Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 33477 จำนวนผู้เข้าชม |
ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง เป็นตำรับยาที่คณะกรรมการสาธารณสุขและสุขภาพแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน (National Health Commission of the People's Republic of China) ประกาศไว้ในแนวทางการตรวจรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 6 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020 [1] เพื่อรักษาผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อแล้วโดยปรับตามความเหมาะสมในระยะการรักษาและสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคลและสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนจีนเท่านั้น
แนวคิดในการตั้งตำรับยานี้ อ้างอิงมาจากคัมภีร์ซางหานจ๋าปิ้งลุ่น (伤寒杂病论) ของปรมาจารย์แพทย์จีนจางจ้งจิ่ง (张仲景) ซึ่งเป็นคัมภีร์สมัยปลายยุคตงฮั่น (ค.ศ.148 – 220) เป็นการนำตำรับยาจีนพื้นฐาน 4 ตำรับมารวมกัน ได้เป็นตำรับยาใหม่ และปรับเปลี่ยนสูตรโดยเอาตัวยาเดิมบางชนิดออกและเพิ่มตัวยาใหม่บางชนิดในตำรับยาจีนพื้นฐานเพื่อให้สอดคล้องต่อการรักษาอาการโรค COVID – 19 ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังประกอบด้วยตัวยาทั้งสิ้น 21 ชนิด ดังนี้
ลำดับที่ | ชื่อจีน | ชื่อจีนกลาง | ชื่อละติน | ปริมาณ |
1 | 麻黄 | หมาหวง | Ephedrae Herba | 9 กรัม |
2 | 炙甘草 | จื้อกันเฉ่า | Glycyrrhizae Radix et Rhizoma Preparata | 6 กรัม |
3 | 杏仁 | ซิ่งเหริน | Armeniacae Amarum Semen | 9 กรัม |
4 | 生石膏 | เซิงสือเกา | Gypsum Fibrosum | 15 – 30 กรัม (ต้มก่อน) |
5 | 桂枝 | กุ้ยจือ | Cinnamomi Ramulus | 9 กรัม |
6 | 泽泻 | เจ๋อเซี่ย | Alismatis Rhizoma | 9 กรัม |
7 | 猪苓 | จูหลิง | Polyporus | 9 กรัม |
8 | 白术 | ไป๋จู๋ | Atractylodis Macrocephalae Rhizoma | 9 กรัม |
9 | 茯苓 | ฝูหลิง | Poria | 15 กรัม |
10 | 柴胡 | ไฉหู | Bupleuri Radix | 16 กรัม |
11 | 黄芩 | หวงฉิน | Scutellariae Radix | 6 กรัม |
12 | 姜半夏 | เจียงปั้นเซี่ย | Pinelliae Rhizoma Praeparatum Cum Zingibere et Alumina | 9 กรัม |
13 | 生姜 | เซิงเจียง | Zingiberis Rhizoma Recens | 9 กรัม |
14 | 紫菀 | จื๋อหว่าน | Asteris Radix | 9 กรัม |
15 | 冬花 | ตงฮวา | Farfarae Flos | 9 กรัม |
16 | 射干 | เซ่อกัน | Belamcandae Rhizoma | 9 กรัม |
17 | 细辛 | ซี่ซิน | Asari Radix et Rhizoma | 6 กรัม |
18 | 山药 | ซันเหย้า | Dioscoreae Rhizoma | 12 กรัม |
19 | 枳实 | จื่อสือ | Aurantii Immaturus Fructus | 6 กรัม |
20 | 陈皮 | เฉินผี | Citri Reticulatae Pericarpium | 6 กรัม |
21 | 藿香 | ฮั่วเซียง | Pogostemonis Herba | 9 กรัม |
คำอธิบายตำรับ
ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังประกอบด้วยตำรับยาจีนพื้นฐาน 4 ตำรับ ได้แก่
1. หมาซิ่งสือกันทัง (麻杏石甘汤) [2] มีส่วนประกอบ ดังนี้
การออกฤทธิ์
เผ็ด เย็น ระบายความร้อน ระบายชี่ของปอด ควบคุมอาการหอบ
สรรพคุณ
รักษาอาการไอหอบจากลมร้อนมากระทบ มีอาการไข้สูงไม่ลด อาจมีหรือไม่มีเหงื่อ ไอถี่จากภาวะชี่ย้อนกลับ ถ้าเป็นหนักจะมีอาการไอหอบรุนแรง คอแห้ง กระหายน้ำ ลิ้นมีฝ้าบางขาวหรือเหลือง ชีพจรลื่นเร็ว
ตํารับยานี้สามารถเพิ่มหรือลดขนาดยาให้เหมาะสมสําหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอหอบที่มีสาเหตุจาก ปอดร้อน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และหอบหืดที่มีสาเหตุจากปอดหรือหลอดลมอักเสบ
