Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 27822 จำนวนผู้เข้าชม |
หวงฉี 黄芪 คือ รากแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Astragalus membranaceus (Fisch) Bge. var. mongholicus (Bge.) Hsiao หรือ A. membranaceus (Fisch.) Bge. วงศ์ Fabaceae (Leguminosae-Papilionoideae)
ชื่ออื่น ๆ
หวงฉี (จีนกลาง) อึ่งคี้ (จีนแต้จิ๋ว) Milkvetch Root, Astragali Radix
ลักษณะภายนอก
แท่งรูปทรงกระบอก อาจแตกแขนง ปลายด้านบนค่อนข้างกว้าง ผิวสีเหลือง อมน้ำตาลอ่อน ๆ หรือสีน้ำตาลอ่อน มีรอยย่นหรือร่องตามแนวยาวเรียงไม่เป็นระเบียบ เนื้อแข็ง เหนียว หักยาก หน้าตัดเป็นเส้นใยแข็ง มีผงแป้ง ส่วนเนื้อไม้สีเหลืองอ่อน มีรอยเป็นเส้นรัศมีและมีรอยแตก ส่วนแกนกลางของรากที่อายุมาก อาจผุ มีสีน้ำตาลดำหรือฝ่อเป็นรูกลวง มีกลิ่นอ่อน ๆ รสหวานเล็กน้อย เมื่อเคี้ยวจะได้กลิ่นและรสถั่วอ่อน ๆ
แหล่งผลิตที่สำคัญ
มณฑลซานซี เหอเป่ย จี๋หลิน และเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1. หวงฉี : กำจัดสิ่งแปลกปลอม คัดแยกขนาด ล้างให้สะอาด แช่น้ำให้เนื้อตัวยาอ่อนนุ่ม หั่นเป็นแผ่นหนา และนำไปตากแห้ง
2. จื้อหวงฉี : คลุกเคล้าหวงฉีกับน้ำผึ้งบริสุทธิ์ที่เจือจางด้วยน้ำต้มในปริมาตรที่เหมาะสม (ใช้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ 25 กิโลกรัม ต่อหวงฉี 100 กิโลกรัม) ทิ้งให้น้ำผึ้งซึมเข้าเนื้อตัวยา นำไปผัดโดยใช้ไฟระดับอ่อนจนไม่เหนียวติดมือ นำออกจากเตา แล้วทิ้งไว้ให้เย็น
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสหวาน อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และม้าม
1. หวงฉี : บำรุงชี่ ระงับเหงื่อ ขับปัสสาวะลดอาการบวม เพิ่มสารจินสร้างเลือด ทำให้ชี่ไหลเวียน ระงับปวด ช่วยรักษาบาดแผลและสร้างเนื้อเยื่อ
2. จื้อหวงฉี (ผัดกับน้ำผึ้ง) : การผัดน้ำผึ้งจะเพิ่มฤทธิ์เสริมชี่ บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร
ขนาดและวิธีใช้
ต้มรับประทาน 10-15 กรัม สามารถเพิ่มขนาดยาได้ถึง 30-60 กรัม
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่อาหารไม่ย่อย ร้อนจากอินพร่อง มีแผลชนิดภาวะหยางและภาวะเกิน ระมัดระวังการใช้ยาปริมาณมากอาจทำให้มึนงง แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ ปวดแขนขาอย่างรุนแรง หรืออาจมีอาการแพ้ มีผื่นคันหรือมีอาการแพ้อื่น ๆ ถ้าอาการหนักอาจทำให้ช็อก
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
24 มี.ค. 2566
19 ก.พ. 2567
23 เม.ย 2567