Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 10811 จำนวนผู้เข้าชม |
ดูแลสุขภาพอย่างไรในช่วงฤดูฝน ?
ฤดูฝนเป็นช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวและฝนตกหนัก ความชื้นเป็นน้ำจึงถือเป็นอิน (Yin) ทำให้อินเพิ่มขึ้นแล้วจะไปทำลายหยาง (Yang) ถ้าความชื้นเข้าสู่เส้นลมปราณและข้อ ทำให้ลมปราณติดขัด ซึ่งเป็นสาเหตุก่อโรคที่มีคุณลักษณะพิเศษและทำให้เกิดอาการต่างๆที่เฉพาะมากมาย
อาการและโรคที่พบได้บ่อย
อาการและโรคเจ็บป่วยที่เกิดจากความชื้นมากระทบ ร่างกายจะมีการสร้างสิ่งคัดหลั่งหรือขับถ่ายของเหลวเหนียวข้น และมักเข้าไปอุดตันอยู่ในอวัยวะภายในและเส้นลมปราณ เช่น ถ้ากระทบม้ามและกระเพาะอาหารทำให้การย่อยและดูดซึมอาหารเสียไป มีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ปัสสาวะน้อย โรคบิด ซึ่งอาการดังกล่าว ยังมีลักษณะการดำเนินโรคช้า เป็นเรื้อรัง เป็นๆหายๆ มักไม่หายขาด มีอาการหายใจอึดอัด แขนขาเมื่อยล้า เบื่ออาหาร จิตใจไม่เป็นสุขสงบ เป็นต้น
การปฏิบัติตนทั่วไปในฤดูฝน
1. ไม่นอนดึกเกิน 5 ทุ่ม หากเป็นไปได้ระหว่างวันควรมีเวลาพักสายตา เช่น งีบหลับช่วงกลางวันสัก 1 ชั่วโมงจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นและเพิ่มพลังงาน
2. ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่บ้าน ประมาณ 26 องศาเซลเซียส และหมั่นระบายอากาศในห้องให้อากาศถ่ายเทไม่อับชื้น
3. ในกรณีเปิดพัดลม ควรเปิดพัดลมเบาๆ ไม่เป่าโดนศีรษะตรงๆโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย
4. เนื่องจากช่วงฤดูฝนอากาศร้อนและชื้นมาก ไม่ควรออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมากเกินไป ควรเลือกออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินออกกำลัง เต้นรำ ไทเก็ก
การบริโภคอาหารในฤดูฝน
1. หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด หรือ อาหารฤทธิ์เย็น น้ำเย็นจัดๆ
2. ทานอาหารแต่พอดี ไม่อิ่มแน่นท้องจนเกินไป
3. เลือกทานอาหารประเภทน้ำแกงหรือซุปแบบใส ไม่เข้มข้น เช่น แกงจืดเต้าหู้ ซุปสาหร่าย หรือผัดถั่วงอกกับเลือดหมู เป็นต้น
4. อาหารที่เหมาะสมคือ ถั่วชนิดต่างๆ นำมาปรุงได้ทั้งอาหารคาวหรือหวาน เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ลูกเดือย ถั่วแระ อาจจะนำมาต้มทานหรือปรุงเป็นโจ๊กอ่อนๆก็ได้ เรียกว่า โจ๊กถั่ว
5. เครื่องดื่ม เช่น น้ำเก็กฮวย น้ำถั่วเขียว เต้าทึง (ลูกบัว) ชาเขียว น้ำถั่วแดง น้ำงาดำ แปะก๊วย น้ำซานจา (ใส่น้ำตาลเล็กน้อย)
Cr.photo : pinterest
ข้อมูลอ้างอิง หนังสือ34 เคล็ดลับสุขภาพดีวิถีชุมชน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
พิมพ์ครั้งที่ 1 ISBN 978-616-11-2599-8