การแปรรูปสมุนไพรจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1811 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การแปรรูปสมุนไพรจีน

“การเผาจี้อสมุนไพรจีน” เป็นเทคนิคการเตรียมยาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของศาสตร์การแพทย์แผนจีน  การเผาจื้อนอกจากจะขึ้นกับการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรให้คุณสมบัติของยาเปลี่ยนไปตามต้องการ  เพื่อให้สอดคล้องกับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยของแพทย์ รวมทั้งทำให้รูปแบบของยาเหมาะสมต่อการรักษาคุณภาพของยา การเก็บรักษา และสะดวกใช้

1.  วัตถุประสงค์ของการเผาจื้อ

  1. เพื่อลดพิษ หรือขจัดพิษ หรือลดผลข้างเคียงของตัวยา 
  2. เพื่อปรับเปลี่ยนหรือช่วยให้สรรพคุณและฤทธิ์ของยาสุขุมขึ้น  
  3. เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการรักษาของตัวยา 
  4. เพื่อปรับทิศทางการออกฤทธิ์ของตัวยา 
  5. เพื่อให้ยาไปออกฤทธิ์ในตำแหน่งที่ต้องการหรือเพิ่มฤทธิ์ของยาในตำแหน่งนั้น
  6. เพื่อสะดวกในการปรุงและเตรียมยา
  7. เพื่อให้ตัวยาสะอาดและง่ายต่อการเก็บรักษา 
  8. เพื่อสะดวกในการรับประทาน


