Last updated: 4 ต.ค. 2567 | 483 จำนวนผู้เข้าชม |
รังสีอัลตราไวโอเลต(UV-Ultraviolet) เป็นรังสีที่มาพร้อมกับแสงแดดในชีวิตประจำวัน หลายๆคนมีความเชื่อว่า เป็นรังสีที่อันตรายต่อชั้นผิวหนัง ก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ผิวหนังอีกทั้งยังทำให้เกิดโรคต่างๆได้อีกมากมาย ควรหลีกเลี่ยงและควรป้องกันเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?
แสงจากดวงอาทิตย์ ประกอบไปด้วยรังสี 2 ส่วน คือ รังสีที่มองเห็นได้และรังสีที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ในส่วนของรังสีที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจะมี 7 สี จะเห็นได้ต่อเมื่ออากาศมีความชื้นสูงและรังสีจากดวงอาทิตย์ตกกระทบกับน้ำในอากาศ เราจึงจะมองเห็นสีทั้ง 7 ได้ หรือที่เราเรียกว่า “รุ้งกินน้ำ” นั่นเองและรังสีที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น คือพลังงานในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ มี 2 ส่วนคือ
1.รังสีอัลตราไวโอเลต(UV-Ultraviolet) ทำให้เกิดการเผาไหม้
2.รังสี อินฟาเรด (Infrared) ทำให้เกิดความร้อน
รังสีอัลตราไวโอเลต (UV-Ultraviolet) คือ รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีความยาวคลื่นในช่วง 100 - 400 นาโนเมตร ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากช่วงความยาวคลื่นไม่ถึงช่วง Visible Light ที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ โดยสามารถแยกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ UVA UVB คือ รังสีที่เรามักจะพบได้ในชีวิตประจำวัน ส่วน UVC จะเป็นรังสีอันตรายที่ถูกกั้นเอาไว้ในชั้นบรรยากาศ เราจึงไม่ได้สัมผัสกับรังสีนี้โดยตรงในชีวิตประจำวัน โดยรังสีแต่ละชนิด มีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
รังสี UVA (Long wave UVR หรือ Black light) ความยาวคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลต ชนิด UVA จะอยู่ที่ประมาณ 300 - 400 นาโนเมตร พบในแสงแดดได้ ประมาณ 75% สามารถทะลุลงไปยังภายในชั้นผิวหนัง ทำลายสารองค์ประกอบที่สำคัญ จนส่งผลกระทบให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดจุดด่างดำ ฝ้ากระ และทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังขึ้นได้อีกด้วย
รังสี UVB (Middle UVR หรือ Sunburn radiation) ความยาวคลื่นจะอยู่ที่ประมาณ 290 - 320 นาโนเมตร พบได้ 18% ของแสงแดดที่ส่องลงมายังพื้นโลก ทำให้รังสีชนิดนี้ มีอำนาจในการทะลุเข้าสู่ชั้นผิวหนังกำพร้าและผิวหนังแท้ชั้นบน ส่งผลให้เกิดอาการผิวไหม้แดด แสบร้อน เกิดการระคายเคืองผิว และไวต่อแสงมากขึ้น เป็นต้น
รังสีอัลตราไวโอเลต ชนิด UVC (Short wave UVR หรือ Germicidal radiation) จะมีความยาวคลื่นประมาณ 200 - 290 นาโนเมตร ซึ่งเป็นรังสีคลื่นสั้นที่มักจะถูกดูดซับในชั้นบรรยากาศโอโซนไปทั้งหมด จึงทำให้ไม่มีรังสี UVC ส่องลงมายังพื้นโลกได้ ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่ถ้าหากชั้นบรรยากาศไม่สามารถดูดซับรังสีชนิดนี้ไว้ได้ทั้งหมด ก็จะทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังเป็นอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย
ประโยชน์รังสีอัลตราไวโอเลต
1.ช่วยกระตุ้นการสร้างวิตามินดีให้แก่ร่างกาย
2.สามารถนำรังสีอัลตราไวโอเลตไปรักษาโรคกระดูกและโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น โรคด่างขาว โรคสะเก็ดเงิน โรคกระดูกอ่อนในเด็ก ฯลฯ
3.เป็นแบล็กไลต์ (black light) เพื่อตรวจเอกสารสำคัญ เช่น ธนบัตร, หนังสือเดินทาง, บัตรเครดิต ฯลฯ
4.ใช้ในการวิเคราะห์แร่ต่างๆได้
5.ฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะภายในน้ำดื่ม อาหาร หรือเครื่องมือต่างๆ
6.นำรังสีอัลตราไวโอเลตมาประยุกต์ใช้ในทางการเกษตรได้
อันตรายของรังสีอัลตราไวโอเลต
1. ทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย ผิวหนังเหี่ยวย่น
UVA หากทะลุผ่านผิวหนังชั้นนอกไปยังชั้นหนังแท้ จะสามารถส่งผลต่อกระทบต่อโครงสร้างของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นต้นเหตุของริ้วรอยและความหย่อนคล้อย
2. ผิวคล้ำแดด ผิวไหม้แดด หน้าหมองคล้ำ
หากเราได้รับ UVB ในปริมาณสูงจนทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกถูกทำลาย ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดผิวหนังลอก แผลพุพองและเจ็บปวดได้ และเซลล์ผิวหนังที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะไวต่อรังสียูวีและบอบบางกว่าเซลล์ผิวเดิม ส่วนผู้ที่อาการไม่รุนแรงอาจเกิดเพียงผื่นแดงบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดดและค่อยๆหายเป็นปกติใน 2-3 วัน ทั้งนี้ การมีผิวไหม้จากแดดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วย
3. เกิดฝ้า จุดด่างดำ กระ
เมื่อผิวหนังสัมผัสกับรังสียูวี ร่างกายจะสร้างเม็ดสีเมลานิน (Malanin) ขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันผิวหนัง ทำให้ผิวมีสีคล้ำขึ้น เนื่องจาก UVA จะไปกระตุ้นการสร้างเม็ดสีของเซลล์ผิวชั้นนอก ส่งผลให้ผิวคล้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะกลับมาเป็นสีปกติได้ในเวลาไม่นาน ส่วน UVB นั้นไม่ทำให้ผิวคล้ำขึ้นในทันที แต่อาจเกิดขึ้นหลังจากผ่านไปแล้วประมาณ 3 วัน และใช้เวลานานหลายสัปดาห์จึงกลับเป็นปกติ นอกจากนี้ UVB ยังส่งผลให้ผิวชั้นหนังกำพร้าหนาขึ้นอีกด้วย
4. เกิดอาการแพ้แสงแดด ระคายเคือง
เกิดกับผู้ที่ผิวหนังไวต่อรังสียูวี แม้ได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ก่อให้เกิดอาการแพ้คล้ายผิวไหม้ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาหารที่บริโภค เครื่องสำอาง หรือยาบางชนิดหรือปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย
5. มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
จากงานวิจัยพบว่ารังสียูวีทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ในร่างกาย นอกจากนั้น รังสียูวียังเข้าทำลาย DNA ของเซลล์ผิวหนังได้โดยตรง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
6.เมื่อสัมผัสกับดวงตาโดยตรง จะทำให้เกิดโรคต้อเนื้อ โรคต้อกระจก เยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบ
7.ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
การป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
1. หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วง 9.00-14.00 น.
เนื่องจากช่วงเวลานี้มีความเข้มของรังสียูวีมากและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งในช่วงเวลาดังกล่าว ควรทาครีมกันแดดทุกครั้ง ทั้งนี้ การอยู่ในที่ร่ม เช่น ภายในอาคาร หอพัก ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะบริเวณใกล้หน้าต่างหรือพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง ไม่อาจช่วยป้องกันจากรังสียูวีได้เสมอไป จึงควรใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ทาครีมกันแดด สวมเสื้อแขนยาว เป็นต้น
2. สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวผ้าทอที่รัดรูปและมีสีเข้ม
เพราะเสื้อผ้าสีเข้มมีประสิทธิภาพในการปกป้องร่างกายจากรังสียูวีมากกว่าเสื้อและกางเกงที่โปร่งบางและมีสีอ่อน ในปัจจุบันเสื้อผ้าบางยี่ห้อหันมาใช้สารเคลือบวัสดุสิ่งทอที่มีคุณสมบัติดูดซับรังสียูวี ซึ่งจะระบุคุณสมบัติในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตโดยใช้เลขตั้งแต่ 15 จนถึง 50+ ยิ่งตัวเลขมากเท่าไรก็ยิ่งแสดงถึงระดับการปกป้องที่มากตามไปด้วย
3.สวมหมวก
เลือกหมวกที่มีปีกกว้าง 2-3 นิ้ว หรือหมวกแก๊ปที่มีผ้าคลุมต้นคอ เพื่อป้องกันคอจากแสงแดด หากไม่มีอาจใช้ผ้าบางผืนใหญ่สวมไว้ใต้หมวกทดแทนได้
