เต๋าอิ่น ช่วยขจัดเกร็ง ลดความพิการ คืนชีวิตที่ดีขึ้นด้วยแพทย์แผนจีน

Last updated: 22 ต.ค. 2567  |  28 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เต๋าอิ่น ช่วยขจัดเกร็ง ลดความพิการ คืนชีวิตที่ดีขึ้นด้วยแพทย์แผนจีน

หลังป่วยเป็น Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าเส้นเลือดสมองตีบ แตก ตัน อาการหลงเหลือที่พบเจอบ่อยในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต นั่นคือ “อาการเกร็ง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด โดยอาการเกร็ง เป็นอาการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้ เช่น กล้ามเนื้อไหล่หมุนบิดเข้าด้านใน ร่วมกับการเกร็งงอข้อศอกและข้อมือ เมื่อออกแรงเพื่อเคลื่อนไหวอาการเกร็งก็จะเพิ่มมากขึ้น หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดเจ็บและข้อติดร่วมด้วย ส่งผลต่อการใช้งานหรือการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง” Spasticity

ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง Spasticity เกิดขึ้นเมื่อสมองหรือไขสันหลังได้รับการบาดเจ็บ เป็นความผิดปกติของระบบประสาทสั่งการเคลื่อนไหว Motor system เมื่อได้รับคำสั่งให้มีการเคลื่อนไหวยืดกล้ามเนื้อ ทำให้แรงตึงตัวของกล้ามเนื้อ Muscle Tone เพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับความเร็วเวลาที่เคลื่อนไหว ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของ Tendon Jerk ซึ่งเป็นผลจากประสาทที่ไวกว่าปกติในการตอบรับของ Phasic Stretch Reflex ที่ตอบสนองด้วยการเคาะ ขยับ จนเกิดการสั่นกระตุกซ้ำๆจากการดึงยืดเป็นเวลานาน อาการเกร็งสามารถเกิดได้ทั้งแขนขา ตามตำแหน่งสมองของระบบประสั่งการที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งระดับความรุนแรงเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาการดำเนินโรค



ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งมีการประเมินคะแนนอย่างไร?

การประเมินภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในทางคลินิกนิยมใช้ Modified Ashworth Scale (MAS)

= ความตึงตัวของกล้ามเนื้อปกติ
= ความตึงตัวของกล้ามเนื้อสูงขึ้น เฉพาะการเคลื่อนไหวแรกหรือสุดท้าย
1+ = ความตึงตัวของกล้ามเนื้อสูงขึ้นในการเคลื่อนไหวแรก และยังมีความตังตัวของกล้ามเนื้ออยู่เล็กน้อย แต่ไม่ถึงครึ่งของการเคลื่อนไหว
2 = ความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มตลอดการเคลื่อนไหว แต่ยังเคลื่อนไหวได้จนสุดการเคลื่อนไหว
3 = ความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำการเคลื่อนไหวได้ยาก แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวได้จนสุดการเคลื่อนไหว
= แข็งเกร็งในท่างอหรือเหยียด

การรักษาโดยใช้ยาแผนปัจจุบันสามารถช่วยลดภาวะเกร็งได้ แต่ซึ่งยากลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทโดยตรง มีผลข้างเคียงต่อร่างกายหลักๆ เช่น อาการง่วงมึนงง ภาวะอ่อนแรง หรือยาลดเกร็งบางชนิดหากทานเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะตับได้ เป็นต้น

อาการเกร็งในทางการแพทย์แผนจีน 痉挛Jing Luan มองถึงการทำงานของกล้ามเนื้อเส้นเอ็น ในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง《黄帝内经·灵枢》经筋 (Jing jin) ได้กล่าวถึง “จิงจิน” เส้นลมปราณเอ็น 12 เส้นที่ช่วยรักษาฟื้นฟูโรคของกล้ามเนื้อเส้นเอ็นได้อย่างดี เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง กล้ามเนื้อฝ่อลีบขาดการบำรุง และกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

เส้นลมปราณเอ็น 12 เส้น 十二经筋 (Shi er jing jin) ยังเป็นช่องทางให้เลือดและชี่ไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ มีหน้าที่สำคัญ คือ ช่วยควบคุมการทำงานของกระดูก ข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ

การไหลเวียนของเส้นลมปราณเอ็น ส่วนใหญ่จะมีซ้อนทับกับเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น โดยทุกเส้นมีจุดเริ่มต้นจากปลายมือหรือปลายเท้า ไหลเวียนเข้าสู่ลำตัวและศีรษะ แต่ไม่เข้าเชื่อมโยงกับอวัยวะภายใน


    

ภาพตัวอย่างเส้นลมปราณเอ็น十二经筋的分布

อีกทั้งทฤษฎีแพทย์แผนจีนยังมีกล่าวถึง 《素问·宝命全形论》“人生有形,不离阴阳” Ren Sheng You Xing, Bu Li Yin Yang หมายความว่า มนุษย์หนึ่งคนมีองค์ประกอบต่างๆที่ทำงานร่วมกันของร่างกาย รวมถึงช่องทางเดินเส้นลมปราณที่ผ่านแขนขา ลำตัว และอื่นๆ ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่สอดคล้องเหมือนกับอินหยาง ซึ่งเส้นลมปราณเอ็น 12 เส้นก็มีสังกัดอินหยางเช่นกัน ดังนั้น เมื่ออาการเกร็งของแขนขาในผู้ป่วยจ้งเฟิงที่เกิดขึ้น ช่องทางเดินเส้นลมปราณเอ็นอาจมีการเสียสมดุล หรือเรียกว่า “อินแกร่งหยางอ่อนแอ” 阴强阳弱 Yin qiang yang ruo  ส่งผลให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นแขนขาเริ่มแข็งเกร็ง พลังชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวกติดขัด ข้อติดยืดหดลำบาก เจ็บปวดตามส่วนต่างๆ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในที่สุด เช่น แขนบิดเข้าหาลำตัว เกร็งขาเหยียดปลายเท้า ข้อเท้าบิดงอเข้าด้านใน เป็นต้น

แพทย์แผนจีนประเมินผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างไร?

- การตรวจวินิจฉัยตามหลักแพทย์แผนจีน ได้แก่ การมอง望诊 การดม-ฟัง闻诊 การถาม问诊 การจับชีพจรและการคลำ切诊

- การตรวจร่างกาย Physical Examinations / 触诊和量诊

- การตรวจร่างกายโครงสร้างกระดูกเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ

- ประเมินความแข็งแรงความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ความถี่ของการหดเกร็งกล้ามเนื้อ และพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ

- ประเมินความสามารถของผู้ป่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวของแขนขา การเดิน เป็นต้น



แพทย์แผนจีนมีวิธีการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างไร?

1. การฝังเข็ม : เพื่อปลุกสมองเปิดทวาร ให้พลังชี่และเลือดเกิดการหมุนเวียน ขจัดเลือดคั่งของเสียที่บดบังการทำงานของสมอง อีกทั้งส่งเสริมทักษะความจำ สติปัญญาให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น

2. เต๋าอิ่น : ช่วยลดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ฝึกเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อชักนำพลังชี่และเลือดไปตามเส้นลมปราณเอ็นแขนขา และส่วนที่เกี่ยวข้อง

3. หัตถการอื่นๆ เช่น การครอบแก้ว การพอกยาจีน แช่มือแช่เท้า เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวดเจ็บของกล้ามเนื้อเส้นเอ็น อีกทั้งให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายหลังทำการรักษา

ตัวอย่างกรณีการรักษาฟื้นฟูภาวะเกร็งกล้ามเนื้อจากโรคหลอดเลือดสมอง

ข้อมูลผู้ป่วย

รหัสผู้ป่วย : HN 396XXX

ชื่อ : คุณ สุXXXX

วันที่เข้ารับการรักษา : 20 ธันวาคม พ.ศ. 2566 

เพศ : หญิง         อายุ : 68 ปี

อุณหภูมิ 36.6 องศาเซลเซียส           ชีพจร : 80 ครั้ง/นาที

ความดันโลหิต : 101/62 mmHg     น้ำหนัก :  56 กิโลกรัม

อาการสำคัญ : แขนขาซ้ายอ่อนแรง 1 เดือน 12 วัน

อาการปัจจุบันวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีอาการอ่อนแรงซีกซ้ายเฉียบพลัน แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มุมปากซ้ายเบี้ยว พูดไม่ชัด ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาล ทำการตรวจ CT Scan ผลพบเส้นเลือดสมองแตก หลังจากนั้นทำการพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลช่วงเวลาหนึ่ง อาการดีขึ้นเริ่มช่วยเหลือตนเองได้ แขนขามีแรงมากขึ้น จึงกลับมาฝึกกายภาพเองเพิ่มเติมที่บ้าน แต่มือและข้อมือยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากมีอาการเกร็งปวดข้อมือและนิ้วมือ จึงมาพบแพทย์ฝังเข็มและแพทย์เต๋าอิ่นเพื่อฟื้นฟูอาการ

