วัยทองกับแพทย์แผนจีน ดูแล ฟื้นฟูก่อนและหลังหมดประจำเดือน

Last updated: 28 ต.ค. 2567  |  384 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วัยทองกับแพทย์แผนจีน ดูแล ฟื้นฟูก่อนและหลังหมดประจำเดือน

การดูแลร่างกายก่อนและหลังหมดประจำเดือน

อาการวัยทอง คือกลุ่มอาการของผู้หญิงในช่วงอายุระหว่าง 40-59 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน เนื่องจากการทำงานของรังไข่ลดลงส่งผลให้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ มีผลกระทบกับสภาพจิตใจอีกด้วย
  
สาเหตุ
เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของผู้หญิง ในระยะช่วงวัยนี้ประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่จะค่อย ๆ ลดลงจนกระทั่งหยุดทำหน้าที่ การสร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนจะค่อยลดลงและหมดไปอย่างถาวร ทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือน
 
เนื่องจากความแปรปรวนของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงก่อนถึงวัยหมดประจำเดือนและการลดลงของเอสโตรเจนอย่างมากในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจซึ่งค่อย ๆเป็นมากขึ้น และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะพร่องเอสโทรเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต่อมาอีกหลายปีจนเข้าสู่วัยสูงอายุ

ในกลุ่มสตรีที่ก่อนประจำเดือนจะหมด ช่วงที่ยังมีประจำเดือนจะเริ่มพบว่าประจำเดือนผิดปกติ จะรู้สึกร้อน ๆหนาว ๆ หงุดหงิด โมโหง่าย เวียนศีรษะ วิงเวียน เป็นผลจากระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ อาการเหล่านี้คล้ายกับกลุ่มอาการทางการแพทย์จีนที่เรียกว่า อาการก่อนและหลังวัยหมดประจำ เดือน “syndromes before and after menopause” และอาการ  “visceral irritability”  



อาการ
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนที่ค่อย ๆลดลง ส่วนมากเริ่มจากมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเป็นอาการแรกเริ่ม อาจมาก่อนหรือช้ากว่าปกติ ปริมาณน้อยหรือมากไม่แน่นอน บางรายประจำเดือน อาจหายไปหลายเดือนแล้วกลับมามีประจำเดือนใหม่ หรืออาจมีประจำเดือนสม่ำเสมอทุกเดือนจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก็ได้

อาการร้อนวูบวาบ เป็นมากในช่วงกลางคืน ร้อนบริเวณหลังหรือต้นคอ ในรายที่เป็นมากอาจทำให้รู้สึกไม่สบาย หงุดหงิด นอนไม่หลับ โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า จิตใจห่อเหี่ยว ความจำเสื่อม หลงๆลืมๆ ไม่มีสมาธิ ความจำลดลง
หรือพบ อาการใจสั่น โดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดหัว เวียนหัว บ้านหมุน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อยตามตัว ในระยะต่อมา เมื่อเกิดภาวะพร่องเอสโทรเจน ก็อาจมีอาการเยื่อบุช่องคลอดแห้ง อาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ ผิวหนังแห้ง ริมฝีปากแห้ง ผมแห้ง ผมร่วง ความต้องการทางเพศลดลง อ้วนง่าย  เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน
มักเป็นผลมาจากภาวะพร่องเอสโทรเจนที่สำคัญ ได้แก่
- เยื่อบุช่องคลอดบาง แห้ง และขาดความยืดหยุ่น อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดระหว่างกิจกรรมทางเพศ และช่องคลอดอักเสบได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน
- กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานหย่อนยาน ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดเวลาไอจาม ยกของหนักหรือหัวเราะ ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน
- เยื่อบุท่อปัสสาวะบาง ทำให้มีอาการแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน
- ผิวหนังบาง แห้ง ขาดความยืดหยุ่น อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
- ภาวะกระดูกพรุน
- ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โดยพบว่าในบางรายค่าแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูงและเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังหมดประจำเดือน อายุมากกว่า 60-65 ปี
- โรคสมองเสื่อม หลงๆลืมๆ ซึ่งมักเกิดช่วงย่างเข้าวัยผู้สูงอายุ

กลุ่มอาการวัยทองในมุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนจีน
อาการเหล่านี้ทางการแพทย์แผนจีนเรียกว่า อาการก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือน (Syndromes before and after Menopause / Visceral Irritability)



