Last updated: 12 ต.ค. 2567 | 93 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะนอนไม่หลับ หมายถึงภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนอนหลับเป็นปกติได้ มีความยากลำบากในการเข้านอน หลับไม่ต่อเนื่อง รวมไปถึงคุณภาพของการนอนหลับไม่ดีเช่น มีอาการเข้านอนยาก ตื่นบ่อยในช่วงเวลากลางคืน ฝันเยอะ ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น ส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำงาน จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยสถิติคนไทยที่เผชิญกับภาวะนอนไม่หลับมีมากถึง 40% ของประชากรทั้งหมด หรือราว 19 ล้านคน ซึ่งในปัจจุบันพบว่าภาวะนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ และไม่ได้พบเจอเฉพาะแค่ในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่สามารถพบเจอในวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานได้มากขึ้น ผลสืบเนื่องที่เห็นชัดเจนจากภาวะนอนไม่หลับเช่น เกิดความง่วงตลอดทั้งวัน ไม่กระปรี้กระเปร่า เหนื่อยง่าย ขอบตาและใบหน้ามองคล้ำ ความจำและความสามารถในการทำงานลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบของร่างกายในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เกิดการอักเสบหรือเป็นภูมิแพ้ผิวหนังง่ายขึ้น ระบบเผาผลาญและระบบย่อยอาหารผิดปกติ ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้มีโอกาสพบโรคอื่นๆ ตามมาในภายหลัง
ในมุมมองการแพทย์แผนจีนภาวะนอนไม่หลับมีชื่อเรียกว่า “ปู๋เม่ย(不寐)” “ปู้เต๋อว่อ(不得卧)” “มู่ปู้หมิง(目不瞑)” มีตำแหน่งหลักของโรคอยู่ที่หัวใจ และมีความสัมพันธ์กับอวัยวะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตับ ถุงน้ำดี ไต และม้ามอย่างใกล้ชิด
อาการของโรค (辩证要点)
มีอาการเข้านอนลำบาก หรือหลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นในระหว่างคืนง่าย ตื่นแล้วไม่สามารถเข้านอนต่อได้ หากรุนแรงอาจถึงขั้นไม่สามารถนอนหลับได้ทั้งคืน มักพบอาการฝันเยอะ กระสับกระส่าย ปวดหนักบริเวณศีรษะ ใจสั่น ขี้หลงลืม หรือรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรงร่วมด้วยเป็นต้น
สาเหตุของโรค (病因病机)
การรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความเหนื่อยล้า ร่างกายอ่อนแอ หรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรังล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายเสียสมดุล หยางไม่สามารถกลับเข้าสู่อินได้ ทำให้อิน-หยางในร่างกายเสียสมดุล และเกิดเป็นภาวะนอนไม่หลับ
การวินิจฉัยแยกแยะกลุ่มอาการและรักษา (辨证论治)
1. กลุ่มอาการไฟตับรบกวนหัวใจ จะพบอาการนอนไม่หลับ ฝันเยอะ หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นนอนไม่หลับทั้งคืน กระสับกระส่าย โมโหง่าย เวียนหรือปวดตึงศีรษะ ตาแดง มีเสียงในหู ปากแห้งหรือปากขม ท้องผูก ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเร็ว