หมายเหตุ
ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง ใช้หมาหวง 9 กรัม ซึ่งสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้ยาที่ผลิตขึ้นโดยมีลําต้นและ/หรือกิ่งเอเฟดรา (Ephedra) หรือ หมาหวง คิดเป็นน้ำหนักลําต้นและ / หรือกึ่งแห้งสําหรับรับประทานในมื้อหนึ่งไม่เกิน 2 กรัม เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีพิษ ในกรณีตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีนในการสั่งจ่ายเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย
2. อู่หลิงส่าน 五苓散 [3] มีส่วนประกอบ ดังนี้
การออกฤทธิ์
ขับปัสสาวะ ระบายความชื้น ให้ความอบอุ่น ทําให้ชี่ไหลเวียน
สรรพคุณ
รักษาภาวะความชื้นของน้ำที่ตกค้างอยู่ภายใน โดยมีอาการดังนี้ ปวดศีรษะ ตัวร้อน คอแห้ง กระหายน้ำ แต่เมื่อดื่มน้ำแล้วจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะขัด ลิ้นมีฝ้าขาวลื่น หรือขาวหนา ชีพจรลอย หรือมีอาการบวมน้ำ ถ่ายเหลว หรือมีเสมหะเหลวตกค้าง วิงเวียนหรือมึนศีรษะ ท้องน้อยมีอาการเจ็บเกร็ง
ตํารับยานี้สามารถเพิ่มหรือลดขนาดยาให้เหมาะสมสําหรับผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารและลําไส้อักเสบเฉียบพลัน มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นเวลาประจํา โรคอหิวาต์เทียม ลมพิษที่มีสาเหตุจากความเย็น โรคไต อักเสบเฉียบพลันระยะแรก ถุงอัณฑะบวมน้ำ มีปัสสาวะตกค้างจากความชื้น และน้ำตกค้างอยู่ภายใน
3. เซ่อกันหมาหวงทัง 射干麻黄汤 [4] มีส่วนประกอบ ดังนี้
การออกฤทธิ์
อบอุ่นปอด กระตุ้นการขับน้ำและขับเสมหะ
สรรพคุณ
ใช้รักษาโรคที่เกิดจากความชื้นและเย็นอุดกั้นอยู่ภายในปอด ทำให้มีอาการไอ หอบ ในคอมีเสียงของเสมหะคล้ายเสียงนกน้ำ (痰鸣) หรือแน่นบริเวณทรวงอก มีเสมะหะและน้ำลายมาก ลิ้นฝ้าขาวเหนียว ชีพจรตึงแน่น ตํารับยานี้สามารถเพิ่มหรือลดขนาดยาให้เหมาะสมสําหรับผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืด หลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
หมายเหตุ
1. ตำรับยาเซ่อกันหมาหวงทังได้ปรับเปลี่ยนสูตร โดยตัดตัวยาอู่เว่ย์จื่อ (五味子) และต้าเจ่า (大枣) ออกจากตำรับ
เนื่องจากอู่เว่ย์จื่อมีฤทธิ์เหนี่ยวรั้ง สามารถทำให้ปัจจัยเกิดโรคถูกเก็บกัก ไม่ถูกขับออก ส่วนต้าเจ่าเป็นยาบำรุง ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความชื้นและความร้อน ไม่เป็นผลดีต่อการสลายเสมหะ
2. ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง ใช้ซี่ซิน (细辛) 6 กรัม ซึ่งในเภสัชตำรับของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กำหนดปริมาณการใช้ที่ปลอดภัยคือ 1-3 กรัม / วัน เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีพิษ การใช้น้ำหนักเกินกว่ากำหนดจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีนในการสั่งจ่ายอย่างเหมาะสมและปลอดภัย
4. เสี่ยวไฉหูทัง小柴胡汤 [3] มีส่วนประกอบ ดังนี้
การออกฤทธิ์
ปรับสมดุลเส้นเส้าหยาง (ถุงน้ำดี)
สรรพคุณ
ใช้รักษาโรคที่เกิดจากพิษไข้เข้าสู่เส้นเส้าหยาง (ถุงน้ำดี) ทําให้มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว แน่นเสียดทรวงอกและชายโครง เซื่องซึม เบื่ออาหาร หงุดหงิด คลื่นไส้ ปากขม คอแห้ง ตาลาย ลิ้นมีฝ้าขาวบาง ชีพจรตึง หรือสตรีที่เป็นไข้เนื่องจากกระทบความเย็น หรือความร้อนเข้าสู่ระบบเลือด