การวิเคราะห์เปี้ยนเจิ้งอาการก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือนแบบการแพทย์แผนจีน


1.กลุ่มอาการอินของไตและตับพร่อง (肝肾阴虚证)
อาการ: ก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมาก่อนกำหนด บางครั้งปริมาณมาก บางครั้งปริมาณน้อย ประจำเดือนสีแดงสด มีอาการร้อนวูบวาบเหงื่อออก มึนศีรษะหูอื้อ ตาแห้ง รู้มือเท้าและหน้าอกร้อน คอแห้ง นอนไม่หลับ ฝันเยอะ ขี้หลงขี้ลืม ช่องคลอดแห้ง  หรือผิวหนังแห้งคัน รู้สึกไม่ปกติตามผิวหนัง ท้องผูก ลิ้นแดง ฝ้าน้อย ชีพจร细数(เล็กเร็ว)

กลไกการเกิดโรค: อินของไตพร่อง เทียนกุ่ยเสื่อมถอย ถ้าพื้นฐานร่างกายอินพร่อง หรือมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป จนทำลายไตจิง หรือเสียเลือดมากเกินไปจนจิงและเลือดไม่เพียงพอ การคิดมากนอนไม่หลับ ทำให้ไตอินเสื่อมถอย อวัยวะขาดการบำรุง  ตำแหน่งของไตและตับอยู่ที่ร่างกายส่วนล่าง มีแหล่งกำเนิดเดียวกัน หากไตอินไม่เพียงพอ ไม่สามารถบำรุงอวัยวะตับได้ จึงทำให้ไตและตับอินพร่อง 

วิธีรักษา : บำรุงตับและไต กำเนิดอินซ่อนหยาง

ตำรับยา : โก่วจวี๋ตี้หวงหวาน(枸菊地黄丸)ในตำรา《อีจี๋-医级》

โก่วฉีจื่อ (枸杞子) จ;จวี๋ฮวา (菊花) สูตี้หวง (熟地黄) ซานเย่า (山药) ซานจูอวี๋ (山茱萸) หมู่ตันผี (牡丹皮) ฝูหลิง (茯苓) เจ๋อเซี่ย (泽泻)

2 กลุ่มอาการไตพร่องและชี่ตับติดขัด (肾虚肝郁证)

อาการ : ก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอาการร้อนวูบวาบเหงื่อออก ซึมเศร้า แน่นหน้าอก ถอนหายใจบ่อย หงุดหงิดโมโหง่าย นอนไม่หลับ เวลาถ่ายอุจจาระบางครั้งแห้งบางครั้งเหลว ลิ้นแดง  ฝ้าบางสีขาวหรือบางสีเหลือง ชีพจร沉弦 (ลึกตึง)หรือ细弦(เล็กตึง)

กลไกการเกิดโรค : ไตอินพร่อง ตับเก็บกักเลือดไม่เพียงพอ ตับสูญเสียการบำรุง ทำให้ชี่ตับทั่วร่างกายไหลเวียนติดขัด เกิดภาวะไตพร่องและชี่ตับติดขัด

วิธีรักษา : บำรุงไตอิน ระบายชี่ตับ

ตำรับยา : อีก้วนเจียน(一贯煎)ในตำรา《ซวี้หมิงอีเล่ย์อั้น-续名医类案》

ตี้หวง (地黄)เป่ยซาเซิน (北沙参)ม่ายตง (麦冬)ตังกุย (当归) โก่วฉีจื่อ (枸杞子) ชวนเลี่ยนจื่อ (川楝子) 

3 กลุ่มอาการไตและหัวใจไม่เชื่อมประสานกัน(心肾不交证)

อาการ: ก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอาการร้อนวูบวาบเหงื่อออก ใจสั่นใจหวิว กระวนกระวายใจ นอนไม่หลับ ขี้หลงขี้ลืม ฝันมาก ขี้ตกใจ ปวดเมื่อยเอว จิตใจเหงาหงอยซึมเศร้า ความคิดเชื่องช้า ลิ้นแดง ฝ้าน้อย ชีพจรเล็ก (细)หรือ(细数)

กลไกการเกิดโรค: ไตอินพร่องไม่สามารถขึ้นไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ไฟจากหัวใจลุกโชน ความร้อนเผาผลาญหัวใจ ทำให้จิตใจไม่สงบ ไฟจากหัวใจไม่ลงมาอุ่นไตน้ำจนเกิดอาการไตและหัวใจไม่เชื่อมประสานกัน

