Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 4691 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากที่เราได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิด อาการ ท้องอืด กันไปบ้างแล้ว จะเห็นได้ว่า เรื่องท้องอืดนั้นไม่ได้อยู่ไกลตัวเราแต่อย่างใด สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และยังสามารถกลายเป็นอาการเรื้อรังพร้อมกับโรคแทรกซ้อนอื่นๆได้ในอนาคต วันนี้ผมจะนำเสนอวิธีการมองเรื่อง ท้องอืด ในแบบของแพทย์แผนจีนกันบ้างว่า มีกลไกใดบ้างเกิดโรคแบบใดบ้างที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้โดยง่ายดังนี้
1. ความร้อนสะสม
ถ้าถามว่าความร้อนที่ว่านั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร แพทย์แผนจีนสามารถอธิบายได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากอาหารที่ไม่สามารถย่อยได้ดีพอหรืออาหารที่ให้พลังงานสูงเกินความต้องการ เช่น น้ำตาล ไขมัน เป็นต้น ทำให้เมื่อร่างกายไม่สามารถจัดการได้ จึงมักสะสมภายในและก่อความร้อนขึ้น
อาการเด่น : ท้องอืด ร่วมกับ คอแห้งกระหายน้ำ ท้องผูก ร้อนง่าย กระสับกระส่าย
ตัวอย่างสมุนไพรที่เหมาะสม : ต้าหวง 大黄 หวงเหลียน 黄连
2.เสมหะชื้น
ผลพวงจากการไม่ได้ดูแลอาหาร การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย รับประทานปริมาณมากเกินไป ทำให้อาหารเหล่านี้มักไม่สามารถย่อยได้ดีพอ แปรเปลี่ยนกลายเป็นเสมหะอุดกั้นในทางเดินอาหารและก่อเกิดความชื้นที่สลายออกไปได้ยาก
อาการเด่น : ท้องอืด ร่วมกับ ปวดหนักศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ลิ้นเกิดฝ้าขาวหนาเหนียว
ตัวอย่างสมุนไพรที่เหมาะสม : เฉินผี 陈皮 ปั้นเซี่ย 半夏
3.ชี่ตับอุดกั้น
มักเกิดขึ้นจากสภาพอารมณ์เป็นหลัก เมื่อมีอาการเครียด หงุดหงิดเกิดขึ้น ก็มักส่งผลให้ ชี่ ที่เปรียบเหมือนตัวแทนของการไหลเวียนพลังงานในร่างกายเกิดการติดขัด ส่งผลให้กระเพาะลำไส้ทำงานไม่มีประสิทธิภาพและถดถอยลง จนส่งผลต่อการย่อยในที่สุด
อาการเด่น : ท้องอืด ร่วมกับ หงุดหงิด จุกแน่นชายโครง ถอนหายใจและเรอบ่อย
ตัวอย่างสมุนไพรที่เหมาะสม : เซียงฟู่ 香附ไฉหู柴胡
4.กระเพาะม้ามอ่อนแอ
กระเพาะและม้ามเป็นเหมือนตัวแทนของการย่อยอาหารในภาพรวม เมื่ออ่อนแอลงจากปัจจัยรอบด้าน เช่น อาหาร การไม่ออกกำลังกาย ความกังวล เป็นต้น ก็มักทำให้เกิดภาวะท้องอืด อาหารไม่ย่อยเรื้อรังขึ้น
อาการเด่น : ท้องอืด ร่วมกับ อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว
ตัวอย่างสมุนไพรที่เหมาะสม : หวงฉี 黄芪ไป๋จู๋白术
การดูแลตนเอง
1. หมั่นเคี้ยวอาหารให้ละเอียดมากขึ้น ให้เวลากับมื้ออาหารนั้นๆ
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. งดอาหารที่ย่อยยากหรือก่อให้เกิดแก๊สสูง รวมถึงอาหารที่มักก่อให้เกิดอาการท้องอืดในรายบุคคล เช่น อาหารรสจัด ชา กาแฟ ถั่วอบเกลือ เป็นต้น
4. ใช้สมุนไพรบางชนิดเป็นตัวช่วยบรรเทาอาการ เช่น ขิง อบเชย สะระแหน่ เป็นต้น
5. หมั่นดูแลสภาพจิตใจและทำความเข้าใจกับร่างกายของตนเองให้มากขึ้น
6. เข้ารับรักษาโรคอื่นๆที่มีผลข้างเคียงต่ออาการท้องอืดให้ดีขึ้น
เพิ่มเติม : การใช้สมุนไพรควรอยู่ในความดูแลของแพทย์แผนจีนที่มีประสบการณ์และเข้าใจในโรคนั้นๆได้มากเพียงพอ ไม่แนะนำให้ซื้อรับประทานเองแต่อย่างใด
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567