ตํารับยานี้สามารถเพิ่มหรือลดขนาดยาให้เหมาะสมสําหรับผู้ป่วยโรคเส้าหยาง (ถุงน้ำดี) ซึ่งมีการแสดงออกคือเป็นโรคไข้หวัด ไข้มาลาเรีย ท่อน้ำดีติดเชื้อ โรคตับอักเสบ เนื้อเยื่อทรวงอกอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
หมายเหตุ
ตำรับยาเสี่ยวไฉหูทังได้ปรับเปลี่ยนสูตร โดยตัดตัวยาเหรินเซิน (人参) และต้าเจ่า (大枣) ออกจากตำรับ เนื่องจาก เหรินเซินสามารถฟื้นฟูเจิ้งชี่ (ชี่พื้นฐาน) เสริมสร้างหยางชี่ ซึ่งอาจเกิดความร้อน อันไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย และต้าเจ่าเป็นยาบำรุง ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความชื้นและความร้อน ไม่เป็นผลดีต่อการสลายเสมหะ
นอกจากตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังจะเกิดจากตำรับยาจีนพื้นฐาน 4 ตำรับมารวมกันแล้ว ยังได้เพิ่มตัวยาใหม่อีก 4 ชนิด เพื่อให้สอดคล้องต่อการรักษาอาการโรค COVID – 19 ตัวยาดังกล่าว ได้แก่ ซันเหย้า (山药) ช่วยฟื้นฟูเจิ้งชี่ (ชี่พื้นฐาน) กระตุ้นระบบการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร บำรุงปอดเสริมอิน สามารถป้องกันผลข้างเคียงจากฤทธิ์การขับกระจายความชื้นของยารสเผ็ดและฤทธิ์เย็นของยารสขมในตำรับ จื่อสือ (枳实) มีสรรพคุณแก้อาการแน่นหน้าอก ชักนำชี่ให้ไหลเวียนลงล่าง ทะลวงชี่ ขับอุจจาระ สามารถช่วยส่งเสริมการขับปัจจัยก่อโรคออกจากร่างกาย ส่วนเฉินผี (陈皮) และ ฮั่วเซียง (藿香) จัดเป็นตัวยาที่มีกลิ่นหอมเย็น สามารถปรับสมดุลการไหลเวียนชี่ ปลุกกระตุ้นม้าม สลายเสมหะ ช่วยแก้อาการท้องอืดแน่น อาเจียน
วิธีรับประทาน
รับประทานในรูปแบบยาต้ม วันละ 2 เวลา (เช้า-เย็น) หลังอาหารประมาณ 40 นาที เป็นเวลา 3 วัน นับเป็น 1 คอร์ส การรักษา
หลังจากรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยควรดื่มน้ำข้าวต้มอุ่น ๆ ตาม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการคอแห้ง สารน้ำพร่อง ดังนั้น น้ำข้าวต้มถือเป็นตัวยาที่ 22 ของตำรับนี้ เนื่องจากมีสรรพคุณในการบำรุงกระเพาะอาหาร สร้างสารน้ำ และระงับอาการกระหายน้ำ อีกทั้งการรับประทานน้ำข้าวต้มร้อน ๆ ยังสามารถช่วยในการขับเหงื่อ ระบายความร้อนอีกด้วย
ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีน สามารถปรับขนาดการใช้ของตัวยาเซิงสือเกา (生石膏) หรือแร่ยิปซั่มตามอาการของไข้ หากไม่มีไข้ให้ใช้แต่น้อย กรณียังไม่ดีขึ้นให้รับประทานอีก 1 คอร์ส หรือปรับตัวยาให้เหมาะสมกับคนไข้เฉพาะราย
ข้อควรระวังในการใช้
ในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องอย่างมาก เช่น ภาวะม้ามพร่องอ่อนแอ การขับเคลื่อนชี่ในไตไม่เพียงพอ ควรใช้คู่กับยาที่มีสรรพคุณเสริมชี่บำรุงม้าม เนื่องจากสรรพคุณของตำรับยานี้เน้นไปทางระบายน้ำออก จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะอินพร่อง
นอกจากนี้ในตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังมีตัวยา 2 ชนิดที่มีพิษ คือ ซี่ซิน (细辛) และหมาหวง (麻黄) จึงไม่ควรซื้อมารับประทานเอง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีนในการสั่งจ่ายเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย
ถอดบทเรียนสู้ COVID-19
ผู้สื่อข่าวจาก Economic information Daily สัมภาษณ์ศาสตราจารย์จาง ป๋อ หลี่ บันทึกในถอดบทเรียนสู้ COVID-19 ตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศจีน ลงวันที่ 18 มีนาคม 2020 [5]