2.  วิธีการเผาจื้อ

1) การเผาจื้อแบบเหลยกง 17 วิธี (雷公炮炙十七法) มีดังนี้

  1. การปิ้งไฟ (炮เผ้า)  หมายถึงการนำตัวยาใส่ในไฟที่คุกรุ่นอยู่จนกระทั่งตัวยาดำเกรียม  ปัจจุบันหมายถึงการใช้วิธีผัดตัวยาจนดำเกรียมเล็กน้อย เช่น การคั่วหรือปิ้งขิง หรืออาจใช้ทรายมาผัดร่วมกับตัวยาด้วยความร้อนสูงจนพองออก
  2. การลนไฟ (爁 เจียน) หมายถึงการใช้ความร้อนย่างตัวยา เช่น กู่เซวฺยปู่  (骨碎补) ใช้วิธีลนไฟเพื่อกำจัดขน
  3. การเผาไฟ (煿 ปั๋ว) หมายถึงการใช้ไฟเผาตัวยาเพื่อทำให้เปลือกแตกหรือระเบิดออก มักใช้กับตัวยาจำพวกที่มีเปลือกแข็ง
  4. การผัดโดยใช้สารปรุงแต่ง (炙 จื้อ) หมายถึงการใช้ยาหรือสารปรุงแต่ง    (辅料ฝู่เลี่ยว) คลุกเคล้ากับตัวยาแล้วผัดจนแห้ง หรือค่อย ๆ เติมสารปรุงแต่งเวลาผัด แล้วผัดจนแห้งก็ได้
  5. การหมกด้วยเถ้าไฟ (煨เว่ย) หมายถึงการนำตัวยาฝังใส่เถ้าถ่านที่ยังมีไฟคุโชนจนกระทั่งตัวยาสุก  ปัจจุบันอาจใช้กระดาษชื้น ๆ มาห่อตัวยาก่อนแล้วฝังในเถ้าถ่าน วิธีนี้เป็นวิธีให้ความร้อนเพื่อขจัดน้ำมันบางส่วนออก
  6. การผัด (炒 เฉ่า) เตรียมโดยนำตัวยาใส่ในภาชนะตั้งบนเตาไฟแล้วผัด โดยมีการกำหนดระดับการผัดตัวยา เช่น ผัดพอให้มีสีเหลือง ผัดให้เกรียม หรืออาจใช้ฝู่เลี่ยวมาผัดร่วมกันก็ได้ เช่น ใช้รำข้าวสาลี หรือเหล้า วิธีการนี้จัดเป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้บ่อย
  7. การสะตุ (煅ต้วน) หมายถึงการนำตัวยาวางลงบนภาชนะที่มีความร้อน แล้วใช้ความร้อนเผาตัวยา ใช้กับตัวยาที่มีเปลือกแข็ง เช่น เปลือกหอย หรือแร่ธาตุ ในบางครั้งเมื่อสะตุเสร็จแล้วจะพรมฝู่เลี่ยวลงไป  การสะตุจะทำให้คุณสมบัติของตัวยาเกิดการเปลี่ยนแปลง
  8. การเคี่ยว (炼เลี่ยน) หมายถึงการใช้ไฟในการเคี่ยวตัวยาเป็นเวลานาน ๆ เช่น การเคี่ยวน้ำผึ้งให้เข้มข้น
  9. การประสะ (制จื้อ) หมายถึงการฆ่าฤทธิ์ยาเพื่อกำหนดให้ฤทธิ์ของตัวยาค่อนไปทางใดทางหนึ่ง เช่น การประสะอูโถว (乌头โหราเดือยไก่) ด้วยน้ำผึ้ง การประสะโฮ่วผอ (厚朴) ด้วยน้ำขิง การประสะต้าหวง (大黄โกฐน้ำเต้า) ด้วยเหล้า เป็นต้น
  10. ขนาด (度 ตู้) หมายถึงการกำหนดขนาดใหญ่-เล็ก ยาว-สั้น บาง-หนา ของตัวยา เช่น หวงฉิน (黄芩) ต้องยาว 3 นิ้ว หรือ ตี้กู่ผี (地骨皮) ยาว 1 ฟุต  ปัจจุบันการเผ้าจื้อได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยมีการกำหนดอัตราส่วนของตัวยาและฝู่เลี่ยวให้เหมาะกับขนาดของตัวยาต่าง ๆ ที่ใช้อย่างชัดเจน และมีวิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน
  11. การบดด้วยวิธีหมุนว่อน (飞เฟย) หมายถึงการบดตัวยาให้เป็นผงละเอียด มี 2 แบบ ได้แก่ การบดแห้ง และการบดร่วมกับการใช้น้ำ  การบดแห้งคือการนำตัวยามาบดเป็นผงละเอียด ส่วนที่เบากว่าจะหมุนและลอยมาติดที่ฝาครอบและรอบ ๆ ภาชนะที่บด หลังจากนั้นจึงขูดออกมาใช้ เช่น เลี่ยนจื้อเซินตัน (炼制升丹)  ส่วนการบดร่วมกับการใช้น้ำ จะนำตัวยาที่ไม่ละลายน้ำมาบดให้ละเอียดพอสมควร แล้วเติมน้ำลงไป ตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน รินน้ำทิ้ง แล้วเติมน้ำลงไปใหม่  ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง และแยกเก็บผงยาอย่างประณีต นำมาตากแห้งเพื่อพร้อมใช้ เช่น การบดชาด (水飞朱砂)
  12. การสุมไฟ (伏 ฝู) หมายถึงการใช้ไฟมาเผาหรือย่างตัวยาตามระยะเวลาที่กำหนด โดยขึ้นกับว่าเป็นยาชนิดใด เช่น ฝูหลงกาน (伏龙肝) คือดินที่อยู่ในเตาไฟเป็นระยะเวลานานมากมักมีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน
  13. การสไลด์เป็นแผ่นบางมาก (镑ป้าง) หมายถึงการใช้คมมีดมาขูดตัวยาให้เป็นแผ่นบางมากหรือให้เป็นเส้นบางมาก เพื่อสะดวกในการปรุงยา
  14. การทุบให้แตก (摋ซ่า) หมายถึงการทุบหรือการตัดหั่นตัวยาโดยต้องการให้ตัวยาแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
  15. การตากแดด (煞ซ่า)  หมายถึงการนำตัวยามาตากแดดให้แห้ง
  16. การอาบแดด (曝พู่)  หมายถึงการนำตัวยามาตากแดดจัด ๆ ให้แห้ง
  17. การกลั่นเป็นหยดน้ำค้าง (露ลู่) หมายถึงการนำตัวยามาผึ่งแดด ผึ่งลม หรือตากน้ำค้าง บางครั้งจะไม่ให้โดนแดดโดยตรง จนกระทั่งตกผลึกแยกออกมา หรือขจัดสารแปลกปลอมอื่นที่เป็นพิษออกไป เช่น ลู่จื้อซีกวาซวง (露制西瓜霜)

