การรักษาโรคเกาต์ ปวดบวมตามข้อ

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  70037 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การรักษาโรคเกาต์ ปวดบวมตามข้อ

โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากผลึกของ Monosodium Urate Monohydrate ตกตะกอนในข้อ ซึ่งมีผลมาจากกรดยูริก ซึ่งเป็นผลผลิตของกระบวนการเมตาบอลิสซั่มของสารพิวรีน (Purene metabolism) สูงมากจนตกตะกอนเป็นผลึกของยูเรทสะสมตามข้อต่อเนื้อเยื่อ รอบ ๆ ข้อและไต ทำให้พบผลึกนี้ในเม็ดเลือดขาวของน้ำไขข้อจากการเจาะข้อที่กำลังอักเสบ

โรคเกาต์เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้ประมาณ 2-4 คน ใน 1,000 คน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 8-10 เท่า ส่วนมากพบในผู้ชายอายุมกกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงพบได้น้อย ถ้าพบมักจะเป็นหลังวัยหมดประจำเดือน

สาเหตุส่วนมากเกิดจากร่างกายสร้าง*กรดยูริก มากเกินไป เนื่องจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ จึงมักพบพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย ส่วนน้อยอาจมีสาเหตุจากร่างกายมีการสลายตัวของเซลล์มากเกินไป เช่น โรคทาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว การใช้ยารักษามะเร็ง หรือฉายรังสี เป็นต้น อาจเกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลง เช่น ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ

นอกจากนี้ ความอ้วน ภาวะน้ำหนักเกิน การดื่มแอลกอฮอลล์ โดยเฉพาะเบียร์ การกินอาหารที่ให้กรดยูริกสูง การได้รับบาดเจ็บที่ข้อกระดูก การใช้ยา เช่น ไทอาไซด์ แอสไพริน ไซโคลสปอริน เลโวโดพา อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบ

* กรดยูริก เป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นผลมาจากการเผาผลาญสารเพียวรีน (Purine) ซึ่งมีมากในเครื่องในสัตว์ ปีกสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเล ยีสต์ พืชผักหน่ออ่อนหรือยอดอ่อน และการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเรา และจะถูกขับออกทางไต แต่ถ้าหากว่าร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไป หรือ ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ก็จะทำให้มีกรดยูริกคั่งค้างอยู่ในร่างกายมากผิดปกติ ซึ่งจะตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไต และอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ






อาการที่แสดงเป็นสำคัญ
มีอาการปวดข้อรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่พบมาก ได้แก่ นิ้วหัวแม่เท้า ส่วนข้อเท้า ข้อเข่า ก็อาจพบในผู้ป่วยบางราย ข้อจะบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง ร้อนและแดง และจะพบลักษณะจำเพาะ ขณะที่เดินอาการเริ่มทุเลา ผิวหนังบริเวณนั้นจะลอกและคัน

ผู็ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดตอนกลางคืน และมักจะเป็นหลังดื่มแอลกอฮอลล์ ทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง หรือ หลังกินเลี้ยง มื้ออาหารที่กินมากกว่าปกติ หรือ เดินสะดุด บางครั้งอาจมีอาการขณะมีภาวะความเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือ ได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่น

บางครั้งอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น ใจสั่น ชีพจรเต้นแรงเร็ว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง คือการรักษาอาการอักเสบของข้อร่วมกับการลดกรดยูริกในเลือด ผลึกของ Monosodium Urate Monohydrate จะสะสมตามเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อ ทำให้เกิดเป็นปุ่ม Tophi อาจแตกออกมาเป็นลักษณะน้ำข้นๆ สีขาวขุ่น คล้ายยาสีฟันหรือเต้าหู้  กรดยูริกอาจตกตะกอนที่ทางเดินปัสสาวะเกิดเป็นก้อนนิ่วและตกตะกอนที่เนื้อเยื่อของไตทำให้ ไตวายเรื้อรัง ตลอดจนเกิดภาวะทุพพลภาพ
ภาวะกรดยูริกสูง เป็นผลจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่มีผลทำให้อาการของเกาต์เกิดรุนแรง คือ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป การบริโภคแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง  การใช้ยาขับปัสสาวะ ฯลฯ