อาการขณะพบแพทย์แขนขาอ่อนแรงซีกซ้าย สามารถเดินได้เองต้องใช้ไม้เท้า แขนซ้ายเคลื่อนไหวช้า มือและข้อมือเคลื่อนไหวลำบาก มีอาการเกร็งปวดบวมร่วมด้วย นิ้วมือขยับได้ แต่ทำงานละเอียดยาก การพูดสื่อสารติดขัด นึกคำช้า พูดวนบ้าง ความจำระยะสั้นถดถอย  ทานอาหารได้ปกติ นอนหลับไม่ค่อยดี รู้สึกตัวตื่นกลางดึกบ่อย ขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะปกติ

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต : ความดันสูง Hypertension, ไขมันในเลือดสูง Dyslipidemia

การตรวจร่างกายทางแพทย์แผนจีน : รู้สึกตัวดี สามารถสื่อสารเล่าอาการตนเองได้เล็กน้อย พูดวน ลิ้นแดงซีด ฝ้าลิ้นค่อนข้างหนาสีขาว ชีพจรตึงลื่น

Physical Examinations

Vascular Dementia

Motor : Normal muscle tone

                                                                   RT          LT

Upper Proximal / Distal                      V            IV+/IV/IV

Lower Proximal / Distal                      V            IV+

DTR : LT Knee jerk 3+ ,Babinski : (+)

Hand grip LT = IV+


การวินิจฉัยโรค :
แพทย์แผนจีน : จ้งเฟิง (wind of stroke) ระยะฟื้นฟู
กลุ่มอาการ : ชี่พร่องร่วมกับมีเลือดคั่ง
แพทย์แผนปัจจุบัน : 1.Stroke (Hemorrhagic Stroke)    2. Vascular Dementia

แผนการรักษา :
1. รักษาด้วยการฝังเข็ม : เพื่อปลุกสมองเปิดทวาร บำรุงพลังชี่และเลือด ทะลวงเส้นลมปราณเพิ่มการไหลเวียนขจัดเลือดคั่งที่ขัดขวางการทำงานสมอง ส่งเสริมทักษะความจำสติปัญญา
2. ฟื้นฟูด้วยเต๋าอิ่น : เพื่อลดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ฝึกการเคลื่อนไหวของแขนมือฟื้นฟูหน้าที่การทำงาน เพื่อชักนำพลังชี่และเลือดไปตามแขนขา และส่วนที่เกี่ยวข้อง
3. หัตถการอื่นๆ เช่น การพอกยาจีน แช่มือแช่เท้า เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการปวดนิ้วมือและข้อมือ

รักษาครั้งที่ 1 วันที่ 20/12/2566
เข้ามารักษาด้วยอาการแขนซ้ายอ่อนแรง มือขาเกร็ง มือขยับได้ แต่ทำงานละเอียดลำบาก มีอาการปวดตามข้อมือร่วมด้วย เดินได้โดยใช้ไม้เท้า มุมปากซ้ายตกเบี้ยว รู้สึกหนักเวลาพูดสื่อสาร นึกคำช้า พูดวน ความจำระยะสั้นถดถอย ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นได้ มีความเครียดกังวล นอนหลับไม่ค่อยดี รู้สึกตัวง่าย

รักษาครั้งที่ 2 วันที่ 23/12/2566
แพทย์ฝังเข็มมีการส่งต่อฟื้นฟูด้วยเต๋าอิ่น อาการโดยรวมเริ่มดีขึ้น แขนซ้ายเคลื่อนไหวช้า มือซ้ายออกแรงลำบากมีความเกร็ง นิ้วมือแข็งเมื่อขยับปวด และอาการเกร็งชัดเจน เดินไม่คล่องเชื่องช้า ความจำระยะสั้นถดถอย

