Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 9035 จำนวนผู้เข้าชม |
ชังจู๋ 苍术 คือ ลำต้นใต้ดินแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Atractylodes lancea (Thunb.) DC. หรือ A. chinensis (DC.) Koidz. วงศ์ Asteraceae (Compositae)
ชื่ออื่น ๆ
โกฐเขมา (ไทย) ชังจู๋ (จีนกลาง) ชังตุ๊ก (จีนแต้จิ๋ว) Atractylodes Rhizome, Atractylodis Rhizoma
ลักษณะภายนอก
เหมาชังจู๋ (A. lancea) : รูปร่างไม่แน่นอนเป็นปุ่มปมเรียงเป็นสาย โค้งงอเล็กน้อย อาจแตกแขนง ผิวสีน้ำตาลอมเทา เนื้อแข็ง หน้าตัดมีจุดโพรงน้ำมันสีส้มหรือสีแดงอมน้ำตาลกระจายทั่ว และมีผลึกรูปเข็มละเอียดสีขาว มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสหวานเล็กน้อย เผ็ด ขม
เป่ยชังจู๋ (A. chinensis) : ทรงกระบอกมีปุ่มปม ผิวสีน้ำตาลอมดำ เนื้อไม่แข็ง หน้าตัดมีจุดโพรงน้ำมันสีน้ำตาลอมเหลืองกระจายทั่ว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสเผ็ด ขม
แหล่งผลิตที่สำคัญ
มณฑลเจียงซู หูเป่ย เหอหนาน เจ้อเจียง
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1. ชังจู๋เพี่ยน : กำจัดสิ่งแปลกปลอม ล้างน้ำให้สะอาด แช่ทิ้งไว้จนเนื้อนิ่ม หั่นเป็นแผ่นหนา ทำให้แห้ง
2. ฝูเฉ่าชังจู๋ : คั่วรำข้าวสาลี (ใช้รำข้าวสาลี 10 กิโลกรัม ต่อชังจู๋เพี่ยน 100 กิโลกรัม) ด้วยไฟระดับปานกลางจนมีควัน ใส่ชังจู๋เพี่ยนลงไปผัดอย่างต่อเนื่องจนผิวของตัวยาเป็นสีเหลืองเข้ม ร่อนแยกรำข้าวสาลีออก
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสเผ็ด ขม อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณ ม้าม กระเพาะอาหาร และตับ
1. ชังจู๋เพี่ยน : ขับความชื้น เสริมระบบการย่อยอาหาร ขับลมกระจาย
ความเย็น ทำให้สายตามองเห็นชัดขึ้น
2. ฝูเฉ่าชังจู๋ : การคั่วด้วยรำข้าวสาลีจะลดรสเผ็ด ทำให้คุณสมบัติแห้ง ละมุนขึ้น มีกลิ่นหอมมากขึ้น เสริมการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
มีกลิ่นหอม รสร้อน ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้โรคในปากและคอ ระงับหอบ แก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้เหงื่อออกมาก แก้ลมตะกัง ขับปัสสาวะ
ขนาดและวิธีใช้
ต้มรับประทาน 5-10 กรัม
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
ห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอาการร้อนเนื่องจากอินพร่อง และผู้ป่วยเหงื่อออกมากเนื่องจากชี่พร่อง
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
24 มี.ค. 2566
19 ก.พ. 2567
23 เม.ย 2567