อาการของผู้ป่วยขณะที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 30% พบว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงและหายใจ สั้น และอีกประมาณ 40% ของผู้ป่วยพบว่ามีอาการไอ จากการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์แผนจีนพบว่าลิ้นของ ผู้ป่วยมีลักษณะแดงฝ้าเหลืองเหนียว หรือลิ้นซีดอ้วนฝ้าขาวเหนียวเป็นหลัก ชีพจรมีลักษณะลื่นเป็นส่วนมาก
จากอาการที่กล่าวมาข้างต้นพบว่าโรคปอดอักเสบจากเชื้อ COVID-19 มีความสัมพันธ์กับปัจจัยก่อโรคชนิดความชื้นในทางการแพทย์แผนจีน ซึ่งสามารถแสดงอาการออกมาในลักษณะภาวะร้อนชื้นและภาวะเย็นขึ้นได้ เมื่อวินิจฉัยแยกแยะภาวะโรคแล้ว จึงมีการใช้ยาจีนตํารับ เซวียนเฟ่ยป้ายตู๋ทัง(宣肺败毒汤)และ ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง(清肺排毒汤)เป็นตํารับยาหลัก ผู้ป่วยส่วนน้อยมีการใช้ยาจีนชนิดผงชงดื่มร่วมด้วยโดยมีการปรับลดตัวยาตามอาการ นอกจากนี้ ยังจัดให้ผู้ป่วยได้มีการออกกําลังกายทางวิถีแพทย์จีนเช่น รําไท้เก๊ก และรํามวยจีน ปาต้วนจิ่ง(八段锦)รวมทั้งมีการพอกยาจีนตามจุดฝังเข็มต่าง ๆ พบว่าอาการของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลําดับ
https://www.facebook.com/1680636583/posts/10213845511206874/?d=n คลิปสถิติการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนในการดูแลผู้ป่วยโควิดในประเทศจีนสัมภาษณ์ศาสตราจารย์จาง ป๋อ หลี่
อย่างไรก็ตามในแนวทางในการรักษาโรคระบาดปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ทดลองใช้ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 3 มีนาคม 2020 ได้แบ่งระยะของโรคทางการแพทย์แผนจีนออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะติดตามเฝ้าระวัง ระยะรักษา (ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว)และระยะฟื้นฟู โดยมีการจำแนกกลุ่มอาการทางการแพทย์แผนจีนในระยะรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงขั้นวิกฤตอีก 7 กลุ่มอาการ มีตำรับที่ใช้กว่า 10 ตำรับและปรับลดตามร่างกายของผู้ป่วยร่วมด้วยเสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของศาสตร์การแพทย์แผนจีนคือการรักษาโดยจำแนกกลุ่มอาการ (辨证论治) โดยมี清肺排毒汤 เป็นหนึ่งในตำรับที่มีการใช้ในระยะรักษา
ในส่วนของตำรับที่มีการเสนอเพื่อรับประทานในการป้องกัน(中药预防方)นั้นเนื่องจากความแตกต่างของสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ จึงมีการเสนอตำรับออกมากว่า 10 ตำรับ จากหลายมณฑล เช่น หูเป่ย ปักกิ่ง เจียงซี เทียนจิน กวางตุ้งเป็นต้น ซึ่งการรับประทานยาสมุนไพรนั้นเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการฟื้นฟูดูแลชี่พื้นฐาน(正气-เจิ้งชี่)หรือหากเปรียบกับแพทย์ปัจจุบันจะหมายถึง ภูมิคุ้มกันของร่างกายนั่นเอง ในหลายมณฑลจึงมีการเสนอการหย่างเซิงหรือการดูแลสุขภาพในแนวทางการแพทย์แผนจีนไว้ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น [6] ได้แนะนำวิธีการดูแลตนเองสำหรับประชาชนทั่วไป ในการดูแลกายและใจของตนเอง ดังนี้
1. กลุ่มพนักงานออฟฟิศหรือผู้ที่ต้องอยู่ในท่าทางซ้ำๆเป็นเวลานาน เมื่อถึงเวลาพัก ควรลุกขึ้นออกกำลังกาย ขยับเขยื้อนร่างกาย เช่น การรำปาต้วนจิ่ง(八段锦) การเคาะเส้นลมปราณ(拍打操)โดยกระทำเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของเลือดลม กล้ามเนื้อและเส้นเอนคลายตัว
2. การทานอาหารสุขภาพ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับตนเอง และอาหารในเมนูหย่างเซิงต่างๆทางการแพทย์แผนจีน
