ตัวอย่างการรักษาอาการปวดท้องประจำเดือนด้วยการแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1515 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตัวอย่างการรักษาอาการปวดท้องประจำเดือนด้วยการแพทย์แผนจีน

ปวดท้องประจำเดือน คือ การที่ผู้หญิงมีอาการปวดท้องน้อยในช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน บางครั้งอาจจะมีอาการปวดร้าวไปที่เอว หรือปวดหนักจนทำให้หมดสติได้

มุมมองของแพทย์จีนต่อสาเหตุและกลไกการเกิดโรค

สาเหตุหลักของอาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากกลไกเลือดและชี่ ไหลเวียนติดขัดทำให้เกิดอาการปวด(不通则痛)และการที่มดลูดและเส้นลมปราณชงเญิ่นได้รับการหล่อเลี้ยงบำรุงไม่เพียงพอ(不荣则通)สาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือนยังแบ่งออกโดยละเอียดได้อีก 6 สาเหตุด้วยกันคือ

  1. ชี่ติดขัดเกิดเลือดคั่ง
    อารมณ์โกรธ โมโห หงุดหงิด มักทำให้ชี่ตับเดินติดขัด เกิดเลือดคั่งอุดกั้นที่มดลูกและเส้นลมปราณชงเญิ่น เมื่อถึงเวลาประจำเดือนมา เลือดไม่สามารถไหลเวียนลงมาได้จึงทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน
  2. ความเย็นและความชื้นอุดกั้น
    อากาศเย็นจากภายนอกหรือการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นทำให้เกิดความเย็นขึ้นภายในร่างกาย ความเย็นเหล่านี้เข้าอุดกั้นเส้นลมปราณชงเญิ่นและมดลูกทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนติดขัด จึงเกิดเป็นอาการปวดประจำเดือน
  3. ไตหยางพร่อง
    ไตหยางพร่องทำให้เกิดความเย็นสะสมในร่างกาย ความเย็นเข้าอุดกั้นเส้นลมปราณชงเญิ่นและมดลูกทำให้เลือดและชี่เดินติดขัด เลือดไหลเวียนได้ช้าลงจนเกิดเป็นอาการปวดท้องประจำเดือน
  4. ความชื้นร้อนและเลือดคั่งอุดกั้น
    เดิมทีร่างกายมีความชื้นร้อนสะสมอยู่ภายใน ความชื้นและความร้อนผสมกับเลือด แล้วไหลเวียนไปอุดกั้นเส้นลมปราณชงเญิ่นและมดลูกทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนติดขัด เมื่อถึงช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือนเลือดและชี่ไหลลงส่วนล่างของร่างกายทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนติดขัดมากยิ่งขึ้นจนเกิดเป็นอาการปวดท้องประจำเดือน
  5. ชี่และเลือดพร่อง
    ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอไม่สามารถผลิตเลือดและชี่ได้เพียงพอหรือเคยมีประวัติเสียเลือดเป็นจำนวนมากทำให้ชี่และเลือดพร่อง เมื่อถึงช่วงระหว่างหรือหลังมีประจำเดือนร่างกายสูญเสียเลือดทำให้ชี่และเลือดพร่องมากยิ่งขึ้นจนชี่และเลือดไม่เพียงพอต่อการบำรุงเส้นลมปราณชงเญิ่นและมดลูกได้จึงเกิดเป็นอาการปวดท้องประจำเดือน
  6. ตับและไตพร่อง
    เดิมทีร่างกายอ่อนแอหรือมีเพศสัมพันธ์มากเกินไปจนตับและไตพร่อง สารจิงและเลือดน้อย เส้นลมปราณชงเญิ่นอ่อนแอ มดลูกขาดการบำรุงเมื่อถึงช่วงระหว่างหรือหลังมีประจำเดือนเลือดและชี่ยิ่งพร่องมากขึ้นทำให้เกิดการปวดท้องประจำเดือน


ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยอาการปวดท้องประจำเดือน

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อ-นามสกุล น.ส ชXXX XXX
เพศ หญิง อายุ 24 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย 381XXX
วันที่เข้ารับการรักษา 28 เมษายน 2566

อาการสำคัญ ปวดท้องประจำเดือนนาน 1 ปี

ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน

  • 1 ปีที่แล้วเนื่องจากคนไข้มีความเครียดมากทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติและเริ่มมีอาการปวดท้องประจำเดือน
  • เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวณ ขี้ร้อน
  • คนไข้มักนอนดึกเป็นประจำ
  • รับประทานอาหารได้ปกติ
  • ขับถ่ายเป็นปกติ


ประวัติประจำเดือน 7/35-55 วัน ประจำเดือนมาล่าสุด(LMP) 25 เมษายน 2566 ปริมาณมาก (ใช้ผ้าอนามัย5-6 แผ่น/วัน) สีแดงสด มีลิ่มเลือด

