Last updated: 12 ต.ค. 2567 | 88 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เป็นโรคของข้อที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อต่อ (articular cartilage) มีหินปูนหรือกระดูกงอกรอบข้อต่อเข่า เซลล์เนื้อเยื่อบุข้อผิดปกติ เส้นเอ็นหย่อนหรือหดสั้น เยื่อหุ้มรอบข้อหดสั้น กล้ามเนื้อลีบซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระบวนการเสื่อมจะไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิม และจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ
จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 55-64 ปี อายุมัธยฐานเฉลี่ยของการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมคือ 55 ปี(1)
ในมุมมองศาสตร์การแพทย์แผนจีน จัดอยู่ในโรค “กู่ปี้” หรือ “ปี้เจิ้ง” โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากปัจจัยภายในคือตับไตพร่อง ร่วมกับ ลม ความเย็น ความชื้นซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคภายนอก อุดกั้นเส้นลมปราณ ชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก จึงเกิดเป็นโรคนี้ขึ้นมา
อาการของโรค
1. ปวดข้อเข่า และกดเจ็บ โดยมีลักษณะพิเศษ คือ ปวดเวลาเริ่มเดิน หรือเมื่อเดินติดต่อกันนานๆ ปวดเมื่อขึ้น-ลงบันได รวมทั้งปวดช่วงกลางคืน
2. เคลื่อนไหวลำบาก ข้อฝืด
3. ข้อเข่าผิดรูป
4. มีเสียงดังในข้อเข่า
5. กล้ามเนื้อลีบผ่อ
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
- เจิ้งชี่ไม่แข็งแรง เป็นพื้นฐานของปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดโรคนี้ การกระทบลม ความเย็น ความชื้น เป็นปัจจัยภายนอกทำให้เกิดโรคนี้ กล่าวคือ “พื้นฐานพร่อง อาการแสดงแกร่ง” ร่วมกันก่อให้เกิดโรค
- ตับไตพร่อง เป็นปัจจัยภายในของการเกิดโรค ไตควบคุมกระดูก สร้างไขกระดูก ตับควบคุมเส้นเอ็น สารจิงและเลือดของตับและไต พร่อง ทำให้กระดูกและเส้นเอ็นขาดการหล่อเลี้ยง
- ลม ความเย็น ความชื้น เป็นปัจจัยภายนอกของการเกิดโรค ปัจจัยทั้งสามนี้เมื่อเข้ามากระทบกล้ามเนื้อรูขุมขนและเส้นลมปราณ อุดกั้นข้อต่อ เส้นเอ็นและกระดูก ทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวกจึงเกิดเป็นโรคนี้
การวิเคราะห์แยกแยะแยกกลุ่มอาการ
1.กลุ่มอาการความเย็นชื้นอุดกั้น(寒湿痹阻证)
อาการ : ปวดหน่วงข้อเข่า อากาศหนาวทำให้อาการหนักขึ้น ประคบร้อนทำให้อาการดีขึ้น ร่วมกับปวดหน่วงเอวและตัว ลิ้นซีด ฝ้าที่ลิ้นขาวเหนียว ชีพจรลอยและช้า(หรูฮ่วนม่าย)
วิธีรักษา : ขจัดลมเย็น สลายความชื้น ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด
2.กลุ่มอาการความร้อนชื้นอุดกั้น(湿热痹阻证)
อาการ : ข้อเข่าปวด บวม แดง ร้อน เหยียดงอเข่าลำบาก เมื่อสัมผัสเข่ารู้สึกถึงความร้อน เดินลำบาก ร่วมกับมีไข้ คอแห้ง กระหายน้ำ กระวนกระวาย ลิ้นแดง ฝ้าที่ลิ้นเหลืองเหนียวชีพจรลอยเร็ว(หรูซู่ม่าย)หรือชีพจรลื่นเร็ว(หัวซู่ม่าย)
วิธีรักษา : ขจัดความร้อนชื้น ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด
3.กลุ่มอาการชี่และเลือดคั่ง(气滞血瘀证)
อาการ : ปวดข้อเข่าเหมือนเข็มทิ่ม เมื่อพักผ่อนอาการปวดกลับเป็นหนักขึ้น ร่วมกับมีอาการหน้าหมองคล้ำ ลิ้นม่วงคล้ำหรือมีรอยจ้ำเลือด ชีพจรจมฝึด(เฉินเซ่อม่าย)
วิธีรักษา : ทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ระงับอาการปวด
4.กลุ่มอาการตับไตพร่อง(肝肾亏虚证)
อาการ : ปวดข้อเข่าไม่รุนแรง ร่วมกับเมื่อยเอว เข่าอ่อน หลังจากใช้งานอาการปวดเพิ่มขึ้น ลิ้นแดง ฝ้าที่ลิ้นน้อย ชีพจรจมเล็กไม่มีแรง(เฉินซี่อู๋ลี่ม่าย)
