ภาวะข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ(Knee Osteoarthritis in the Elderly)

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  71 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ(Knee Osteoarthritis in the Elderly)

ปัจจุบัน “โรคข้อเข่าเสื่อม” เป็นโรคข้อที่พบได้บ่อยที่สุดและเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อต่อ(articular cartilage) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระบวนการเสื่อมที่ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ และอาจมีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ 

ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of the Knee: OA knee) 
ข้อเข่าเสื่อม คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของข้อเข่า มีการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อเข่ามีการสึกหรอและเสื่อมลงตามอายุ เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกจึงมีการชนกันขณะรับน้ำหนัก จึงทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึดติด โดยจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ หัวเข่าจะผิดรูป และไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

กายวิภาคศาสตร์ของข้อเข่า
ข้อเข่ามีลักษณะคล้ายบานพับ ส่วนปลายของกระดูกต้นขาจะกลม ส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้งจะแบนเป็นแอ่งตื้นๆ กระดูกทั้งสองส่วนเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็นที่แข็งแรงคอยค้ำจุนอยู่ 4 เส้น ทั้งด้านข้างและตรงกลาง (เอ็นไขว้หน้าและหลัง) ขอบบนของกระดูกสะบ้ามีกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า (Quadriceps) มาเกาะ ข้อเข่าประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน คือ กระดูกต้นขาส่วนปลาย (distal femur) กระดูกหน้าแข้งส่วนต้น (proximal tibia) และกระดูกสะบ้า (patella) นอกจากกระดูกทั้ง 3 ชิ้นที่ประกอบกัน เป็นข้อเข่าแล้ว ข้อเข่ายังประกอบไปด้วย หมอนรองกระดูก (meniscus) เยื่อหุ้มข้อ (fibrous capsule) เอ็นไขว้หน้า (anterior cruciate ligaments) เอ็นไขว้หลัง (posterior cruciate ligaments) รวมทั้งกล้ามเนื้อ ต่างๆซึ่งมีส่วนช่วยเสริมให้ข้อเข่ามีความแข็งแรงและมีความมั่นคงมากขึ้น 

ปัจจัยเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น : เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุด เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทจะเสื่อมลงตามวัย เมื่ออายุ 60 ปี สามารถเป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 50
- เพศ : เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะมีข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย ทั้งข้อนิ้วมือ ข้อสะโพกและข้อเข่าเนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นตัวป้องกันความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือนยิ่งทำให้เพศหญิงมีอัตราการเกิดข้อเข้าเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ
- กรรมพันธุ์ : จากการศึกษาพบว่า เรื่องของกรรมพันธุ์ก็มีความเกี่ยวข้องมีโอกาสที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น 
- น้ำหนักตัวที่เกิน : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า ประกอบกับขาดการออกกำลังกาย 
- การใช้ข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม : มีการศึกษาพบว่ากิจกรรมที่ต้องนั่งยองๆ นั่งคุกเข่า เดินขึ้นลงบันไดวันละหลายรอบ ยืนต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และการยกของหนัก สาเหตุเหล่านี้จะส่งผลให้มีอาการปวดหัวเข่า และเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- ประวัติข้อเข่าบาดเจ็บ : การได้รับบาดเจ็บบริเวณเข่ามาก่อนมีความสัมพันธ์ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม ประสบอุบัติเหตุที่ข้อ เส้นเอ็น กระดูกหัก จะส่งผลทำให้การกระจายน้ำหนักตัวลงสู่กระดูกอ่อนผิวข้อนั้นผิดปกติ จึงทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้นผิดปกติ 
- ปัจจัยอื่นๆ : เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ ภาวะกระดูกพรุน ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง รวมทั้งโรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ (inflammatory joint disease) รวมทั้งปัจจัยเรื่องวิถีชีวิตที่ขาดการออกกำลังกาย

