Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 7580 จำนวนผู้เข้าชม |
ไฉหู (柴胡) คือ รากแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bupleurum chinense DC. หรือ B. scorzonerifolium Willd. วงศ์ Apiaceae (Umbelliferae) Araceae
ชื่ออื่น ๆ
ไฉหู (จีนกลาง) ฉ่าโอ๊ว (จีนแต้จิ๋ว) Chinese Thorowax Root, Bupleuri Radix
ลักษณะภายนอก
เป่ยไฉหู (B. chinense) : รูปทรงกระบอก หรือรูปกรวยยาว ส่วนยอดมีฐานของลำต้นหรือใบหลงเหลือ แตกกิ่งก้านที่ส่วนล่าง ผิวสีน้ำตาลอมดำหรือสีน้ำตาลอ่อน มีรอยย่นตามแนวยาว รอยรากฝอยและรอยนูนของช่องอากาศ เนื้อแข็ง เหนียว แตกหักยาก หน้าตัดเป็นเส้นใย เปลือกรากสีน้ำตาลอ่อน แก่นสีขาวอมเหลือง กลิ่นหอมอ่อน ๆ รสขมเล็กน้อย
หนานไฉหู (B. scorzonerifolium) : รูปทรงกรวยเรียวกว่า ส่วนยอดมีเส้นใยที่เกิดจากใบที่ร่วงโรยไปจำนวนมาก มักไม่แตกแขนงหรือแตกแขนงเล็กน้อยที่ส่วนล่าง ผิวสีน้ำตาลอมแดงหรือสีน้ำตาลอมดำ ส่วนหัวมีวงแหวนตามแนวขวางจำนวนมาก เนื้อนุ่มเล็กน้อย แตกหักง่าย หน้าตัดค่อนข้างเรียบ ไม่เป็นเส้นใย กลิ่นเหม็นหืน
แหล่งผลิตที่สำคัญ
มณฑลเหอเป่ย ตงเป่ย เหอหนาน และส่านซี
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1. ไฉหู : กำจัดสิ่งแปลกปลอมและลำต้นที่หลงเหลือ ล้างน้ำให้สะอาด ทิ้งไว้จนน้ำซึมเข้าสู่เนื้อตัวยา หั่นเป็นท่อนหรือแผ่นหนา ทำให้แห้ง
2. ชู่ไฉหู : คลุกเคล้าไฉหูกับน้ำส้มสายชูที่ได้จากการหมักกลั่นข้าวเจ้าในปริมาตรที่พอเหมาะ (ใช้น้ำส้มสายชู 20 กิโลกรัม ต่อไฉหู 100 กรัม) ทิ้งให้น้ำส้มสายชูซึมเข้าเนื้อตัวยา ผัดโดยใช้ไฟระดับอ่อนจนแห้ง
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสเผ็ด ขม เย็นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณตับ ถุงน้ำดี และปอด
1. ไฉหู : ขับกระจายและลดไข้ สงบตับแก้ซึมเศร้า ทำให้หยางชี่ขึ้นเบื้องบน
2. ชู่ไฉหู : ทำให้ฤทธิ์ขับกระจายนุ่มนวลขึ้น สงบตับและระงับปวดได้ดีขึ้น
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
-
ขนาดและวิธีใช้
ต้มรับประทาน 3-10 กรัม
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
ต้าเยี่ยไฉหู (B. longiradiatum) เป็นพืชสกุลเดียวกันกับไฉหู แต่มีความเป็นพิษ จึงไม่สามารถนำมาใช้แทนไฉหู
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
19 ก.พ. 2567
23 เม.ย 2567
24 มี.ค. 2566