4.แว่นกันแดด
ควรเลือกสวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์ขนาดใหญ่และมีคุณสมบัติป้องกันรังสี UVA และ UAB ได้ 99-100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมักติดป้ายกำกับว่า “UV Absorption up to 400 nm” หรือ “Meets ANSI UV Requirements” หากแว่นกันแดดมีคุณสมบัติป้องกันรังสียูวีได้เพียง 70 เปอร์เซ็นต์ จะติดป้ายว่าเป็นเครื่องสำอาง (Cosmetic) ส่วนแว่นกันแดดที่ป้องกันรังสียูวีไม่ได้ อาจไม่มีป้ายกำกับไว้ ทั้งนี้ ความเข้มของสีเลนส์นั้นไม่ได้บ่งบอกถึงคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวี
5.ร่ม
การกางร่มไม่สามารถป้องกันรังสียูวีได้ 100% แต่มีงานวิจัยกล่าวว่าการใช้ร่มกันแดดร่วมกับการทาครีมกันแดดช่วยป้องกันร่างกายจากรังสียูวีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ร่มเพียงอย่างเดียว
6.ครีมกันแดด
คือผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากรังสียูวี ควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันรังสี UVB (Sun Protection Factor: SPF) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ทาในปริมาณที่เพียงพอและทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ครีมกันแดดอาจหลุดลอกและมีประสิทธิภาพลดลงได้หากผิวหนังสัมผัสน้ำ ดังนั้น การเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติกันน้ำอาจช่วยคงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีไว้ได้
7.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำผิวแทนและหลอดไฟแสงยูวี
รังสียูวีจากอุปกรณ์สร้างรังสียูวีนั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ไม่ต่างจากรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ในปัจจุบันหลอดไฟแสงยูวียังถูกนำมาใช้งานในหลายด้าน เช่น การทำเล็บเจล ซึ่งแม้จะมีปริมาณรังสียูวีไม่มาก แต่ก็ควรป้องกันด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนใช้อุปกรณ์เหล่านี้
วิธีการดูแลผิวหลังออกแดดตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
1. สามารถนำว่านหางจระเข้ (芦荟) พอกหน้าหลังออกแดดทันที 20-30 นาที หรือทาก่อนลงครีมบำรุงตัวอื่นๆ
ในทางการแพทย์แผนจีน ว่านหางจระเข้ (芦荟) หากใช้ภายนอก มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ สมานแผล ต้านอนุมูลอิสระ ริ้วรอยก่อนวัย นอกจากนี้ยังช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น เหมาะสำหรับผู้ที่ผิวแห้ง ขาดน้ำ ผิวไหม้จากแสงแดด หรือหลังทำการทำหัตถการด้วยเลเซอร์
2.หลังออกแดด สามารถนำน้ำผึ้ง (蜂蜜 ) ทาทั่วบริเวณใบหน้า ทิ้งไว้15-20 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เนื่องจากน้ำผึ้งประกอบไปด้วยกรดอะมิโน เอนไซม์ น้ำตาลและวิตามินที่มีประโยชน์จำนวนมาก ที่ร่างกายมนุษย์สามารถดูดซึมได้ มีคุณสมบัติช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี ป้องกันการระคายเคือง ช่วยเสริมสร้างเซลล์ผิวให้แข็งแรง อ่อนนุ่ม ช่วยทำให้ผิวพรรณชุ่มชื้น
3. การกวาซาหน้าด้วยหยก (刮痧) ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน หยก (玉) เป็นหินที่มีความเย็น ช่วยปรับธาตุ ดูดซับความร้อนและพิษร้อนจากร่างกายได้ดี หลังออกแดดหรือผิวหน้าคล้ำหลังจากโดนแดด สามารถใช้หัตถการการกวาซาใบหน้า เพื่อช่วยลดความร้อนใต้ผิว กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เพิ่มความชุ่มชื้น ปลอบประโลมผิวและป้องกันการเกิดฝ้า กระ จุดด่างดำได้ [331]
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน รัญชนา ตั้งมั่นเจริญสุข (หมอจีน ซุน หลี )
孙梨 中医师
TCM. Dr. Runchana Tangmancharoensuk (Sun Li )
คลินิกดูแลสุขภาพผิวพรรณ 养颜护肤科 (Dermatology & Healthy Skin Clinic)
20 ม.ค. 2568
12 พ.ย. 2567
15 พ.ย. 2567
26 ก.ย. 2567