อาการเวียนศีรษะในมุมมองของการแพทย์แผนจีน และการรักษาด้วยการฝังเข็ม

Last updated: 22 ต.ค. 2567  |  401 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อาการเวียนศีรษะในมุมมองของการแพทย์แผนจีน และการรักษาด้วยการฝังเข็ม

เวียนศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทางคลินิกสามารถพบในทุกเพศทุกวัย โดยปกติอาการตาลายและมึนงงศีรษะมักเกิดขึ้นพร้อมๆกัน มักมีอาการมึนงงศีรษะ ตาลาย รู้สึกเหมือนวัตถุรอบตัวหมุน เป็นอาการหลัก ในรายที่อาการเบา : รู้สึกราวกับนั่งเรือ โคลงเคลงไม่มั่นคง เมื่อหลับตาสักพักจะหายเป็นปกติ ส่วนในรายที่อาการหนัก : หน้ามืดเฉียบพลัน รู้สึกโคลงเคลงไม่หยุด หวิวๆคล้ายจะเป็นลม ตลอดจนเสียการทรงตัว และอาจถึงขั้นล้มลงได้ อาการที่มักพบร่วมกันได้เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก อาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้

โดยอาการเวียนศีรษะสามารถเกิดจาก สาเหตุต่างๆ เช่น  

- ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองส่วน Vertebrobasilar ไม่เพียงพอ 
- โรคหลอดเลือดสมอง  
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's Disease) 
- โรคเวียนศีรษะจากการเปลี่ยนท่าทาง (BPPV) 
- ภาวะเมาการเคลื่อนที่ เมารถ เมาเรือ
- โรคของกระดูกต้นคอ มีความสัมพันธ์กับการหมุนหรือหันคออย่างชัดเจน เดินเซ เสียสมดุลการทรงตัวเมื่อหมุนตัว 
- ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension)  
- ภาวะความดันโลหิตต่ำ(hypotension) 
- ภาวะโลหิตจาง (Anemia)  

โดยแบ่งลักษณะของอาการเวียนได้ดังนี้ 
- อาการเวียนศีรษะแท้ (True Vertigo) มีอาการวิงเวียนร่วมกับรู้สึกว่าตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน 
- อาการเวียนศีรษะเทียม (False Vertigo) โดยทั่วไปมีเพียงอาการวิงเวียน แต่ไม่รู้สึกว่าตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน 

ในทางการแพทย์แผนจีนมองว่ามีสาเหตุหลักมาจาก  
- ความผิดปกติทางอารมณ์ (ความเครียดกังวลหงุดหงิดโมโห) 
- โภชนาการที่ไม่เหมาะสม 
- ชี่และเลือดพร่อง 
- สารจิงของไตไม่เพียงพอ 
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ 

ซึ่งมีกลไกการเกิดโรคคือ  
- อาการแกร่ง เกี่ยวข้องกับปัจจัยลม ไฟ เสมหะ เลือดคั่งรบกวนทวารสมอง 
- อาการพร่อง เกิดจากชี่และเลือดขาดแคลน หรือสารจิงของไตไม่เพียงพอ , ทวารสมองขาดการหล่อเลี้ยง 
โดยตำแหน่งของโรคอยู่ที่สมองเป็นหลัก และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอวัยวะตับ, ม้าม ,ไต 

กลุ่มอาการที่พบบ่อยได้แก่ 
- หยางของตับทะยานขึ้นสูง  
วิงเวียนศีรษะ มีเสียงในหู ปวดแน่นบริเวณศีรษะและตา มักมีอาการหงุดหงิดโมโหง่าย (เมื่อหงุดหงิดหรือโมโห อาการเวียนศีรษะจะเป็นมากขึ้น) นอนไม่หลับ ฝันเยอะ หน้าและตาแดง ปากขม 
- เสมหะและความชื้นอุดกั้นจงเจียว  
เวียนศีรษะ หนักอึ้งที่ศีรษะแบบถูกบีบรัด มองเห็นของรอบตัวหมุน แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเสมหะ ปากเหนียว เบื่ออาหาร  
- เลือดคั่งปิดกั้นทวาร 
วิงเวียนปวดศีรษะ (มีตำแหน่งปวดที่แน่นอน) หูอื้อ หูหนวก นอนไม่หลับ ใจสั่น มีอาการเหม่อลอย ใบหน้าริมฝีปากมีสีม่วงคล้ำ  
- ชี่และเลือดพร่อง  
มึนงงศีรษะ ตาลาย (เมื่อเคลื่อนไหวอาการจะหนักขึ้น เมื่ออ่อนเพลียอาการจะกำเริบได้ง่าย) หน้าซีดขาวหรือซูบเหลือง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องอืด รับประทานอาหารได้น้อย  

แนวทางการรักษาทางการแพทย์แผนจีน 
- การรับประทานจีน  
- ฝังเข็มและรมยา  
- เข็มหู 
- นวดทุยหนา (การจัดกระดูกในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะจากโรคกระดูกต้นคอ) 

