ทุยหนากับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1048 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทุยหนากับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มักเกิดขึ้นหลังจากคลอดลูกภายในระยะเวลา 4 เดือน เนื่องจากร่างกายและฮอร์โมนต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้คุณแม่หลาย ๆ ท่านรู้สึกว่าเรื่องต่าง ๆ เหนือความควบคุมมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย รู้สึกไม่พอใจตนเอง เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดลูก หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของคุณแม่และการดูแลลูกน้อยอาจทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร กรณีร้ายแรงอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ในทางคลินิกผู้ป่วยมักมาด้วยอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรง เหนื่อยล้า แน่นหน้าอก ใจสั่น เบื่ออาหาร ขี้ลืม เหงื่อออก เวียนศีรษะ ผิวหน้าสีค่อนข้างเหลือง ลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรละเอียด ในทางการรักษาโดยวิธีทุยหนา หรือ การนวดรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน จะแบ่งการรักษาออกเป็นสามตำแหน่งดังนี้

  1. บริเวณศีรษะ : แพทย์จะใช้สามนิ้วมือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง กดคลึงไปบริเวณด้านข้างศีรษะของผู้ป่วยไปกลับ 10 ครั้ง จากนั้นใช้แค่สองนิ้วมือกดคลึงจุดอิ้นถัง(EX-HN3, 印堂), ไป่หุ้ย(GV20, 百会), เสินถิง(GV24, 神庭)กดคลึงบริเวณหน้าผากและไท่หยาง(EX-HN5, 太阳)ทั้งสองข้าง ทำไปกลับซ้ำ 10 ครั้ง
  2. บริเวณหน้าท้อง : ใช้ฝ่ามือกดคลึงหน้าท้องตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกา 5 นาที จากนั้นกดคลึงจุดจงหว่าน(CV12, 中脘), เสินเชฺวี่ย(CV8, 神阙)และชี่ไห่(CV6, 气海)จุดละ 1 นาที ใช้ฝ่ามือคลึงหน้าท้องตั้งแต่บริเวณซี่โครงล่าง ๆ จนถึงกระดูกหัวหน่าว
  3. บริเวณหลัง : ใช้ฝ่ามือบีบบริเวณบ่าทั้งสองข้างหรือจุดเจียนจิ่ง(GB21, 肩井) ค้างไว้ 1 นาที ใช้ฝ่ามือดันตามแนวเส้นลมปราณตู(督脉)และเส้นลมปราณไท่หยาง(太阳经)จากนั้นกดคลึงจุดซินซู (BL15, 心俞), ผีซู(BL20, 脾俞), เว่ยซู(BL21, 胃俞)และเซิ่นซู(BL23, 肾俞)

ในทางการแพทย์แผนจีนมักจะพบภาวะซึมเศร้าหลังคลอดชนิดหัวใจและม้ามพร่อง(心脾两虚)ถ้าเป็นประเภทนี้เราจะใช้วิธีการรักษาโดยบำรุงหัวใจม้ามและเพิ่มชี่(养心健脾益气)ซึ่งการรับประทานยาจีนและการทุยหนาบริเวณศีรษะ หน้าท้อง หลัง จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ปรับสมดุลเลือดลม ช่วยในการนอนหลับ บรรเทาอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้

ตำแหน่งจุดฝังเข็ม / จุดทุยหนา

อิ้นถัง(EX-HN3, 印堂): อยู่บนแนวกึ่งกลางลำตัว อยู่กึ่งกลางหัวคิ้วทั้งสองข้าง
ไท่หยาง(EX-HN5, 太阳): ตรงรอยบุ๋มขมับ
ไป่หุ้ย(GV20, 百会): อยู่กึ่งกลางศีรษะ เมื่อลูบเบา ๆ จะรู้สึกว่าเป็นแอ่งบุ๋ม
เสินถิง(GV24, 神庭): อยู่กึ่งกลางชายผมด้านหน้า 0.5 ชุ่น

ชี่ไห่(CV6, 气海): อยู่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 1.5 ชุ่น
เสินเชฺวี่ย(CV8, 神阙): ตรงกลางสะดือ
จงหว่าน(CV12, 中脘): อยู่กึ่งกลางลำตัวระหว่างหัวนมและสะดือ

เจียนจิ่ง(GB21, 肩井): อยู่บนบ่ากึ่งกลาง
ซินซู (BL15, 心俞): บนหลัง ระดับขอบล่างปุ่มกระดูกสันหลังอกที่ 5 ข้างแนวกึ่งกลางตัว 1.5 ชุ่น
ผีซู(BL20, 脾俞): บนหลัง ระดับขอบล่างปุ่มกระดูกสันหลังอกที่ 11 ข้างแนวกึ่งกลางตัว 1.5 ชุ่น
เว่ยซู(BL21, 胃俞): บนหลัง ระดับขอบล่างปุ่มกระดูกสันหลังอกที่ 12 ข้างแนวกึ่งกลางตัว 1.5 ชุ่น
เซิ่นซู(BL23, 肾俞): บนหลัง ระดับขอบล่างปุ่มกระดูกสันหลังเอวที่ 2 ข้างแนวกึ่งกลางตัว 1.5 ชุ่น

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนธนภรณ์ ธนศรีวนิชชัย (หมอจีน หลิว ฉาย เผิง)  
刘财蓬 中医师
TCM. Dr. Tanaporn  Tanasrivanichchai (Liu Cai Peng)
แผนกกระดูกและทุยหนา

อ้างอิง

  1. 高可新,自拟益气养血安神方联合三步推拿治疗心脾两虚型产后抑郁的疗效观察,哈尔滨医药2021年6月
  2. การฝังเข็ม - รมยาเล่ม 1 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2551

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้