การเผาจื้อแบบเหลยกง 17 วิธีดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นับเป็นแบบแผนเพื่อให้เห็นภาพรวมของพัฒนาการของการเผ้าจื้อในยุคปัจจุบัน


2)  การเผาจื้อตามเภสัชตำรับของสาธารณรัฐประชาชนจีน (Pharmacopoeia of the People’s Republic of China)
ได้กำหนดมาตรฐานการเผาจื้อ โดยกำหนดคำนิยามของวิธีการเตรียมต่าง ๆ ที่เป็นมาตรฐานระดับชาติ ดังนี้

  1. การทำความสะอาด
    นำสมุนไพรมาคัดแยกเอาส่วนที่ไม่ต้องการออก เช่น ตัวยาบางชนิดใช้เฉพาะเนื้อผล ไม่ใช้ส่วนผิว บางชนิดใช้เฉพาะราก ไม่ใช้ลำต้น แล้วนำมาทำความสะอาด หลังจากนั้น จึงนำไปหั่น แปรรูปโดยวิธีพิเศษ จำหน่าย หรือใช้ปรุงยา 

  2. การหั่น  
    โดยทั่วไปก่อนการหั่นสมุนไพรจะต้องนำสมุนไพรไปล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำสักครู่ในภาชนะที่มีฝาปิด เพื่อให้สมุนไพรอ่อนนุ่มและทำให้หั่นง่าย  ต้องกำหนดปริมาณน้ำและระยะเวลาที่ใช้ในการแช่ให้เหมาะสม และต้องหั่นสมุนไพรให้มีขนาดพอเหมาะ อาจหั่นเป็นแว่น  เป็นท่อน  เป็นชิ้น หรือซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยทั่วไปเภสัชตำรับของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กำหนดขนาดและความหนาของวัตถุดิบสมุนไพรไว้ดังนี้


                  การหั่นเป็นแว่น แว่นบางมากจะมีความหนาน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร แว่นบางจะมีความหนาประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และแว่นหนาจะมีความหนาประมาณ 2-4 มิลลิเมตร

                  การหั่นเป็นท่อน เป็นข้อ หรือเป็นปล้อง ความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร

                  การหั่นเป็นชิ้น รูปสี่เหลี่ยมต่าง ๆ ขนาดความยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร

                  การหั่นหรือซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ สำหรับสมุนไพรประเภทเปลือก ขนาดความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และสมุนไพรประเภทใบ ขนาดความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร

                  นอกเหนือจากวิธีหั่นดังกล่าวแล้ว สมุนไพรบางชนิดอาจใช้วิธีบด หรือตำ หรือทุบ

  3. การทำให้แห้ง
    การเตรียมเย่าไฉแห้งนั้นควรทำให้มีปริมาณความชื้นต่ำที่สุด เพื่อลดการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งจะทำให้สารออกฤทธิ์ถูกทำลาย  ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณความชื้นที่เหมาะสมของเย่าไฉแต่ละชนิดอาจหาได้จากเภสัชตำรับ


    พืชสมุนไพรสามารถทำให้แห้งได้หลายวิธี ได้แก่ การผึ่งในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทดี มีร่มเงาบังไม่ให้รับแสงอาทิตย์โดยตรง การวางเป็นชั้นบาง ๆ บนแผงตากในห้องหรือในอาคารที่กรุด้วยมุ้งลวด การตากแดดโดยตรง การทำให้แห้งในเตาอบ ห้องอบ หรือโดยเครื่องอบแห้งพลังแสงอาทิตย์ การทำให้แห้งด้วยความเย็น  ถ้าเป็นไปได้ให้ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสลายตัวของสารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์  วิธีการและอุณหภูมิที่ใช้ในการทำแห้งอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพของเย่าไฉ ดังนั้น การตากในที่ร่มจะเป็นวิธีที่ดีกว่า เพื่อรักษาหรือลดการจางของสีของใบและดอกให้น้อยที่สุด และควรใช้อุณหภูมิต่ำในกรณีที่เย่าไฉมีสารที่ระเหยได้ นอกจากนั้นควรมีการบันทึกสภาวะที่ใช้ในการทำให้แห้ง

