Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 21429 จำนวนผู้เข้าชม |
ไฟลามทุ่ง Erysipelas ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนเรียกว่า "丹毒 ตานตู๋" คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งมีลักษณะผิวหนังบริเวณนั้น เป็นผื่นสีแดงสดเหมือนสีชาดมีอาการอักเสบบวมแดง ที่เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนังชั้นแท้ (Dermis) และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น (Upper Subcutaneous Tissue) รวมถึงท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง โรคนี้จัดเป็นประเภทหนึ่งของโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า
สาเหตุของไฟลามทุ่งในการแพทย์แผนปัจจุบัน
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบตาเฮโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A Beta-Hemolytic Streptococcus) โดยปกติแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่บริเวณผิวหนังของคนเราและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อผิวหนังได้รับความเสียหาย เช่น เกิดบาดแผลหรือรอยแตกที่ผิวหนัง รอยแมลงกัด โดยเชื้ออาจเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางรอยถลอก หรือโรคผิวหนังที่ส่งผลให้เกิดรอยแยกบนผิวหนังอย่างโรคน้ำกัดเท้า โรคสะเก็ดเงิน หรือ ผื่นผิวหนังอักเสบ แผลพุพอง จึงทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดการติดเชื้อตามมา
สาเหตุของไฟลามทุ่งในการแพทย์แผนจีน
เกิดจากปัจจัยก่อโรคจากไฟกระทบระดับเลือด ทำให้เกิดความร้อน อุดกั้นที่ชั้นผิวหนัง หรือเกิดจากผิวหนังมีบาดแผล (เช่น โพรงจมูกมีแผล ผิวหนังมีรอยถลอก น้ำกัดเท้าทำให้เกิดแผลเปิด แมลงสัตว์กัดต่อย แผลเปิดจากเส้นเลือดขอดเป็นต้น) ปัจจัยก่อโรคพิษ ฉวยโอกาสเข้ามารุกรานภายในร่างกาย ตำแหน่งที่เกิด ถ้าขึ้นที่ส่วนศีรษะใบหน้ามีปัจจัยลมร้อนร่วม ถ้าเกิดขึ้นที่ช่วงอกและท้องมีปัจจัยไฟที่ตับร่วม ถ้าเกิดขึ้นที่ช่วงขามีปัจจัยความร้อนความชื้นร่วม เด็กทารกมีปัจจัยจากภายในมีพิษไฟร้อน
การวินิจฉัย
- โรคนี้ในระยะแรกจะมีอาการปวดบวมแดงร้อนเฉพาะที่และมีอาการไข้ร่วมด้วย
- พบรอยโรคที่บริเวณใกล้เคียงหรือเกิดบาดแผลนำมาก่อน ผิวหนังได้รับความเสียหายหรือพบทางเข้าของเชื้อเช่น น้ำกัดเท้า เกิดรอยแตกของผิวที่ง่ามนิ้วเท้า
- ผื่นจะเป็นปื้นสีแดงสด ขอบชัดเจน ผื่นนูนและบวมคล้ายผิวเปลือกส้ม
- ตรวจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น อาจเกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อและการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การเพาะเชื้อจากเลือด เพื่อหาสาเหตุการเกิดโรคในกรณีรุนแรง ที่มีอาการไข้สูง หนาวสั่น หากเป็นบวก แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย
การวินิจฉัยทางการแพทย์แผนจีน
พบมากที่ขา และใบหน้า อาการก่อนเกิดโรคพบว่ามีประวัติโรคผิวหนังหรือมีแผลเปิดที่บริเวณนั้น ในระยะแรกมีไข้ตัวร้อน ปวดตามตัวปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูก ฝ้าลิ้นขาวบางหรือเหลืองบาง สีลิ้นแดง ชีพจรใหญ่และเร็วหรือลื่นเร็ว ในเวลาต่อมาผิวหนังบริเวณนั้นเกิดเป็นปื้นแดงเล็ก และขยายตัวรวดเร็วเป็นปื้นแดงขนาดใหญ่ ขอบชัดเจน
ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง บริเวณที่ผื่นบวมแดงอาจมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง จ้ำเลือด ตุ่มน้ำเกิดขึ้น ในบางรายอาจมีแผลหนองหรือเนื้อเยื่อตาย
ไฟลามทุงที่ใบหน้า มีชื่อเรียกว่า "เป้าโถวหั่วตัน" (ที่บริเวณจมูกเกิดบาดแผล เริ่มจากมีอาการบวมที่จมูกและหนังตาบวมปิด)
เกิดที่บริเวณหู มีอาการบวมที่หูก่อนและลามมาที่ขมับหน้าผาก เกิดที่ศีรษะ เริ่มจากมีอาการบวมที่หน้าผาก ต่อมาบวมลามมาที่คอ
ไฟลามทุ่งที่ขา มีชื่อเรียกว่า "หลิวหั่ว" เกิดจากมีบาดแผลที่ง่ามนิ้วเท้า เริ่มมีอาการบวมที่น่องและอาจลามมาที่ต้นขาได้ ในบางรายรักษาหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ถ้าเป็นซ้ำๆบ่อย อาจทำให้เกิดภาวะ ท่อน้ำเหลืองอุดตัน (lymphatic obstruction) บริเวณขาบวมตึงขนาดใหญ่ ผิวหนังหยาบหนาคล้ายเท้าช้าง
การแบ่งกลุ่มอาการของโรคตามหลักการแพทย์แผนจีน
1. ปัจจัยลม ความร้อน พิษสะสม
อาการ:เกิดที่ใบหน้า ศีรษะ ผิวบริเวณนั้นแดงร้อน ปวดบวม ถ้าเป็นหนักอาจมีตุ่มน้ำ หนังตาบวมปิด อาจมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ลิ้นแดงฝ้าลิ้นเหลือง ชีพจรลอยและเร็ว
2. ตับ ม้าม มีไฟความชื้นสะสม
อาการ:เกิดที่ช่วงอก ช่องท้อง ผิวหนังค่อยๆบวมแดง ปวดบวม ร่วมกับมีอาการปากแห้งและขม ลิ้นแดงฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงลื่นและเร็ว
3. ร้อน ชื้น พิษสะสม
อาการ:เกิดที่ขา บริเวณนั้นบวมแดง ปวดแสบร้อน หรืออาจพบตุ่มน้ำ ปื้นม่วง ถ้าเป็นหนักมีหนองหรือผิวหนังตาย หรือถ้าเป็นซ้ำๆจะทำให้เกิดภาวะเท้าช้างได้ มีอาการอื่นร่วมเช่นมีไข้ เบื่ออาหาร ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว
แนวทางการรักษาด้วยหลักการแพทย์แผนจีน
หลัการรักษา ระบายร้อนทำให้เลือดเย็น ขับพิษสลายคั่ง
- เกิดที่ช่วงศีรษะใบหน้าควรรักษาด้วยวิธีการกระจายลมลดไฟ
- เกิดที่ช่วงอก ช่องท้องควรรักษาด้วยวิธีระบายตับและม้าม
- เกิดที่ช่วงขาควรรักษาด้วยวิธีระบายร้อนขับชื้น ทั้งหมดที่กล่าวคือการรักษาภายใน
อีกทั้งมีการใช้ยาพอก การล้าง เป็นการรักษาภายนอกร่วมด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการรักษา ทำให้ระยะอาการของโรคสั้นลง ลดอาการข้างเคียง
การดูแลรักษาโรคไฟลามทุ่ง
1. ดูแลแผลหรือผื่น รักษาสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค
2. พยายามอย่าเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ เดินให้น้อยลง ควรยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูงขึ้นกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการปวดบวม หากมีอาการบวมหรือปวดมากให้ใช้วิธีประคบเย็นวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 48 ชั่วโมง
3. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ
4. ควรเน้นการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่
บทความโดย
แพทย์จีน สมเกียรติ พัดอินท (หวง จื่อ เวย)
黃紫薇 中医师
TCM. Dr. Somkiat Padint (Huang Zi Wei)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.393
รักษาโรคอายุรกรรม โรคทางผิวหนัง โรคหูคอจมูก สิว ฝ้า สะเก็ดเงิน งูสวัด ลมพิษ ภูมิแพ้ผิวหนัง เซ็บเดิร์ม ผื่นคัน SLE ภูมิแพ้อากาศ ทอนซิลอักเสบ ริดสีดวงทวาร เป็นต้น
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567