2. กลุ่มอาการเสมหะร้อนรุนรานหัวใจ จะพบอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ แน่นหน้าอก เรอ ปากขม หนักศีรษะ ตาลาย ลิ้นแดงและฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจร ลื่นเร็ว
3. กลุ่มอาการม้ามและหัวใจพร่อง จะพบอาการนอนหลับยาก ฝันเยอะ และตื่นบ่อย ใจสั่น ขี้หลงลืม รู้สึกอ่อนเพลีย แขนและขาไม่มีแรง เบื่ออาหาร แน่นท้อง ถ่ายเหลว เวียนศีรษะและตาลาย ใบหน้าซีด ลิ้นซีดฝ้าบาง ชีพจร เล็กไม่มีแรง
4. กลุ่มอาการหัวใจและไตทำงานไม่ประสานกัน รู้สึกกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เข้านอนลำบาก ใจสั่น ฝันเยอะ ปวดเมื่อยเอวและเข่าอ่อน เหงื่อออกในเวลากลางคืน ฝ่ามือฝ่าเท้าและทรวงอกร้อน เวียนศีรษะ คอแห้ง เสียงในหูดัง อาจพบอาการฝันเปียกในผู้ชาย หรือประจำเดือนมาไม่ปกติในผู้หญิง ลิ้นแดงฝ้าบาง ชีพจรเล็กเร็ว
5. กลุ่มอาการชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง จะพบอาการนอนไม่หลับ ฝันร้าย ตื่นตกใจง่าย ขี้กลัวหรือขี้ตกใจ ใจสั่น หายใจสั้น เหงื่อออกง่าย มีความอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย ลิ้นซีด ชีพจรตึงเล็ก
แนวทางการรักษา
ใช้วิธีปรับการทำงานของอวัยวะภายใน ให้อิน-หยางในร่างกายกลับมาสมดุล ในกลุ่มอาการพร่องจะเน้นการบำรุงในส่วนที่พร่อง; กลุ่มอาการแกร่งจะเน้นการระบายในส่วนที่เกิน; และกลุ่มอาการที่มีทั้งพร่องและแกร่งปะปนกันจะเน้นใช้วิธีบำรุงร่วมกับการระบาย โดยการรักษาแบบระบายแกร่งบำรุงพร่อง และในขณะเดียวกันก็ใช้วิธีสงบเสินคุมจิตใจร่วมด้วยเช่น วิธีบำรุงเลือดสงบจิต ข่มจิตสงบเสิน ระบายไฟในหัวใจสงบเสินเป็นต้น (เสินหมายถึง ความคิดความอ่าน จิตใจ จิตวิญญาณรวมทั้งการแสดงออกต่างๆของร่างกาย)
ตัวอย่างกรณีศึกษา
ข้อมูลผู้ป่วย HN 3XXXXX เพศหญิง อายุ 38ปี
เข้ารับการรักษาครั้งแรก 9 สิงหาคม 2565
อาการสำคัญที่มารักษา นอนไม่หลับ 3อาทิตย์
ประวัติอาการ
ผู้ป่วยรู้สึกเข้านอนยาก ใช้เวลาในการเข้านอนนาน (มากกว่า 1 ชั่วโมง) ในบางคืนตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถเข้านอนต่อได้ จำนวนชั่วโมงนอนทั้งคืนประมาณ 5 ชั่วโมง เมื่อตื่นเช้าผู้ป่วยรู้สึกไม่สดชื่น ในเวลากลางวันรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ง่วงนอน กระทบต่อการทำงาน ผู้ป่วยมีประวัติรับประทานยา Lorazepam0.5mg 1# qn
อาการปัจจุบัน
ผู้ป่วยใช้เวลาในการเข้านอนค่อนข้างนาน ตื่นระหว่างคืนและไม่สามารถเข้านอนต่อได้ รู้สึกไม่สดชื่นในตอนเช้า อาการนี้กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน อาการร่วมคือ มีความเครียดจากการทำงาน วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ชอบถอนหายใจ รับประทานอาหารได้น้อย ปากขมและแห้ง การขับถ่ายมีท้องผูกบ้าง
การตรวจลิ้นและชีพจร ลิ้นแดงฝ้าขาวบาง ชีพจรตึงและเล็ก
ประวัติโรคในอดีต ไม่มี
การวินิจฉัย
1. ชื่อโรคทางแพทย์แผนจีน ปู๋เม่ย (不寐) / กลุ่มอาการไฟตับรบกวนหัวใจ (肝火扰心证)
2.ชื่อโรคทางแผนปัจจุบัน นอนไม่หลับ (失眠)
การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน
- วิธีการรักษา ระบายไฟตับ สงบจิตใจ
