Last updated: 22 ม.ค. 2568 | 7 จำนวนผู้เข้าชม |
สาเหตุของภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวทับเส้นประสาทในผู้สูงอายุ
(Herniated Disc in the Elderly)
ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวทับเส้นประสาทในผู้สูงอายุคือผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและได้รับการวินิจฉัยเป็น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวทับเส้นประสาท เนื่องจากการเสื่อมสภาพของข้อกระดูกสันหลังทรุดตัว ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นเพื่อต้านการทรุดตัวและไปกดทับเส้นประสาท หรือบางครั้งอาจเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท
มุมมอง แพทย์แผนปัจจุบัน
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นรวมถึงการทำงานในชีวิตประจำวันหมอนรองกระดูกสันหลัง-ได้รับแรงกด แรงบิด และแรงดึงเข้ามากระทำ ทำให้หมอนรองกระดูกค่อย ๆ เกิดการเสื่อมสภาพสารน้ำและความยืดหยุ่นของ Nucleus Pulposus ค่อย ๆ ลดลง จากนั้นความสูงของหมอนรองกระดูกก็จะลดลงไปด้วย เส้นเอ็นที่อยู่โดยรอบเกิดการหย่อนตัวลง หรือเกิดจากปัจจัยภายในที่ ปริแตกของหมอนรองกระดูกทำให้ Nucleus Pulposus ปริ้นออกมาด้านนอกกดทับเส้นประสาท ปัจจัยภายนอกมักเกิดจากการบาดเจ็บจากระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังได้รับแรงกดดันอย่างฉับพลันหรือต่อเนื่อง เช่น การก้มยกของหนัก การยืนเดินนั่งนอนในท่าทางที่ไม่เหมาะสม การเคลื่อนย้ายสิ่งของ การยกของหนักในลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือ ก้มทำงานเป็นระยะเวลานานแล้วเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงไปทางด้านหลัง ทำให้หมอนรองกระดูกด้านหลังได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นทำให้ Anulus Fibrosus เกิดการปริแตก และดัน Nucleus Pulposus ออกไปทางดันหลังมากดทับเส้นประสาท
มุมมอง แพทย์แผนจีน
ภาวะหมอนรองกระดูกส่วนเอวทับเส้นประสาท จัดอยู่ในกลุ่ม เยาท้ง (ปวดเอว) ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนเอวในผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์กับ อายุ การเพิ่มลดของเลือดชี่ ความแข็งแรงของกระดูก และเส้นเอ็น ในคัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง ได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายของแต่ละช่วงวัย เมื่ออายุถึงวัยกลางคน ผู้หญิงอายุ 35-49 ปี และผู้ชายอายุ 40-64 ปี เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มเสื่อมถอย โดยมีสาเหตุจากภายในและภายนอก ดังนี้
สาเหตุจากภายใน คือ ชี่ตับไตพร่อง สารจิงในไตถดถอย ไตเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์กับกระดูก ผลิตไขกระดูก ตับเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์กับเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เก็บกักเลือด กระดูกอาศัยกล้ามเนื้อประคับประคองให้ตั้งมั่น เมื่อตับพร่อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นไม่แข็งแรง ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นมีปัญหา ในระยะยาวสามารถส่งผลให้เป็นโรคกระดูกได้ นอกจากนี้ ตับและไตมีต้นกำเนิดเดียวกัน ( 肝肾同源 ) สารจิงในไตและเลือดในตับ มีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน เมื่อใดที่เลือดในตับพร่องลง ย่อมส่งผลให้สารจิงในไตพร่องลงไปด้วย สารจิงและเลือดพร่องลงไม่สามารถหล่อเลี้ยงกระดูก ส่งผลต่อการเสริมสร้างและความแข็งแรงของกระดูก กระดูกสันหลังส่วนเอวและเส้นเอ็นเสื่อมสภาพ
