Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 261569 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน (Menstrual headache)
เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือน โดยเฉพาะอาการปวดหัวไมเกรนซึ่งพบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี โดยมักจะแสดงอาการในช่วงก่อน-หลังการมีประจำเดือน ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องประจำเดือน คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้นร่วมด้วย
สาเหตุการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน
· ในมุมมองแพทย์แผนปัจจุบัน ช่วงประจำเดือนเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเส้นเลือดในสมองบางส่วนที่ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนเกิดการขยายตัว มีผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน
· ในมุมมองแพทย์แผนจีน อาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือนสัมพันธ์กับอวัยวะตับ เนื่องด้วยเส้นลมปราณตับส่วนหนึ่งมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับศีรษะ อีกทั้งตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่กักเก็บเลือด หากเลือดพร่องหรือเลือดคั่ง เลือดไหลเวียนติดขัด ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงศีรษะไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
กลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
· อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โมโหง่าย ทำให้ชี่ตับติดขัดก่อเกิดเป็นความร้อน เมื่อเข้าสู่ช่วงมีประจำเดือน ความร้อนจากตับเวียนกลับขึ้นสู่ด้านบนตามเส้นลมปราณตับไปยังศีรษะ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หรือเมื่ออารมณ์แปรปรวน ทำให้การไหลเวียนชี่ติดขัดเกิดเป็นเลือดคั่ง ส่วนหนึ่งหมุนเวียนกลับขึ้นสู่ศีรษะตามเส้นลมปราณตับ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน
· ร่างกายอ่อนแอ ร่างกายสูญเสียเลือด หรือเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ทำให้เลือดน้อยไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงสมองในระหว่างช่วงมีประจำเดือน จึงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการตับร้อน
อาการ :ปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน โดยเฉพาะบริเวณกลางกระหม่อม ปริมาณประจำเดือนมาก สีแดงสด เวียนศีรษะตาลาย อาการร่วมอื่นๆ เช่น ขี้หงุดหงิดโมโหง่าย ปากขมคอแห้ง ลิ้นแดง ฝ้าบางเหลือง ชีพจรเสวียนซี่ซู่ม่าย
วิธีการรักษา :ระบายความร้อนตับ
2. กลุ่มอาการเลือดคั่ง
อาการ : ปวดศีรษะมากช่วงก่อน-หลังมีประจำเดือน ปวดเหมือนโดนเข็มทิ่มแทง เลือดประจำเดือนสีคล้ำ มีลิ่มเลือดอาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดท้องน้อย (ไม่ชอบกด) แน่นตึงหน้าอก ลิ้นแดงคล้ำหรือมีจุดดำคล้ำ ชีพจรเสวียนเซ่อม่าย
วิธีการรักษา:เพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง
3. กลุ่มอาการเลือดพร่อง
อาการ:เวียนศีรษะช่วงระหว่าง-หลังมีประจำเดือน ปวดศีรษะเล็กน้อย ปริมาณประจำเดือนน้อย สีแดงอ่อน อาการร่วมอื่นๆ เช่น ใจสั่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าบาง ชีพจรซี่ม่าย
วิธีการรักษา:บำรุงเลือดเพิ่มชี่
ตัวอย่างกรณีการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ข้อมูลการรักษา
ชื่อ-นามสกุล xxx xxx
เพศ หญิง อายุ 49 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย xxx
วันที่เข้ารับการรักษา 8 ตุลาคม 2564
อาการสำคัญ ปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน 5 เดือน
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
- ในตลอดระยะ 5 เดือนที่ผ่านมาก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน บางครั้งปวดไมเกรน และต้องทานยาแก้ปวดเพื่อให้อาการปวดทุเลาลง รวมถึงมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยช่วงมีประจำเดือน เวียนศีรษะ กลัวหนาว มือเท้าเย็น
- ประวัติการมีประจำเดือน รอบประจำเดือน 28-30 วัน ระยะเวลาการมีประจำเดือน 3 วัน ประจำเดือนครั้งล่าสุด วันที่ 20 กันยายน 2564
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต -
ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
การตรวจร่างกาย
ลิ้นแดงฝ้าขาว ชีพจรซี่ม่าย
การวินิจฉัย
ภาวะปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน กลุ่มอาการเลือดพร่อง
วิธีการรักษา
รักษาด้วยการทานยาจีน เน้นการบำรุงเลือดเพิ่มชี่ บรรเทาอาการปวดศีรษะรวมถึงอาการภาวะร่วมอื่นๆ
ประเมินผลการรักษา
ครั้งที่ 1 17 ตุลาคม 2564
ผู้ป่วยมีประจำเดือนในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดหน่วงท้องน้อยช่วงมีประจำเดือนทุเลาลงลง แต่ยังคงมีอาการกลัวหนาว มือเท้าเย็น
ครั้งที่ 2 31 ตุลาคม 2564
อาการกลัวหนาว มือเท้าเย็นลดลง ไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ
ครั้งที่ 3 14 พฤษจิกายน 2564
ผู้ป่วยมีประจำเดือนในวันที่ 7 พฤษจิกายน 2564 อาการปวดศีรษะน้อยลง ไม่จำเป็นต้องทานยาแก้ปวด ระยะการปวดศีรษะสั้นลง ปริมาณประจำเดือนปกติ ไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ
สรุปผลการรักษา
การทานยาสมุนไพรจีนสามารถรักษาและบรรเทาอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือนให้ทุเลาลงได้ ในบางรายลดการพึ่งยาแก้ปวด อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการร่วมอื่นๆ ทั้งนี้ประสิทธิภาพในการรักษาขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและการปฏิบัติดูแลรักษาตัวของผู้ป่วย
บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน บุญยาพร พฤกษเศรษฐ (หยาง ลี่ จิง)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1008 คลินิกอายุรกรรมนรีเวช
รักษาโรคอายุรกรรมทั่วไปและเฉพาะทางนรีเวช รักษาภาวะมีบุตรยาก ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ รังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร(POF) อุ้งเชิงกรานอักเสบ วัยทอง ปวดประจำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ
12 พ.ย. 2567
26 ก.ย. 2567
15 พ.ย. 2567
20 ม.ค. 2568