Last updated: 24 ม.ค. 2568 | 14 จำนวนผู้เข้าชม |
ที่มา:Canva pro (dream lab AI)
อาการปวดหัว ท้องผูกและนอนไม่หลับนั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และคงจะสร้างความรำคาญ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจให้กับคนจำนวนมาก ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานหรือการใช้ชีวิตแย่ลง คนที่ป่วยก็พยายามสรรหาหลากหลายวิธีเพื่อรักษา หลายคนพึ่งยาแก้ปวดระงับอาการ ยาระบาย และยานอนหลับ ในบทความนี้จะมาอธิบายการเชื่อมโยงโรคต่างๆ มุมมองและวิธีการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนให้อ่านกัน
ผู้ป่วยหญิง อายุ 27 ปี เป็นสิวมา 2 ปี ขึ้นบริเวณแก้มทั้งสองข้าง ฝั่งซ้ายเยอะกว่า นอนไม่หลับ หลับไม่ลึก 3 เดือน ร่วมกับอาการปวดหัว จากการพูดคุยและสังเกตคนไข้เป็นคนหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห กระวนกระวาย ท้องผูกถ่าย 3 วัน/ครั้ง ชีพจรตึงเร็ว ปลายลิ้นแดง
ขี้หงุดหงิด ท้องผูก สิว นอนไม่หลับ ปวดหัว อาการเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันได้อย่างไร
ที่มา:Canva pro (dream lab AI)
ขี้หงุดหงิด
ในการวินิจฉัยโรคของศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้น เน้นการมององค์รวมของทั้งร่างกาย ความสัมพันธ์ของทั้งระบบ แต่ละระบบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร อย่างในกรณีนี้ ผู้ป่วยยังอายุน้อย มีลักษณะนิสัยขี้หงุดหงิด ขี้โมโห ซึ่งจะกระทบกับการทำงานของตับในตามทฤษฎีของแพทย์แผนจีนโดยตรง (ซึ่งตับของแพทย์แผนจีน กับแผนปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ตับของแพทย์แผนจีนเป็นตัวแทนของระบบๆหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือดลมในร่างกาย รวมถึงอารมณ์ การตัดสินใจต่างๆ ไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับอวัยวะตับในกายวิภาคศาสตร์ได้โดยตรง)
ท้องผูก
เมื่อคนไข้หงุดหงิด โมโห เป็นประจำย่อมทำให้เลือดลมของตับไหลเวียนติดขัด นานเข้าจึงเกิดความร้อนสะสม และเมื่อเกิดความร้อนสะสมย่อมนำไปสู่การเผาผลาญน้ำและของเหลวในร่างกาย เมื่อน้ำและของเหลวในร่างกายน้อยลง ลำไส้ก็จะแห้งทำให้เกิดอาการท้องผูกต่อมา ดังนั้นผู้ป่วยรายนี้จึงมีภาวะอาการท้องผูกร่วมด้วย
สิว
ในทางการแพทย์จีนมีทฤษฎีกล่าวว่า ลำไส้ใหญ่มีความสัมพันธ์กับปอด และเชื่อมต่อกันโดยเส้นลมปราณ ซึ่งปอดมีความสัมพันธ์กับผิวหนัง ดังนั้นเมื่อท้องผูก ลำไส้ใหญ่มีความร้อนย่อมส่งต่อความร้อนกลับไปหาปอดผ่านเส้นลมปราณ และแสดงออกภายนอกมายังผิวหนัง ดังคำกล่าวโบราณว่า “มีความผิดปกติภายใน ย่อมแสดงออกภายนอก” “จงมองภายนอกเพื่อหยั่งรู้ถึงภายใน” อีกทั้งในการกล่าวถึง “ความร้อน” ในทางการแพทย์แผนจีน หากเทียบเคียงกับทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว มีความเข้าได้กับ “อาการอักเสบ” ซึ่งสิวก็เช่นเดียวกัน ในผู้ป่วยรายนี้จุดที่แสดงว่าสิวที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับตับคือ สิวที่เกิดขึ้นบริเวณข้างแก้ม ซึ่งเป็นบริเวณของเส้นลมปราณถุงน้ำดี และถุงน้ำดีกับตับเชื่อมต่อกัน ราวกับพี่น้องในไส้ ดังนั้นเมื่อตับมีความร้อน ถุงน้ำดีย่อมได้รับความร้อนนั้นด้วย ความร้อนจึงวิ่งตามเส้นลมปราณขึ้นด้านบน และเกิดเป็นการอักเสบบริเวณแก้มและใบหน้าด้านข้าง
นอนไม่หลับ
สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คนไข้ 3 เดือนให้หลังมานี้มีอาการนอนไม่หลับ หลับยาก หลับไม่ลึกและปวดหัวร่วมด้วย ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น หากหยาง “ความร้อน” มีมากกว่า “อิน” ก็จะทำให้นอนไม่หลับ เนื่องจาก หยาง คือตัวแทนของ “ความเคลื่อนไหว” ซึ่งเวลานอนต้องการความสงบ ซึ่งก็สอดคล้องกับวินิจฉัยข้างต้น
ปวดหัว
อาการปวดหัวก็สืบเนื่องมาจากความร้อนในร่างกายที่ทำให้เลือดสูบฉีดพุ่งขึ้นด้านบนมากจนเกินไป ทำให้เกิดอาการปวด และที่ทราบกันดีก็คือ หากการนอนหลับไม่ดีก็จะย่อมจะทำให้สิวหายยากขึ้น หรือเป็นสิวใหม่เกิดขึ้นได้ง่าย
การรักษาด้วยศาสตร์แผนจีนของผู้ป่วยรายนี้ เป็นการจ่ายยาจีนเพื่อลดความร้อนสะสมของตับและถุงน้ำดี หลังจากทานยา ปรากฎว่าคนไข้นอนหลับสนิทขึ้น หลับง่ายขึ้น และสิวอักเสบลดลง
ยาตำรับเดียว อาจรักษาได้หลายอาการ ในทางกลับกัน อาการเดียวกัน อาจใช้ยาตำรับเดียวกันไม่ได้
จากตัวอย่างการรักษาผู้ป่วยรายนี้จะเห็นได้ว่า ตำรับยาสมุนไพรจีนหนึ่งตำรับอาจจะสามารถรักษาโรคที่แตกต่างกันได้ หากอาการเหล่านั้นมีกลไกเดียวกัน แต่ในทางกลับกัน โรคเดียวกันในผู้ป่วย 2 รายก็อาจจะใช้ยาต่างกันได้ หากสาเหตุโรคนั้นคนละอย่างกัน ดังนั้นก่อนทานยาสมุนไพรจีนควรพบแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับการวินิจฉัยถึงสาเหตุและรักษาได้อย่างตรงจุด
--------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน คณิฏฐ์ษา จิรัฐิติกาล (หมอจีน เซี่ย กุ้ย อิง)
谢桂英 中医师
TCM. Dr. Kharnitsa Jirathitikal (Xie Gui Ying)
แผนกอายุรกรรมภายนอก
24 ม.ค. 2568
24 ม.ค. 2568
24 ม.ค. 2568