ไม่เคยรับการรักษาทางแพทย์ปัจจุบัน

ประวัติตั้งครรภ์ 0-0-0-0

ประวัติเจ็บป่วยในอดีต

  • ปฏิเสธประวัติการแพ้ยา
  • ปฏิเสธประวัติการอาหาร
  • ปฏิเสธประวัติผ่าตัด


การตรวจร่างกาย

  • ลิ้นแดงคล้ำ มีจุดสีม่วง ปลายลิ้นแดง ฝ้าขาวบาง ชีพจรฮว่าซู


การวินิจฉัย

  • ในทางการแพทย์จีนวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดท้องประจำเดือน กลุ่มอาการความชื้นร้อนและเลือดคั่งอุดกั้น
  • ในทางการแพทย์ตะวันตกวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดท้องประจำเดือน


กลไกการเกิดโรค

  • เนื่องจากอารมณ์และความเครียด ทำให้ชี่ตับเดินติดขัดเกิดเป็นความร้อนขึ้นในร่างกาย อีกทั้งร่างกายมีความชื้นสะสมอยู่ เมื่อความชื้นและความร้อนในร่างกายอุดกั้นเส้นลมปราณชงเญิ่น ทำให้เกิดเลือดคั่ง ในช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือนเลือดและชี่ไหลลงส่วนล่างของร่างกาย ทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนไปสะสมและติดขัดมากขึ้นจนเกิดเป็นอาการปวดท้องประจำเดือน


วิธีการรักษา

  • ใช้ตำรับยาชิงเร่อเถียวจิงทังเพิ่มลด(清热调经汤加减)มีฤทธิ์ในการขับความร้อนและความชื้น เพิ่มการไหลเวียนเลือด ระงับอาการปวด


ประเมินผลหลังการรักษา(วันที่ 12 มิถุนายน 2566)

  • ประจำเดือนมาครั้งล่าสุด วันที่ 4 มิถุนายน 2566 เป็นระยะเวลา 5 วัน
  • หลังจากกินยาประจำเดือนมาปริมาณน้อยลงจนเป็นปกติ (ใช้ผ้าอนามัย 2 แผ่น/วัน)
  • ไม่มีอาการปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนไม่มีลิ่มเลือด
  • ไม่มีอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน
  • อารมณ์คงที่ ขี้ร้อนน้อยลง
  • นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ


ประเมินผลหลังการรักษา(วันที่ 3 กรกฎาคม 2566)

  • ประจำเดือนมาครั้งล่าสุด วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 เป็นระยะเวลา 5 วัน
  • ไม่มีอาการปวดท้องประจำเดือน ปริมาณประจำเดือนปกติ ไม่มีอาการปวดศีรษะระหว่างมีประจำเดือน
  • ขี้ร้อนน้อยลง
  • นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ


สรุปผลการรักษา

  • จากกรณีตัวอย่างจะเห็นได้ว่ายาจีนสามารถระงับอาการปวดท้องประจำเดือนและปรับประจำเดือนให้กลับมาเป็นปกติได้ อีกทั้งยังช่วยให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันในช่วงที่มีประจำเดือนได้อย่างเป็นปกติอีกด้วย


วิเคราะห์ผลการรักษา

  • ผู้ป่วยมีภาวะปวดท้องช่วงประจำเดือนมา มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย โดยในทางการแพทย์แผนจีนนั้นจัดเป็นโรคปวดท้องประจำเดือน
  • ผู้ป่วยมีความร้อนสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ความร้อนเข้าทำลายเส้นลงปราณชงเญิ่น ทำให้ประจำเดือนไหลออกมากผิดปกติ เมื่อรับประทานสมุนไพรจีนไปสักพัก ความร้อนในร่างกายลดลง ปริมาณประจำเดือนจึงกลับมาเป็นปกติ
  • สำหรับชีพจรเร็วมักบ่งบอกถึงความร้อนที่สะสมในร่างกายของผู้ป่วย
  • สำหรับชีพจรลื่นหมายถึงความชื้นที่สะสมอยู่ในร่างกาย
  • สีแดงในแพทย์แผนจีนหมายถึงความร้อน ดังนั้นลิ้นสีแดงและปลายลิ้นแดง จึงหมายถึง ความร้อนที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้ป่วย อีกทั้งลิ้นสีคล้ำและจุดสีม่วงบนลิ้นบ่งบอกถึงการไหลเวียนเลือดที่ติดขัด 
  • หลังรักษาไป 2 รอบเดือนอาการต่างๆเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับและหายสนิทในที่สุด

------------------------

บันทึกข้อมูลการรักษาโดย

แพทย์จีน สิตา สร้อยอัมพรกุล (หมอจีน หลิน อิ่ง เหวิน)
林影雯 中医师
TCM. Dr. Sita Soiampornkul (Lin Ying Wen)
แผนกอายุรกรรมนรีเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้