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม 
- อาการปวดเป็นอาการแรกที่พบ เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานมีการเคลื่อนไหวข้อเข่า หรือใช้ข้อมากกว่าปกติ มักปวดในขณะที่นั่งงอเข่านานๆ แล้วลุกขึ้น จะมีอาการปวดรอบเข่า ขัดยอกในข้อเข่า  ขึ้นลงบันไดมีอาการเสียวและปวดเข่า เดินหรือยืนนานๆมีอาการปวดเข่า หรือรู้สึกเข่าอ่อนไม่มีกำลังบวมและร้อนๆรอบเข่า 

- เข่ามีเสียงกรอบแกรบ เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังการพักข้อเป็นเวลานาน ระยะเวลาสั้นๆไม่กี่นาที เวลาเคลื่อนไหวอาจจะมีสะดุดหรือติดขัดในข้อ เนื่องจากเศษกระดูกงอก หักหลุดเข้าไปขัดขวางในข้อต่อ ในรายที่มีข้อผิดมักจะมีเสียงดังกรอบแกรบในข้อเข่า เกิดจาการเสียดสีของผิวกระดูกอ่อนข้อเข่าที่ขรุขระและจะรู้สึกปวดเข่าร่วมด้วย

- กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าลีบเล็กลง พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมานาน การใช้งานของข้อเข่าลดลงเนื่องจากมีอาการปวด ส่งผลให้ข้อเข่า เหนือข้อเข่า และกล้ามเนื้อด้านล่างของข้อเข่าลีบเล็กลง ส่วนใหญ่กล้ามเนื้อทางด้านล่างหัวเข่าลีบและอ่อนกำลังลง ทำให้เหยียดเข่าไม่ได้เต็มที่ เวลาขึ้นลงบันได หรือเดินตามทางที่ขรุขระจะเจ็บปวดมาก เนื่องจากกระดูกเสียดสีกัน ทำให้เกิดการอักเสบได้ 

- เข่าอ่อน เข่าหลวม เนื่องจากหมอนรองกระดูกสึกมาก กระดูกเข่าชิดกันมากขึ้น ทำ ให้เส้นเอ็นยึดข้อหย่อนลง ข้อเข่าจะค่อยๆหลวมมากขึ้น รู้สึกข้อไม่อยู่กับที่ ถ้าไม่บริหารกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าจะส่งผลให้ กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆข้อเข่ามีการอักเสบ และอ่อนแอ ทำให้เกิดอาการเข่าอ่อน (เข่าทรุด) 


- ขาโก่ง ขาเก ข้อผิดรูป เมื่อเป็นอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่ชัดเจน เข่าเสื่อมรุนแรงมาก เดินไม่ถนัด เดินคล้ายขาสั้นข้างยาวข้าง บางคนเดินกะเผลก หรือโยนตัวเอนไปมา โดยสังเกตได้จากกระดูกบริเวณรอบๆ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ต้นขาลีบ บิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้ขาสั้นลง ทำให้เดินหรือใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ 


- องศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าลดลง (เหยียดตรงไม่ได้และงอพับได้ไม่เต็มที่) เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นมากแล้ว จากกระดูกงอกออกทางด้านขอบของข้อที่ยื่นออกมา 


- ข้อเข่าที่เหยียดตรงไม่ได้ แต่ผู้ป่วยยังคงงอได้ตามเดิม พบได้บ่อยและ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเดินกะเผลก มักเกิดจากเนื้อเยื่อ เช่น หมอนรองกระดูก ฉีกขาดแล้วเข้าไปขัดข้อเข่า


การตรวจร่างกาย

- ลักษณะการเดิน (gait) 
- ข้อบวมและข้อผิดรูป 
-กล้ามเนื้อต้นขาลีบ 
- จุดกดเจ็บด้านในของข้อเข่า การหนาตัวของเยื่อบุข้อ ปริมาณของเหลวในข้อ กระดูกงอกหนา 
- มีลักษณะที่แสดงถึงการอักเสบ คือ บวม แดง ร้อน 
- เสียงดังกรอบแกรบ (crepitus) ในข้อขณะเคลื่อนไหว 
- พิสัยการเคลื่อนไหว (range of motion) ลดลง 
- มีความไม่มั่นคงของข้อ (joint instability) สังเกตจากการโกงงอของข้อขณะยืนเดิน 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป เช่น เลือด และปัสสาวะอยู่ในเกณฑ์ปกติ 
- การตรวจของเหลวในข้อ ส่วนใหญ่ไม่พบความผิดปกติ จำนวนเม็ดเลือดขาวในของเหลวในข้อ อยู่ในเกณฑ์ปกติ (0-200 เซลล์/ลบ.มม)
 - CT scan และ MRI ไม่จำเป็นต่อการวินิจฉัยโรค

