ความลับของหัวใจฉบับแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1107 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความลับของหัวใจฉบับแพทย์แผนจีน

หากกล่าวถึงหัวใจผู้คนส่วนใหญ่มักนึกถึงอวัยวะหนึ่งซึ่งมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำงานบีบคลายตัวเป็นจังหวะ โดยหัวใจของคนเรานั้นประกอบด้วยกล้ามเนื้อหัวใจและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเป็นหลัก กล้ามเนื้อหัวใจเป็นกล้ามเนื้อลายที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจภายใน แต่ทราบหรือไม่ว่าในทางการแพทย์แผนจีนหัวใจ คือ “ธาตุไฟ” มีความเป็นหยางมากที่สุด หน้าที่สำคัญคือ

1. หัวใจกำกับหลอดเลือดและเลือด (วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ, 2554)  “心主血脉“

พื้นฐานของร่างกายประกอบด้วยอินและหยาง โดย “อิน” หมายถึงสสารหรือสภาวะการทำงานที่มีลักษณะสงบนิ่ง ตำแหน่งปรากฏอยู่ภายใน มีรูปร่างหรือมองเห็นได้ “หยาง” หมายถึงสสารหรือสภาวะการทำงานที่มีลักษณะของการเคลื่อนไหว ไม่มีรูปร่าง มีความสว่าง ความตื่นตัว เมื่อเปรียบเทียบหัวใจเหมือนเครื่องสูบ คอยสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือดซึ่งกล่าวคือพลังหยางของหัวใจจะคอยผลักดันให้เลือดไหลเวียนในหลอดเลือดและให้ความอบอุ่นทั่วร่างกาย ถ้าร่างกายของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังหยางของหัวใจ ระบบเลือดและการทำงานส่วนอื่น ๆ ของร่างกายจะปกติ ลักษณะที่พบจากภายนอก คือใบหน้ามีสีชมพูมีเลือดฝาด มีสง่าราศี

2. หัวใจควบคุมสติความรู้สึกตัว  “心主神志“

สติ หรือ เสิน (神) ทำหน้าที่ในการควบคุมการนึกคิด จิตสำนึก เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่สามารถสังเกตได้จากการแสดงออกของสีหน้า ความมีชีวิตชีวา แววตา

คัมภีร์เน่ยจิง ยังกล่าวอีกว่า หัวใจสัมพันธ์กับชีพจร ระบบไหลเวียนเลือดทั้งร่างกาย สีของใบหน้า โดยสีของใบหน้ายังสามารถบ่งบอกถึงการทำงานของหัวใจได้ อีกทั้งหัวใจยังเป็นเจ้าแห่งอวัยวะตันทั้งห้าและอวัยวะกลวงทั้งหกอีกด้วย หากเรามองร่างกายของเราเป็นเมือง เมืองที่ดีจำเป็นต้องมีผู้นำที่ดี ประชาชนหรืออวัยวะส่วนอื่นของร่างกายสงบสุขสมดุล ไม่เกิดโรค ถ้าหากผู้นำไม่ดี ประชาชนไม่เป็นสุข ส่งผลให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ได้

ในงานวิจัยทางคลินิกพบว่าผู้ป่วยหลังจากผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจมีลักษณะนิสัยเปลี่ยนไป เช่นเดิมชอบทานเผ็ด สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เปลี่ยนเป็นชอบทานรสเปรี้ยว ไม่ชอบทานรสเผ็ด ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ จึงสามารถอธิบายทางการแพทย์แผนจีนได้ว่า หัวใจสามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิดได้ พฤติกรรม ความชอบจึงเปลี่ยนไป หลังจากการผ่าตัด

ข้างต้นจึงเห็นได้ว่า หัวใจมีทำหน้าที่กำกับหลอดเลือดและเลือด ความรู้สึกนิกคิด จิตสำนึก รวมไปถึงควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติ สมดั่งประโยคที่ว่า “หัวใจเป็นเจ้าแห่งอวัยวะทั้งหมดของร่างกาย”และคำพูดทั่วไปที่ว่า “รู้ว่าใจคิดอะไรอยู่”

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ชนกนันท์ ชวชาติ (พจ 1883)
แผนกอายุรกรรม
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
พจ.1883

อ้างอิง
เกา หย่งเสียง และคณะ วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ. (2554). พจนานุกรมศัพท์การแพทย์แผนจีน (จีน-ไทย-อังกฤษ). กรุงเทพมหานคร: กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้