Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 3905 จำนวนผู้เข้าชม |
การฝังเข็มตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้น เป็นการปักเข็มลงจุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณ ซึ่งในร่างกายเรานั้นมีเส้นลมปราณหลักอยู่12เส้น สังกัดอวัยวะต่างๆ ได้แก่ เส้นลมปราณมือไท่อินปอด ,เส้นลมปราณมือหยางหมิงลำไส้ใหญ่ ,เส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร ,เส้นลมปราณเท้าไท่อินม้าม ,เส้นลมปราณมือเส้าอินหัวใจ ,เส้นลมปราณมือไท่หยางสำไส้เล็ก ,เส้นลมปราณเท้าไท่หยางกระเพาะปัสสาวะ ,เส้นลมปราณเท้าเส้าอินไต ,เส้นลมปราณมือเจวี๋ยอินเยื่อหุ้มหัวใจ ,เส้นลมปราณมือเส้าหยางซานเจียว ,เส้นลมปราณเท้าเส้าหยางถุงน้ำดี ,เส้นลมปราณเท้าเจวี๋ยอินตับ โดยการแต่ลมเส้นลมปราณแต่ละเส้น มีทางเดินการไหลเวียนที่เชื่อมโยงกันอยู่ทั่วร่างกาย (ดังรูป)
จุดฝังเข็มทั่วร่างกาย มีทั้งหมด 700 กว่าจุด แต่ที่นิยมใช้กันบ่อยๆมีประมาณ 300 กว่าจุด ในการเลือกใช้จุดฝังเข็มมารักษาโรคนั้น ต้องอาศัยความรู้ทฤษฎีเกี่ยวกับอวัยวะภายในและระบบเส้นลมปราณ วิถีการไหลเวียนเส้นลมปราณ อวัยวะคู่สัมพันธ์ของเส้นลมปราณ และสรรพคุณของจุดฝังเข็ม
โดยการเลือกใช้จุดฝังเข็มมารักษาจะอ้างอิง 3 หลักการใหญ่ คือ
1. การเลือกจุดโดยอ้างอิงตามเส้นลมปราณ
a. เลือกจุดจากเส้นลมปราณที่เกิดโรค
b. เลือกจุดจากเส้นลมปราณคู่สัมพันธ์
ตัวอย่าง เช่น ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องอืด มักเลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณกระเพาะอาหารในการรักษา(เลือกจุดจากเส้นลมปราณที่เกิดโรค) อีกทั้งยังสามารถใช้จุดบนเส้นลมปราณม้ามได้ด้วย(เลือกจุดจากเส้นลมปราณคู่สัมพันธ์) ซึ่งทั้ง2เส้นลมปราณนั้นมีทางเดินทางไหลเวียนผ่านบริเวณหน้าท้อง ในทางคลินิกจึงมักใช้จุดฝังเข็มบนทั้ง2เส้นลมปราณรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
2. การเลือกจุดโดยอ้างอิงกับพยาธิสภาพ
a. เลือกจุดใกล้ คือ จุดบริเวณตำแหน่งของรอยโรคหรือตำแหน่งที่เกิดอาการ
b. เลือกจุดไกล คือ จุดที่อยู่ห่างไกลจากโรคที่เป็น
ตัวอย่าง เช่น ผู้ป่วยปวดศีรษะ เลือกใช้จุดใกล้ คือ บริเวณศีรษะหรือตำแหน่งที่ปวด อีกทั้งยังสามารถใช้จุดไกล บริเวณขาได้ด้วย เนื่องจากเส้นลมปราณถุงน้ำดีไหลเวียนจากศีรษะไปยังปลายเท้า เป็นการเลือกจุดที่ยึดตามระบบการไหลเวียนของเส้นลมปราณที่เชื่องโยงกัน
3. การเลือกจุดตามอาการ เป็นการเลือกจุดตามสรรพคุณของจุดฝังเข็มนั้น
ตัวอย่าง เช่น การใช้จุดเหรินจง(บริเวณร่องเหนือริมฝีปากบน) รักษาอาการหมดสติ
ในทางคลินิกมักใช้จุดเหรินจง รักษาผู้ป่วยที่หมดสติเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยที่ตอบสนองช้า รวมถึงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
แม้จะรักษาโรคเดียวกันแต่การเลือกใช้จุดฝังเข็มของแพทย์จีนแต่ละท่านยังไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มอาการและสาเหตุของโรค ทั้งนี้การเลือกใช้จุดฝังเข็มในการรักษาโรคตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน นอกจาก 3 หลักการข้างต้นที่กล่าวถึงแล้ว ยังสามารถเลือกใช้จุดฝังเข็มตามประสบการณ์และเทคนิคของแพทย์จีนแต่ละบุคคลที่สั่งสมตามประสบการณ์และเรียนรู้มาด้วย
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
26 ก.ย. 2567