การตรวจทางรังสี 
การถ่ายภาพรังสี(Plain radiography) จัดเป็นการตรวจที่สำคัญที่สุด เป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถเห็นว่าข้อเข่าแคบลง และกระดูกใต้ผิวข้อมีการเปลี่ยนแปลง  เช่นมีกระดูกงอกออกมา (osteophyte) มีการสร้างกระดูกบริเวณผิวข้อทำให้เห็นกระดูกสีขาวเข้มขึ้น (sclerosis) มีโพรงน้ำ (cystic formation)

การวิเคราะห์แยกโรค
- Pes anserinus bursitis ตรวจพบเข่าบวมเฉพาะด้านใน ไม่มีน้ำในข้อ กด เจ็บมากบริเวณด้านในข้อเข่า ต่ำกว่าช่องข้อด้านใน (pes anserinus bursa)
- Pre-patellar bursitis บวมแดง กดเจ็บมากบริเวณด้านหน้าลูกสะบ้า งอ เหยียดเข่าไม่ได้
- Septic arthritis มีอาการปวดเข่า ขยับข้อได้น้อยลง มีไข้ เจาะเลือด CBC จะพบ leukocytosis, ESR, CRP จะสูงบ่งบอกถึงการอักเสบติดเชื้อ

กลไกของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
แพทย์แผนจีนเชื่อว่าโรคข้อเข่าเสื่อมมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับ "ความพร่อง" "ปัจจัยก่อโรคภายนอก" และ "การติดขัด" ไตมีหน้าที่ควบคุมกระดูกและตับควบคุมเส้นเอ็น เมื่อคนเข้าสู่วัยกลางคน ตับและไตจะค่อยๆพร่อง ข้อต่อสูญเสียการบำรุง ข้อเข่าบางส่วนจะติดขัดและเมื่อยล้า รวมทั้งโรคนี้เกิดจาก ลม ความหนาวเย็น และความชื้น เส้นลมปราณติดขัด ชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากมีปัจจัยก่อโรคภายนอกได้แก่ บริเวณหัวเข่ากระทบกับความเย็น เกิดภาวะเลือดติดขัดการไหลผ่านไม่สะดวกก็จะทำให้เกิดอาการปวด การพร่องของตับและไตเป็นพื้นฐานของการเริ่มเกิดโรคนี้(ปัจจัยภายใน) การรุกรานของลม ความหนาวเย็น และความชื้น และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเป็นสาเหตุของโรคจากปัจจัยภายนอก

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการโรค(เปี้ยนเจิ้งรักษา)
การวินิจฉัยโรคและผลการรักษาของโรคกระดูกทางด้านแพทย์แผนจีน แบ่งแยกประเภทของโรคข้อเข่าเสื่อมออกเป็นกลุ่มอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. การกระทบจากความชื้นและความเย็นจากภายนอกอุดกั้น บริเวณเข่าปวดแบบเย็นๆ ข้อตึงแข็งยืดงอไม่สะดวก อาการปวดไม่เฉพาะที่ หรือกลัวลมมีไข้ ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรลอย (浮脉)
2. การอุดกั้นของชี่และเลือด เกิดอาการปวดเข่าค่อยๆเป็นหนักขึ้น ปวดมากจะรู้สึกเหมือนเข็มแทง รู้จุดตำแหน่งที่ปวดแน่ชัด ข้อต่อยืดงอไม่สะดวก แขนขารู้สึกชา เดินไม่สะดวก ลิ้นม่วงมีจุดจ้ำเลือด ชีพจรฝืดลึกอ่อนแรง(涩沉弱脉)
3. ตับและไตพร่อง พบในผู้สูงอายุที่มีสภาพร่างกายอ่อนแรง ร่างกายผอมบาง บริเวณเข่าปวดมากขึ้นทุกวัน ข้อต่อรู้สึกตึงแข็งผิดรูป บริเวณที่ปวดมีลักษณะบวม สีผิวค่อนข้างคล้ำ รวมทั้งมีอาการกลัวหนาวแขนขาเย็น เอวและเข่าอ่อนแรง ลิ้นซีดฝ้าบาง ชีพจรลึกบางและอ่อน (沉细弱脉)