    ในกรณีของการผึ่งให้แห้งในที่โล่ง ควรแผ่เย่าไฉเป็นชั้นบาง ๆ บนแผงตาก และหมั่นคนหรือกลับบ่อย ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเททั่วถึง  แผงตากควรจะอยู่ห่างจากพื้นมากพอ สถานที่ตากวัตถุดิบต้องกันไม่ให้แมลง หนู นก สัตว์เลี้ยงเข้าถึงได้

  4. การแปรรูปโดยวิธีเฉพาะ
    กระบวนการแปรรูปโดยวิธีเฉพาะของสมุนไพร โดยทั่วไปจะมีการใช้ไฟเข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นวิธีที่ใช้กันมาก ไม่ว่าจะผัดหรือสะตุ ต้องเลือกใช้ระดับไฟที่เหมาะสม ซึ่งจะมีผลต่อการรักษา ตัวอย่างผลของการแปรรูปโดยวิธีเฉพาะที่มีต่อผลการรักษา เช่น กู่หยา (谷芽ข้าว) ถ้าใช้กระตุ้นการทำงานของม้าม ช่วยทำให้เจริญอาหารดีขึ้น จะต้องนำไปผัดก่อนใช้  ไป๋จู๋ (白术) หากใช้ดิบจะมีสรรพคุณเสริมชี่ บำรุงม้าม แต่ฤทธิ์ค่อนข้างแรง เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้ท้องอืด จึงต้องนำมาผัดให้เกรียมก่อนใช้ นอกจากจะช่วยเสริมชี่และบำรุงม้ามแล้ว ยังทำให้ไม่เกิดอาการท้องอืด  สำหรับตัวยาประเภทเมล็ดหรือผลเล็ก ๆ ต้องนำมาผัดก่อนใช้ เพื่อให้มีกลิ่นหอมและเมื่อนำมาต้มจะทำให้สารสำคัญละลายน้ำออกมาง่าย  ตัวยาที่เป็นยาเย็นเมื่อนำมาผัดจะทำให้ฤทธิ์ของยาไม่แรงเกินไป เป็นต้น


การแพทย์แผนจีนได้กำหนดกระบวนการแปรรูปโดยวิธีเฉพาะของสมุนไพร ดังนี้

              การผัด (炒制法 เฉ่าจื้อฝ่า) แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การผัดธรรมดา และการผัดโดยใช้รำข้าวสาลี
              (ก) การผัดธรรมดา (清炒ชิงเฉ่า)  หมายถึงการนำเย่าไฉที่สะอาดใส่ในภาชนะที่เหมาะสม  ผัดโดยใช้ระดับไฟอ่อน ๆ จนกระทั่งได้ตัวยาที่มีลักษณะตรงตามข้อกำหนด  นำออกจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น หากต้องการผัดจนกระทั่งไหม้เกรียมให้ผัดโดยใช้ระดับไฟแรง ผัดจนกระทั่งผิวนอกเป็นสีน้ำตาลและรอยแตกเป็นสีเข้ม นำออกจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น 
             
(ข) การผัดโดยใช้รำข้าวสาลี (麸炒ฝูเฉ่า) หมายถึงการนำรำข้าวสาลีใส่ลงในภาชนะที่เหมาะสม แล้วให้ความร้อนจนกระทั่งมีควันออกมา เติมเย่าไฉที่สะอาดลงไป คนอย่างรวดเร็วจนกระทั่งผิวของตัวยาเป็นสีเหลืองเข้ม นำออกจากเตา แล้วร่อนเอารำข้าวสาลีออก  โดยทั่วไปใช้รำข้าวสาลี 10 กิโลกรัม ต่อสมุนไพร 100 กิโลกรัม

              การคั่ว (烫制法 ทั่งจื้อฝ่า)  หมายถึงการนำทรายที่สะอาดหรือเปลือกหอยที่บดเป็นผงใส่ในภาชนะที่เหมาะสม แล้วให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูง เติมเย่าไฉที่สะอาดลงไป คนอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งตัวยากรอบ นำออกจากเตา ร่อนเอาทรายออก ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น