- ใช้การฝังเข็มสัปดาห์ละ 1ครั้ง จุดฝังเข็มที่ใช้ :
四神聪(SiShenCong, EX-HN1) 神门(ShenMen, HT7) 内关(NeiGuan, PC6) 申脉(ShenMai, BL62) 照海(ZhaoHai, KI6) 太冲(TaiChong, LR3) 三阴交(SanYinJiao, SP6) 印堂(YinTang, EX-HN3) 足三里(ZuSanLi, ST36) 行间(XingJian, LR2)
ประเมินผลการรักษา
หลังการรักษาครั้งที่1 (15 สิงหาคม 2565)
- คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น แต่เวลาที่ใช้ในการเข้านอนยังคงนาน เมื่อตื่นเช้าผู้ป่วยยังรู้สึกไม่สดชื่น จำนวนชั่วโมงในการนอนเพิ่มขึ้นเป็น 8 ชั่วโมง
- ลดปริมาณยานอนหลับลงได้ รับประทานยานอนหลับน้อยลงเป็น 3 ครั้งต่อสัปดาห์
หลังการรักษาครั้งที่4 (31สิงหาคม 2565)
- ผู้ป่วยใช้เวลาในการเข้านอนสั้นลง ในช่วงนี้ไม่มีตื่นระหว่างคืน ยังคงรู้สึกไม่สดชื่นในตอนเช้า
- รับประทานยานอนหลับบ้างในบางครั้ง
หลังการรักษาครั้งที่6 (20 กันยายน 2565)
- คุณภาพการนอนหลับดี ในบางเวลาที่มีความกังวลอาจส่งผลให้ผู้ป่วยใช้เวลาในการเข้านอนนานขึ้นบ้าง
- ผู้ป่วยสามารถหยุดการรับประทานยานอนหลับได้
วิเคราะห์ผลการรักษา(分析)
เนื่องจากผู้ป่วยมีความเครียดความวิตกกังวลจากการทำงาน และมีพื้นฐานทางอารมณ์คือหงุดหงิดง่าย ซึ่งอารมณ์ที่แปรปรวนมักส่งผลกระทบทำลายตับ ทำให้ชี่ตับไหลเวียนไม่สะดวก เมื่อชี่ตับติดขัดเป็นเวลานานจึงแปรเปลี่ยนกลายเป็นไฟ ไฟจึงลอยขึ้นไปรบกวนเสินของหัวใจ เสินหัวใจไม่สงบ จึงเกิดเป็นภาวะนอนไม่หลับ จุดฝังเข็มหลักที่ใช้ในการรักษาคือ จุด神门(ShenMen,ST7) อยู่ตรงรอยบุ๋มข้างปุ่มกระดูกของรอยพับข้อมือด้านในฝั่งนิ้วก้อย ชื่อของจุดนี้หมายถึง "ประตูของจิตใจ" จึงมีสรรพคุณเด่นในช่วยปรับการทำงานของหัวใจแบบควบคุมสองทิศทาง กล่าวคือทั้งช่วยดับไฟในหัวใจและช่วยเสริมชี่ของหัวใจ จึงทำให้จิตใจสงบ ไม่กระสับกระส่าย นอนหลับได้ดีขึ้น และเป็นจุดสำคัญในการรักษาโรคจิตประสาทด้วย; จุด内关 (NeiGuan, PC6) บริเวณตรงกลางเหนือรอยพับข้อมือด้านในขึ้นมา 2ชุ่น เสมือนเป็นด่านสำคัญทางแขนด้านใน สามารถช่วยปรับการเดินของชี่ ขยายทรวงอกให้โล่ง สงบจิตใจ; จุด申脉(ShenMai, BL62) และจุด照海(ZhaoHai, KI6) เป็นจุดที่เชื่อมเส้นลมปราณหยางเฉียวและอินเฉียว จึงสามารถปรับสมดุลอิน-หยางในร่างกายได้
สรุปผลการรักษา(总结)
- ในการรักษาภาวะนอนไม่หลับของตัวอย่างกรณีศึกษาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการฝังเข็มสามารถช่วยปรับคุณภาพการนอน การใช้ชีวิตประจำวัน และสภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วยให้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยลดและหยุดการรับประทานยานอนหลับได้
- การนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ภาวะนอนไม่หลับจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาหรือป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับระบบอื่นๆของร่างกายตามมาทีหลัง การฝังเข็มเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยรักษาและบรรเทาภาวะนอนไม่หลับได้ ซึ่งองค์การอนามัยโรค(WHO) ได้รองรับว่า“การฝังเข็มสามารถรักษาภาวะนอนไม่หลับได้ผลที่ดีอย่างชัดเจน” สามารถช่วยปรับอินหยางในร่างกายให้กลับมาสมดุล อีกทั้งการฝังเข็มยังสามารถช่วยปรับสภาพจิตใจ คลายความวิตกกังวลและความเครียด ทำให้จิตใจผ่อนคลายขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจได้อีกทางหนึ่งด้วย
