Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 22217 จำนวนผู้เข้าชม |
การดึงหลัง เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแบบการแพทย์แผนจีนดั้งเดิม วิธีนี้เริ่มมีการใช้เพื่อการรักษา ครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ชิง จากการบันทึกของตำราแพทย์แผนจีนโบราณ “อีจงจินเจี้ยน” ได้กล่าวไว้ว่า วิธีการดึงหลังแบบพานซั่วเตี้ยนจวนฝ่า “攀索叠砖法”
วิธีการดึงหลังแบบพานซั่วเตี้ยนจวนฝ่า “攀索叠砖法” เป็นวิธีที่ช่วยลดความเกร็งตึงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความกว้างของช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลัง (Intervertebral ) และช่วยทำให้กระดูกที่เคลื่อนกลับเข้าที่
ในปัจจุบันได้แบ่งวิธีการดึงหลังด้วยตนเอง และการดึงหลังด้วยเครื่องมือการดึง โดยอาศัยแรงดึงขยายช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังให้กว้างขึ้น บรรเทาอาการเกร็งตึงของกล้ามเนื้อ ปรับความผิดปกติของข้อต่อ บรรเทาการกดทับของเส้นประสาท ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและชี่ ลดการอักเสบและบวมของเนื้อเยื่อ ทำให้อาการปวดและชาลดลง อีกทั้งการไหลเวียนเลือดและชี่ที่เพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เลือดนำพาสารอาหารและออกซิเจนไปสู่บริเวณหมอนรองกระดูก ส่งเสริมให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมและฟื้นฟูได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
แพทย์จีนขอแนะนำวิธียืดดึงกระดูกสันหลังด้วยตนเอง โดยวิธี “การโหนบาร์” เพราะเป็นวิธีที่ง่าย ใช้อุปกรณ์ไม่มาก สามารถหาอุปกรณ์ได้จากรอบ ๆตัว เช่น บาร์สำหรับโหน หรือคานไม้ เป็นต้น
วิธีการโหนบาร์
1. การจัดท่า
ใช้มือทั้งสองข้างกำบาร์โหนให้แน่น โดยจับให้กว้างกว่าหัวไหล่เล็กน้อย หันฝ่ามือออกนอกตัว ค่อยๆปล่อยตัวลงมาช้า ๆจนสุดแขน เท้าสูงลอยจากพื้น เกร็งหน้าท้องเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ลำตัวแกว่งไปมา ปล่อยตัวให้เป็นไปตามธรรมชาติ ในขณะโหนบาร์ กระดูกสันหลังจะเกิดการเหยียดตรง ซึ่งเมื่อทำเป็นประจำก็จะช่วยให้ช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังจะกว้างขึ้นและหลังยืดตรงมากขึ้น ยังช่วยป้องกันอาการกระดูกสันหลังคดได้อย่างดี
2. ระยะห่างจากพื้น
ควรให้เท้าทั้งสองข้างห่างจากพื้น 2-3 ซม. เพื่อป้องกันไม่เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ ระยะแรก ในรายที่กำลังแขนมีไม่มาก สามารถใช้ปลายนิ้วเท้าแตะยันพื้น เมื่อฝึกเป็นประจำสักระยะหนึ่งแล้ว สามารถนำเท้าทั้งสองข้างขึ้นเหนือพื้น เพื่อเพิ่มน้ำหนักและแรงดึงให้กระดูกสันหลังยืดเหยียดมากขึ้น
3. จำนวนครั้ง
1 เซ็ตโหนค้าง 2 นาที จากนั้นหยุดพัก 1 นาที ทำ10เซ็ตต่อวัน ในกรณีที่ไม่สามารถโหนค้างได้นาน สามารถลดระยะเวลาในการโหนลงได้
4. ผลการรักษา
จากงานวิจัยพบว่า การฝึกด้วยการโหนบาร์ติดต่อกันนาน 2-4 สัปดาห์ มีผลทำให้อาการปวดจากการกดทับของเส้นประสาทลดลง
ข้อควรระวัง
1. ท่านี้ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็งกระดูกสันหลัง กระดูกพรุน ผู้หญิงตั้งครรภ์ ร่วมทั้งผู้ป่วยหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอว
2. ระยะแรกที่เริ่มฝึก ควรมีคนใกล้ชิดคอยดูแลระหว่างการฝึก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ
3. ระหว่างการฝึกหากมีอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น แขนอ่อนแรง หรือมีอาการปวดเอวหรือปวดชาร้าวลงขามากขึ้น ควรหยุดทำทันที
4 หลังจากฝึกแล้ว ให้นอนราบกับพื้น พักผ่อนประมาณ 5-10 นาที
แพทย์จีน กรกฎ คุณโฑ (โจว เฉิง)
周承 中医师
TCM. Dr. Koraghod Khuntho (Zhou Cheng)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1107
คลินิกกระดูกและทุยหนา
12 พ.ย. 2567
26 ก.ย. 2567
20 ม.ค. 2568
15 พ.ย. 2567