สะเก็ดเงิน

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  86 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สะเก็ดเงิน

“ไป๋ปี่”(白疕)เป็นชื่อโรคผิวหนังชนิดหนึ่งในตำราแพทย์แผนจีน ที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังเป็น ๆ หาย ๆ มีลักษณะเด่นของโรคคือ ผิวมีลักษณะสีแดงหรือผื่นสีแดงนูน ด้านบนปกคลุมด้วยขุยหรือสะเก็ดสีขาวหรือสีเงิน เมื่อขูดสะเก็ดออกจะพบเยื่อบาง ๆ พร้อมจุดเลือดออกเล็ก ๆ การดำเนินโรคยาวนาน กลับเป็นซ้ำได้ง่าย มักพบได้ในวัยรุ่นและพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยปกติแล้วอาการมักกำเริบในช่วงฤดูหนาว โดยมีปัจจัยเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม ซึ่งโรคนี้เทียบเคียงได้กับโรค “สะเก็ดเงิน (psoriasis)” ในชื่อทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

ลักษณะอาการทางคลินิก สามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
1. แบบทั่วไป เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด สามารถเกิดผื่นได้ทั่วร่างกายรวมถึงเล็บ มักเริ่มจากหนังศีรษะไปแขนขา ตัวผื่นสีแดงปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเงินสีขาว รอยโรคมีรูปร่างหลากหลาย มักเริ่มจากจุดเล็กและขยายเป็นผืนหรือเป็นรูปเหรียญ วงแหวน แผนที่ หรือเปลือกหอย เป็นต้น อาจพบตัวเล็บมีหลุมเป็นจุด ๆ เล็บไม่เรียบสม่ำเสมอหรือเล็บหนาตัว มักแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะกำเริบ ระยะสงบ ระยะฟื้นตัว โดยอาจมีหรือไม่มีอาการคันร่วม
2. ตุ่มหนอง ทางคลินิกพบได้น้อย ลักษณะของตุ่มหนองไม่มีการติดเชื้อแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ขึ้นเป็นตุ่มหนองกระจายตามบริเวณผื่นที่ขึ้นชนิดแบบทั่วไป มักพบอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ข้อปวดบวมร่วมกับอาการไม่สบายตัว กับอีกประเภทคือขึ้นเฉพาะบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มหนองไม่แตกง่าย ร่วมกับอาการแห้งลอก ตัวเล็บมักเปลี่ยนรูปและหนาตัว
3. ข้ออักเสบ มักเกิดอาการหลังจากพบอาการสะเก็ดเงินแบบทั่วไป หรือเกิดพร้อมกับสะเก็ดเงินชนิดอื่น ๆ มักมีอาการปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้าโดยเฉพาะปลายข้อนิ้ว หากอาการหนักอาจลามไปถึงข้อเข่า กระดูกก้นกบ กระดูกสันหลังได้ อาการแสดงคือข้อบวมแดง เคลื่อนไหวไม่สะดวก จนถึงข้อผิดรูป
4. ผิวแดงลอก มักเกิดจากการพัฒนาของโรคแบบทั่วไป หรืออาจเกิดจากช่วงระยะกำเริบมีการใช้ยาบางอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น หรืออาจเกิดจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ปริมาณมากแล้วหยุดยากระทันหัน อาการแสดงคือ ผิวแดงลอกทั่วตัว บวมแดง ผื่นแฉะหรือแห้งลอก ตัวเล็บหนาขึ้นและเปลี่ยนรูป มักพบอาการตัวร้อน กลัวหนาวร่วมด้วย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสะเก็ดเงิน
1. พันธุกรรม ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยสะเก็ดเงินจะมีประวัติของบุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติโดยนับย้อนไปภายใน 2-3รุ่น หากมีบิดามารดาเป็นสะเก็ดเงินโอกาสที่บุตรจะเป็นโรคมีมากกว่าประชากรทั่วไป
2. ภาวะทางอารมณ์ โดยเฉพาะ “ความเครียด” และภาวะทางอารมณ์อื่นๆที่สามารถส่งผลต่อภาวะเครียด เช่น โกรธ หงุดหงิด กังวล เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการกำเริบของผื่นได้
3. การติดเชื้อ การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการเห่อของผื่นสะเก็ดเงินได้  โดยเฉพาะเชื้อประเภท streptococcus 
4. ปัจจัยทางกายภาพ เช่น การกระทบกระแทก เกิดบาดแผล การเสียดสี การไหม้จากแสงแดด อาจทำให้เกิดผื่นใหม่ขึ้นได้
5. การใช้ยา การใช้ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดผื่นหรือผื่นเห่อขึ้น ควบคุมโรคได้ยากขึ้น เช่น ยาแก้อักเสบ (NSAIDs)
ยาต้านมาลาเรีย ยาลดไขมัน ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาลดความดัน

สะเกิดเงินแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
1. ระยะเฉียบพลันเกิดจากภาวะเลือดร้อน มีผื่นใหม่ขึ้นไม่หยุด ลุกลามอย่างรวดเร็ว สีของผื่นเป็นสีแดงสด มีขุยมาก คันมาก หากขูดขุยออกจะพบจุดเลือดออก คอแห้งกระหายน้ำบ่อย เจ็บคอ หงุดหงิดง่าย ท้องผูก 
แนวทางการรักษา :  ดับร้อนทำให้เลือดเย็น ลดอาการคัน
2. ระยะที่โรคสงบเกิดจากเลือดแห้ง (ขาดสารน้ำ) ลักษณะผื่น สีแดงซีด ขุยมากแต่ไม่หนา คัน ผิวค่อนข้างแห้ง
แนวทางการรักษา : พยุงเลือดบำรุงอิน ขจัดลมทำให้ผิวชุ่มชื้น
3. ระยะโรคเป็นมานานเกิดจากเลือดอุดตัน ลักษณะผื่น ผื่นเป็นๆหายๆมาเป็นระยะเวลานาน สีของผื่นเป็นสีแดงคล้ำ ขุยหนา แข็งหลุดยาก คัน
แนวทางการรักษา : เพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง ลดอาการคัน

การปฏิบัติดูแลตนเองเพื่อป้องกันและรักษา
- หมั่นดูแลสุขภาพ เพื่อยกระดับเลือดลม เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ไม่ควรอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นจัดๆ หรือร้อนจัดเกินไป
- หลีกเลี่ยงการทานยาที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้มีผื่นขึ้น
- กรณีที่มีการทานยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิไม่ควรหยุดยากะทันหัน
- หากมีการใช้ยาใช้ภายนอกในบริเวณกว้างควรระวังเรื่องความเข้มข้นของยา
- ผื่นบริเวณใต้รักแร้ อวัยวะเพศ ขาหนีบหรือใบหน้าไม่ควรใช้ยาที่มีผลข้างเคียงมาก
- หากมีการติดเชื้อควรรักษาการติดเชื้อก่อน
- หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่มีฤทธิ์รุนแรง เป็นไปได้มึควรใช้สบู่ทุกครั้งที่มีการอาบน้ำ
- หลีกเลี่ยงการทางอาหารรสจัด อาหารมัน หรือ เนื้อประเภทเนื้อแดง เน้นทานปลา หรือผักผลไม้ที่ไม่หมักดอง
- งดสูบบุหรี่  เหล้า แอลกอฮอลล์
- หลีกเลี่ยงสภาวะเครียด คิดมาก พยายามทำจิตใจให้ผ่องใส

