โกฐจุฬาลัมพา หรือชิงเฮา เป็นสมุนไพรที่มีแหล่งปลูกแถบตะวันตกเฉียงใต้ และมณฑลไห่หนาน ซื่อชวน หูเป่ย เจียงซู และมหานครฉงชิ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia annua L. วงศ์: Asteraceae (Compositae) ส่วนที่ใช้คือ ส่วนเหนือดิน มีฤทธิ์ตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน ใช้แก้ภาวะร้อนจากอินพร่อง ร้อนผ่าวในกระดูก ดับพิษอากาศร้อน (หวัดแดด) รักษาโรคมาเลเรีย และดีซ่าน ส่วนฤทธิ์ตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ใช้แก้ไข้เจลียง แก้ไข้เพื่อเสมหะ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้หืด ไอ ขับลม แก้ช้ำใน แก้ปวดเมื่อยรูมาติก แก้บิด แก้ปวดท้อง แก้ตกเลือดหลังคลอด แก้ระดูมามากผิดปกติ โกฐจุฬาลัมพาจัดเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัดโกฐทั้ง 5 (เบญจโกฐ) โกฐทั้ง 7 (สัตตโกฐ) และโกฐทั้ง 9 (เนาวโกฐ) เป็นเครื่องยาในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ได้แก่ ตำรับยาหอมเทพจิตร และตำรับยาหอมนวโกฐ ตำรับยาแก้ไข้ (ตำรับยาจันทลีลา) ตำรับยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ (ตำรับยาเลือดงาม)
ประเทศไทยไม่มีการปลูกโกฐจุฬาลัมพาในระดับอุตสาหกรรม แต่เป็นการสั่งนำเข้าจากสาธารณประชาชนจีน และอินเดีย ซึ่งจากงานวิจัยของ รศ.ดร.ภก. อุทัย โสธนะพันธ์ ที่ได้สำรวจเก็บตัวอย่างของสมุนไพรที่เรียกว่า “โกฐจุฬาลัมพา” ในท้องตลาดขายสมุนไพรในประเทศไทย จำนวน 15 ตัวอย่าง ทำการวิเคราะห์หาชนิดสารสำคัญของสมุนไพร พบว่า “โกฐจุฬาลัมพา” ทั้งหมดเป็นสมุนไพรที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia pallens Wall หรือชื่อสามัญว่า Davana ซึ่งเป็นพืชสกุล Artemisia เหมือนกับชิงเฮา แต่คนละชนิด (species) ฉะนั้นจึงมีสารสำคัญที่แตกต่างกัน ชิงเฮา Artemisia annua L. มีสารสำคัญคือ ชิงเฮาซู (artemisinin) ส่วน Artemisia pallens Wall มีสารสำคัญคือ davana acid ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า “โกฐจุฬาลัมพา” ในตลาดขายสมุนไพรในประเทศไทย มีการนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย ไม่ใช่จากสาธารณประชาชนจีน ทั้งนี้อาจจะเพราะว่า ชิงเฮา ที่มาจากสาธารณประชาชนจีนมีราคาที่สูงกว่า Davana จากประเทศอินเดีย
ปัจจุบัน สาร artemisinin กับอนุพันธ์กึ่งเคมีสังเคราะห์ของสารชนิดนี้ มีการนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยพบว่า สาร artemisinin มีฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นชนิดฟัลซิพารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) โดยเฉพาะสายพันธุที่ดื้อยา นอกจากนี้ในสถานการณ์ที่เกิดโรคอุบัติใหม่ (COVID-19) นักวิจัยจาก Columbia University และ University of Washington จากสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยพบว่า “โกฐจุฬาลัมพา” สามารถต้านเชื้อโควิดได้ในห้องปฏิบัติการ ผลวิจัยดังกล่าว พบว่าสารสกัดโดยน้ำร้อนของสมุนไพรนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโควิดได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของนักวิจัยในจีน แต่งานวิจัยดังกล่าวยังเป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการ จะต้องมีข้อมูลการศึกษาทางคลินิกสนับสนุน
ส่วน Davana (Artemisia pallens Wall) ปลูกกันมากในแถบภาคใต้ของประเทศอินเดีย ส่วนของใบ ดอกและลำต้น มีน้ำมันหอมระเหยมาก สามารถนำมากลั่นได้น้ำมัน Davana essential oil ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลายความกังวล ความเครียด ลดความดันโลหิต ขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ใช้ภายนอกเป็นยาฆ่าเชื้อที่ผิวหนัง บรรเทาอาการระคายเคืองจากแมลงกัด
จะเห็นได้ว่า สมุนไพรชิงเฮา และ Davana ถึงแม้เป็นพืชสกุลเดียวกัน แต่คนละชนิด จึงมีสารสำคัญที่แตกต่างกัน สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคที่แตกต่างกัน แพทย์ที่ให้การรักษาจะต้องพิสูจน์ชนิดของสมุนไพรและส่วนของพืชที่นำมาใช้ให้ถูกต้องด้วย จึงจะทำให้ได้ยาที่ได้ผลการรักษาตามที่ต้องการ
Artemisia annua L.
Artemisia pallens Wall
อ้างอิง
https://baike.baidu.com/pic/%E9%BB%84%E8%8A%B1%E8%92%BF/8259189/0/09fa513d269759ee006bb9e6b8fb43166d22dfe0?fr=lemma#aid=0&pic=e1fe9925bc315c60978ab0c287b1cb1349547784
https://image.baidu.com/search/detail?ct=503316480&z=0&ipn=d&word=%E9%9D%92%E8%92%BF&step_word=&hs=0&pn=26&spn=0&di=7169026086108397569&pi=0&rn=1&tn=baiduimagedetail&is=0%2C0&istype=2&ie=utf-8&oe=utf-8&in=&cl=2&lm=-1&st=-1&cs=254616177%2C819633961&os=3634584694%2C2963690486&simid=3413655292%2C315801816&adpicid=0&lpn=0&ln=1611&fr=&fmq=1672020960509_R&fm=result&ic=&s=undefined&hd=&latest=©right=&se=&sme=&tab=0&width=&height=&face=undefined&ist=&jit=&cg=&bdtype=0&oriquery=&objurl=https%3A%2F%2Fpic.rmb.bdstatic.com%2F9103fd03942b135d1c35125ad2630c07.jpeg%40s_0%2Cw_2000&fromurl=ippr_z2C%24qAzdH3FAzdH3Fkwt3twiw5_z%26e3Bkwt17_z%26e3Bv54AzdH3Ff%3Ft1%3D8mc9blna0m9nmddd889&gsm=1e&rpstart=0&rpnum=0&islist=&querylist=&nojc=undefined&dyTabStr=MCwzLDIsNiw0LDEsNSw4LDcsOQ%3D%3D
https://www.healthbenefitstimes.com/davana/