ชวนเลี่ยนจื่อ 川楝子 :ข้อมูลสมุนไพร

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  6505 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชวนเลี่ยนจื่อ 川楝子 :ข้อมูลสมุนไพร

ชวนเลี่ยนจื่อ (川楝子) คือ ผลสุกแห้งของเลี่ยนดอกขาวที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Melia toosendan Sieb. et Zucc. วงศ์ Meliaceae

ชื่ออื่น ๆ  
ผลเลี่ยน (ไทย) ชวนเลี่ยนจื่อ (จีนกลาง) ชวนเหลี่ยนจี้ (จีนแต้จิ๋ว) Szechwan Chinaberry Fruit, Toosendan Fructus

ลักษณะภายนอก

เป็นผลค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ ผิวสีเหลืองทองหรือสีเหลืองน้ำตาล มีจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่วไป ปลายผลมีรอยของก้านเกสรเพศเมีย ส่วนฐานบุ๋มและมีรอยของก้านผล ผิวมีลักษณะคล้ายหนังแยกออกจากเนื้อผล มีกลิ่นเฉพาะ รสเปรี้ยวและขม

แหล่งผลิตที่สำคัญ

มณฑลซื่อชวน (คุณภาพดีที่สุด) มณฑลกันซู่ หูเป่ย กุ้ยโจว และหยุนหนาน

การเตรียมอิ่นเพี่ยน

1. ชวนเลี่ยนจื่อ : กำจัดสิ่งแปลกปลอม ผ่าซีก หรือตัดเป็นแผ่นหนา หรือทุบให้แตกเป็นชิ้น ร่อนเอาเศษออก



2. เฉ่าชวนเลี่ยนจื่อ : คั่วชวนเลี่ยนจื่ออิ่นเพี่ยนใน กระทะโดยใช้ไฟปานกลางจนผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกรียม

ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสขม เย็น มีพิษเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และกระเพาะปัสสาวะ

1. ชวนเลี่ยนจื่อ : กระตุ้นการไหลเวียนของชี่ ระงับปวด ผ่อนคลายชี่ของตับ ระบายความร้อน ฆ่าพยาธิ

2. เฉ่าชวนเลี่ยนจื่อ : การคั่วทำให้รสขมและคุณสมบัติเย็นลดลง ลดพิษ โดยมีฤทธิ์ผ่อนคลายชี่ของตับ ช่วยให้ชี่หมุนเวียน และระงับปวดได้ดี



ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 
มีรสขม เย็น ใช้ขับพยาธิตัวกลม แก้โรคเรื้อน และฝีคันทะมาลา น้ำมันจากเมล็ด ทาแก้ปวดข้อ

ขนาดและวิธีใช้  
ตำให้แตกก่อนใช้ ต้มรับประทาน 5-10 กรัม หรือใช้ภายนอกในปริมาณที่เหมาะสม


* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
ชวนเลี่ยนจื่อมีพิษเล็กน้อย หากรับประทานเกินขนาดจะเป็นพิษ ชวนเลี่ยนจื่อที่ไม่ได้คั่วไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะม้ามและกระเพาะอาหารเย็นและพร่อง 


เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้