Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 11438 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) เป็นโรคของระบบเมแทบอลิซึมชนิดหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเมื่อมีอาการนานเรื้อรังจะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ปัจจุบันมีผู้เป็นโรคเบาหวานกว่า 422 ล้านคนทั่วโลก (ข้อมูลอ้างอิงจาก WHO)
ชนิดของโรคเบาหวานและสาเหตุของการเกิดโรค
โรคเบาหวานมีหลายชนิด สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes, T1D)
เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง พบได้ประมาณ 5-10% ของโรคเบาหวานทุกประเภท โรคเบาหวานประเภทนี้ต้องพึ่งอินซูลิน จะมีพัฒนาการของโรคที่เร็ว พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น
2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes, T2D)
เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน พบได้ประมาณร้อยละ 95% ของผู้ป่วยเบาหวาน โรคเบาหวานประเภทนี้มักไม่มีอาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุม ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายได้
3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
(gestational diabetes mellitus, GDM)
เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์
4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ
(specific types of diabetes due to other causes)
มีได้หลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
สามารถวินิจฉัยได้จากระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากงดอาหาร ถ้าเป็นปกติระดับน้ำตาลจะน้อยกว่า 100 มก./ดล. ถ้าอยู่ระหว่าง 100-125 มก./ดล. ถือเป็นภาวะที่มีความเสี่ยง แต่ยังไม่เป็นเบาหวาน หรือบางครั้งเราจะเรียกภาวะนี้ว่าเป็นเบาหวานแฝง แต่ถ้าเกิน 126 มก./ดล. จะจัดว่าเป็นเบาหวาน
ในผู้ป่วยบางราย อาจแนะนำให้ตรวจค่าน้ำตาลหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง ค่าน้ำตาลควรน้อยกว่า 140 มก./ดล. แต่ถ้าเกิน 200 มก./ดล. จะจัดว่าเป็นเบาหวาน หากอยู่ระหว่าง 140-199 มก./ดล. จะอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงแต่ยังไม่เป็นเบาหวาน หรือจะเรียกว่าเป็นเบาหวานแฝงก็ได้เช่นกัน
ปัจจุบันยังมีการตรวจค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้บอกระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ถ้าค่า HbA1c สูงแสดงว่าที่ผ่านมา 3 เดือนมีระดับน้ำตาลสูง แม้จะมีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติก็ตาม ทั้งนี้ค่า HbA1c ปกติจะอยู่ที่ 4.3-5.6% ถ้ามีค่าอยู่ระหว่าง 5.7-6.4% ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานได้ในอนาคตหรือเป็นเบาหวานแฝงได้ ถ้ามีค่าตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไปแสดงว่าเป็นเบาหวาน
โรคเบาหวานและการแพทย์แผนจีน
ในศาสตร์แพทย์แผนจีนโรคเบาหวานนั้นจัดอยู่ในโรค “เซียวเข่อ” 消渴 ซึ่งเป็นโรคที่มีลักษณะอาการหิวบ่อย กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย และร่างกายซูบผอม
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
1. เมื่อแรกเกิด ร่างกายบกพร่อง ซึ่งก็คือ ปัจจัยที่มีมาแต่กำเนิด
2. การรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การรับประทานอาหารที่มีความหวานและมันเกินไป ส่งผลทำให้การลำเลียงสารอาหารของม้ามและกระเพาะอาหารเสียหาย เกิดความร้อนสะสม ความร้อนจึงทำลายสารน้ำในร่างกาย
3. สภาวะอารมณ์ ความเครียดและอารมณ์โมโหเป็นระยะเวลานานทำให้ชี่ตับติดขัด สะสมเวลานานจะเกิดความร้อนสะสม ความร้อนจึงทำลายสารน้ำในร่างกาย ก่อให้เกิดโรค
4. การใช้ร่างกายหนัก การทำงานมากเกินไป ขาดการพักผ่อน และการมีเพศสัมพันธ์มากเกินควร ทำให้กำลังใจอ่อนแอ เกิดความร้อนพร่องทำลายสารน้ำในร่างกาย