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาในระยะแรกๆอาจกำเริบทุก 1- 2 ปี โดยเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3 เดือน จนกระทั่งทุกเดือน หรือ เดือนละหลายๆครั้ง ระยะการปวดจะนานวันขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง เมื่อข้ออักเสบหลายข้อ จะมีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อยๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หู เรียกว่า ตุ่มโทฟัส (tophus/tophis) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของสารยูริก ปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งแตกออกมีสารขาวๆคล้ายชอล์กหรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า ในที่สุดข้อต่างๆจะค่อยๆพิการและใช้งานไม่ได้

สิ่งที่ตรวจพบ
ข้อที่ปวดมีลักษณะบวม แดง ร้อน อาจมีไข้ร่วมด้วย บางรายอาจมีตุ่มโทฟัส

ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจะทำให้เกิดภาวะข้อพิการ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (พบได้ประมาณร้อยละ 25) ซึ่งอาจทำให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนตามมาได้

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์มักมีโอกาสเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากกว่คนปกติ และหากไม่ได้ควบคุมโรคเหล่านี้ ในที่สุดก็อาจกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบและไตวายได้



การรักษาโรคเกาต์ของแพทย์แผนปัจจุบัน
ประกอบไปด้วยการรักษาอาการข้ออักเสบ และการลดระดับยูริกเลือดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะไตวาย รวมทั้งการแนะนำให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งของพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เช่น การมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม การออกกำลังกายพอเหมาะ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการอักเสบฉับพลันของข้อ (Acute Gouty Arthritis) โดยการดื่มน้ำให้พอเพียง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ ฯลฯ



สาเหตุและกลไกการเกิดโรคเกาต์ตามทฤษฎีการแพทย์แผนจีน
ในระยะแรกเจิ้งชี่ยังไม่ถูกรบกวน ภาวะหยางเกิน และระยะท้ายตับและไตพร่องทำให้สารจำเป็น (Essence) และเลือดพร่องส่งผลให้การหล่อเลี้ยงเอ็น กระดูก ไม่เพียงพอ และเส้นลมปราณติดขัด เกิดเป็นความชื้น (damp-turbidity) ภายในร่างกาย นอกจากนี้สาเหตุจากม้ามพร่องทำให้แลกเปลี่ยนและลำเลียงอาหารได้ไม่ดีทำให้เกิดการตกค้างเป็นเสมหะภายในร่างกาย



การกระทบของเสียชี่ คือ ลม เย็น ความชื้นหรือความร้อน การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง การบาดเจ็บต่อข้อต่างๆ จะกระตุ้นให้เสมหะสลายเข้าสู่ข้อกระดูกและส่วนต่างๆในร่างกาย เกิดการอุดตันเส้นลมปราณ ชี่และการไหลเวียนเลือดติดขัด เกิดอาการอักเสบอย่างมาก อาจแบ่งสาเหตุเป็น ลม-ชื้น , เย็น-ชื้น , ชื้น-ร้อน เสียชี่รุกรานร่างกายเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดเป็นความร้อนร่วมด้วย จึงแบ่งสาเหตุออกได้เป็น



อาการปวดจาก ลม-ชื้น-ร้อน เกิดภาวะอุดตันของเส้นลมปราณ และอาการปวดจากชื้นร้อน เลือดคั่ง ชี่ติดขัดเป็นระยะเวลานานก่อให้เกิดข้ออักเสบ ข้อผิดรูป ปุ่มงอกและทำลาย Zang-fu เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ คือ มีการลุกลามจาก Acute Gouty Arthritis เป็น Chronic Gouty Arthritis


การรักษาแบ่งตามระยะต่างๆ
ระยะข้ออักเสบเฉียบพลันจาก “ลม-ชื้น-ร้อน” (wind-damp-heat) หรืออาการปวดจาก “ลม-ชื้น-ร้อน” ต้องขจัดความร้อน ทะลวงเส้นลมปราณ

ระยะข้ออักเสบเรื้อรัง มักเป็นอาการปวด จาก “ลม-เย็น-ชื้น” (wind-cold-damp) เสมหะอุดตัน ตับและไตพร่อง ศาสตร์แพทย์แผนจีนจะใช้วิธีการรักษาแบบผสมผสานกัน ได้แก่ การนวดทุยหนา การฝังเข็ม หัตถการเสริม เช่น รมยา เข็มอุ่น กระตุ้นไฟฟ้า ครอบแก้ว ร่วมกับสมุนไพรจีน โดยมุ่งรักษาอาการขณะอักเสบและรักษาต้นเหตุต่าง ๆ ไล่ลม ขจัดชื้น ขับไล่ความร้อนความเย็น สลายล้างเสมหะ สลายเลือดคั่ง ทะลุทะลวงเส้นลมปราณที่ติดขัด กระตุ้นชี่ให้เดินสะดวก บำรุงตับ ไต และม้าม