รักษาครั้งที่ 3 วันที่ 25/12/2566
อาการเกร็งของนิ้วมือและข้อมือดีขึ้นชัดเจน แต่ยังมีอาการปวดข้ออยู่

รักษาครั้งที่ 4-6 วันที่ 4/1/2567
การเคลื่อนไหวของแขนดีขึ้นชัดเจนตามลำดับ อาการเกร็งหายไป อาการปวดลดลง นิ้วมือมีแรงสามารถเหยียด เคลื่อนไหวได้ดั่งใจ ความจำระยะสั้นถดถอยดีขึ้น สื่อสารได้คล่อง สามารถเล่าเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันได้โดยไม่ติดขัด

รักษาครั้งที่ 7-9 วันที่ 16/1/2567
พิสัยการเคลื่อนไหวของแขนข้อมือนิ้วมือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นิ้วชี้และนิ้วกลางซ้ายเมื่อขยับออกแรงมีอาการปวด

รักษาครั้งที่ 10-16 วันที่ 12/2/2567
อาการปวดลดลงอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวของแขนและการทำงานของมือดีขึ้นตามลำดับ หากไม่ใช้งานเยอะเกินไป อาการปวดจะไม่กำเริบ การสื่อสารความจำดีขึ้นแทบปกติ นอนหลับดีไม่มีรู้สึกตัวตื่นกลางดึก การเดินเคลื่อนไหวได้ถูกต้อง ดีขึ้นชัดเจน

รักษาครั้งที่ 17 วันที่ 19/2/2567
ยังมีอาการปวดเล็กน้อยเมื่อผู้ป่วยฝึกเคลื่อนไหวเยอะ อาการเกร็งของข้อมือและนิ้วมือไม่มีหลงเหลือ อาการโดยรวมดีขึ้นกว่า 80-90%  ผู้ป่วยรู้สึกพึงพอใจในผลการรักษา สามารถกลับใช้ชีวิตประจำวันได้ พึ่งพาญาติน้อยลง ญาติผู้ดูแลสามารถกลับไปทำงานได้ จึงได้ขอยุติการรักษาไปตามที่กล่าว

สรุปผลการรักษา
ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มร่วมกับเต๋าอิ่น เป็นจำนวน 17 ครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่าอาการของผู้ป่วยดีขึ้นชัดเจนตั้งแต่รักษาครั้งที่ 4-6 อาการเกร็งของข้อมือและนิ้วมือหายไป มือซ้ายสามารถใช้งานได้ดีและทำงานละเอียดได้จนใกล้เคียงปกติ ความจำระยะสั้นและการสื่อสารดีขึ้น ใช้ชีวิตง่ายขึ้น พึ่งพาคนรอบข้างน้อยลง การเดินดีขึ้นตามลำดับใช้ไม้เท้าน้อยลง จึงอยากรักษาต่อเนื่องอีกระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับญาติผู้ป่วยและตัวผู้ป่วยเอง ได้กลับไปใช้ชีวิตทำในสิ่งตนเองอยากทำตามปกติในทุกๆวันดังเดิม


------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนอาวุโส ปณิตา กาสมสัน (หมอจีน หลู เหมียว ซิน)
卢苗心 中医师
TCM. Dr. Panita Kasomson (Lu Miao Xin)
แผนกคลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท 中医脑病针灸康复门诊 (Stroke and Neurological Rehabilitation Clinic)

อ้างอิง
1. หนังสือฝังเข็ม-รมยา เล่ม 1 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (P20-27)

2. “推拿学” 十二五普通高等教育本科国家级规划教材 (P31-32,53-56)

3. “中医基础理论” 十一五普通高等教育本科国家级规划教材 (P41-42)

4. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity) - สถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ https://youtu.be/i3vF79TW_0k?si=Wx1ODEme2vUyI2VM ,สืบค้นเมื่อ วันที่ 19 มิถุนายน 2567

5. Areerat Anannontsak, Spasticity : Physiology of normal muscle and pathophysiology of spasticity. J Thai Rehabil. 1999;8(3): 230-240

6. https://mp.weixin.qq.com/s/2wJDSt7l65qE-i69-AJCFg ,สืบค้นเมื่อ วันที่ 19 มิถุนายน 2567

7. https://zhuanlan.zhihu.com/p/476413682?utm_id=0 ,สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2567

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้