อาการนอนกัดฟัน…เรื่องเล็กที่ไม่ควรมองข้าม

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  1645 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อาการนอนกัดฟัน…เรื่องเล็กที่ไม่ควรมองข้าม

คุณเคยประสบกับปัญหาตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น ปวดศีรษะ ปวดข้อต่อขากรรไกร หรือฟันโยก เนื่องจากการนอนกัดฟันหรือไม่ ถ้าคำตอบ คือ “ใช่” แสดงว่าคุณอาจกำลังประสบกับโรคความผิดปกติจากการหลับอย่างไม่รู้ตัว จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าประชากรโลกกว่าร้อยละ 45 มักพบอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งจากการนอน เช่น นอนละเมอ นอนกรนหรือนอนกัดฟัน ในขณะที่ร้อยละ 35 มีอาการนอนกัดฟัน เมื่อนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพ รู้สึกง่วงและหาวอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงระหว่างวันก็จะลดลง ซึ่งพบว่าการนอนกัดฟันจะพบในช่วงวัยเด็กมากที่สุด ร้อยละ 15-40 ขณะที่ในช่วงวัยผู้ใหญ่จะพบเพียงร้อยละ 8-10

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการนอนกัดฟันจะต้องประสบกับปัญหาโรคผิดปกติจากการนอนหลับ กล่าวคือ การนอนกัดฟันยังสามารถเกิดจากปัจจัยและสาเหตุของการนอนกัดฟัน (Sleep Bruxism) ดังนี้

  1. สภาพของจิตใจ การดำเนินชีวิตประจำวันอาจมีความเครียด การใช้ยาหรือสารเสพติดบางประเภท, การดื่มแอลกอฮอล์ หรือได้รับแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เนื่องจากความเร่งรีบในการทำงานก็เป็นสาเหตุที่ให้เรานอนกัดฟันในเวลานอน โดยเราไม่รู้สึกตัวได้
  2. สภาพฟัน อาจมีจุดสูงที่อยู่บนตัวฟัน ที่อาจเกิดจากวัสดุอุดฟัน มีการเรียงกันของฟันที่ผิดปกติ ฟันซ้อนเก หรือเป็นโรคทางช่องปากอื่น ๆ ที่ทำให้คนไข้ที่สูญเสียฟันแท้ไป

ซึ่งในทางการแพทย์แผนจีนได้เล็งเห็นถึงอันตรายเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามจากการนอนกัดฟัน เพราะปัญหาเล็ก ๆ เช่น การนอนกัดฟันสามารถเป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับและยังส่งกระทบต่อคนรอบข้างได้ด้วยเช่นกัน โดยอาการนอนกัดฟันมีความเกี่ยวข้องกับเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณจุดบดเคี้ยว และในทางการแพทย์แผนจีนตับมีบทบาทกำกับเส้นเอ็น ไม่ว่าจะเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องจากการนอนกัดฟัน อาการตะคริวหรืออาการเกร็งส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปจนถึงปัญหาการกระตุกหรือการชักเกร็ง มักเกิดจากตับอินพร่อง เมื่ออินตับพร่อง ทำให้การหล่อเลี้ยงของน้ำในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นลดน้อยลง จนทำให้เกิดอาการหด รัด เกร็งของเส้นเอ็น นอกจากสาเหตุอินของตับพร่องแล้วยังมีสาเหตุมาจากอินของไตพร่องได้เช่นกัน เนื่องจากในทฤษฎีการแพทย์แผนจีนใน "ปัญจธาตุ"  五行 หรือ "อู่สิง" ตับจัดอยู่ในธาตุไม้ ไตจัดอยู่ในธาตุน้ำ จากทฤษฎีนี้ธาตุน้ำเป็นต้นกำเนิดของไม้ การทำงานของตับในการแพทย์จีนมีหน้าที่ปรับพลวัตของชี่ (气机 ชี่จี) หมายถึง ทิศทางการไหลเวียนของชี่ในทางขึ้น-ลง เข้า-ออก ถ้าพลวัตของชี่ไม่ติดขัด เลือดลมจะไหลเวียนปกติ อวัยวะภายในและระบบเส้นลมปราณจะอยู่ในภาวะสมดุล ในทางตรงกันข้ามถ้าพลวัตของชี่ไหลเวียนผิดปกติ จะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดและจินเย่ ชี่ของตับช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและของเหลวในร่างกายสะดวก ถ้าชี่ของตับติดขัด การไหลเวียนของเลือดก็จะติดขัด ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งได้เช่นกัน ไตเป็นต้นกำเนิดของชีวิต เป็นรากฐานของอวัยวะภายในและอิน-หยาง มีหน้าที่กักเก็บจิง (精) ไม่ให้จิงชี่ถูกใช้ไปโดยไม่จำเป็น คัมภีร์ซู่เวิ่น ลิ่วเจี๋ยจั้งเซี่ยงลุ่น《素问 。六节藏象论》กล่าวว่า “ไตมีหน้าที่เกี่ยวกับการจำศีล เก็บซ่อนเป็นทุน เป็นที่อยู่ของชี่” ในไตดูแลน้ำ รับสารจิงจากอวัยวะตันทั้ง 5 และอวัยวะกลวงทั้ง 6 มาเก็บซ่อนไว้ ไตจะสะสมให้มีจิงพอเพียงอยู่ตลอด หากหน้าที่ของไตพร่องจะกระทบต่อการเจริญเติบโต ซึ่งตามหลักปัญจธาตุไตอินเป็นต้นกำเนิดของอินตับ ถ้าตับขาดสารจิงของไตจึงทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยงจึงเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆของร่างกาย และการรักษาตามหลักการแพทย์แผนจีนจะเน้นการบำรุงสารน้ำและบำรุงอินตับ ในตำราซางหันลุ่น《伤寒论》มีบันทึกตำรายา 1 ตำรับ ชื่อตำรับเส่าเย่ากานช่าวทาง (芍药甘草汤) โดยมียาเพียง 2 ตัวคือ ไป๋สาว BaiShao และกานช่าว GanCao ซึ่งตำรับยานี้เน้นไปที่การบำรุงสารจำเป็น บำรุงเลือด บำรุงเส้นลมปราณ บำรุงตับลดปวด