              การสะตุ (煅制法 ต้วนจื้อฝ่า) แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การสะตุแบบเปิด และการสะตุแล้วจุ่มในของเหลวที่กำหนด
             
(ก) การสะตุแบบเปิด (明煅 หมิงต้วน)  หมายถึงการนำเย่าไฉที่สะอาดมาทุบให้แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปวางบนเปลวไฟที่ไม่มีควัน หรือใส่ในภาชนะที่เหมาะสม สะตุจนกระทั่งตัวยากรอบ เปราะ หรือร้อนแดง จากนั้นนำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วบดเป็นผงละเอียด สำหรับตัวยาประเภทเกลืออนินทรีย์ที่มีน้ำผลึก ไม่จำเป็นต้องสะตุจนร้อนแดง แค่ทำให้น้ำผลึกระเหยออกอย่างสมบูรณ์ก็พอ
             
(ข) การสะตุแล้วจุ่มในของเหลวที่กำหนด (煅淬 ต้วนเชฺว่ย) หมายถึงการนำเย่าไฉที่สะอาดมาสะตุจนกระทั่งตัวยาร้อนแดง  แล้วนำไปจุ่มลงในของเหลวที่กำหนดเพื่อลดอุณหภูมิจนกระทั่งตัวยากรอบ เปราะ นำตัวยาไปทำให้แห้ง บดเป็นผงละเอียด

              การเผาให้เป็นถ่าน (制炭法 จื้อทั่นฝ่า) หมายถึงการเผาสมุนไพร แต่ต้องระวังไม่ให้เป็นขี้เถ้า  หากเป็นการเผาโดยวิธีผัด ให้ใส่เย่าไฉที่สะอาดลงในภาชนะที่ร้อน แล้วผัดโดยใช้ระดับไฟแรง จนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีเข้ม และเนื้อในเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม พรมน้ำเล็กน้อย เอาออกจากเตา แล้วนำไปตากแห้ง หากเป็นการเผาโดยวิธีสะตุ ให้ใส่เย่าไฉที่สะอาดลงในภาชนะสำหรับสะตุที่มีฝาปิดมิดชิด อบตัวยาให้ทั่ว ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเอาตัวยาออกมาใช้

              การนึ่ง  (蒸制法เจิงจื้อฝ่า)  หมายถึงการนำเย่าไฉที่สะอาดมาคลุกเคล้ากับ ฝู่เลี่ยวชนิดของเหลวให้เข้ากัน  นำไปใส่ในภาชนะนึ่งที่มีฝาปิดมิดชิด  นึ่งจนกระทั่งฝู่เลี่ยวแทรกซึมเข้าในเนื้อตัวยา แล้วนำไปตากแห้ง

              การต้ม (煮制法จู่จื้อฝ่า)  หมายถึงการนำเย่าไฉที่สะอาดมาต้มกับน้ำหรือฝู่เลี่ยว ชนิดของเหลว จนกระทั่งน้ำหรือฝู่เลี่ยวแทรกซึมเข้าเนื้อในตัวยา แล้วนำไปตากแห้ง

              การตุ๋น (煨制法เว่ยจื้อฝ่า)  หมายถึงการนำวัตถุดิบสมุนไพรที่สะอาดมาตุ๋นกับฝู่เลี่ยว ชนิดของเหลวในภาชนะตุ๋นที่มีฝาปิดมิดชิด ตุ๋นจนกระทั่งฝู่เลี่ยวซึมเข้าไปในตัวยาอย่างทั่วถึง นำออกมาทำให้แห้ง

              การลวกด้วยน้ำเดือด (燀法 ตันฝ่า) หมายถึงการใส่เย่าไฉที่สะอาดลงในน้ำเดือด คนสักครู่แล้วนำสมุนไพรขึ้นจากน้ำ เช่น สมุนไพรบางชนิดที่เปลือกเมล็ดชั้นนอกมีลักษณะย่นและแห้ง จะต้องใส่น้ำเดือดคนจนกระทั่งเปลือกเมล็ดพองตัวและมีผิวเรียบจนสามารถแยกออกมาได้ จากนั้นนำไปแช่ในน้ำเย็นเพื่อลอกเอาเปลือกเมล็ดชั้นนอกออก แล้วนำไปตากแดด

