Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 10158 จำนวนผู้เข้าชม |
ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย มีกรดเกินในกระเพาะอาหาร
แพทย์จีนรักษาได้หรือไม่?
ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย กรดเกินในกระเพาะอาหารล้วนเป็นอาการของโรคระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยและเรามักจะมองข้ามว่าเป็น "เรื่องเล็ก" แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการเล็กๆเหล่านี้คือสิ่งบ่งบอกเบื้องต้นที่ทำให้คุณทราบว่าร่างกายของเราทำงานไม่ปกติ
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน มองว่าโรคของระบบทางเดินอาหารอาการเริ่มตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนกล่าวว่าอวัยวะทุกอวัยวะล้วนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จากคัมภีร์ผีเว่ยลุ่นกล่าวไว้ว่า “อาการเจ็บป่วยของม้ามและกระเพาะอาหารจะเป็นสาเหตุแห่งการเกิดโรคทั้งปวง” ดังนั้นท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จึงไม่ควรมองข้าม
ท้องอืดในมุมมองของแพทย์แผนจีน เกิดจากม้ามและกระเพาะอาหารทำงานไม่สมดุล การทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่ชี่ขึ้นลงผิดปกติ ชี่ของกระเพาะติดขัด ทำให้เกิดอาการไม่สบาย อึดอัดบริเวณช่องท้องทำให้เรารู้สึกท้องอืด ท้องเฟ้อ เมื่อกดสัมผัสก็ไม่พบก้อนผิดปกติ กดนวดคลึงแล้วรู้สึกท้องนิ่มไม่มีอาการกดเจ็บ อาจพบอาการท้องอืดในโรคทางแพทย์ตะวันตก เช่น กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน (FD) โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) กระเพาะหย่อน เป็นต้น
สาเหตุการเกิดโรคนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเราเองทั้งสิ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยคือเรื่องอาหารการกิน ในปัจจุบันอาหารมีความหลากหลายและรสชาติดีมาก ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค รวมถึงภาวะความเครียดหรืออารมณ์ และยังเกี่ยวข้องกับพื้นฐานร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย จะเห็นได้ว่าคนส่วนมากล้วนมีอาการระบบทางเดินอาหารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อยและอาการเบื้องต้นที่พบบ่อย คือ อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย กรดเกินในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
จากผลการวิจัยผู้ป่วยทางคลินิก 300 ราย พบผู้ป่วยมีภาวะท้องอืดมากถึง185ราย คิดเป็น 61.3% ซึ่งมักมีอาการร่วมกับอาการเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย กรดไหลย้อน นอนไม่หลับ อ่อนเพลียเรื้อรัง ภาวะเหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ ไอเรื้อรัง แผลในปาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาการท้องอืดเหล่านี้แสดงถึงความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคต่างๆ เรื่องเล็กอาจไม่เล็กอย่างที่คุณคิดอีกต่อไป
การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนรักษาด้วยการทานยาจีนปรับสมดุลการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร ป้องกันการพัฒนาของโรคไปกระทบระบบอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถฝังเข็มร่วมด้วย โดยได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็ม
บทความโดย แพทย์จีนศิริขวัญ ก้าวสัมพันธ์ (สวี่ ถาน ลี่)
แพทย์จีนประจำคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาศรีราชา
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567