วิธีรักษา : บำรุงตับไต ระงับอาการปวด
5.กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง(气血虚弱证)
อาการ : ปวดเมื่อยข้อเข่า ร่วมกับนอนน้อย ฝันเยอะ มีเหงื่อออก เวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น หายใจสั้น หน้าซีด ลิ้นซีด ฝ้าที่ลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กอ่อนแรง(ซี่รั่วม่าย)
วิธีรักษา : บำรุงชี่และเลือด ระงับอาการปวด
ตัวอย่างกรณีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN 363XXX
ชื่อ : คุณ เจริญXXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 14 กรกฎาคม 2565
เพศ : หญิง
อายุ : 64 ปี
อุณหภูมิ 36.2 องศาเซลเซียส
ชีพจร : 74 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 138/86 mmHg น้ำหนัก : 52 กิโลกรัม
อาการสำคัญ (Chief complaint) : ปวดเข่าขวาเพิ่มขึ้น 11 วัน
อาการปัจจุบัน (Present illness)
ปวดเข่าขวา เนื่องจากเดินเยอะ เหยียดงอเข่าได้ไม่สุด ข้อเข่าบวมและอุ่นเล็กน้อย นั่งรถเข็นเข้ามารับการรักษา เดินไม่ได้ ขึ้นลงบันไดไม่ได้ เข่าโก่งผิดรูป ไม่มีอาการปวดช่วงกลางคืน รับประทานยาแก้ปวดไม่ค่อยได้ผล นอนหลับได้ปกติ รับประทานอาหารได้ปกติ ขับถ่ายปกติ ชีพจรตึง เคย X-ray พบว่า เข่าเสื่อม
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต(Past history)
- ปฏิเสธประวัติโรคหัวใจและเบาหวาน
- ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
การวินิจฉัยโรค(Diagnosis)
- วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน : ปวดเข่า
- วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน : ข้อเข่าเสื่อม
วิธีการรักษา(Treatment)
- รักษาด้วยการฝังเข็ม ร่วมกับการทำเข็มอุ่น
- ใช้หลักการรักษา บำรุงตับไต ระงับอาการปวด
ผลการรักษา(progression note)
ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 – วันที่ 20 สิงหาคม 2565
รักษาครั้งที่ 2 วันที่ 17/7/2565
นั่งรถเข็นเข้ามารับการรักษา อาการปวดบวมเข่าขวาดีขึ้น แต่ยังไม่กล้าเดิน ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าซ้ายร่วมด้วย
รักษาครั้งที่ 3 วันที่ 21/7/2565
อาการปวดบวมเข่าขวาดีขึ้นชัดเจน สามารถเดินได้ ไม่ต้องนั่งรถเข็นแล้ว อาการปวดเข่าซ้ายหายไป
รักษาครั้งที่ 4 วันที่ 24/7/2565
อาการปวดบวมเข่าขวาดีขึ้นจากครั้งก่อน ไม่ปวดเข่าซ้าย มีอาการปวดเมื่อยน่องขวา
รักษาครั้งที่ 5 วันที่ 30/7/2565
ไม่ปวดบวมเข่าขวา เหยียดงอเข่าได้ดีขึ้น ไม่ปวดเมื่อยขาแล้ว
รักษาครั้งที่ 6 วันที่ 20/8/2565
ไม่ได้ฝังเข็ม 3 สัปดาห์ เริ่มปวดบริเวณเหนือเข่าขวา เข่าบวมเล็กน้อย ไม่อุ่นร้อน
รักษาครั้งที่ 7 วันที่ 12/1/2566
ไม่ได้ฝังเข็ม 5เดือน สัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีอาการปวดเข่าขวา ไม่บวม แต่อุ่นเล็กน้อย เหยียดงอเข่าได้ตามปกติ
สรุปผลการรักษา :
โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อต่อ ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ การฝังเข็มสามารถลดอาการปวดได้ดีและสามารถชะลอความเสื่อมได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ช่วยลดการใช้ยาแก้ปวด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับบุคคล ปัจจัยกระตุ้น และการดูแลตัวเองของคนไข้ด้วย
อ้างอิง
1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3886119/
2. https://max.book118.com/html/2023/0814/8133017025005121.shtm
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567