Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 258813 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน (Menstrual headache)
เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือน โดยเฉพาะอาการปวดหัวไมเกรนซึ่งพบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี โดยมักจะแสดงอาการในช่วงก่อน-หลังการมีประจำเดือน ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องประจำเดือน คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้นร่วมด้วย
สาเหตุการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน
· ในมุมมองแพทย์แผนปัจจุบัน ช่วงประจำเดือนเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเส้นเลือดในสมองบางส่วนที่ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนเกิดการขยายตัว มีผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน
· ในมุมมองแพทย์แผนจีน อาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือนสัมพันธ์กับอวัยวะตับ เนื่องด้วยเส้นลมปราณตับส่วนหนึ่งมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับศีรษะ อีกทั้งตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่กักเก็บเลือด หากเลือดพร่องหรือเลือดคั่ง เลือดไหลเวียนติดขัด ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงศีรษะไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
กลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
· อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โมโหง่าย ทำให้ชี่ตับติดขัดก่อเกิดเป็นความร้อน เมื่อเข้าสู่ช่วงมีประจำเดือน ความร้อนจากตับเวียนกลับขึ้นสู่ด้านบนตามเส้นลมปราณตับไปยังศีรษะ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หรือเมื่ออารมณ์แปรปรวน ทำให้การไหลเวียนชี่ติดขัดเกิดเป็นเลือดคั่ง ส่วนหนึ่งหมุนเวียนกลับขึ้นสู่ศีรษะตามเส้นลมปราณตับ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน
· ร่างกายอ่อนแอ ร่างกายสูญเสียเลือด หรือเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ทำให้เลือดน้อยไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงสมองในระหว่างช่วงมีประจำเดือน จึงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการตับร้อน
อาการ :ปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน โดยเฉพาะบริเวณกลางกระหม่อม ปริมาณประจำเดือนมาก สีแดงสด เวียนศีรษะตาลาย อาการร่วมอื่นๆ เช่น ขี้หงุดหงิดโมโหง่าย ปากขมคอแห้ง ลิ้นแดง ฝ้าบางเหลือง ชีพจรเสวียนซี่ซู่ม่าย
วิธีการรักษา :ระบายความร้อนตับ
2. กลุ่มอาการเลือดคั่ง
อาการ : ปวดศีรษะมากช่วงก่อน-หลังมีประจำเดือน ปวดเหมือนโดนเข็มทิ่มแทง เลือดประจำเดือนสีคล้ำ มีลิ่มเลือดอาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดท้องน้อย (ไม่ชอบกด) แน่นตึงหน้าอก ลิ้นแดงคล้ำหรือมีจุดดำคล้ำ ชีพจรเสวียนเซ่อม่าย
วิธีการรักษา:เพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง
3. กลุ่มอาการเลือดพร่อง
อาการ:เวียนศีรษะช่วงระหว่าง-หลังมีประจำเดือน ปวดศีรษะเล็กน้อย ปริมาณประจำเดือนน้อย สีแดงอ่อน อาการร่วมอื่นๆ เช่น ใจสั่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าบาง ชีพจรซี่ม่าย
วิธีการรักษา:บำรุงเลือดเพิ่มชี่
ตัวอย่างกรณีการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ข้อมูลการรักษา
ชื่อ-นามสกุล xxx xxx
เพศ หญิง อายุ 49 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย xxx
วันที่เข้ารับการรักษา 8 ตุลาคม 2564
อาการสำคัญ ปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน 5 เดือน
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
- ในตลอดระยะ 5 เดือนที่ผ่านมาก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน บางครั้งปวดไมเกรน และต้องทานยาแก้ปวดเพื่อให้อาการปวดทุเลาลง รวมถึงมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยช่วงมีประจำเดือน เวียนศีรษะ กลัวหนาว มือเท้าเย็น
- ประวัติการมีประจำเดือน รอบประจำเดือน 28-30 วัน ระยะเวลาการมีประจำเดือน 3 วัน ประจำเดือนครั้งล่าสุด วันที่ 20 กันยายน 2564
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต -
ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
การตรวจร่างกาย
ลิ้นแดงฝ้าขาว ชีพจรซี่ม่าย
การวินิจฉัย
ภาวะปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน กลุ่มอาการเลือดพร่อง
วิธีการรักษา
รักษาด้วยการทานยาจีน เน้นการบำรุงเลือดเพิ่มชี่ บรรเทาอาการปวดศีรษะรวมถึงอาการภาวะร่วมอื่นๆ
ประเมินผลการรักษา
ครั้งที่ 1 17 ตุลาคม 2564
ผู้ป่วยมีประจำเดือนในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดหน่วงท้องน้อยช่วงมีประจำเดือนทุเลาลงลง แต่ยังคงมีอาการกลัวหนาว มือเท้าเย็น
ครั้งที่ 2 31 ตุลาคม 2564
อาการกลัวหนาว มือเท้าเย็นลดลง ไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ
ครั้งที่ 3 14 พฤษจิกายน 2564
ผู้ป่วยมีประจำเดือนในวันที่ 7 พฤษจิกายน 2564 อาการปวดศีรษะน้อยลง ไม่จำเป็นต้องทานยาแก้ปวด ระยะการปวดศีรษะสั้นลง ปริมาณประจำเดือนปกติ ไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ
สรุปผลการรักษา
การทานยาสมุนไพรจีนสามารถรักษาและบรรเทาอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือนให้ทุเลาลงได้ ในบางรายลดการพึ่งยาแก้ปวด อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการร่วมอื่นๆ ทั้งนี้ประสิทธิภาพในการรักษาขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและการปฏิบัติดูแลรักษาตัวของผู้ป่วย
บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน บุญยาพร พฤกษเศรษฐ (หยาง ลี่ จิง)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1008 คลินิกอายุรกรรมนรีเวช
รักษาโรคอายุรกรรมทั่วไปและเฉพาะทางนรีเวช รักษาภาวะมีบุตรยาก ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ รังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร(POF) อุ้งเชิงกรานอักเสบ วัยทอง ปวดประจำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ
6 ม.ค. 2568
15 พ.ย. 2567
2 ม.ค. 2568