              การแปรรูปโดยใช้เหล้า (酒炙法จิ่วจื้อฝ่า) หมายถึงกระบวนการแปรรูปโดยใช้เหล้าเป็นฝู่เลี่ยว ปกติจะใช้เหล้าเหลือง วิธีการแปรรูป เช่น การผัด การตุ๋น การนึ่ง เป็นต้น

              การแปรรูปโดยใช้น้ำส้ม (醋炙法ชู่จื้อฝ่า) หมายถึงกระบวนการแปรรูปโดยใช้น้ำส้มเป็นฝู่เลี่ยว ปกติน้ำส้มที่ใช้มักทำมาจากการหมักกลั่นข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวเกาเหลียง หรือหัวเหล้า วิธีการแปรรูป เช่น การผัด การต้ม การนึ่ง เป็นต้น

              การแปรรูปโดยใช้น้ำเกลือ (盐炙法เอี๋ยนจื้อฝ่า) หมายถึงกระบวนการแปรรูปโดยใช้น้ำเกลือเป็นฝู่เลี่ยว  วิธีการแปรรูป เช่น การผัด การนึ่ง เป็นต้น

              การผัดด้วยน้ำขิง (姜炙法เจียงจื้อฝ่า) หมายถึงการผัดเย่าไฉที่สะอาดโดยใช้น้ำขิงเป็นฝู่เลี่ยว เตรียมโดยเติมน้ำขิงลงบนเย่าไฉที่สะอาด คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปผัดในภาชนะที่เหมาะสมด้วยไฟอ่อน ๆ จนกระทั่งน้ำขิงซึมเข้าในตัวยา นำออกมาตากแห้ง ปกติใช้ขิงสด 10 กิโลกรัม หรือ ขิงแห้ง 3 กิโลกรัม ต่อสมุนไพร 100 กิโลกรัม

              การผัดด้วยน้ำผึ้ง (蜜炙法มี่จื้อฝ่า) หมายถึงการผัดเย่าไฉที่สะอาดโดยใช้น้ำผึ้งเป็นฝู่เลี่ยว  เตรียมโดยนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์มาเจือจางด้วยน้ำต้มในปริมาณที่เหมาะสม  ใส่เย่าไฉที่สะอาด แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน  หมักไว้สักครู่เพื่อให้น้ำผึ้งซึมเข้าไปในตัวยา จากนั้นนำไปผัดในภาชนะที่เหมาะสมโดยใช้ไฟอ่อน ๆ  ผัดจนกระทั่งมีสีเหลืองเข้มและไม่เหนียวติดมือ นำออกจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น  ปกติใช้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ 25 กิโลกรัม ต่อสมุนไพร 100 กิโลกรัม

              การเตรียมผงสีขาวเหมือนน้ำค้างแข็ง (制霜法จื้อซวงฝ่า) หมายถึงการขจัดน้ำมันออกจากสมุนไพรโดยการบดเย่าไฉที่สะอาดจนมีลักษณะเหมือนแป้งเปียก แล้วให้ความร้อนโดยใช้ไฟอ่อน ๆ  จากนั้นบีบน้ำมันในสมุนไพรออกส่วนหนึ่ง จนกระทั่งได้ตัวยาที่มีลักษณะเป็นผงสีขาวละเอียด

              การบดร่วมกับการใช้น้ำโดยวิธีหมุนว่อน (水飞法สุ่ยเฟยฝ่า) หมายถึงการบดสมุนไพรให้เป็นผงละเอียดพอควร แล้วเติมน้ำลงไปบดหมุนวนพร้อมกันไปเรื่อย ๆ  ตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน สารที่ไม่ต้องการหรือสิ่งแปลกปลอมจะลอยขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำ ค่อย ๆ ช้อนออกแล้วเทน้ำทิ้ง จากนั้นเติมน้ำลงไปบดกวนใหม่  ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนเหลือแต่ตัวยาที่สะอาดนอนก้น จึงนำมาตากแห้งพร้อมใช้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้