ป๋อเหอ (薄荷) - ข้อมูลสมุนไพรจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  13357 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป๋อเหอ (薄荷)  - ข้อมูลสมุนไพรจีน

ป๋อเหอ (薄荷) คือ ส่วนเหนือดินแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mentha haplocalyx Briq. วงศ์ Lamiaceae (Labiatae)

ชื่ออื่น ๆ  
ป๋อเหอ (จีนกลาง), เปาะห่อ (จีนแต้จิ๋ว) Peppermint, Menthae Herba

ลักษณะภายนอก

     กิ่งทรงกระบอกสี่เหลี่ยม แตกแขนงแบบตรงข้าม ผิวสีน้ำตาลอมม่วงหรือสีเขียวอ่อน มีขนสั้นนุ่มปกคลุมตามมุมของกิ่ง เนื้อเปราะ หน้าตัดสีขาว ไม่มีแกนกลาง ใบยับย่น รูปหอกกว้าง รูปรียาวหรือรูปไข่ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียวอมเทา มีขนสั้นนุ่มปกคลุมประปราย ดอกช่อกระจุกรอบออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีม่วงอ่อน เมื่อนำมาขยี้จะได้กลิ่นหอมเย็นเฉพาะตัว รสเผ็ดเย็น

แหล่งผลิตที่สำคัญ

มณฑลเจียงซู เจียงซี ซื่อชวน เหอหนาน เจ้อเจียง อันฮุย

การเตรียมอิ่นเพี่ยน

     กำจัดกิ่งแก่และสิ่งแปลกปลอม พรมน้ำเล็กน้อยให้ชุ่มชื้น หั่นเป็นท่อนสั้น ๆ ทำให้แห้งด้วยอุณหภูมิต่ำทันที


ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสเผ็ด เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และตับ  ระบายความร้อนในศีรษะและทำให้ตาสว่าง แก้เจ็บคอ กระทุ้งหัด ปรับการไหลเวียนชี่ของตับ


ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 
สะระแหน่ (M. cordifolia Opiz ex Fresen) : เป็นพืชสกุลเดียวกับพืชที่ให้ป๋อเหอ ทั้งต้นทาแก้ฟกช้ำ แก้ปวดศีรษะ ดมแก้ลม รับประทานเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้องจุกเสียดแน่นเฟ้อ      


ขนาดและวิธีใช้  ต้มรับประทาน 3-6 กรัม เติมป๋อเหอหลังจากต้มยาอื่น


* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ * 
-


เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้