1) อาการปวดจาก ลม-ชื้น-ร้อน
อาการอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดเวลากลางคืน มีไข้ร่วม กระหายน้ำ แน่นหน้าอก
ปวดหัว เหงื่อออก ปัสสาวะเข้ม ท้องผูก  ลิ้น มีฝ้าเหลืองหนา ชีพจรลื่นและเร็ว

2) อาการปวดจาก ลม-เย็น-ชื้น
ข้อบวม อักเสบ เคลื่อนไหวข้อลำบาก มีก้อน Tophi  ลิ้นมีฝ้าขาว  ชีพจรเล็ก-ตึง
ถ้าเสียชี่เป็นลมมาก ตำแหน่งข้อที่อักเสบจะเปลี่ยน ถ้าเสียชี่เป็นความเย็นมาก จะปวด
อักเสบมากและเป็นเฉพาะบางที่ ถ้าความชื้นมาก ข้อจะหนัก ไม่เปลี่ยนตำแหน่ง ร่วมกับอาการชาร่วมด้วย

3) อาการปวดจากเสมหะอุดตัน
เป็นระยะข้ออักเสบเรื้อรัง ข้อผิดรูป มีก้อน Tophi มากจนทะลุออกมา ผิวหนังเปลี่ยนสี  ลิ้นซีดและใหญ่หรือเป็นสีม่วงคล้ำ ฝ้าขาวบางหรือหนา ชีพจรตึง หรือลึก และหยาบ มีตำรับยาสมุนไพรจีนต่าง ๆ หลายตำรับสำหรับอาการปวดบวมแต่ละชนิด



 

การรักษาด้วยวิธีการทุยหนา ฝังเข็มและรมยา
หลักการรักษา : ทะลวงเส้นลมปราณที่ติดขัด คลายเส้นและอาการติดขัด บวมปวดเพื่อคลายความเจ็บปวด







อาการปวด - ชนิด ลม-เย็น-ชื้น ใช้ฝังเข็ม ร่วมกับการรมยา

อาการปวด - ชนิด ลม-ชื้น-ร้อน ฝังเข็มโดยไม่รมยา

อาการปวด - ระยะเรื้อรังมาก ๆ  ขาดเจิ้งชี่ รักษาโดยรมยา

อาการปวด - ระยะอักเสบฉับพลัน กระตุ้นเข็มแบบระบาย

อาการปวด - ระยะยังไม่อักเสบ  กระตุ้นเข็มแบบบำรุง 

จุดหลัก : จุดฝังเข็มที่สัมพันธ์กับข้อที่อักเสบ

การฝังเข็มหู
จุดฝังเข็มที่มีความสัมพันธ์กับข้อที่อักเสบ 

นอกจากนี้ การรักษาด้วยภาคยาจีน แพทย์จีนตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยและประเมินตำรับยาจีนตามสภาวะ พยาธิสภาพของผู้ป่วย

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย
1. ควรดื่มน้ำสะอาดให้ปริมาณเพียงพอ เพื่อป้องกันนิ่วในไต
2. กรณีอ้วน ควรลดน้ำหนักลงทีละน้อย ไม่ควรลดแบบหักโหมฮวบฮาบ เพราะอาจทำให้มีการสลายตัวของเซลล์รวดเร็วเกินไปและมีการสร้างกรดยูริก ทำให้ข้ออักเสบกำเริบได้
3. ควรงดแอลกอฮอลล์ โดยเฉพาะเบียร์
4. ควรระวังอย่าให้ข้อกระดูกได้รับบาดเจ็บ
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา ปลาซาร์ดีน หอย กะปิ อาหารที่มียีสต์ และยอดผักชนิดต่างๆ 

ข้อแนะนำ
โรคนี้แม้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่หากได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ก็จะป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและสามารถมีชีวิตแบบปกติสุขได้ ควรรักษาอย่างต่อเนื่องอย่าได้ขาด กินยาตามแพทย์กำหนด และหมั่นตรวจเลือดเป็นระยะๆ


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
ฝังเข็มเจ็บไหม อันตรายหรือไม่
การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
 
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
1. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2 / 350 โรคกับการดูแลรักษาและการป้องกัน
โดย นานแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ISBN-978-974-9510-26-1

2. การฝังเข็มรมยา เล่ม 3 (การฝังเข็มรักษาอาการปวด)
Acupuncture & Moxibustion volume 3
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้