กลไกการเกิดโรค
กลไกการเกิดโรคเกิดจาก "อินพร่อง สารน้ำถูกทำลาย" ความร้อนปะทุขึ้นมาทำลายร่างกาย โดยอินพร่องเป็นกลไกหลัก ความร้อนปะทุขึ้นเป็นกลไกรอง อวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้คือ "ปอด กระเพาะอาหาร และไต" สามอวัยวะนี้แม้จะมีอาการที่แตกต่างกัน แต่ก็มีผลกระทบซึ่งกันและกัน
ปอด
เป็นที่มาของสารน้ำในร่างกาย มีหน้าที่ในการกระจายสารน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับอวัยวะต่างๆในร่างกาย เมื่อปอดโดนความร้อนทำลาย สารน้ำไม่ไปหล่อเลี้ยวได้ทั่วถึงจึงทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ
กระเพาะอาหาร (รวมถึงม้าม)
เป็นท้องทะเลแห่งสารอาหาร อาหารที่รับประทานเข้าไปถูกย่อย ดูดซึม ส่งสารน้ำและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย เมื่อกระเพาะอาหารเกิดความร้อนส่งผลให้การทำงานผิดปกติ ร่างกายจึงขาดสารอาหารและสารน้ำ ทำให้เกิดอาการหิวบ่อย กระหายน้ำและร่างกายซูบผอม
ไต
เป็นอวัยวะที่สร้างชี่ก่อนกำเนิด เก็บกักสารจิง (สารจำเป็นต่างๆของร่างกาย) ควบคุมปัสสาวะ เมื่อความร้อนจากปอดและกระเพาะอาหารเกิดขึ้น ก็จะไปทำลายอินของไต อินไตพร่องทำให้ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้เต็มที่ ทำให้ปัสสาวะบ่อย และจากที่สารอาหารไม่ถูกดูดซึมก็ไหลมาพร้อมปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน เมื่อโรคเซียวเข่อเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จะทำสารน้ำถูกทำลายจนแห้ง เกิดสภาวะเลือดคั่งไปอุดกั้นเส้นเลือดและเส้นลมปราณในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมา
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการเซี่ยวเข่อส่วนบน
ซ่างเซียว 上消
(ภาวะปอดร้อน สารน้ำถูกทำลาย)
อาการ : มีอาการกระหายน้ำมาก คอแห้ง หงุดหงิด ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก
วิธีการรักษา : ขับร้อนบำรุงปอด เพิ่มสารน้ำดับกระหาย
ตำรับยาที่เหมาะสม : อวี้เฉวียนหวาน 玉泉丸
อวี้เฉวียนหวาน เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการบำรุงอิน เพิ่มสารน้ำในร่างกาย สามารถดับกระหาย บำรุงชี่และให้ความชุ่นชื้นกับปอด
2. กลุ่มอาการเซี่ยวเข่อส่วนกลาง
จงเซียว 中消
(ภาวะกระเพาะอาหารร้อน ไฟกระเพาะประทุขึ้น)
อาการ : มีอาการหิวบ่อย ท้องผูก มีกลิ่นปาก ร่างกายซูบผอม
วิธีการรักษา : ขับร้อนที่กระเพาะอาหาร บำรุงอินเพิ่มสารน้ำ
ตำรับยาที่เหมาะสม : อวี้หนี่เจียน 玉女煎
อวี้หนี่เจียนเป็นตำรับยาที่ใช้ดับร้อนในกระเพาะอาหาร บำรุงอินเพิ่มสารน้ำ ตำรับนี้ยังสามารถดับร้อนที่อวัยวะตันทั้ง 5 และอวัยวะกลวงทั้ง 6 เป็นตำรับยาที่ใช่บ่อยในการรักษาโรคร้อนที่ส่วนกลางของร่างกายเช่น โรคเซียวเข่อ (โรคเบาหวาน)
3. กลุ่มอาการเซี่ยวเข่อส่วนล่าง
เซี่ยเซียว 下消
ภาวะอินของไตไม่พอ
อาการ : ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก หรือ ปัสสาวะมีรสหวาน ปากแห้ง ผิวหนังแห้ง กระหายน้ำมาก เวียนหัว มีเสียงในหู นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยเอว
วิธีการรักษา : บำรุงอินของไต เพิ่มสารน้ำดับกระหาย
ตำรับยาที่เหมาะสม : ลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน 六味地黄丸
ลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน เป็นตำรับยาที่มีความสมดุล มีฉายาว่า ตำรับยาสามบำรุง-สามระบาย โดยเน้นในการบำรุงอินของไต เพิ่มสารน้ำ ในขณะเดียวกันก็มียาที่ขับของเสียให้ออกจากร่างกาย
ภาวะอินและหยางพร่องทั้งคู่
อาการ : ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก ปัสสาวะมีสีขุ่น ใบหน้าสีดำคล้ำ ปวดเมื่อยเอวและเข่า ขี้หนาว มือเท้าเย็น แขนขาอ่อนแรง ผู้ชายสมรรถภาพทางเพศลดลง ผู้หญิงประจําเดือนผิดปกติ