วิธีรักษา: เพิ่มอินลดไฟ บำรุงไต สงบใจ

ตำรับยา: เทียนหวางปู่ซินตัน(天王补心丹)ในตำรา《เซ่อเซิงมี่โพว》《摄生秘剖》) 

เสวียนเซิน (玄参) ตังกุย (当归) เทียนตง (天冬) ม่ายตง (麦冬) ตันเซิน (丹参) ฝูหลิง (茯苓) อู่เว่ย์จื่อ (五味子)หย่วนจื้อ (远志)เจี๋ยเกิง (桔梗) ซวนเจ่าเหริน(酸枣仁)ตี้หวง(地黄)ไป๋จื่อเหริน(柏子仁)ไท่จื่อเซิน (太子参) ซางเซิ่น(桑椹) 

4 กลุ่มอาการไตอินและไตหยางพร่อง (肾阴阳虚证)

          อาการ: ก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนสีคล้ำหรือแดงซีด บางเวลาร้อนวูบวาบ บางเวลาหนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางวัน และเหงื่อออกกลางคืน มึนศีรษะ หูอื้อ นอนไม่หลับ ขี้หลงขี้ลืม ปวดและเย็นบริเวณเอวและหลัง ปวดและบวมส้นเท้า ถ่ายอุจจาระเหลว ปัสสาวะบ่อย ลิ้นซีด ฝ้าขาว ชีพจรลึกเล็ก(沉细)และอ่อนแรง(无力)

กลไกการเกิดโรค: ไตเก็บกักทั้งอินและหยาง อินเสื่อมกระทบหยาง หยางเสื่อมกระทบอิน อินและหยางไม่เพียงพอ ไม่สามารถบำรุงและให้ความอบอุ่นกับอวัยวะต่างๆได้ หรือไม่สามารถกระตุ้นและผลักดันการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติได้

วิธีรักษา: บำรุงไตและเส้นลมปราณชงเญิ่น

ตำรับยา: เอ้อร์เซียนทัง(二仙汤)ในตำรา《จงอีฟางจี้หลินฉวงโส่วเช่อ》《中医方剂临床手册》) กับ เอ้อร์จื้อหวาน(二至丸)ในตำรา《อีฟางจี๋เจี่ย》医方集解》 เชียนเหมา(仙茅) อิ่นหยางฮั่ว(淫羊藿) ปาจี๋เทียน(巴戟天) หวงป๋อ (黄柏) จือหมู่ (知母) ตังกุย (当归) นวี่เจินจื่อ (女贞子) ม่อฮั่นเหลียน(墨旱莲) 

แนวทางการรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนจีน
1. การรักษาด้วยตำรับยาจีน เป็นตำรับยาเพื่อบำรุงในทางนรีเวช ตามสภาวะของผู้ป่วย โดยแพทย์จีนผู้ทำการรักษาจะวิเคราะห์สภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อระบุกลุ่มอาการของโรคตามสภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยก่อน จากนั้นจะเลือกตำรับยา จัดยาตามพยาธิสภาพของผู้ป่วย / พื้นฐานสุขภาพผู้ป่วย หลังให้ยาจะติดตามอาการว่าดีขึ้นหรือไม่อย่างไร แพทย์จีนที่ทำการรักษาจะปรับเปลี่ยนยาตำรับใหม่ให้ตามความเหมาะสมกับอาการในช่วงเวลานั้นๆด้วย 

สมุนไพรจีนแต่ละชนิดที่ผสมอยู่ในตำรับยาจีนนั้นมีสรรพคุณแตกต่างกันออกไป ในยาตำรับจะประกอบด้วย
- สมุนไพรที่ทำหน้าที่เป็นตัวหลัก
- สมุนไพรที่เป็นตัวประกอบ/รอง
- สมุนไพรที่เป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบในร่างกาย
- สมุนไพรที่เป็นตัวยาเสริม ทำหน้าที่ปรับสมดุล

 ข้อแนะนำ
1. ควรปฏิบัติตนเพื่อบรรเทาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะหมดประจำเดือน เช่น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น  เดิน การฝึกโยคะ มวยจีน ทำสมาธิ เป็นต้น
- ควบคุมน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหาร เลือกกินอาหารที่พอเหมาะและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย
- ไม่สูบบุหรี่
- เพิ่มอาหารชนิดถั่วเหลือง เต้าหู้ 
- หลีกเลี่ยงอาหารกระตุ้นอาการกำเริบ เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอลล์ อาหารรสเผ็ด เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้