หลักในการรักษาการแพทย์แผนจีน
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด ฟื้นฟูสภาพการทำงานของข้อเข่าให้ดีขึ้น(ผ่านการบำรุงตับไต)เพื่อป้องกันและชะลอภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม

การทุยหนา
ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด สามารถคลายกล้ามเนื้อ  ช่วยหล่อลื่นข้อต่อ ลดอาการปวดเกร็งหรือเป็นตะคริวได้อีกด้วย

หัตถการทุยหนามีขั้นตอนดังนี้
1. หัตถการคลายกล้ามเนื้อ :ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างที่มีอาการ แพทย์ใช้นิ้วหัวแม่กดคลึง(อั้นโหร่วฟ่า按揉法)รอบๆ กระดูกสะบ้าและข้อต่อ หลังจากนั้นใช้ท่ากลิ้ง( กุ่นฝ่า㨰法) ตามกล้ามเนื้อquadriceps ทั้งสองข้าง จนถึงกระดูกสะบ้าและตามแนวด้านนอกของขาส่วนล่าง ประมาณ 5 นาที
2. หัตถการรักษา : ผู้ป่วยอยู่ในท่านอน แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างที่มีพยาธิสภาพ ใช้ท่านิ้วดัน (อี้จื่อฉ่านทุยฝ่า一指禅推法) ลงบนบริเวณรอบหัวเข่าและบริเวณเอ็นPatella ligament จากนั้นใช้ท่ากดคลึง(อั้นโหร่วฟ่า按揉法)บนจุดเห้อติ่ง(EX-LE2鹤顶),จุดเน่ยไว่ซีเหยี่ยน(EX-LE5内外膝眼),จุดเหลียงชิว(ST34梁丘),จุดเซว่ยไห่(SP10血海)จุดละ 1 นาที
3. หัตถการเคลื่อนไหวข้อต่อ : ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอน แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างที่มีพยาธิ  สภาพ ใช้ท่าหมุนข้อต่อ (เหย่าฝ่า摇法) บริเวณข้อเข่าเพื่อขยับข้อต่อ 10 รอบ
4. หัตถการสิ้นสุดการรักษา : ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอน แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างที่มีพยาธิสภาพใช้ท่าสันมือกดคลึง(อั้นโหร่วฟ่า按揉法)ตามกล้ามเนื้อquadriceps และรอบกระดูกสะบ้า ร่วมกับใช้ท่าบีบ(หนาเนียฟ่า拿捏法)ที่กระดูกสะบ้า ประมาณ 2- 3 นาที ใช้ท่าถู (ชาฝ่า擦法) ด้วยฝ่ามือบนบริเวณรอบหัวเข่าและฝ่ามือ 2 นาทีจนรู้สึกร้อน

การฝังเข็ม
ตามทฤษฎีแพทย์แผนจีนอธิบายว่า อาการปวดเข่าเกิดเนื่องจากมีการอุดกั้นของเส้นลมปราณ การฝังเข็มจะทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนดีขึ้น 
- จุดเห้อติ่ง(EX-LE2鹤顶)
- จุดเน่ยไว่ซีเหยี่ยน(EX-LE5内外膝眼)
- จุดเหลียงชิว(ST34梁丘)
- จุดเซว่ยไห่(SP10血海)
- จุดอินหลิงเฉวียน(SP9阴陵泉)
- จุดหยางหลิงเฉวียน(GB34阳陵泉)
- จุดเหว่ยจง(BL40委中)
- จุดเฉิงซาน(BL37承山) 
เมื่อฝังจะมีความรู้สึกของเข็ม (得气) ให้คาเข็มทิ้งไว้ 15 นาที