ดังนั้นเมื่อตรวจพบอาการนอนกัดฟันตั้งแต่เริ่มต้นเราจึงควรดูแลตัวเองในเบื้องต้นตามหลักการแพทย์แผนจีนได้ดังนี้

  1. ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเข้าทำการรักษาการนอนกัดฟันด้วยการใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) เป็นเครื่องมือที่ใช้ใส่ในช่องปากเพื่อป้องกันการสึกของฟันมี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดนุ่มและชนิดแข็ง
  2. หากิจกรรมคลายเครียด ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการอยู่สภาวะกดดัน เน้นการออกกำกายในท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อ และดื่มน้ำเยอะ ๆ
  3. การกดจุดด้วยตนเอง ด้วยจุดดังนี้
    ตำแหน่งกดจุดได้แก่ : อินถาง 印堂 (Yintang, GV29), ไท่หยาง 太阳 (Taiyang, EX-HN5),  อิ๋งเซียง 迎香 (Yingxiang, LI20), เซี่ยกวน 下关 (Xiaguan, ST7), เจี่ยเชอ 颊车 (Jiache, ST6), ไป่ฮุ้ย 百会 (Baihui, DU20), ซ่วยกู่ 率谷 (Shuaigu, GB8), เฟิงฉือ 风池 (Fengchi, GB20), เหอกู่ 合谷 (Hegu acupoint, LI4), อินหลิงเฉวียน 阴陵泉 (yīn líng quán, Sp9), ไท่ชง 太冲 (Tàichōng, LR-3) เป็นจุดหลัก โดย "การนวดกดจุด" คือ การใช้มือกด นวด คลึง ตามจุดและบริเวณของเส้นลมปราณ ที่ใบหน้า ศีรษะ และลำคอ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่แข็งตึง นอกจากนี้ยังสามารถบำรุงอินหรือกระตุ้นอวัยวะตับและไตตามตำแหน่งที่กดจุดได้อีกด้วย ซึ่งใช้เวลาในการกดจุดประมาณ 5-10 นาที และใช้จุดรองอื่น ๆ ตามการวินิจฉัยของแพทย์

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ศศิพัชญ์ อิทธิชัยโฆษิตกุล (หมอจีน สุ่ย จิง ซิน)
许精鑫  中医师
TCM.Dr.Sasiphat Aitthichaikhositkun
แผนกกระดูกและทุยหนา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้