การป้องกันโรค(预防调护)
- ปรับอารมณ์และจิตใจให้ผ่อนคลาย
- ปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ปรับเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นระบบ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณพอเหมาะ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างการรักษาเคสนอนไม่หลับ (Insomnia) ด้วยการฝังเข็มและยาจีน
พจ.ปิยะมาศ เมืองใชย(ปี้ หยา หม่า)
แผนกฝังเข็ม
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ส่งผลทำให้คนไข้มีอาการนอนไม่หลับเพิ่มขึ้น จากผลการวิจัยของรอยัล ฟิลิปส์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก พบว่ากลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่ากว่าสองในสามหรือ 71% มีสุขภาพการนอนที่แย่ลง ถึงแม้ใช้เวลานอนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.2 ชม.ต่อคืน แต่กว่า 41% พวกเขากลับรู้สึกไม่พึงพอใจต่อคุณภาพการนอน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 42% มีปัญหาตื่นนอนในช่วงกลางดึก และ 33% มีอาการเผลอหลับโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่ 26% มีอาการนอนไม่หลับ โดยสาเหตุอันดับแรกของการนอนไม่หลับมาจาก ความเครียดและวิตกกังวล (21%) รองลงมาคือ การใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต (17%) และสภาพแวดล้อมของการนอน (16%)
อาการแบบไหนถึงเรียกว่า “นอนไม่หลับ”
ความยากลำบากในการนอนหลับและการหลับอย่างต่อเนื่องและคุณภาพการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ
นอนไม่หลับอย่างน้อย 3 คืนต่อสัปดาห์ และยาวถึง 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ
ครุ่นคิดถึงผลกระทบของโรคนอนไม่หลับตลอดทั้งวัน
ผู้ป่วยเกิดความเครียดเพราะนอนไม่หลับและกระทบชีวิตประจำวัน
อาการนอนไม่หลับสามารถกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่รบกวนจิตใจและกระบวนการทำงานของร่างกาย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ประสิทธิภาพการเรียน หรือการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ ความจำลดลง ฯลฯ
ปกติทั่วไป คนเรามีชั่วโมงการนอนที่ต่างกันออกไปตามช่วงอายุ เด็กแรกเกิดอยู่ที่ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน จากนั้นค่อยๆลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยจำนวนชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมของ ผู้ใหญ่อยู่ที่ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
อายุที่เพิ่มขึ้น ความต้องการในการนอนหลับลดลง เพราะร่างกายผลิตสารเซโรโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้นอนหลับได้ลดลง จึงมักพบปัญหาการนอนไม่หลับได้มากในช่วงวัยกลางคน รวมทั้งวัยชรา