ตัวอย่างการรักษาสะเก็ดเงินในวัยรุ่น

ตรวจรักษาครั้งแรกวันที่ 26-02-2023
ผู้ป่วยเพศชาย ชาวไทย อายุ 15 ปี
อุณหภูมิร่างกายปกติ, ชีพจร 84/min, ความดัน 130/72 mmHg, น้ำหนัก 78.9 kg 
อาการสำคัญ : คนไข้มาด้วยอาการผื่นแดงและมีสะเก็ดทั่วร่างกายเว้นใบหน้าร่วมกับมีอาการคันในบางครั้งเป็นเวลา 5 เดือนกว่า
เมื่อ 5 เดือนก่อนคนไข้เริ่มมีผื่นขึ้นร่วมกับอาการคันบริเวณหนังศีรษะและลุกลามมากขึ้นทั่วตัว ได้พบแพทย์แผนปัจจุบันและถูกวินิจฉัยเป็นโรค “สะเก็ดเงิน” มีประวัติบิดามีโรคสะเก็ดเงินเช่นกัน เคยได้รับการรักษาด้วยยาทาชนิดสเตียรอยด์ไม่มียารับประทานแต่หาอาหารเสริมทานเอง ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการคันให้ลดลงแต่ผื่นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สามารถทานอาหารได้ปกติ ขับถ่าย 2 วันต่อครั้ง อุจจาระค่อนข้างแข็ง คนไข้ดื่มน้ำน้อยกว่า 2 ลิตรต่อวัน การนอนหลับปกติ
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีแดง ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ชีพจรลื่นเร็ว( 脉滑数)
พบผื่นทั่วร่างกายเว้นแต่บริเวณใบหน้า ตัวผื่นสีแดง ปกคลุมด้วยสะเก็ดขาวแห้ง
การวินิจฉัย : สะเก็ดเงิน(白疕/银屑病)
การรักษา : ทานยาและยาทาสมุนไพรจีนตำรับเซียวเฟิงส่านเพิ่มลด(消风散)ซึ่งมีสรรพคุณขจัดลม ขับความชื้นความร้อน บำรุงเลือด เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 2 วันที่ 02-04-2023
ชีพจร 81/min, ความดัน 111/54 mmHg
หลังรับประทานยาจีนไปครั้งแรกอาการคันบริเวณผื่นลดลง รอยผื่นตามร่างกายโดยรวมเรียบลงกว่าเดิมเริ่มมีการลอกของสะเก็ดมากกขึ้น คนไข้มีการปรับการดื่มน้ำมากขึ้น การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติ นอนหลับปกติ      
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีแดง ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กลื่นเร็ว (脉细滑数)
พบผื่นบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างเป็นสีแดงอ่อนบริเวณกว้างตัวผื่นค่อนข้างแห้ง
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับเดิมและปรับลดตัวยา เพิ่มสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณบำรุงเลือดเพิ่มการไหลเวียนเลือดและสารน้ำในร่างกาย เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 4 วันที่ 30-04-2023
ชีพจร 88/min, ความดัน 110/65 mmHg
ในระยะเวลาสามสัปดาห์ ผื่นทั่วตัวค่อย ๆ จางลงชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณแขนขา บริเวณกึ่งกลางผื่นเห็นเป็นลักษณะผิวปกติ สีผื่นค่อนข้างแดงคล้ำ มีสะเก็ดหลุดลอก ไม่พบอาการคัน ที่แผ่นหลังตัวผื่นจางลงแต่บริเวณหน้าท้องผื่นยังค่อนข้างหนาตัว และสีแดงเข้มบริเวณร่องจมูกทั้งสองข้างและแก้ม การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติวันละครั้ง นอนหลับปกติ
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีค่อนข้างแดง ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กลื่นเร็ว (脉细滑数)
พบผื่นบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างเป็นสีแดงอ่อนบริเวณกว้างตัวผื่นค่อนข้างแห้ง
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับเดิมและปรับลดตัวยา เพิ่มสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณลดการอักเสบดับร้อนขับพิษ เป็นเวลา 2 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 6 วันที่ 28-05-2023
ชีพจร 82/min, ความดัน 124/60 mmHg
ผื่นบริเวณแขนขา หลังจางลงชัดเจน ส่วนรอยผื่นบริเวณหน้าท้องค่อย ๆ จางลง ไม่พบอาการคัน บริเวณใบหน้ามีสิวผดขึ้นเล็กน้อย การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติวันละครั้ง นอนหลับปกติ
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีค่อนข้างแดง ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กลื่นเร็ว (脉细滑数)
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับเดิม เป็นเวลา 2 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 7 วันที่ 11-06-2023
ชีพจร 75/min, ความดัน 124/64 mmHg
ผื่นทั่วตัวจางลงเห็นเป็นรอยสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ ยังคงเหลือผื่นส่วนหน้าท้องเล็กน้อย ไม่พบอาการคัน ไม่มีผื่นใหม่ขึ้น บริเวณใบหน้าไม่พบสิวใหม่ขึ้น การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติวันละครั้ง นอนหลับปกติ
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีแดงอ่อน ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กลื่นเร็ว (脉细滑数)
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับเดิม เป็นเวลา 2 สัปดาห์
ติดตามอาการหลังหยุดรับประทานยาจีนเป็นเวลา 1 เดือน รอยผื่นจางลงตามลำดับและไม่พบผื่นใหม่ขึ้น

