Last updated: 23 ม.ค. 2568 | 10 จำนวนผู้เข้าชม |
นวดกดจุดลดอาการปวดเข่า
เมื่อไหร่ก็ตามที่อากาศเย็น ลมแรง หรือฝนตก คุณเคยรู้สึกปวดเข่าบ้างไหม? เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณขึ้นลงบันได วิ่ง หรือกระโดด คุณเคยเจ็บเข่าบ้างไหม? เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณขยับหัวเข่า คุณเคยได้ยินเสียงกรอบแกรบจากหัวเข่าบ้างไหม? คุณเคยรู้สึกทรงตัวไม่ค่อยได้ หรือขาโก่งมากขึ้นหรือไม่ ถ้าเริ่มมีอาการเหล่านี้ คุณอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดเข่า ข้อเข่าติด ข้อเข่าฝืดตึง มีเสียงดังในข้อเข่า มีจุดกดเจ็บบริเวณข้อเข่า หรือข้อเข่าบวม
แพทย์แผนจีนมองว่าอาการเหล่านี้เกิดจากลม ความเย็น และความชื้นกระทบร่างกาย เกิดการติดขัดของชี่และเลือดในเส้นลมปราณ
โรคข้อเข่าเสื่อมมักมีความสัมพันธ์กับอายุ เพศ น้ำหนักตัว พันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และการบาดเจ็บ โดยส่วนใหญ่อาการเข่าเสื่อมมักพบในช่วงอายุ 40 ปี อาการจะชัดเจนขึ้นในช่วงอายุ 60 ปี มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน สรีระร่างกาย กระดูก และกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัวถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอาการเข่าเสื่อม เนื่องจากน้ำหนักตัวมีผลโดยตรงต่อแรงกระแทกบริเวณข้อเข่า หากมีน้ำหนักตัวที่พอดีจะช่วยลดแรงกระแทกภายในข้อเข่า งานวิจัยเผยว่าการลดน้ำหนักสามารถลดอาการปวดเข่าได้ดีถึง 25-50% อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานยกของหนัก นั่งยอง นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ การทำพฤติกรรมเหล่านี้เป็นประจำหรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมได้มากขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มคนอายุน้อยก็สามารถพบได้เช่นกัน อาจเกิดจากการบาดเจ็บต่างๆของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูกเป็นต้น
นวดกดจุด 4 จุดแก้อาการปวดเข่า
ช่วยให้ชี่และเลือดในร่างกายไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการปวดเมื่อย และเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อ
จุดที่ 1 ตู๋ปี๋ (犊鼻 ST35)
จุดตู๋ปี๋ เมื่องอเข่าจดนี้จะอยู่ขอบล่างของกระดูกสะบ้า ทางด้านนอกข้างเอ็นลูกสะบ้า ลักษณะคล้ายรูจมูกของลูกวัว จึงเป็นที่มาของชื่อจุดตู๋ปี๋ ตู๋ (犊) แปลว่าลูกวัว; ปี๋ (鼻) แปลว่าจมูก
จุดตู๋ปี๋ มีสรรพคุณในการทะลวงเส้นลมปราณ ขจัดลมสลายความเย็น กระตุ้นการไหลเวียนของชี่ ลดอาการบวม และระงับอาการปวด ในทางคลินิกจุดตู๋ปี๋เป็นจุดที่ใช้ในการรักษาอาการปวดเข่า อาการขาอ่อนแรง เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่สุด
จุดที่ 2 จุดกดเจ็บ หรือจุดอาซื่อเสฺวีย (阿是穴)
จุดกดเจ็บ จุดประเภทนี้ไม่มีตำแหน่งที่แน่นอนเป็นจุดที่มีอาการเจ็บ อาศัยการคลำการกดไปตามที่ผู้ป่วยบอกเล่าส่วนมากจุดกดเจ็บจะอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับตำแหน่งเกิดโรค แต่บางกรณีก็อาจอยู่ห่างจากตำแหน่งโรคที่เกิด
จุดที่ 3 เซวี่ยไห่ (血海 SP10)
จุดเซวี่ยไห่ จุดนี้อยู่บริเวณขอบด้านในของกระดูกสะบ้าขึ้นมา 2 ชุ่น
จุดเซวี่ยไห่ เซวี่ย (血) แปลว่าเลือด; ไห่ (海) แปลว่าทะเล ดังนั้นจุดเซวี่ยไห่จึงเปรียบเสมือนทะเลแห่งเลือด มีสรรพคุณในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ปรับประจำเดือน และเสริมสร้างเส้นเอ็น
จุดที่ 4 หยางหลิงเฉวียน (阳陵泉 GB34)
จุดหยางหลิงเฉวียน จุดนี้อยู่บริเวณหน้าแข้งด้านนอก ด้านข้างกระดูก Fibula เฉียงลงด้านหน้าจะมีรอยบุ๋ม
จุดหยางหลิงเฉวียน เป็นจุดหลักที่ใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นเอ็น มีสรรพคุณในการคลายเส้นเอ็น ทะลวงเส้นลมปราณ ระบายตับและถุงน้ำดี และดับร้อนระบายความชื้น
วิธีการนวด: ใช้นิ้วกดคลึงจุดข้างต้นจนรู้สึกถึงความปวดหน่วงหรือปวดอ่อน ๆ บริเวณจุดที่นวด ครั้งละ 1-2 นาที
ข้อควรแนะนำ หลีกเลี่ยงความเย็นที่จะมากระทบหัวเข่า เช่น ใส่ขายาว ไม่เดินเท้าเปล่าบนพื้นที่เย็น
----------------------------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ปภาวรินทร์ อัศวเดชเมธากุล (พจ.1188)
แผนกกระดูกและทุยหนา คลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
เอกสารอ้างอิง
[1] 沈雪勇, 刘存志. 经络腧穴学·全国中医药行业高等教育十四五规划教材. 北京:中国中医药出版社, 2021.
[2] 井夫杰, 杨永刚. 推拿治疗学·全国中医药行业高等教育十四五规划教材. 北京:中国中医药出版社, 2021.
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568