-----> คลิกที่นี่ รวมสูตรเมนูอาหารหย่างเซิงสุขภาพ
3. การพักผ่อน พักผ่อนในเวลาที่เหมาะสม พอดีกับตนเอง ผ่อนคลายด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นหรือสมุนไพรแช่เท้าก่อนนอน นวดกดจุดจู๋ซานหลี่ และ จุดหย่งเชวียน ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ดีและมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
-----> คลิกที่นี่ สอนวิธีนวดกดจุด 12 จุด อายุวัฒนะ
4. การป้องกันในช่วงเวลาพิเศษเช่น ภูมิคุ้มกันลดลง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มอาการชี่ของปอดพร่องทางการแพทย์แผนจีน จะมีอาการแสดง เช่น เหนื่อยง่าย เสียงพูดเบาลง หายใจสั้นลง เหงื่อออกง่าย ไม่ทนร้อนทนหนาวและกลัวลม สาเหตุมักเกิดจากทำงานตรากตรำ พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอารมณ์เศร้าโศกต่อเนื่องนานๆ หรือโมโหง่าย จนทำให้ชี่ปอดอ่อนแอ สามารถปรึกษาแพทย์แผนจีนใกล้บ้าน ในการรับประทานยาสมุนไพรเพื่อการปรับสมดุล ฟื้นฟูชี่พื้นฐานของร่างกาย
----> เครื่องดื่มสมุนไพรจีน จินจิน บำรุงสุขภาพ เสริมภูมิคุ้มกัน -
"Jin Jin" Chinese Herbal Drink
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเภสัชกรรม
LINE Official : @pharmacytcm
เอกสารอ้างอิง
1. The State Councilthe People's Republic Of China. 关于印发新型冠状病毒肺炎诊疗方案(试行第六版)的通知 [Internet]. National Health Commission of the People's Republic of China; 2020 [cited 2020 Mar 28]. Available from: http://www.nhc.gov.cn/yzygj/s7653p/202002/8334a8326dd94d329df351d7da8aefc2.shtml?from=timeline
2. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน , วิชัย โชควิวัฒน , อุทัย โสธนะพันธุ์ , จรัส ตั้งอร่ามวงศ์, สว่าง กอแสงเรือง และคณะ (บรรณาธิการ) . ตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2553.
3. วิชัย โชควิวัฒน, ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง, เย็นจิตร เตชะดำรงสิน (บรรณาธิการ). ตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจกรรมโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.
4. Baike Baidu. 射干麻黄汤 [Internet]. 2018 [cited 2020 Mar 29]. Available from: https://baike.baidu.com/item/%E5%B0%84%E5%B9%B2%E9%BA%BB%E9%BB%84%E6%B1%A4/3136729?fr=aladdin
5. คณาจารย์ คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. ถอดบทเรียนสู้ COVID-19 ตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศจีน โดยราชบัณฑิตด้านการแพทย์แผนจีนแห่งประเทศจีน ศาสตราจารย์จาง ป๋อหลี่[Internet]. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ; 2563 [cited 2020 Mar 27]. Available from: https://www.hcu.ac.th/news/836?fbclid=IwAR2Erhz5Vi9UR06irrN-RRJsT2AdSN5ZwqtOzSUfD2FwXyxOx269wfcZyR4
6. Shenzhen Municipal Health Commission. 深圳市新型冠状病毒肺炎中医药预防指引 [Internet]. Shenzhen; 2020 [cited 2020 Mar 29]. Available from:http://wjw.sz.gov.cn/gzcy/ywzs/jbyf/202002/t20200228_19031399.htm
เรียบเรียงข้อมูลโดย
แพทย์จีน สุชานุช พันธุ์เจริญศิลป์
ที่ปรึกษา
เภสัชกรหญิง เย็นจิตร เตชะดำรงสิน
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
1. ดร.พจ.ภารดี แสงวัฒนกุล อาจารย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