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
ในมุมมองของแพทย์แผนจีนมักสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ อารมณ์แปรปรวน การตรากตรำทำงานหนัก หรือร่างกายอ่อนแอหลังจากเจ็บป่วย เป็นต้น
ตำแหน่งของโรคอยู่ที่หัวใจ สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับตับ ม้าม ไต ถุงน้ำดีและกระเพาะอาหาร
กลไกการเกิดโรค คือ เสินหัวใจขาดการหล่อเลี้ยง หรือถูกรบกวน จิตใจไม่สงบ การทำงานของเส้นลมปราณอินเฉียวม่าย หยางเฉียวม่ายขาดสมดุล หยางแกร่ง อินพร่อง อินหยางขาดสมดุล หยางไม่เข้าสู่อิน
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ แบ่งการวินิจฉัยตามกลุ่มอาการ 5 ประเภท
1.กลุ่มอาการไฟตับรบกวนหัวใจ(肝火扰心证)
อาการ: นอนไม่หลับ ฝันมาก ในรายที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นนอนไม่หลับทั้งคืน ใจร้อน โมโหง่าย เวียนศีรษะ ตึงศีรษะ ตาแดง หูอื้อ ปากแห้งหรือปากขม ท้องผูก ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเร็ว(弦数)
วิธีรักษา: ปรับการไหลเวียนของชี่ตับ ระบายร้อน สงบจิตใจ
2.กลุ่มอาการเสมหะร้อนรบกวนหัวใจ(痰热扰心证)
อาการ: นอนไม่หลับ หงุดหงิด แน่นหน้าอก เรอ สะอึก ปากขม หนักศีรษะ ตาลาย ลิ้นค่อนข้างแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว(滑数)
วิธีรักษา: สลายเสมหะร้อน ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร สงบจิตใจ
3.กลุ่มอาการม้ามหัวใจพร่อง(心脾两虚证)
อาการ: หลับยาก ฝันมาก ตื่นบ่อย ใจสั่น ขี้ลืม อ่อนเพลีย แขนขาอ่อนแรง ทานอาหารน้อยลง ท้องอึด ถ่ายเหลว เวียนศีรษะ ตาลาย ใบหน้าไม่มีชีวิตชีวา ลิ้นซีดฝ้าบาง ชีพจรเล็กไม่มีแรง(细无力)
วิธีรักษา: บำรุงม้ามและหัวใจ บำรุงเลือด สงบจิตใจ
4.กลุ่มอาการหัวใจกับไตทำงานไม่ประสาน(心肾不交证)
อาการ: นอนไม่หลับ หงุดหงิด หลับยาก ใจสั่น ฝันมาก ปวดเมื่อยเอว ตัวร้อน เหงื่ออกตอนนอน ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน กลางอกร้อน เวียนศีรษะ คอแห้ง มีเสียงในหู ฝันเปียก(ผู้ชาย) ประจำเดือนมาไม่ปกติ(ผู้หญิง) ลิ้นแดงฝ้าบาง ชีพจรเล็กเร็ว(细数)
วิธีรักษา: บำรุงอิน ลดไฟ เชื่อมประสานหัวใจและไต
5.กลุ่มอาการชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง(心胆气虚证)
อาการ: นอนไม่หลับ ฝันร้าย ตื่นตกใจง่าย ขี้ตกใจ ขี้กลัว ใจสั่น หายใจสั้น เหงื่อออกง่าย อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ลิ้นซีด ชีพจรตึงเล็ก(弦细)
วิธีรักษา: บำรุงชี่ ลดอาการตกใจ สงบจิตใจ
ตัวอย่างกรณีการรักษาอาการนอนไม่หลับ
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN 345XXX
ชื่อ : คุณ นันXXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 21 สิงหาคม 2564
เพศ : หญิง
อายุ : 37 ปี
อุณหภูมิ 36 องศาเซลเซียส
ชีพจร : 91 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 131/73 mmHg น้ำหนัก : 72 กิโลกรัม
O2 sat : 99%
อาการสำคัญ (Chief complaint)