สาเหตุจากภายนอก คือ ปัจจัยก่อโรคจากภายนอก (เสียชี่邪气เช่น ลม ความเย็น ความชื้น) รุกรานเข้าสู่ร่างกาย หรือการบาดเจ็บจากการทำงานหนัก ทำให้เส้นลมปราณติดขัด ชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก ถูกสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อต่อจนเกิดอาการปวด
จะมีอาการอย่างไร
มีอาการปวดเอว ปวดสะโพกร้าวลงขา อาการจะปวดมากขึ้นเมื่อ
เกิดจากแรงดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น เช่น การไอ จาม หรือการเบ่งอุจจาระ
การเคลื่อนไหวในท่าทางที่ทำให้เส้นประสาทถูกดึงยืดจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น เช่น การเดิน การก้ม หรือการลุกขึ้นจากเก้าอี้ เป็นต้น ไม่สามารถก้มไปทางด้านหน้าได้ เมื่องอเข่าเข้ามาติดกับลำตัว หรือการนอนพักอาการจะดีขึ้น ในผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างหนักจะเคลื่อนไหวตัวลำบากจนลุกจากเตียงไม่ขึ้น พลิกตัวยากลำบาก
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้เป็นระยะเวลานานบริเวณที่มีอาการปวดร้าวลงขาจะมีความรู้สึกชา รู้สึกเย็น ๆ ที่บริเวณผิวหนัง และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่หมอนรองกระดูกปริ้นออกมาตรงกลางของกระดูกสันหลัง (central disc herniation)ไปกดทับ Cauda Equina จะมีอาการชาบริเวณอวัยวะเพศ ปวดเหมือนถูกเข็มแทง การขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะมีปัญหา เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือขาทั้งสองข้างอ่อนแรงจนขยับไม่ได้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดขาในช่วงระยะแรกแต่ไม่มีอาการปวดเอว
สามารถรักษาได้หรือไม่
ในทางแพทย์แผนจีน รักษาด้วยการนวดทุยหนาหรือการฝังเข็มเป็นหลัก ร่วมกับการทำดึงหลัง (traction) หรือการใช้ยาสมุนไพรจีน รวมไปถึงการฝึกท่ากายบริหาร ซึ่งผลการรักษาขึ้นอยู่กับความหนักเบาของแต่ละบุคคล เช่น
ในกรณีที่ไม่รุนแรงมาก อาการปวดอยู่ในระดับน้อยหรือปานกลาง สามารถเคลื่อนไหวหรือใช้งานในชีวิตประจำวันได้ แนะนำการรักษาด้วยนวดทุยหนาหรือการฝังเข็ม เห็นผลค่อนข้างดี ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 1-2 เดือน
ในกรณีที่รุนแรง ระดับอาการปวดมาก เคลื่อนไหวลำบาก กระทบการใช้งานในชีวิตประจำวัน ควบคุมการขับถ่ายลำบาก ผลการรักษาจะค่อนข้างช้า ใช้เวลาในการรักษามากกว่า 3 เดือน ร่วมกับการใช้ยาสมุนไพรจีนหรือยาแผนปัจจุบันได้
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน กรกฎ คุณโฑ (โจว เฉิง)
周承 中医师
TCM. Dr. Koraghod Khuntho (Zhou Cheng)
แผนกกระดูกและทุยหนา 骨伤推拿科 (Orthopedic and Tuina TCM Department)
เอกสารอ้างอิง
กรมพัฒนากรแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3. นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554
腰椎间盘突出的中医辨证分型. สืบค้น 3 กรกฎาคม2565, จาก https://health.baidu.com/m/detail/ar_8187581673701741950
การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน สืบค้น 7 กรกฎาคม2565, จาก https://www.huachiewtcm.com/การรักษาแบบแผนจีนมีอะไรบ้าง
ผศ.นพ.ต่อพงษ์ บุญมาประเสริฐ (2557) ปวดหลัง-ปวดคอ (LOW BACK & NECK PAIN) และ โรคข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (DEGENERATIVE DISEASES OF THE SPINE) หน่วยโรคกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568