วิธีการรักษา : บำรุงอิน บำรุงหยาง บำรุงไต
ตำรับยาที่เหมาะสม : จินกุ้ยเซิ่นชี่หวาน 金匮肾气丸
จินกุ้ยเซิ่นชี่หวาน เป็นตำรับที่พัฒนามาจากตำรับลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน โดยเน้นในการบำรุงทั้งอิน บำรุงทั้งหยาง
หมายเหตุ
ตำรับยาที่กล่าวข้างต้นเป็นตำรับเบื้องต้นเท่านั้น ในการรักษาทางคลินิกจะต้องมีการปรับเปลี่ยนยาตามลักษณะของคนไข้และลักษณะของโรคอย่างเหมาะสม
ตัวอย่างกรณีการรักษา
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
รับการรักษากับแพทย์จีนอายุรกรรม คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : XXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 4 เมษายน 2563
เพศ : หญิง อายุ : 58 ปี
น้ำหนัก 74 kg
ความดันโลหิต : 126/65 mmHg
ประวัติการเจ็บป่วย (History taking) : โรคเบาหวาน
อาการสำคัญ (Chief complaint)
- ระดับน้ำตาลสูง อ่อนเพลีย
ประวัติปัจจุบัน (Present illness)
ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน 16 ปี ปัจจุบันทั้งทานยาลดน้ำตาล และฉีดอิซูลินร่วม (16-20 unit) แต่ยังควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี หลังจากฉีดอินซูลินบางครั้งน้ำตาลใรเลือดยังคงสูง บางครั้งน้ำตาลในเลือดต่ำเกิน
อาการร่วม
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักขึ้นไม่ยอมลด
- หิวบ่อย
-ปัสสาวะมีฟอง
ประวัติอดีต (Past history)
- ปฏิเสธประวัติแพ้ยา
การตรวจร่างกาย (Physical Examination)
- HbA1C : 7.2%
- ลิ้นสีแดงแห้ง
-ชีพจรตึงและเร็ว
ผลการวินิจฉัยโรค (Diagnosis)
- โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยมีภาวะโรคเบาหวานซึ่งในทางแพทย์แผนจีนอยู่ในโรคเซียวเข่อ แรกเริ่มเกิดจากภาวะที่ปอดและกระเพาะร้อน แต่ผู้ป่วยได้เป็นโรคนี้มาเป็นระยะเวลานาน จากความร้อนก็เริ่มทำลายสารน้ำในร่างกาย จนทำให้เกิดภาวะชี่ของม้ามและอินของไตพร่อง บวกกับยังคงมีไฟที่ส่วนกลางของร่างกาย ทำให้การเผาผลาญสารอาหารและสารน้ำผิดปกติ สารอาหารไม่ถูกนำไปใช้ให้พลังงานแก่ร่างกายเกิดภาวะที่อ่อนเพลีย ของเสียคั่งค้างไม่ถูกขจัดออกทำให้น้ำหนักไม่ลด และทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยาก
วิธีการรักษา (Treatment)
- รับประทานยาสมุนไพรจีน โดยแพทย์จีนเลือกใช้ตำรับยาสมุนไพรจีนที่มีคุณสมบัติในการบำรุงชี่ของม้ามและบำรุงอินของไต กระตุ้นระบบเผาผลาญในร่างกาย ร่วมกับยาที่ลดความร้อนในปอดและกระเพาะอาหาร และยาที่เพิ่มสารน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย
เนื่องจากผู้ป่วยเป็นโรคนี้มาระยะเวลานาน สารน้ำถูกทำลาย ทำให้การไหลเวียนของเลือดติดขัด จึงมีการใช้ชาที่เพิ่มการไหลเวียนเลือดร่วมด้วย โดยการรักษานอกจากใช้ยาสมุนไพรจีนแล้ว ยังแนะนำให้มีการปรับอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย
ผลการรักษา (Progression note)
หลังจากรักษา
วันที่ 30 พฤษภาคม 2563
ผู้ป่วยสามารถลดระดับการฉีดอินซูลิน เหลือ 12-16 unit อาการอ่อนเพลียลดลง การควบคุมระดับน้ำตาลดีขึ้น อาการน้ำตาลต่ำลดน้อยลง ไม่มีอาการหิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย
หลังจากการรักษาต่อเนื่องมีการปรับยาตามเหมาะสม
วันที่ 28 สิงหาคม 2563
ผู้ป่วยสามารถลดระดับการฉีดอิซูลิน เหลือ 5-12 unit อาการอ่อนเพลียลดลง การควบคุมระดับน้ำตาลดีขึ้น อาการน้ำตาลต่ำลดน้อยลง และน้ำหนักลดเหลือ 71 kg ปัสสาวะไม่มีฟอง ระดับ HbA1C: 6.8%(4/8/2563)
แพทย์จีนผู้ทำการรักษาและบันทึกผลการรักษา
แพทย์จีน เซ็งจุ้น แซ่ลี (หลี่ เฉิง จวิ้น)
李成俊 中医师
TCM. Dr. TSENG CHUN LEE
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.353
คลินิกอายุรกรรมเบาหวานและต่อมไร้ท่อ
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567