อมลูกหมาก มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการไตพร่อง ความร้อนชื้น ชี่ติดขัดเลือดคั่ง ชี่พร่อง เป็นต้น โดยสามารถแยกแยะกลุ่มอาการได้จากอาการแสดงดังนี้

1. กลุ่มอาการไตพร่อง
ปัสสาวะผิดปกติ เช่นปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมาก เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การหลั่งอสุจิที่ผิดปกติ ปวดเมื่อยเอวเข่า น้ำกามเคลื่อน ลิ้นสีซีด ฝ้าขาว ชีพจรลึกเล็กเบา (沉细弱)

2. กลุ่มอาการความร้อนชื้น
ปัสสาวะผิดปกติ เช่นปัสสาวะบ่อย ปริมาณน้ำปัสสาวะน้อยสีเข้ม มีกลิ่นแรง ขณะปัสสาวะรู้สึกแสบร้อน ปัสสาวะขัด ถ้ารุนแรงอาจมีเลือดปนในปัสสาวะได้ มีอาการบวมแดงที่ปลายท่อปัสสาวะ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ น้ำกามเคลื่อน หรือมีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากท่อปัสสาวะมาก ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สะดวก ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว (滑数)

3. กลุ่มอาการชี่ติดขัดเลือดคั่ง
ปัสสาวะผิดปกติ เช่นปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะขาดช่วง ปัสสาวะกะปริดกะปรอย มีเลือดในปัสสาวะ ปลายท่อปัสสาวะมีเลือดคั่ง อาการปวดรอบๆอวัยวะเพศเรื้อรัง ลิ้นม่วงหรือมีรอยจ้ำเลือด ชีพจรตึงฝืด (紧涩)

4. กลุ่มอาการชี่พร่อง
ปัสสาวะผิดปกติ เช่นปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะคุมไม่อยู่ ปัสสาวะไม่มีแรง ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะไม่สุด ร่างกายอ่อนเพลียไม่มีแรง หายใจหอบเหนื่อย พูดน้อย  ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรเบาไม่มีแรง (弱无力)

การแพทย์แผนจีนมีจดบันทึกการรักษาโรคต่อมลูกหมากมายาวนาน โดยใช้การวินิจฉัยแยกแยะกลุ่มอาการ(เปี้ยนเจิ้ง)และการใช้ยาสมุนไพรเข้าไปปรับสมดุลร่างกายให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ถ้าคุณผู้ชายพบว่าตอนนี้มีอาการต่าง ๆ จากทั้งสามโรคต่อมลูกหมาก ที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเพื่อความแข็งแรงของต่อมลูกหมากและสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ทั้งกายใจ 

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคต่อมลูกหมาก

1. ระมัดระวังการรับประทานอาหารที่เผ็ดร้อน รสจัดจ้าน ของมันของทอด ของเย็นๆ อาหารที่ยังปรุงไม่สุก และการดื่มแอลกอฮอล์ อาหารเหล่านี้ทำให้เกิดความร้อนชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นการอักเสบหรือความผิดปกติของต่อมลูกหมากได้
2. ไม่นั่งหรือขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์เป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการถูกกดทับในบริเวณต่อมลูกหมาก การทำกิจกรรมใดหรือการอยู่ในท่าทางหนึ่งใดเป็นเวลานาน ส่งผลต่อการไหลเวียนของชี่และเลือดได้ เมื่อชี่และเลือดไหลเวียนไม่ดี ทำให้เกิดภาวะชี่ติดขัดเลือดคั่ง ส่งผลต่อการส่งอาหารเข้าหล่อเลี้ยงต่อมลูกหมากและการทำงานได้
3. ดื่มน้ำอุ่นสะอาดให้เพียงพอ ขับถ่ายปัสสาวะให้เป็นเวลา ไม่กลั้นปัสสาวะ 
4. ควบคุมอารมณ์ให้คงที่ เพราะอารมณ์ที่ไม่สมดุล เช่น ความวิตกกังวล เครียด โมโห ครุ่นคิด คิดมากเป็นต้น ล้วนทำให้ชี่ติดขัด ส่งผลต่อการทำงานของต่อมลูกหมากได้
5. ระมัดระวังสุขอนามัยความสะอาด เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  
6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มความแข็งแรงแกร่งของร่างกาย
7. ความสังเกตลักษณะการขับถ่ายปัสสาวะ สมรรถภาพทางเพศ การหลั่งอสุจิ ที่ผิดปกติไป และรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาหรือการรักษา

8. ในผู้ชายวัยกลางคนขึ้นไปควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้