เคสตัวอย่างที่ 2 

ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 25 ปี วันที่เข้ามารับการรักษา 26/03/2021 HN:340***
อาการสำคัญ: ผื่นแดงคัน มีสะเก็ดหลุดลอก คันทั่วตัว1 เดือน
ประวัติปัจจุบัน: 
ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคสะเกิดเงินมา 15 ปี เมื่อ 1 เดือนก่อนผื่นสะเก็ดเงินกำเริบทั่วตัวมากขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มีอาการคันรุนแรง ผู้ป่วยสันนิษฐานเองว่าเกี่ยวกับอากาศที่เริ่มร้อนขึ้น  รู้สึกร้อนภายในร่างกายและรู้สึกร้อนขึ้นในเวลากลางคืน กระหายน้ำบ่อย ผู้ป่วยได้รับการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยยาชนิดรับประทาน MTX (9เม็ด/week) และ Acitretin (1เม็ด/day)และยาสเตียรอยชนิดทา ประจำเดือน 6/6m LMP 22/3/2021 ปริมาณน้อย สีปกติ  ขับถ่าย4-5วันครั้ง มีอาการตื่นกลางดึก  
ประวัติอื่นๆ:  ไม่มีประวัติแพ้อาหารหรือแพ้ยา ไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ
การตรวจร่างกาย: ผิวหนังทั้งตัวแห้ง แดง ลอกเป็นแผ่น / ขุยเล็กๆ ผิวบริเวณที่มีสีแดงจัดมีการหนาตัวขึ้นจากระดับผิวปกติ ที่บริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างพบตุ่มหนองร่วมด้วย ลิ้นสีแดงเข้ม ฝ้าเหนียว ชีพจร(ขวา)เล็ก(脉细) (ซ้าย)ลื่นเล็ก (脉细滑)
วินิจฉัย: สะเก็ดเงิน (pustular + erythodermic) กลุ่มอาการพิษอักเสบจากไฟร้อนกำเริบ
การรักษา: ขับร้อน ทำให้เลือดเย็น ลดอาการคัน
ตรวจซ้ำครั้งที่2 : 3 เมษายน 2564
ผิวที่บริเวณใบหน้าและลำคอแดงมากขึ้น มีอาการคันระหว่างวันเพิ่มขึ้น เมื่อมีเหงื่อออกจะคันเพิ่มขึ้น ความรู้สึกร้อนภายในร่างกายลดลง ขับถ่าย 2 วันครั้ง ทานอาหารได้ตามปกติ เรอ อาหารไม่ย่อย นอนหลับไม่สนิท
ตรวจซ้ำครั้งที่3 : 24 เมษายน 2564
หยุดยาจีนไป 2 อาทิตย์ บริเวณลำตัวมีอาการคันมาก มีผื่นขึ้นเพิ่มเป็นสีแดงสด ฝ่ามือแห้ง ลอก ตึง ลำตัวมีอาการคันระหว่างวันเมื่อมีเหงื่อออกจะคันเพิ่มขึ้น ขับถ่าย2วัน/ครั้ง นอนหลับไม่สนิท
ตรวจซ้ำครั้งที่4 : 21 พฤษภาคม 2564
หยุดยาจีนไป 2 อาทิตย์ มีผื่นขึ้นใหม่ที่บริเวณหน้าแข้ง ผิวแห้ง สีแดงจัด มีตุ่มหนองร่วมด้วยมักคันในเวลาเช้าและเมื่อมีเหงื่อออก ขับถ่าย 2-3วัน/ครั้ง นอนหลับปกติ