อบยา
ตำรับยาไห่ถงผีทัง(海桐皮汤): ไห่ถงผี(海桐皮)、โถ่วกู่เฉ่า(透骨草)、หรูเซียง(乳香)、ม่อเหย้า(没药)、ตังกุย(当归)、ชวนเจียว(川椒)、ชวนซยง(川芎)、หงฮวา(红花)、เวยหลิงเซียน(威灵仙)、กานเฉ่า(甘草)、ฝางเฟิง(防风)、ไป๋จื่อ(白芷)
หลักการรักษา : กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด(活血散瘀,通络止痛)
เหมาะสำหรับ : คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด
วิธีใช้ : อบข้อศอกและแขนท่อนล่างประมาน 15-20 นาที วันละ 1 ครั้ง
ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

ข้อควรระมัดระวัง
1) ผู้ที่มีอาการปวดบวมข้อเข่าอย่างรุนแรงควรพักผ่อน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมและการใช้งานมาเกินไป
2) ให้ความอบอุ่นกับข้อเข่าอยู่เสมอ ป้องกันเกิดการบาดเจ็บ 

แนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
- ลดน้ำหนักตัว เพราะการลดน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะลดแรงกระทำที่เข่า ถึง 3 กิโลกรัม
- หลีกเลี่ยงการนั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง หรือนั่งราบกับพื้น เนื่องจากจะทำให้ ผิวเข่าเสียดสีมากขึ้น 
- เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่ง 
- ควรนอนบนเตียง ไม่ควรนอนราบกับพื้น เพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น 
- หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได 
- ควรใช้ไม้เท้าเวลายืนหรือเดิน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดเข่ามากหรือมีข้อเข่าโก่งผิดรูป
- บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าดีขึ้น 

การบริหารข้อเข่า
การบริหารข้อเข่าในโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าแข็งแรงจะช่วยชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลงและทำให้ข้อเข่ามีความมั่นคงมากขึ้น 

การบริหารข้อเข่า มี 2 วิธี 
1. แบบที่มีการเคลื่อนไหวข้อเข่า( isotonic exercise) ให้ผู้ป่วยนั่ง เก้าอี้สูง หย่อนขางอเข่าให้เท้าลอย เกร็งกล้ามเนื้อหน้าขาเพื่อเหยียดเข่าให้ตรง ค้างไว้10วินาที
2. แบบที่ไม่มีการเคลื่อนไหวข้อเข้า (isometric exercise) ให้ ผู้ป่วยนั่งบนฟูกหรือที่นอนเหยียดเข่าตรง ใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ผืนเล็กรองใต้เข่า เกร็ง กล้ามเนื้อหน้าขาโดยกดเข่าลงบนผ้าขนหนู เกร็งค้างไว้สัก 5 วินาที แล้วคลาย ทำบ่อย ๆ วันละ 2 รอบ รอบละ 15-20 นาที

การวิจัยใช้การนวดทุยหนาผสมกับการออกกำลังกายมีผลต่อการขึ้นลงบันไดของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม
วัตถุประสงค์: เพื่อสังเกตผลของการนวดทุยหนาร่วมกับการฝึกออกกำลังกายแบบไอโซคิเนติกต่อการขึ้นลงบันไดสำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม 
วิธีการ: ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือก จำนวน 60 ราย สุ่มแบ่งเป็นกลุ่มรักษาและกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มละ 30 ราย กลุ่มรักษาได้รับการรักษาด้วยการนวดทุยหนาร่วมกับการฝึกออกกำลังกาย  ใช้VAS วัดประสิทธิภาพทางคลินิก

