Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 26290 จำนวนผู้เข้าชม |
ขึ้นชื่อว่า โสม ทุกคนก็จะทราบว่าเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณ เป็นยาอายุวัฒนะที่คนโบราณนิยมใช้กันมานานนับพันปี โดยเฉพาะในสาธารณประชาชนจีน แต่โสมไม่ใช่มีเฉพาะโสมเกาหลีหรือโสมจีนเท่านั้น ยังมีโสมอเมริกัน โสมไทย โสมซานซี โสมตังกุย ซึ่งโสมแต่ละชนิดอาจจะเป็นพืชคนละวงศ์ คนละชนิด ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่แตกต่างกัน
1. โสมจีน (เหรินเซิน) และโสมเกาหลี
เป็นพืชชนิดเดียวกันที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panax ginseng C.A. Mey. วงศ์ Araliaceae มีชื่ออื่น ๆ ว่า โสมคน โสมสวน โสมป่า เซียมเซ่า หยิ่งเซียม เหยินเซิน โสมชนิดนี้มีถิ่นกำนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แล้วมีการนำไปศึกษาทดลองปลูกในเกาหลี และญี่ปุ่น จนประสบความสำเร็จในเชิงการค้า ถ้าปลูกและส่งออกจากประเทศจีน จะเรียกว่า “โสมจีน (Chinese ginseng)” ส่วนที่ปลูกและส่งออกจากประเทศเกาหลีเรียกว่า “โสมเกาหลี (Korean ginseng)” เมื่อปลูกจนมีอายุประมาณ 6 ปี จะมีสารสำคัญสูงสุด โสมที่ขายในตลาดทั่วไปรวมทั้งประเทศไทย มีอยู่ 2 ชนิด คือ โสมขาว และโสมแดง โสมขาว (White ginseng) คือ การนำรากโสมที่ล้างสะอาดแล้วมาตากแดดหรืออบให้แห้งทันที ส่วนโสมแดง (Red ginseng) คือ การนำรากโสมที่ตัดเฉพาะส่วนที่ดี ๆ มาล้างให้สะอาด แล้วนำมาอบด้วยไอน้ำประมาณ 120-130 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2-4 ชั่วโมง จนเป็นสีน้ำตาลแดง แล้วจึงนำไปอบให้แห้ง จะได้เป็นสีน้ำตาลแดง (ใส) โดยจะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์เพิ่มขึ้น จึงมีราคาแพงกว่าโสมขาว ซึ่งสารสำคัญของโสม คือ สารกลุ่มซาโปนิน (สาร ginsenoside จะเป็นสารสำคัญหลัก) โดยทั่วไปแล้วโสมคนจะมี ginsenoside อยู่ประมาณร้อยละ 1-2 ของน้ำหนัก ขึ้นอยู่กับชนิดของโสม มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า การรับประทานโสมจีนหรือโสมเกาหลีมีส่วนช่วยเรื่องความจำ และผลจะดีขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับใบแปะก๊วย มีผลช่วยบรรเทาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทำให้สมรรถภาพร่างกายดีขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะเป็นหวัดได้
2. โสมอเมริกา (ซีหยางเซิน)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panax quinquefolius L. วงศ์ Araliaceae เป็นพืชสกุลเดียวกับโสมจีนและโสมเกาหลี แต่ต่างชนิดกัน เป็นพืชพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ (ปลูกในแคนาดา ภาคเหนือของสหรัฐอเมริกา และสาธารณประชาชนจีน) มีการนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องดื่ม และชาชง ชาวจีนนำมาปลูกและนิยมใช้เป็นยาบำรุง ทำให้ร่างกายแข็งแรง เช่นเดียวกับโสมจีน รากโสมอเมริกันจะมีสารจินเซโนไซด์น้อยกว่ารากโสมเกาจีน มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า การรับประทานโสมอเมริกันมีส่วนป้องกันการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ลดความเสี่ยงเป็นหวัด ช่วยทำให้การไหลเวียนของโลหิตดี กระตุ้นสมองและบำรุงหัวใจ และปรับร่างกายให้เกิดสมดุล
3. โสมไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Talinum paniculatum Gaertn. วงศ์ Talinaceae (ชื่อวงศ์เดิม Portulacaceae) เป็นพืชคนละวงศ์กับโสมที่ได้กล่าวมาแล้ว มีชื่อสามัญว่า Ginseng Java, Philippine spinach, Jewels of Opar พืชสกุล Talinum ในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Talinum fruticosum (L.) Juss. (ชื่อไทย: โสมเกาหลี, โสมคน, โสมจีน), Talinum paniculatum (Jacq.) Gaertn. (ชื่อไทย: ว่านผักปัง, โสม, โสมคน) โสมไทยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอัฟริกา ตำรายาไทยใช้ ส่วนราก บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้อ่อนเพลีย บำรุงปอด แก้อาการอ่อนเพลีย หรือหลังฟื้นไข้ ปัสสาวะขัด เหงื่อออกมาก ศีรษะมีไข้ ไอเป็นเลือด แก้ไอ บำรุงปอด ประจำเดือนผิดปกติ ท้องเสีย ส่วนใบ แก้บวมอักเสบมีหนอง ขับน้ำนม มีงานวิจัยที่พบว่ารากของโสมไทยมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริมและงูสงัด ฟื้นฟูร่างกายหลังจากเจ็บป่วย แก้ไอ ขับปัสสาวะ และปรับประจำเดือนให้ปกติ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และปกป้องหัวใจ สารสำคัญของโสมไทย ได้แก่ chlorogenic acids, flavonoids, triterpene saponins และสารอื่น ๆ