- เข้านอนยาก 2 ปี
อาการปัจจุบัน (Present illness)
เข้านอนยาก 2 ปี สามารถนอนได้เพียง 1-3 ชั่วโมงต่อคืนเท่านั้น บางครั้งนอนไม่หลับทั้งคืน ปกติต้องรับประทานยา Lorazepam ถึงสามารถเข้านอนได้ตามปกติ เนื่องจากการระบาดหนักของโควิด-19 ไม่สามารถเข้าไปตรวจและรับยาได้ตามปกติทำให้อาการหนักขึ้น นอนยาก ตื่นง่าย เข้านอนต่อลำบาก ร่วมกับมีอาการเครียด เนื่องจากภาวะงานที่เพิ่มขึ้น ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หายใจไม่สุด อ่อนเพลีย ฝันเยอะ ท้องอืด ชอบรับประทานขนมหวาน น้ำหนักเพิ่มขึ้น ขาดการออกกำลังกาย ขับถ่ายปกติ ชีพจรตึงเล็กเร็ว
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต( Past history)
- ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
- เคยรับประทานยานอนหลับ 2 ปี
การวินิจฉัยโรค(Diagnosis)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน : 不寐นอนไม่หลับ (กลุ่มอาการไฟตับรบกวนหัวใจร่วมกับม้ามพร่อง)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน : นอนไม่หลับ(Insomnia)
วิธีการรักษา(Treatment)
- รักษาด้วยการฝังเข็มเป็นหลัก ร่วมกับการใช้ยาจีนสำเร็จรูป
- ใช้หลักการรักษา ปรับการไหลเวียนของชี่ตับ ลดความเครียด ระบายร้อน สงบจิตใจ ร่วมกับปรับสมดุลกระเพาะอาหาร
ผลการรักษา(progression note)
- ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2564 - วันที่ 11 กันยายน 2564
รักษาครั้งที่ 2 วันที่22 /8/2564
หลังจากฝังเข็มไปครั้งแรก ยังนอนยาก ตี2 ถึงเข้านอน สามารถนอนได้ 7 ชั่วโมง อาการอ่อนเพลียดีขึ้น หายใจโล่งขึ้น ไม่มีอาการปวดศีรษะ
รักษาครั้งที่ 3 วันที่28/8/2564
สัปดาห์นี้นอนหลับดีขึ้น มีเพียงคืนวันที่27/8/2564ที่นอนยาก เนื่องจากเครียดเรื่องงาน แต่ไม่มีอาการปวดศีรษะ
รักษาครั้งที่ 4 วันที่11/9/2564
2 สัปดาห์นี้โดยรวมดีขึ้นมาก สามารถเข้านอนได้ตามปกติ นอนได้ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน สดชื่นขึ้น ไม่อ่อนเพลีย ไม่มีอาการท้องอึด ไม่มีอาการปวดศีรษะ ความจำดีขึ้น มีสมาธิ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุปผลการรักษา :
การฝังเข็มสามารถรักษาอาการนอนไม่หลับได้ผลดี จนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับบุคคล ปัจจัยกระตุ้น และการดูแลตัวเองของคนไข้ด้วย เช่น จัดที่นอนให้เหมาะสม เงียบสงบ เข้านอนเป็นเวลา หรืออาจผ่อนคลายก่อนนอน เช่น แช่เท้าด้วยน้ำอุ่น ฟังเพลง นั่งสมาธิฯลฯ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนนอน เลี่ยงการใช้มือถือหรือดูทีวีก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และเลี่ยงการดื่มชาหรือกาแฟหลังช่วงบ่าย ก็สามารถช่วยให้คนไข้นอนหลับได้ง่ายขึ้น และมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น
อ้างอิง
1. กรมสุขภาพจิต
2. บัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ฉบับทบทวนครั้งที่ 10 (ICD-10) ขององค์กรอนามัยโลก
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567