 วิธีการการนวดทุยหนา
 1) ผู้ป่วยนอนหงาย และแพทย์ทำการนวดทุยหนาท่าบีบคลึง(拿揉)บริเวณข้อเข่าและกล้ามเนื้อ quadricepsประมาณ 2 นาที 
2) กดจุดฝังเข็ม เช่น ตาเข่าด้านในและด้านนอกจุดเห้อติ่ง(EX-LE2鹤顶)จุดเน่ยไว่ซีเหยี่ยน(EX-LE5内外膝眼)จุดเหลียงชิว(ST34梁丘)จุดเซว่ยไห่(SP10血海)จุดอินหลิงเฉวียน(SP9阴陵泉)จุดหยางหลิงเฉวียน(GB34阳陵泉)จุดฝูทู่(ST31伏兔)และจุดฝังเข็มอื่น ๆ และเอ็นรอบข้อเข่าประมาณ 1 นาทีต่อจุดฝังเข็ม
3.แพทย์ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือทั้งสองข้าง เพื่อทำให้สะบ้าคงที่ และผลักดันสะบ้าขึ้น ลง ซ้ายและขวา จากนั้นใช้วิธีดีดดึง(弹拨法)เพื่อคลายเส้นเอ็นและเอ็นรอบสะบ้าเป็นเวลาประมาณ 2 นาที 

4.ผู้ป่วยนอนหงาย โดยงอเข่า 90° แพทย์ใช้ท่าคลึง(揉法)จุดเหว่ยจง(BL40委中)จุดเฉิงซาน(BL37承山)จุดเหว่ยหยาง(BL39委阳)และจุดฝังเข็มอื่นๆ และหลังน่อง เป็นเวลาประมาณ 5 นาที 
5.ผู้ป่วยนอนหงาย ใช้สองนิ้วหัวแม่มือกดจุดเน่ยไว่ซีเยี่ยน(EX-LE5内外膝眼)แล้วดันสะบ้าขึ้นอีกสี่นิ้วประคองหลังน่องและงอข้อเข่าให้มากที่สุด งอและยืดออก 10 ครั้ง
6.สุดท้าย ทำท่าถู(擦法)บริเวณรอบๆ เข่าของผู้ป่วย

การฝึกออกกำลังกายแบบไอโซคิเนติกใช้ระบบประเมินการฝึกฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบไอโซคิเนติก ก่อนการรักษาข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยจะถูกเก็บรวบรวมและทดสอบและบันทึกช่วงการเคลื่อนไหวสูงสุดและกำลังสูงสุดของข้อต่อ 
ผลลัพธ์ : หลังการรักษา คะแนน VAS คะแนนอาการปวดขึ้นและลงบันได JOA และแรงบิดสูงสุดของกล้ามเนื้อเหยียดข้อเข่าในทั้งสองกลุ่ม มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการรักษา (P<0.05) และกลุ่มที่ได้รับการรักษาดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 
สรุป: การนวดร่วมกับการฝึกออกกำลังกายแบบไอโซคิเนติกสามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ quadriceps ของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ปรับปรุงการทำงานของข้อเข่า และเพิ่มความยากลำบากในการขึ้นลงบันได 

การวิจัยใช้การนวดทุยหนาผสมกับการประคบด้วยยาจีนรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
วัตถุประสงค์: เพื่อสังเกตผลของการนวดทุยหนาร่วมกับการประคบร้อนด้วยยาจีนต่อโรคข้อเข่าเสื่อม การทำงานของข้อเข่า อาการปวดข้อเข่า อาการบวม และคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม (KOA) 
วิธีการศึกษา: คัดเลือกผู้ป่วย KOA จำนวน 117 ราย และแบ่งออกเป็นกลุ่มวิจัย 59 ราย และกลุ่มควบคุม 58 ราย กลุ่มวิจัยได้รับการนวดทุยหนาและประคบด้วยยาจีน วัดผลการทำงานของข้อเข่า อาการบวมที่ข้อเข่า ความทนทานต่อความเจ็บปวด และคุณภาพชีวิตก่อนและหลังการรักษาระหว่างทั้งสองกลุ่ม 