เคสตัวอย่างที่ 3

ข้อมูลทั่วไป : ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 35 ปี วันที่เข้ารับการรักษา: 26 มีนาคม 2564   HN: 338***
อาการสำคัญ : ผื่นแดงคันตามตัว 10ปี
ประวัติปัจจุบัน: 
10ปีก่อน ผู้ป่วยเริ่มมีผื่นแดงคัน ขึ้นตามลำตัว พบแพทย์ปัจจุบันได้รับการวินิจฉันว่าเป็นสะเก็ดเงิน และได้รับยาใช้ภายนอกมาทา ปัจจุบันมีผื่นที่บริเวณหน้าท้องและขาทั้งสองข้าง 1อาทิตย์ก่อนผู้ป่วยใช้ยาTriamcinolone 0.1% ทาเอง พบว่าอาการดีขึ้น ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาผู้ป่วยน้ำหนักขึ้นทั้งหมด 10กก.เคยลองลดน้ำหนักแต่อาการกลับเป็นหนักขึ้น ขับถ่ายทุกวัน บางครั้งถ่ายมีเลือดออก ประจำเดือน 7/30-60 LMP27/2/2021 ปริมาณมาก สีเข้ม
ประวัติอื่นๆ : ไม่มีประวัติแพ้ยาหรืออาหาร มีประวัติเป็นริดสีดวง 
การตรวจร่างกาย : บริเวณหน้าแข้งและเข่าทั้งสองข้างมีผื่นนูนแดง เป็นปื้นขนาดใหญ่ ด้านบนมีผิวแห้งลอกเป็นแผ่นเล็กๆ ผิวค่อนข้างแห้ง บริเวณท้องมีผื่นนูนสีแดงอ่อนมีลักษณะเป็นวง ด้านบนมีผิวแห้งลอกสีเงิน ผิวค่อนข้างแห้ง ลิ้นสีแดงฝ้าสีขาวบาง ชีพจรลึกเร็ว (脉沉数)
วินิจฉัย: สะเก็ดเงิน (Psoriasis vulgaris)
การรักษา: บำรุงชี่ กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ขจัดลมลดอาการคัน
ตรวจซ้ำครั้งที่ 4: 21 มีนาคม 2564
ช่วงอาทิตย์แรกสีผื่นจางลง แต่อาทิตย์ที่ 2 มีผื่นใหม่เกิดขึ้นเป็นจุดเล็กๆที่บริเวณหน้าแข้ง มีอาการคัน 
ใช้ยาสเตียรอยชนิดทา2วัน/ครั้ง คอแห้ง ขับถ่ายทุกวัน 
ตรวจซ้ำครั้งที่ 5: 28 มีนาคม 2564
อาทิตย์ที่ผ่านมาผื่นสะเก็ดเงินมีสีจางลงและผื่นหนาตัวน้อยลง มีอาการคันเป็นบางเวลา ใช้ยาสเตียรอยทา 2 วัน1ครั้ง
 LMP 22/ 3 / 2021 ขับถ่าย 2วัน/ครั้ง นอนดึกเป็นบางคืน 
ตรวจซ้ำครั้งที่ 6: 4 เมษายน 2564
ผื่นเริ่มมีขนาดเล็กลง สีจางลง มีอาการคันเป็นบางเวลา ใช้ยาสเตียรอยทา2วัน1ครั้ง ไม่มีอาการกระหายน้ำ ขับถ่ายทุกวัน 
มีการติดตามอาการหลังการรักษา 2 เดือนไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้