จุดที่สามารถนวดเพื่อบรรเทาอาการเวียนศีรษะ 
百 会 จุดไป่หุ้ย  
风 池 จุดเฟิงฉือ 
头维 จุดโถวเหวย 
太阳 จุดไท่หยาง 
悬钟 จุดเสวียนจง 

กรณีศึกษา
ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย
HN381xxx
ชื่อ นางสาว นาถxxx
เพศ หญิง 
อายุ 34 ปี
T: 36.5℃  HR:96ครั้ง/นาที  BP:110/65 mmHg  น้ำหนัก 54 กก
เข้ารับการรักษาเมื่อ 23 เมษายน 2566
อาการสำคัญ
เวียนศีรษะหูขวาอื้อ และ มีเสียงในหูเป็นเวลา3เดือน
ประวัติการเจ็บป่วย
เมื่อ 3 เดือนก่อนผู้ป่วยมีอาการหูอื้อและมีเสียงในหูโดยไม่ทราบสาเหตุ การได้ยินลดลง มีโทนเสียงแหลมในหูตลอดเวลาและได้ยินเสียงนี้ชัดขึ้นเมื่ออยู่ในที่เงียบ มีอาการเวียนศีรษะคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อาการกำเริบวันละ 3-5 ครั้ง แต่ละครั้งจะเวียนศีรษะเป็นเวลา 1-5 นาที ภายหลังได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์แผนปัจจุบันว่าเป็นโรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) และได้รับการรักษาด้วยยา serc (betahistine dihydrochloride) อาการเวียนศีรษะของคนไข้บรรทาหลังรับการรักษา 10 วัน
อาการเจ็บป่วยปัจจุบัน
หลังการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน 3 เดือนยังมีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง และเสียงในหูคงที่ เวียนศีรษะบางครั้ง  มีอาการร่วมคือ หลับยากและตื่นกลางดึกบ่อย และ มีความเครียดง่าย ปากขมคอแห้ง การทานอาหาร และ การขับถ่ายปกติ
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต
ปฏิเสธการได้รับการบาดเจ็บที่หูและศีรษะ การได้ยินเสียงดัง หรือโรคอื่นๆ
การตรวจร่างกาย
- ลิ้นแดงฝ้าเหลืองบาง ชีพจรเร็วและตึง
- การได้ยินหูขวาลดลง การได้ยินของหูซ้ายปกติ 
- ไม่มีอาการเจ็บบริเวณหลังหูทั้งสองข้าง
- ไม่มีอาการตาสั่น
การวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
- วิเคราะห์โรค : ผู้ป่วยมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ความเครียดมักส่งผลกระทบต่อตับได้ง่าย เมื่อเครียดเป็นเวลานานจึงทำให้ไฟในตับเพิ่มขึ้น เมื่อไฟของตับลอยขึ้นสูงไปรบกวนส่วนบนของร่างกาย ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หูอื้อ ปากขมคอแห้ง มีเสียงในหู รบกวนการนอน ทำให้หลับยากและตื่นกลางดึกบ่อย ลิ้นแดงฝ้าเหลืองชี้ถึงความร้อนในร่างกาย ชีพจรเร็วและตึงบ่งบอกถึงความร้อนในตับ
- เวียนศีรษะ กลุ่มอาการไฟตับรบกวนส่วนบน
วิธีการรักษา
รักษาด้วยการฝังเข็ม เพื่อระบายความร้อนในตับ จุดที่เลือกใช้耳门Er Men(TE 21)กระตุ้นไฟฟ้า、听宫Ting Gong(SI 19)、听会Ting Hui(GB 2)、翳风Yi Feng(TE 17)กระตุ้นไฟฟ้า、中渚Zhong Zhu(TE 3)、外关Wai Guan(TE 5)、阳陵泉Yang Ling Quan(GB 34)、三阴交San Yin Jiao(SP 6)、足三里Zu San Li(ST 36)
ผลการรักษา
- หลังการรักษาด้วยการฝังเข็มสัปดาห์ละ1ครั้ง
- หลังการรักษาครั้งที่ 1 อาการตึงหูอื้อเบาลง แต่ยังมีเสียงในหู
- หลังการรักษาครั้งที่ 2 อาการตึงหูอื้อหายไป ยังคงมีเสียงในหู มีอาการเวียนศีรษะบ้างบางครั้ง
- หลังการรักษาครั้งที่ 3 อาการเสียงในหูหายไป 
- ไม่มีอาการเวียนศีรษะ
- ไม่มีอาการกลับมาอีก หลังผ่านไป1เดือน

------------------------

บทความโดย
ดร.พจ.พีระพงศ์ เลิศนิมิตพันธ์ (หมอจีน เฉิน เจียง เฉิง)
陈江成 中医师
TCM. Dr. Peeraphong Lertnimitphun (Chen Jiang Cheng)
แผนกคลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท 中医脑病针灸康复门诊 (Stroke and Neurological Rehabilitation Clinic)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้