วิธีการสำหรับกลุ่มรักษา
กลุ่มวิจัยได้รับการนวดทุยหนาร่วมกับการประคบร้อนยาจีน การทุยหนา ผู้รักษาใช้วิธีการกลิ้ง( กุ่นฝ่า㨰法)บริเวณ quadriceps และรอบเข่าที่ไปจนถึงสะบ้าและสะบ้าทั้งสองข้าง โดยเน้นที่ส่วนบนของสะบ้าเข่า เวลาประมาณ 5 นาที และใช้วิธีการนวดท่ากดคลึง (按揉法) และวิธีการดีด(弹拨法)บริเวณเอ็นสะบ้า เอ็นที่อยู่ตรงกลางและด้านข้าง และตามบริเวณความเจ็บปวดของเข่า ให้เลือกนวดจุดเห้อติ่ง( EX-LE2鹤顶)จุดเน่ยไว่ซีเหยี่ยน(EX-LE5内外膝眼)จุดเหลียงชิว(ST34梁丘)จุดเซว่ยไห่(SP10血海)จุดหยางหลิงเฉวียน(GB34阳陵泉)จุดจู๋ซานหลี่(SP36足三里)จุดละประมาณ 1 นาที ผู้ป่วยนอนอยู่ในท่านอนคว่ำและแพทย์ใช้วิธีการกลิ้งที่ด้านหลังต้นขาและข้อพับ ประมาณ 5 นาที ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ท่านอนหงาย ใช้ท่าหมุนข้อต่อ (摇法) เข่า หมุนข้อเข่าด้านในและหมุนข้อเข่าด้านนอก เป็นเวลา 3 นาที สุดท้ายใช้วิธีถูรอบๆ ข้อเข่า (เช่น quadriceps ด้านหลังของต้นขา)  ประคบร้อนด้วยยาจีนเซินจินเฉ่า(伸筋草)、ตู๋หัว(独活)、ซางจี้เซิง(桑寄生)、ม่อเหย้า(没药)、ชวนซยง(川芎)หรูเซียง(乳香),โถ้วกู่เฉ่า(透骨草)อย่างละ 10 กรัม เวยหลิงเซียน(威灵仙) กุ้ยจือ(桂枝) หวนหนิวซี(怀牛膝) ตานเซิน(丹参)อย่างละ 20 กรัม ประคบร้อนครั้งละ 20 นาที วันละครั้งก่อนเข้านอน เป็นเวลา 3 สัปดาห์

ผลการศึกษา: อัตราประสิทธิผลรวมของกลุ่มวิจัยอยู่ที่ร้อยละ 91.53 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มควบคุมร้อยละ 77.59 (P<0.05) หลังการรักษา คะแนนดัชนีข้อเข่าเสื่อมของ Western Ontario และ McMaster Universities (WOMAC) ในทั้งสองกลุ่มต่ำกว่าก่อนการรักษา (P<0.05) อาการบวมที่ข้อต่อน้อยกว่าก่อนการรักษา (P<0.05) และเกณฑ์ความทนทานต่อความเจ็บปวดทั้งหมด ต่ำกว่าก่อนการรักษา (P<0.05) คะแนน WOMAC ของกลุ่มวิจัยต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (P<0.05) ข้อบวมต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (P<0.05) ) และเกณฑ์การทนต่อความเจ็บปวดสูงกว่ากลุ่มควบคุม (P<0.05) หลังการรักษา คะแนนสุขภาพโดยรวม การทำงานทางสรีรวิทยา การทำงานทางสรีรวิทยา การทำงานทางสังคมและอารมณ์ความเจ็บปวดทางกาย ความมีชีวิตชีวา และสุขภาพจิต ของทั้งสองกลุ่มสูงกว่าก่อนการรักษา (P<0.05) สุขภาพโดยรวม 

สรุป: การนวดทุยหนาร่วมกับการประคบร้อนด้วยยาจีนมีผลดีในการรักษา KOA สามารถปรับปรุงของข้อเข่าผู้ป่วย บรรเทาอาการปวดข้อเข่าบวม และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1. กิ่งแก้ว ปาจรีย์.  ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ การบำบัดรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู .  กรุงเทพมหานคร : ภาคเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563.

2.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยาเล่ม1.กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.

3.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็มร่วมรักษาโรค เล่ม1.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สาวิณีการพิมพ์, 2557.

4. ธีรชัย อภิวรรธกุล.  Orthopaedic Secrets เคล็ดลับทางออร์โธปิดิกส์.  เชียงใหม่: หจก.เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2557.

5.https://www.huachiewtcm.com/content/5874/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1-osteoarthritis-of-the-knee-oaโรคข้อเข่าเสื่อม Osteoarthritis of the knee OA

6.สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม.ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ,2548

7.王之虹.推拿学。中国中医药出版社(2012)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้