https://medthai.com/%e0%b9%82%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2/
นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรที่คนไทยเรียกว่า โสม เช่น โสมซานซี และโสมตังกุย
4. โสมซานชี
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panax notoginseng (Burkill) F.H.Chen ex C.Y.Wu & K.M.Feng วงศ์ Araliaceae มีชื่อสามัญว่า โสมจีน, ชั่งชิก เป็นพืชสกุลเดียวกับโสมจีนและโสมเกาหลี แต่คนละชนิดกัน โสมซานซีมีแหล่งกำเนิด ณ เหวินซานโจว ที่มณฑลยูนนาน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวจีนนิยมนำมาปรุงอาหาร เช่น นำมาตุ๋นหรือต้มกับเนื้อสัตว์ ภูมิปัญญาใช้โสมซานซีเพื่อเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของร่างกาย และช่วยคงสภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง มีงานวิจัยที่สนับสนุนภูมิปัญญาพบว่า โสมซานชีสามารถช่วยเสริมสร้างความทนทานต่อการออกกำลังกาย ลดความเหนื่อยล้าในระหว่างการออกกำลังกาย และผู้ออกกำลังกายมีระดับความดันโลหิตต่ำในระหว่างการออกกำลังกาย จึงแสดงให้เห็นว่า ร่างกายสามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สารสำคัญในโสมซานซีประกอบด้วยสารกลุ่มซาโปนิน (สาร ginsenosides) เช่นเดียวกับโสมคน จึงมีต่อร่างกายคล้ายกัน นอกจากนี้โสมซานชียังมีแร่ธาตุเยอร์มาเนียมที่จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในเซลล์สมองของร่างกาย อีกทั้งยังเพิ่มประจุไฟฟ้าทางชีวเคมี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบประสาท และช่วยในเรื่องการทำงานของหัวใจ
5. โสมตังกุย หรือ ตังกุย
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Angelica sinensis (Oliv.) Diels วงศ์ Apiaceae (Umbelliferae) โสมตังกุยไม่ใช่โสม แต่มีการใช้รากเป็นยาเช่นเดียวกับโสม ภูมิปัญญาจีนใช้เป็นยาเกี่ยวกับโรคเฉพาะสตรี เช่น อาการปวดเอว ประจำเดือนผิดปกติ ภาวะขาดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ เป็นยาขับประจำเดือน แก้รกตีขึ้น แก้ไข้บนกระดานไฟ เกี่ยวกับอาการเลือดออกทุกชนิด แก้หวัด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ตกมูกเลือด บำรุงร่างกาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย มีงานวิจัยที่สนับสนุนภูมิปัญญาพบว่า ตังกุยมีผลในการรักษาอาการประจำเดือนผิดปกติ ลดอาการหลังหมดประจำเดือน (อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน และช่วยให้นอนหลับ) สารสำคัญที่พบในรากตังกุย ได้แก่ สาร ferulic acid, Z-ligustilide, butylidenephthalide และสารกลุ่ม polysaccharides สารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ปกป้องประสาท ปกป้องตับและหัวใจ ตังกุยมีความปลอดภัยในการรับประทานมากกว่า 6 เดือน ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ควรระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากจะเสริมฤทธิ์กัน อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และเลือดไหลหยุดยากได้
สรุป คำว่า “โสม” ที่พบในท้องตลาดสมุนไพรในประเทศไทย มีหลายชนิดที่อาจจะอยู่กันคนละวงศ์ คนละชนิด แต่คนไทยและคนจีนรู้จักที่จะนำมาใช้เพื่อบำรุงสุขภาพ ร่างกาย และรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันของโสมแต่ละชนิด ฉะนั้นการเลือกชนิดของโสมที่ถูกต้องจะช่วยในการรักษาโรคได้ดี
26 ก.ย. 2567
20 ม.ค. 2568
12 พ.ย. 2567
15 พ.ย. 2567